ทุกวันนี้เราใช้บริการขนส่งเสื้อผ้าจากร้านค้าออนไลน์ที่เรากดสั่งซื้อไว้ สั่งอาหารให้มาส่งที่ออฟฟิศในยามที่เราขี้เกียจไปกินที่ร้าน ส่งพัสดุเอกสารด่วนแบบทันทีทันใด ไปจนถึงสั่งสินค้าจากต่างประเทศให้มาส่งที่บ้าน

บนท้องถนนจึงเต็มไปด้วยรถมอเตอร์ไซต์และรถกระบะของผู้ให้บริการขนส่งหลายต่อหลายเจ้า แต่ละรายล้วนมีตลาดเฉพาะกลุ่มและมีจุดเด่นที่ต่างกันไป อยู่ที่ว่าลูกค้าหรือผู้ใช้บริการชอบแบบไหนมากกว่ากัน

บริการขนส่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม และคนทั่วไปมักใช้บริการบ่อย เห็นจะเป็นบริการขนส่งภายในวันเดียวหรือ Same Day Delivery ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่

  1. แบบมีกำหนดเวลาเปิด-ปิดรับส่งพัสดุที่แน่นอน เช่น DHL Pacel Metro, Kerry Express – Bangkok Sameday และ SCG Express เป็นต้น ระบบนี้มีจุดเด่นที่ค่าบริการไม่สูงมาก แต่จุดด้อยคือ มีเวลาที่ปิดรับส่งพัสดุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่เวลาเที่ยงวัน ถ้าหลังจากนั้นผู้รับจะได้ของในวันถัดไป
  2. On Demand บริการรับส่งพัสดุแบบรวดเร็วทันใจ เรียกใช้บริการเวลาไหนก็ได้ และจัดส่งภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่นาที ผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ เช่น Lalamove  และ Grab Express เป็นต้น ข้อดีคือยืดหยุ่น ถึงเร็วทันใจ แต่ราคาก็สูงขึ้นด้วย

เหตุผลที่ทำให้บริการขนส่งเติบโตอย่างร้อนแรง

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจบริการขนส่งเติบโตมีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเติบโตของ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ดังที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในปี 2017 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท และในปี 2018 น่าจะอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 9-10%

และคาดการณ์ว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2022 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยน่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 22% และสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ที่แม้ปัจจุบันมีเพียง 3% ของยอดค้าปลีกทั้งระบบ แต่ก็เชื่อว่าตลาดนี้จะมีโอกาสเติบโตอีกมาก และเป็นผลดีต่อบริการขนส่งด้วยเช่นกัน

อีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ พฤติกรรมของคนเมืองและการขยายตัวของเมือง ตัวเลขจากสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2010 มีประชากร 3,495 ล้านคน ส่วนประชากรในเขตชนบทอยู่ที่ 3,412 ล้านคน แต่ในปี 2025 สัดส่วนประชากรอาศัยในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,584 ล้านคน และประชากรในชนบท อยู่ที่ 3,426 ล้านคน ทำให้ช่องว่างระว่างคนเมืองและคนชนบทมีมากขึ้น และจะมีอีก 19 เมืองที่พัฒนาเป็นเมืองใหญ่

กลับมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญ เพราะมากกว่า 50% ของจีดีพีของประเทศเกิดขึ้นที่นี่ และเมืองเติบโตถึง 16 เท่าในรอบ 50 ปี โดยกรุงเทพฯ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นเป็นอันดับ 38 ของโลก และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2030 คาดว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 11 ล้านคน และมีรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนถึง 10 ล้านคัน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนเมืองต้องการความสะดวกสบายมากที่สุด ไม่เว้นแม้กระทั่งการซื้อสินค้า ที่ต้องการผู้ให้บริการจัดส่งภายในวันเดียว หรือเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทำให้ธุรกิจรีเทลต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์มากยิ่งขึ้น

SCG Express เร่งขยายสาขา คลอบคลุมทั่วประเทศ

สำหรับ SCG Express บริการขนส่งพัสดุด่วน เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอสซีจี และ Yamato Asia Pte. Ltd. หรือแมวดำ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2560 มีกลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป เปิดสาขาให้บริการแล้ว 500 สาขาใน 38 จังหวัด มีรายได้ 50 ล้านบาทในปีแรก และส่งของไปแล้วกว่า 8 แสนชิ้น

ปี 2561 ทาง SCG Express ใช้เงินลงทุนนับร้อยล้านบาทเพื่อขยายศูนย์บริการให้มากถึง 1,000 จุด ทั่วประเทศ เพิ่มรถขนส่ง พนักงาน และพัฒนาระบบให้ทันสมัย ตั้งเป้าส่งของให้ได้ 1.3 ล้านชิ้น และเพิ่มมีรายได้ที่ 200 ล้านบาท

โยจิ ฮามานิชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและความสบายใจของลูกค้าในการดูแลพัสดุตลอดทั้งกระบวนการ โดยหวังที่จะสร้างความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการ

ความแตกต่างที่ SCG Express จะเน้น คือเรื่องนวัตกรรม ที่มีบริการจัดส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cool-TA-Q-BIN) และบริการจัดส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งในอนาคตจะมีบริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการจัดส่งกระเป๋าเดินทางและอุปกรณ์กีฬา บริการ Farm to Table เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าเกษตรออร์แกนิกจากฟาร์มถึงผู้บริโภคโดยตรง ตั้งเป้าว่าเป็นมากกว่าผู้ให้บริการขนส่งทั่วไป

โยจิเปิดเผยอีกว่า มูลค่าตลาดโลจิสติกส์ในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 20,000-30,000 ล้านบาท เติบโต 20% และมีการจัดส่งพัสดุประมาณ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน

DHL อยู่เฉยไม่ได้ เปิดตัว Parcel Metro ส่งของภายในวันเดียว

DHL eCommerce บริษัทในเครือ Deutsche Post DHL Group ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เปิดตัวบริการใหม่ในประเทศไทย ชื่อว่า DHL Parcel Metro บริการจัดส่งพัสดุภายในวันเดียว (Same Day Delivery) ที่ให้บริการเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบัน ประเทศในอาเซียนที่มีบริการ DHL Parcel Metro ก็ได้แก่เวียดนามและไทย

DHL Parcel Metro มีจุดเด่นที่การให้บริการจัดส่งภายในวันเดียว คือขยายเวลาออเดอร์สินค้าได้ถึงเที่ยงวัน และจัดส่งภายในวันนั้นเลย โดยให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี สามารถจัดส่งสินค้าขนาดเล็ก-ใหญ่ได้หมดแต่น้ำหนักต้องไม่เกิน 20 กิโลกรัม มีบริการเก็บเงินปลายทาง และสามารถตรวจสอบสถานการจัดส่งพัสดุได้แบบเรียลไทม์

ชาร์ลส์ บรูเออร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เปิดเผยว่าปัจจัยที่ทำให้โลจิสติกส์เติบโตอย่างมากในอาเซียน เกิดจากการค้าขายข้ามพรมแดนที่มากขึ้น ทำให้ประเทศสมาชิกเออีซีสามารถซื้อขายส่งของกันได้ และการที่อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น

“จุดเด่นของเราคือ เมื่อมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก ถ้าบริษัทไม่มีระบบการจัดการที่ดี เครือข่ายที่ดีแล้ว การจัดส่งให้ถึงผู้รับในเวลารวดเร็วจะเป็นเรื่องยาก แต่เรามีเจ้าหน้าที่ถึงหนึ่งพันกว่าคน มีศูนย์บริการ 80 ศูนย์ การจะเอาสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งต้องทำได้ดีมาก การจัดการสินค้าจำนวนมากๆ เป็นความท้าทายของเรา”

เขายังตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า DHL Parcel Metro จะต้องเป็นผู้นำในธุรกิจบริการขนส่ง โดยคาดว่าสัดส่วนสินค้าที่จัดส่งภายในเดียวจะอยู่ที่ 20% ของธุรกิจ DHL ทั้งหมด

สำหรับ  DHL Parcel Metro เพิ่งเริ่มเปิดให้ใช้งานในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีค่าบริการขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100 บาท และเน้นจัดส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิคส์ และเสื้อผ้า

Lalamove ผู้นำแบบออนดีมานด์

ลาลามูฟ (Lalamove) ถือเป็นผู้นำด้านการให้บริการขนส่งแบบ On Demand  เน้นการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวหรือเร็วสุดคือภายใน 1 ชั่วโมง สามารถเรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชั่น มีระบบติดตามแบบเรียลไทม์ โดยเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2014 เน้นกลุ่มลูกค้า B2B (business to business – การทำธุรกิจกับผู้ประกอบการ) และ B2C (business to customer – การทำธุรกิจกับผู้บริโภคทั่วไป) ปัจจุบันมีพนักงานคนขับ 40,000 คน และมีผู้ใช้บริการ 530,000 คน

ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาลามูฟ ประเทศไทย ฉายภาพธุรกิจของลาลามูฟตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาว่า เน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นอันดับหนึ่งในใจผู้บริโภค เมื่อนึกถึงการส่งของที่รวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก

“ในช่วงแรก เราลองทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าทั่วไป แต่ว่ามันอาจยังไม่ใช่เวลาที่เราเข้าไปจับตลาดกลุ่มนี้ เพราะเขาอาจใช้บริการเราแค่ครั้งเดียวในสามเดือน เทียบกับการที่เราลงทุนไปเพื่อจูงใจให้เขามาใช้บริการของเรา อาจไม่คุ้มกัน เลยมาโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจ เพราะถ้าไปถามในกลุ่มธุรกิจ เขารู้จักลาลามูฟอยู่แล้วว่าเป็นเจ้าแห่งการส่งของแบบออนดีมานด์”

อีกอย่าง เราเป็นบริษัทสตาร์ตอัป ก็ต้องดูว่าความพร้อมของเราอยู่ในจุดไหน การแข่งขันเรื่องราคาและโปรโมชั่นก็มีบ้าง แต่ว่าเราไม่ได้เล่นกับคู่แข่งในจุดนี้ เราเน้นเรื่องของคุณภาพการบริการที่ลูกค้าจะได้รับ บางช่วงเวลา ลูกค้าอาจไขว้เขว้ไปบ้างกับส่วนลด แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาใช้เรา เนื่องจากไม่อยากเสี่ยงเอาแบรนด์ของเขาไปแขวนกับสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเวลาขนส่ง คนขายกับคนซื้ออาจไม่ได้เจอกันจริงๆ การขนส่งจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวแบรนด์สินค้าที่คนรับมอง”

“คุณภาพของบริการเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ทั้งจากคนขับรถของเรา และ Customer Service เวลาส่งของเมื่อเกิดปัญหาอะไรจะได้แก้ไขได้ทันเวลาเพื่อให้ของถูกส่งไปอย่างลื่นไหลและเร็วที่สุด” ชานนท์กล่าว

ทิศทางของลาลามูฟนับจากนี้ เขาเปิดเผยว่าจะพยายามเข้าไปให้กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเซนซิทีฟและอยากส่งให้ถึงเร็วที่สุด แต่จะเพิ่มกลุ่มลูกค้าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าแบรนด์เนม และอุตสาหกรรมใหญ่ๆ บางส่วน เพราะลาลามูฟไม่ได้มีแค่รถมอเตอร์ไซค์ แต่มีรถกระบะและรถ 5 ประตูด้วย

“เรามีเครื่องมือที่หลากหลายและบริการเสริมที่จะช่วยธุรกิจของลูกค้าให้ง่ายขึ้น เช่น การเก็บเงินปลายทาง การให้เจ้าที่ของเราไปทำเรื่องเอกสาร วางบิลรับเช็กให้ แม้กระทั่งช่วยผู้ค้าออนไลน์ที่จะส่งของไปต่างจังหวัด เรามีบริการช่วยนำพัสดุไปส่งให้ที่ไปรษณีย์ เป็นการประหยัดเวลาของผู้ค้าออนไลน์”

“ปีนี้เราจะขยายพื้นที่บริการไปตามหัวเมืองต่างๆ แต่ด้วยเป็นบริการแบบออนดีมานด์ มีหลายปัจจัยที่เราจะต้องมองว่ามีความต้องการจะใช้บริการมากน้อยแค่ไหน เราต้องทำให้มันบาลานซ์กัน”

แล้ว ‘ความเร็ว’ คือหัวใจสำคัญในธุรกิจบริการขนส่งหรือเปล่า

ชานนท์ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ความเร็วส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งคือเรื่องราคา ถ้าเจ้าไหนทำได้ทั้งสองอย่าง คือ ส่งเร็วภายในต้นทุนต่ำ ก็จะครองตลาดได้

“การจะทำแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีวิธีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาว่า Traditional Logistic (วิธีการขนส่งแบบดั้งเดิม) จะมีกระบวนการนำของเข้าคลังเพื่อให้บริหารจัดการเส้นทางในการขนส่งทำให้ต้นทุนถูกที่สุด แต่ถ้าจะขนส่งแบบออนดีมานด์แล้วให้ราคาถูกด้วยเป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่คิดค่าบริการตามระยะทางมากกว่า”

แผนในอนาคตของลาลามูฟใน 5-10 ปีข้างหน้า จะขยายบริการให้ครบทุกจังหวัด แต่อาจเป็นลักษณะของการทำร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งเรื่องของระบบและบริการใหม่ๆ ที่ช่วยการส่งของเร็วกว่าเดิม และราคาไม่สูงจนเกินไปนัก

ลาลามูฟถือเป็นผู้ให้บริการขนส่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 2 ปีแรกก็เติบโตถึง 600% เมื่อเข้าปีที่ 3 และ 4 โตอยู่ที่ 350% และในปี 2018 น่าจะโตอยู่ที่ 300%

Kerry Express ขอโฟกัสที่ส่งพัสดุ

นาทีนี้ Kerry Express (เคอรี่ เอ็กเพรส) ถือเป็นบริการที่เรียกได้ว่ามาแรงมากที่สุดรายหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายแรกๆ ในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันยังเป็นเจ้าใหญ่ท้องตลาดถ้าไม่นับไปรษณีย์ไทย เน้นกลุ่มลูกค้าทั้งธุรกิจต่างๆ และผู้บริโภคทั่วไป

เคอร์รี่เดินกลยุทธ์ที่การเร่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ของตัวเองให้คลอบคลุมมากที่สุด โดยมีสาขารับพัสดุถึง 2,500 แห่ง และศูนย์กระจายพัสดุอีก 700 แห่ง และใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น แฟมิลี่มาร์ต ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และออฟฟิศเมท เพื่อเป็นศูนย์รับสินค้าในร้านค้าปลีก รวมทั้งมีบริการที่เรียกว่า ‘Bangkok Sameday’ ที่จัดส่งพัสดุภายในวันเดียวกัน ขณะที่การบริการขนส่งแทบทั้งหมดทั่วประเทศไทยสามารถจัดส่งได้ในวันถัดไป

อเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายภาพรวมของเคอรี่ เอ็กซ์เพรสว่า เคอรี่เป็นบริษัทจัดส่งพัสดุเพียงอย่างเดียว ที่อาจไม่ได้ไปถึงปลายทางในทันที เพราะพัสดุจะถูกส่งไปที่ Hub ก่อน แล้วในวันถัดไปถึงจะจัดส่งให้ผู้รับ นอกจากจะใช้บริการ Bangkok Sameday ที่ขนส่งภายในวันเดียวแต่ให้บริการเฉพาะเขต กรุงเทพฯ

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลัก เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เน้นไปที่สามกลุ่มด้วยกันได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) เช่น ธุรกิจร้านค้าย่อย ที่อาจจะขนส่งจากโกดังไปยังร้านค้าปลีก กลุ่มที่ทำธุรกิจกับผู้บริโภคทั่วไป (B2C) เป็นช่องทางจัดส่งสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Lazada, JD.com เป็นต้น และการส่งของระหว่างผู้บริโภคทั่วไป (C2C) เห็นได้ว่ามีจุดบริการทั่วกรุงเทพ ฯ ให้บริการส่งของจากบุคคลถึงบุคคล

“B2C เป็นกลุ่มที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด เช่นกลุ่มที่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และช่อง Home Shopping ต่างๆ แน่นอนว่ากลุ่ม C2C ก็โตเร็วมาก วันนี้เราเป็นแบรนด์คู่บ้านคน เพราะตลาดเริ่มไปในทิศทางที่ว่าหากคุณต้องการซื้ออะไร สามารถซื้อแล้วเราจะส่งมันไปให้คุณได้”

“คนไทยมีความต้องการส่งของมากขึ้น ต้องการบริการที่เร็วขึ้น บริการที่แน่นอนและเชื่อถือได้ ยิ่งส่งได้ตามที่คาดหวังเท่าไร ตลาดนี้ก็จะใหญ่ขึ้น” อเล็กซ์ อึ้ง ให้ความเห็น

แล้วเขากลัวคู่แข่งที่ในตลาดนี้ไหม เราถาม

“ประเทศไทยเป็นตลาดเปิด ใครๆ ก็เข้ามาในธุรกิจที่กำลังโตนี้ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ค่อนข้างยาก อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะลงทุนเพิ่มเพื่อให้ธุรกิจของเราแข็งแกร่งขึ้น  คือช่วงนี้เราลงทุนกับทรัพยากรคน เครื่องจักร อาคารสำนักงาน แม้จะดูเป็นเชิงขยายธุรกิจ ก็ยังต้องเน้นความสำคัญเรื่องการบริการ เรื่องการแข่งขัน เรายังเชื่อว่าเป็นผู้นำในตลาดอยู่ เพราะไม่มีใครทุ่มเทให้กับบริการเท่าเราอีกแล้ว”

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เพิ่งประกาศการร่วมทุนกับกลุ่มบีทีเอส โดยมีบริการของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ขึ้นไปอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้คนสามารถส่งของตามแนวรถไฟฟ้าได้ คาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาสสามของปี 2018 พร้อมกับมองหาพาร์ตเนอร์และบริการใหม่ เช่น Self-Collection หรือบริการรับสินค้าด้วยตัวเอง ที่แฟมิลี่มาร์ท ส่วนการส่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่พัสดุ อเล็กซ์ ยืนยันว่ายังไม่มีแผนในตอนนี้ ขอโฟกัสกับการส่งพัสดุให้ดีที่สุดก่อน

“กระบวนการส่งพัสดุของเรา แต่ละชิ้นจะถูกส่งต่อผ่านเจ้าหน้าที่ 7 คนก่อนจะไปถึงปลายทาง จะไม่มีพระเอกในธุรกิจนี้ ทุกคนสำคัญเท่ากัน ในความคิดผม การบริการคนเป็นสิ่งจำเป็น และทำให้มั่นใจว่าคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการได้ปฎิบัติตามมาตรฐานของเรา”

“ความท้าทายของเราไม่ใช่คู่แข่ง หรือตลาดที่ยังเติบได้ดี แต่มันคือการเติบโตของบริษัทที่โตเป็นสองเท่าในทุกๆ ปี คิดดูว่า 5 ปีที่แล้ว เรามีพนักงาน 300 คน แต่ตอนนี้เรามีพนักงานถึง 9 พันคน เราจะสร้างความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ได้อย่างไร เราเน้นเรื่องการพัฒนาบุคคลากรของเราให้ดี และมีความสุข ไม่มีลำดับขั้นตอนที่ยุ่งยาก” อเล็กซ์ กล่าวทิ้งทาย

Fact Box

  • SCG Express เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอสซีจี และ Yamato Asia Pte. Ltd. หรือแมวดำ ของญี่ปุ่น เปิดตัวในปี 2560 ให้บริการขนส่งพัสดุด่วน มีจุดให้บริการแล้วกว่า 500 สาขา และตั้งเป้ามีถึง 1,000 สาขาภายในปี 2018
  • DHL Parcel Metro เป็นบริการใหม่ของ DHL eCommerce จัดส่งพัสดุภายในวันเดียว (Same Day Delivery) ที่ให้บริการเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นที่ 100 บาท และเน้นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
  • Lalamove เป็นผู้นำขนส่งแบบ On Demand ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น มีจุดเด่นที่เรียกใช้บริการเวลาไหนก็ได้ เน้นส่งของรวดเร็ว
  • Kerry Express ผู้ให้บริการส่งพัสดุที่มีเครือข่ายคลอบคลุมทั้งประเทศ มีสาขาในการรับพัสดุถึง 2,500 แห่ง และศูนย์กระจายพัสดุอีก 700 แห่ง
Tags: , , , , , ,