วาเลนไทน์อาจไม่ใช่หมุดหมายเดียวที่น่าสนใจในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะถึงนี้ จะมีการจัดงานครบรอบ 10 ปี ’เสาร์ซาวเอ็ด’ ที่เชียงใหม่ เป็นกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ทั้งยังถือเป็นวันยุติความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากการเดินขบวนของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันนี้ เคยถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นอคติทางเพศของคนบางกลุ่มในสังคมอย่างเห็นได้ชัด
เชื่อว่าพาเหรดปีนี้คงมีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศร้อนระอุตั้งแต่เดือนแรกของปี 2019 เราจึงอยากจะชวนผู้อ่านนึกทบทวน ถกเถียง และปลุกเร้าอารมณ์ความเชื่อมั่นต่อก่อนงานเดินขบวนพาเหรดเกย์จะมาถึง
เริ่มต้นปีกับประเด็น… กะเทยเป็นครูได้ไหม?
ประเด็นร้อนเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีเมื่ออาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำหนินิสิตที่มีคำนำหน้านายแต่แต่งตัวเป็นนิสิตหญิงมาเรียนจนเลยเถิดไปถึงว่ากะเทยคือคนมีปัญหาทางจิตและไม่ควรเป็นครูเพราะจะเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่นักเรียน
คำพูดของอาจารย์ท่านนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง แต่แล้วเรื่องก็เงียบหายไปเช่นเดียวกับดราม่าอื่นๆ หลายครั้งที่ผ่านมา ทิ้งคลื่นระลอกสุดท้ายไว้ที่การแปรอักษรแซวเรื่องนี้จากฝั่งธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณี ไม่ทราบว่าได้มีการจัดการอย่างไรกับอาจารย์ท่านนี้ ซึ่งหากผลคือเขายังคงได้สอนอยู่ตามปกติ นั่นน่าเป็นห่วงอย่างมาก
การตัดสินว่ากะเทยคือปัญหาทางจิตโดยอาจารย์ที่สอนวิชาจิตวิทยา ฟ้องให้เห็นถึงความล้าหลังขององค์ความรู้เรื่องเพศในประเทศไทย อย่างน้อยก็สำหรับกรณีนี้ เพราะชุดความคิดนี้มันอยู่บนฐานคิดจิตวิทยาแบบแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่อธิบายเพศวิถีของมนุษย์ผ่านปมเอดิปุส (Oedipus complex)
ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาแบบไร้เพศ แต่กระบวนการเรียนรู้ทางเพศของเด็กผู้ชายที่เป็นปกติจะเกิดจากความรู้สึกว่าแม่คือวัตถุแห่งปรารถนาจากแรงขับทางเพศ และต้องจัดการพ่อออกไปเพราะเป็นคนรักของแม่ แต่ลึกแล้วรู้ว่าพ่อแข็งแกร่งกว่าตัวเองและไม่มีทางเอาชนะพ่อได้ เด็กชายจึงทิ้งความปรารถนาที่จะจัดการพ่อ และรับเอาความเป็นชายของพ่อเข้ามาสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองจนเติบโตเป็นผู้ชายปกติ ซึ่งในทางตรงข้ามเด็กผู้ชายที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการการเรียนรู้เพศวิถีแบบนี้ก็จะถือว่าผิดปกติและเป็นเหตุของความรักเพศเดียวกัน
ชุดความรู้นี้เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมันถูกสอบทาน วิพากษ์วิจารณ์ และล้มล้างไปแล้วตั้งแต่มีนักวิชาการรุ่นต่อๆ มาที่ทำงานกับเพศวิถีเช่น มิเชลล์ ฟูโกต์ (Michel Foucault) ที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการสร้างความเป็นปกติ (normalization) ของเพศวิถีผ่านอำนาจของภาษาและความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางการแพทย์ที่พยายามแบ่งประเภทปัจเจกบุคคลตาม ’ธรรมชาติ’ และในขณะเดียวกันก็นิยามความ ‘ผิดปกติ’ ว่าหมายถึงอคติ การกีดกัน และกำจัด เพราะความ ‘ผิดปกติ’ เป็นปฏิปักษ์กับกลไกของสังคมสมัยใหม่
หรือ จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) ที่แบ่งแยกมิติของเพศออกเป็น เพศตามอวัยวะเพศ (sex) เพศสถานะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) สามสิ่งนี้เหมือนจะเชื่อมโยงแต่กลับแยกออกจากกันได้ พูดให้ง่ายที่สุดคืออวัยวะเพศเป็นคนละเรื่องกับเพศสถานะและเพศวิถี อวัยวะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดแต่เพศสถานะและเพศวิถีเป็นสิ่งประกอบสร้างจากสังคมและวัฒนธรรม อวัยวะเพศจึงไม่ควรจะมีผลในการชี้ผิดชี้ถูกและกำหนดทิศทางให้แก่เพศสถานะและเพศวิถี โดยเฉพาะเพศสถานะที่ลื่นไหลและอาจเปลี่ยนแปลงได้
เพศวิถีในแขนงของจิตวิทยาไปไกลกว่ายุคฟรอยด์มากแล้ว ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่งถ้าองค์ความรู้เรื่องเพศในประเทศเรายังคงยึดติดอยู่กับความเชื่อแบบนี้ ยิ่งหากมันถูกส่งต่อโดยอาจารย์วิชาจิตวิทยา หรือบทเรียนในหนังสือสุขศึกษาของนักเรียนมัธยม
ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วไหม? ที่สังคมเราต้องมาถกเรื่องนี้กันอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ในวงคนหลากหลายทางเพศกันเอง หรือในกรณีดราม่าที่สุดท้ายแล้วก็จะสร่างซาไป แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วมรับรู้สภาวะความหลากหลายทางเพศในเชิงลึก เรียนรู้และเคารพในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มากกว่าจะเพิกเฉยต่อการเหยียดเพศแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าและยืนยันความเชื่อปลอมๆ ที่ว่าสังคมไทยยอมรับเกย์กะเทย
การคัดค้าน พรบ. ชีวิตคู่ของสมาคมคริสต์แห่งประเทศไทย
เรื่องที่ตามมาติดๆ คือสมาคมคริสต์ล่ารายชื่อคัดค้าน พรบ. ชีวิตคู่ เนื่องจากผิดหลักศาสนา
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหนึ่งเรื่องที่เป็นกฎหลักของศาสนาคริสต์คือเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะด้วยทางใดหรือกับใครก็ตามถือเป็นบาป บาปที่ทำให้มนุษย์ตกสวรรค์ บาปที่เขาเชื่อว่าติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่กำเนิด เพศสัมพันธ์แบบเดียวที่ได้รับอนุญาตคือเพศสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การสืบทอดเผ่าพันธุ์เพื่อรักษาดินแดนของพระเจ้า และจะต้องเกิดขึ้นขึ้นในสถาบันการแต่งงานที่ได้รับการรับรองจากศาสนาเท่านั้น
ฉะนั้นเพศสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากนี้จะถือว่าเป็นบาปมหันต์ การเป็นคนรักเพศเดียวกันจึงเป็นกบฏในระดับที่ลึกที่สุดสำหรับศาสนาคริสต์ ซึ่งพิสูจน์ผ่านเรื่อง Sodomy เมืองในคัมภีร์ไบเบิ้ลที่ผู้คนสมสู่กันในทุกรูปแบบจนถูกพระเจ้าทำลาย แต่ในวันที่โลกเดินทางมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว และไม่มีอะไรจะต้านทานความกระหายเสรีภาพของมนุษย์ได้ แม้แต่พระสันตะปาปาก็ยังต้องแสดงท่าทีในการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่การสวนกระแสโลกแบบออกตัวแรงขนาดนี้จะเกิดขึ้นในไทย ทีนี้ก็ต้องมาดูกันต่อว่าความพยายามทานกระแสโลกของสมาคมคริสต์ครั้งนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน?
ต้องมั่นใจระดับไหนถึงจะบอกว่า Go Thai Be Free
ในขณะที่เรากำลังทำความเข้าใจสองเรื่องที่ผ่านมา จนอาจจะพอสรุปได้ว่าอคติทางเพศมันยังคงอยู่ และเราจะต้องต่อสู่กับมันต่อไป แม้ว่าแนวโน้มของสังคมจะดูเปิดกว้างมากขึ้น ยิ่งเมื่อได้เห็นวิดีโอโปรโมตการท่องเที่ยวของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีชื่อว่า Go Thai Be Free ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2013 และยังโปรโมทต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ เสนอภาพเมืองไทยที่เปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ ให้เข้ามาท่องเที่ยวในดินแดนที่เปิดรับและให้อิสระกับพวกเขาและเธออย่างเต็มที่ ก็ยิ่งชวนให้ฉุกคิดว่าประเทศเรามันช่างย้อนแย้งเสียเหลือเกิน
ก่อนหน้านั้นเรามักจะเห็นการโปรโมตที่เน้นแต่ทรัพยากรทางธรรมชาติ วิถีชีวิต อาหาร ความอัธยาศัยดีของคนไทย ผสมผสานกับความเป็นโลกตะวันออก รวมไปจนถึงความลี้ลับกึ่งๆ เหนือธรรมธรรมชาตินิดๆ แต่คราวนี้ททท. ได้รวมเอาจิตสำนึกแห่งความตระหนักรู้ต่อความหลากหลายทางเพศเข้าไปด้วย ซึ่งถือเป็นจุดขายใหม่ที่ดูก้าวหน้าและตอบรับกับเทรนโลกด์ในช่วงหลายปีให้หลัง และ ‘ดินแดนอันเปิดกว้าง’ ก็เป็นหนึ่งในภาพสำคัญที่ทำให้เราๆ คิดว่าเมืองไทยเปิดกว้างต่อ LGBTQ มานานแล้ว
ต้องยอมรับว่าการสร้างภาพลักษณ์เพื่อขายของก็ต้องยกให้ ททท. แต่การที่เราจะเคลมว่าประเทศเรามีเสรีภาพจนถึงขั้นจะบอกว่า Go Thai. Be Free. เราแน่ใจได้จริงๆ เหรอ ว่าคนรักเพศเดียวกันในประเทศเรามีเสรีภาพขนาดนั้น? หรือการพูดว่าประเทศไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศ… เรายอมรับแบบไหน? มันเป็นแบบสากลโลกที่เขาเป็นกันไหม? เรายังมี LGBTQ ที่ต้องเผชิญกับการยอมรับจากครอบครัว คนรอบข้าง ยังต้องถูกเพื่อนล้อ ถูกบังคับให้ใส่ชุดนักเรียนตามอวัยวะเพศ เกย์กะเทยยังต้องถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางจิตเมื่อเข้าเกณฑ์ทหาร ยังไม่มีสิทธิ์แต่งงานในฐานะคู่สมรส…
เราแค่กินอิ่ม นอนหลับ มีการมีงานทำในแบบที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ มีที่เที่ยวกลางคืนเฉพาะให้ไป คุ้นชินกับการเหยียดเพศในรูปแบบของเรื่องตลก และรอวันตายจากโลกไป… แบบนี้เรียกว่าอิสรภาพตามความหมายของสากลโลกหรือ? หรือมันจะเป็นไปได้หรือ ที่เราจะอ้างเสรีภาพทางเพศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่ในขณะเดียวกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคนยังถูกลิดรอน… อย่างนี้เราคงทำได้เพียงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้คนปลดปล่อยตัวเองในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักเท่านั้น
ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นฟ้องให้เห็นว่าอคติทางเพศมันยังคงมีอยู่ เราคงไม่อาจตะโกนบอกคนทั้งโลกว่าประเทศเราผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับกระแสโลกที่ไหลไปสู่เสรีภาพ โดยไม่สนว่ากะเทยเพิ่งจะถูกด่าเนื่องจากแต่งตัวเป็นผู้หญิงมาเรียน ไม่สนว่าคนบางกลุ่มกำลังรวมกลุ่มกันคันค้าน พรบ. ชีวิตคู่ ไม่สนว่าเกย์ควรได้รับสิทธิ์แต่งงานในฐานะคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การเริ่มต้นปี 2019 ด้วยประเด็นเรื่องเพศอย่างนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าปีนี้อาจเป็นปีแห่งประเด็นของคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยก็เป็นได้ ฉะนั้นอีเว้นท์ใหญ่อย่าง ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ จึงน่าจะถือเป็นโอกาสดีที่จะพาสังคมไปสู่การทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศในเชิงลึก มากกว่าจะเป็นพาเหรดเกย์กะเทยเลียนแบบเมืองนอกอย่างที่คนอื่นเข้าใจ ยิ่งไปกว่านั้น สปีริตของการเรียกความหลากหลายทางเพศควรจะถูกปลุกเร้าในยาวไปจนกระทั่งถึง 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เพราะหากเรายืนยันว่าเพศทุกเพศต้องเสมอภาคกัน เราก็ควรใช้หนึ่งเสียงของเราในฐานะพลเมืองให้กับพรรคที่มีอุดมการณ์เชิดชูสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค เลือกพรรคที่จะพาเราไปสู่การมีผู้นำที่ฟังเสียงเราและทำให้ปี 2019 ของเราเป็นปีแห่งการได้มาซึ่งการยอมรับเราในฐานะมนุษย์ธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่บุคคลวิกลจริตหรือตัวตลก