จากนี้ไปเราจะอยู่กับคำว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ กันไปนาน 20 ปี เพราะเมื่อช่วงสายๆ ของวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยคะแนนเอกฉันท์  179 ต่อ 0 งดออกเสียง 4

การโหวตครั้งนี้ของ สนช. ทำได้แค่โหวตว่าเห็นชอบหรือไม่ ไม่สามารถเสนอแก้ไขได้ โดย พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ก็จะต้องแก้ไขหรือร่างกันใหม่ภายใน 180 วัน

ที่มาของสิ่งนี้ มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้จัดทำ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาประเทศ โดยมีระยะเวลาบังคับใช้นาน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2580 โดยตั้งเป้าว่า ไทยจะ “มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้มี 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานฯ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน (ข้าราชการการเมือง-ข้าราชการประจำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสายความมั่นคง-ตัวแทนองค์กรด้านเศรษฐกิจ) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 17 คน เป็นคนจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินี้ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอีก 6 คณะ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน

เหมือนจะใหม่แต่ไม่ใหม่ เพราะบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดให้นำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2558 มาเป็นต้นแบบ เท่ากับยุทธศาสตร์ชาตินี้ถูกวางเอาไว้แล้วตั้งแต่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกร่างด้วยซ้ำ

นับจากนี้ไป ยุทธศาสตร์ชาติจะมีผลผูกพันทุกรัฐบาลในอนาคต ตลอดจนหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ไม่ว่านโยบายของรัฐบาล งบประมาณประจำปี หรือแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รัฐสภา และ ส.ว. จะมอนิเตอร์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีวาระ 5 ปี นั่นหมายความว่า สมมติว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ หลังมีการเลือกตั้งในอนาคต ก็จะยังมีคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ทำงานร่วมกับ ส.ว.ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ‘ตรวจสอบ’ รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษตั้งแต่พักงาน ให้ออกจากราชการ หากเป็น ครม. ก็อาจถูกส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ หลุดจากตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีด้วย

 

อ้างอิง:

 

Tags: , ,