‘กองดอง’ ศัพท์คำนี้เหล่านักอ่านหลายต่อหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกันดี หาใช่รากศัพท์จากทางประเทศฝรั่งเศสหรือต่างชาติแต่อย่างใด ความหมายของ กองดอง นั้นมาจากพฤติกรรมการซื้อหนังสือมาสุม ‘กอง’ เพื่อรอวันอ่าน ยิ่งนานวันจำนวนยิ่งเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนเล่มที่อ่านจบเกิดเป็นการ ‘ดอง’ จนเป็นนิสัยและสุดท้ายก็ไม่ได้แตะหนังสืออีกเลย

แต่ในยุคที่สังคมพฤติกรรมการอ่านในประเทศไทยดูจะลดถอยหลังลง ด้วยเหตุผลทั้ง การจัดสรรเวลาในสังคมชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ มาจนถึงยุคที่โซเชียลมีเดีย เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ทำให้คนหันมาสนใจอ่านหนังสือกันน้อยลง ถึงอย่างไรก็ตาม ‘หนังสือ’ ยังคงเป็นสื่อที่มีความคลาสสิคอยู่ในตัว ดั่งที่เห็นเมื่อมีการจัดงานหนังสือที่ไหน ก็มักจะเจอผู้คนร่วมงานอย่างไม่ขาดสาย ด้วยความที่เป็นเช่นนั้นทาง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จึงต้องมีการยกระดับปรับเปลี่ยนแนวทางมากขึ้น อย่างงาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่25’ (Book Expo Thailand 2020) ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมคอนเซ็ปต์ ‘Noกองดอง จะ Yes หรือ NO มาโชว์กันในงาน’ โดยคอนเซปต์นี้ จะมีความน่าสนใจกว่างานครั้งอื่นๆอย่างไร กับการนำคำว่า กองดอง พฤติกรรมสุดฮิตของเหล่านักอ่านมาใช้  โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) และปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีแอปพลิเคชัน ‘Noกองดอง’ จะมาแถลงไขพร้อมเชิญชวนทุกท่านกัน

ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์งานหนังสือแบบเดิมๆ สู่งานหนังสือแบบ ‘Hybrid Event’

ปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์  เริ่มอธิบายว่า “การจัดงานหนังสือครั้งนี้ สมาคมฯ จัดงานแบบ Hybrid ทั้งรูปแบบออนกราวน์และออนไลน์ ในส่วนของทางออนไลน์ สมาคมฯ มีแพลตฟอร์มซื้อขายหนังสือ www.Thaibookfair.com ให้นักอ่านไปช้อปได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน รวมถึงสมาคมฯ ยังจับมือกับแพลตฟอร์มพันธมิตรทั้ง Lazada และ Shopee ร่วมกันจัดอีเวนต์หนังสือออนไลน์ ในช่วงมหกรรมหนังสือนี้ควบคู่กันด้วย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในช่วงงานหนังสือ คุณต้องคิดถึงหนังสือแน่นอน”

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ได้กล่าวเสริมต่อว่า “สิ่งที่เราจินตนาการไว้ คือเมืองหนังสือ เป็นอีเวนท์ที่ใหญ่ระดับประเทศ มีรูปแบบที่เต็มมากขึ้น เข้าถึงง่าย และเชื่อมกับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ต่างจากครั้งก่อนๆที่ผ่านมา ครั้งนี้จะเป็นแบบ E-commerce เต็มตัว ทั้งออนกราวนด์  ออนไลน์ ยกตัวอย่าง คูปองO2O ผู้เข้าร่วมงานจะได้คูปองตรงนี้สำหรับไว้ใช้เป็นส่วนลด ถ้าซื้อจากงานออนกราวด์ ก็นำไปใช้เป็น  ส่วนลดทางออนไลน์ได้ กลับกันถ้าซื้อผ่านทางออนไลน์ นำไปใช้ส่วนลดทางออนกราวด์ได้อีก ตลอดงานเราจะมีการไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก มีการนำไฮไลต์ในงานไปลง รวมถึงกิจกรรมที่มีเฉพาะในงานออนไลน์ไปลงในเว็บไซต์ Thaibookfair ”

Noกองดอง ธีมอีเวนท์ที่ได้จากพฤติกรรมการอ่าน

ภายในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 นี้ จะมีการแบ่งโซนกิจกรรมต่างๆออกมาด้วยกัน 3 โซน โดย โชนรังสี นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และปิยะพงษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ ได้เล่าถึงไอเดียนี้ไว้อย่างน่าสนใจ  “ ไอเดียภายในงานจึงมีกิจกรรมเช็คอินในแต่ละจุดเพื่อผ่านมิชชั่น งานหนังสือปกติจะมีแค่นิทรรศการ แต่ในงานนี้เราอยากให้คนที่ร่วมงานมีส่วนร่วม อย่าง นิทรรศการ ‘Noกองดอง’ เราเชื่อว่าพฤติกรรมกองดอง คือแพชชั่นหนึ่ง เราก็จะมีกิจกรรมให้ทลายกอง เพื่อให้เกิดวงจรซื้อขายหนังสือมากขึ้นและสร้างคอมมูนิตี้นักอ่าน”

ปิยะพงษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์   กล่าวเสริมในจุดของโซนกิจกรรมในงานเพิ่มเติมว่า  “เราจะมีจุดเช็คอิน 3 จุด จุดแรกชื่อว่า ปราสาทบัลลังค์ดอง มีบัลลังค์สำหรับนักดองให้ไปถ่ายรูปกัน จุดเช็คอินที่สองคือ วิหารเทพเจ้าการอ่าน ที่มีต้นแบบมาจากเทศกาลวันทานาบาตะของประเทศญี่ปุ่น ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถเขียนใบคำอฐิษฐานแล้วไปห้อยแขวนได้ แล้วจะได้ใบคำทำนายกลับมา จุดที่สามเป็น ลานอ่านปราบมังกร จุดนี้ทุกคนจะมาอวดหนังสือที่ซื้อกัน พร้อมถ่ายรูปกับพร็อพมังกรด้านหลัง ไฮไลต์จุดนี้อีกอย่าง คือ ด้านหลังของเจ้ามังกรจะมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆมาวางเรียงไว้ ซึ่งสามารถสแกนผ่านเว็บ ‘Noกองดอง’ เพื่อบันทึกไว้ร่วมรับสิทธิพิเศษ เมื่อครบทั้งสามจุดเช็คอิน ก็จะได้รับของที่ระลึกเป็น กระเป๋าผ้ามาดองกัน”

(ภาพรายละเอียดแผนที่ในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่25 ในคอนเซ็ปต์ Noกองดอง )

จุดกำเนิด เว็บแอปพลิเคชัน Noกองดอง สำหรับนักอ่าน

โดยแอปพลิเคชัน Noกองดอง นั้นได้ ปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ เป็นผู้ริเริ่มให้กำเนิดขึ้น ซึ่งเจ้าตัวได้กล่าว ถึงจุดกำเนิดเจ้าแอปพลิเคชันตัวนี้ขึ้นมาว่า

 “เป้าหมายหลักของ เว็บแอปพลิเคชัน ‘Noกองดอง’ คือ ต้องการให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านติดตัว เพราะเราเชื่อว่าเมื่อคนไทยมีนิสัยรักการอ่านติดตัวแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ได้ เปรียบเหมือนการอ่านเป็นโดมิโนตัวแรกที่จะขับเคลื่อนประเทศ  ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มีแนวคิดว่าการอ่านเป็นเครื่องมือที่พัฒนาคนได้ดีที่สุด เราจึงเห็นร้านหนังสืออยู่ทุกจุดตามที่สาธารณะ เพื่อกระตุ้นการอ่านของคนในประเทศอย่างจริงจัง แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนไทยอ่านหนังสือ? ก็ต้องสร้างนิสัยรักการอ่านให้ติดตัว แต่การอ่านเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้”

“พอย้อนมองดูสภาพสังคมในตอนนี้ผู้คนก็ติดอยู่กับสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว เราเลยคิดว่าต้องหาวิธีที่ที่จะนำสมาร์ทโฟนมามีส่วนสร้างนิสัยการอ่าน ซึ่งผมได้แนวคิดจากแอปพลิเคชันออกกำลังกาย แต่เปลี่ยนจากดูชั่วโมงที่ใช้อยู่กับการออกกำลังกาย เป็นแสดงชั่วโมงที่อ่านหนังสือ เพราะเครื่องมือลักษณะนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้บังคับตัวเองให้อยู่ในลู่ในทางได้ เพราะผู้ใช้จะเห็นบันทึกและรายงานผลตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหมือนการท้าทายตัวเองรูปแบบหนึ่ง ผมจึงหยิบยกไอเดียนี้มาพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชัน ‘Noกองดอง’ ขึ้นมา”

“สำหรับตัวเว็บแอปพลิเคชัน ‘Noกองดอง’ มีอะไรที่มากกว่าเป็นเครื่องมือบันทึกการอ่าน เรามีใส่ฟีเจอร์เข้าไปพอสมควร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านมากขึ้น ทุกคนสามารถแอด(เพิ่ม)หนังสือเข้าไปในเว็บแอปพลิเคชันนี้ นักอ่านอาจจะแอดหนังสือที่เพิ่งซื้อจากงานหนังสือ หรือแอดหนังสือที่เล็งเอาไว้ก็ได้ ซึ่งเจ้าการแอดหนังสือหมายถึงกรอกข้อมูล ชื่อปก ผู้เขียน รูปหน้าปก และจำนวนหน้าของหนังสือลงไปในเว็บแอปพลิเคชัน”

“อีกฟีเจอร์ที่สำคัญ คือ ตัวจับเวลา ที่นอกจากเราจะรู้ว่า เราอ่านหนังสือเล่มไหนไปบ้าง อ่านไปแล้วกี่เล่ม ยังดองอยู่กี่เล่ม อ่านไปกี่ชั่วโมงแล้ว เรายังรู้อีกด้วยว่าเพื่อนๆ อ่านอะไรอยู่และหนังสือเล่มไหนกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงนักอ่าน ทุกครั้งที่จะอ่านหนังสือ ให้กดปุ่มเริ่มอ่านบนหน้าจอ แล้วตั้งเวลาการอ่าน (แนะนำให้อ่านต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที) เมื่อครบเวลา ก็บันทึกเลขหน้าที่ตัวเองอ่านอยู่ วรรคทอง Quote วลีโดนใจหรือรีวิวหนังสือลงไป แน่นอนว่าเราสามารถแชร์วรรคทองนี้ ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้”

 “เมื่อเราท้าทายตัวเองให้อ่านหนังสือได้สำเร็จ ก็จะสามารถปลดล็อกแบดจ์(ตราสัญลักษณ์)ต่างๆ ซึ่งเราจะนำไปโชว์อวดให้เพื่อนๆ ก็ได้เช่นกัน”

(ภาพแอปพลิเคชัน Noกองดอง )

(ภาพฟีเจอร์ตัวอย่าง ภายในแอปพลิเคชัน Noกองดอง )

“โดยตัวผมเองผมเชื่อว่า ฟีเจอร์ทั้งหมดในเว็บแอพพลิเคชันนี้ จะเสริมสร้างให้เกิดชุมชนการอ่านที่แข็งแรงในประเทศไทย อีกทั้งงานหนังสือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้อ่าน ได้แน่นอนทั้งจากตัวแอปพลิเคชันและกิจกรรมภายในงาน”  ปิยะพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจะจากกัน โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ได้เชิญชวนเหล่านักอ่านทั้งหลายไว้ว่า “ถ้าใครมาในงานได้อยากชวนให้มากันในงาน เพื่อสร้างสังคมการอ่าน แบ่งปันความสุขที่ได้จากหยิบจับหนังสือ ถ้ามาในงานไม่ได้สามารถไปที่ช่องทางออนไลน์ได้ ที่สำคัญคืออยาก ฝากถึง    Noกองดอง เพราะเราเชื่อว่านิสัยรักการอ่านจะช่วยสร้างความสุข สร้างสมดุลในชีวิต อ่านอย่างมีคุณภาพ นำไปพินิจพิเคราะห์ สร้างความสุขในสังคม ในชีวิตได้”

สำหรับ งาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่25’(Book Expo Thailand 2020) นี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 63 เวลา 10.00 – 21.00 น. ที่ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com

 

ติดตามรายละเอียด งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่25 เพิ่มเติมได้ที่

Facebook Fanpage: Book Thai และ   www.nogongdong.com

Fact Box

  • ปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน Noกองดอง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอพพลิเคชันตัวนี้ไว้ว่า ในส่วนของขั้นตอนการพัฒนานั้นยังอยู่ในส่วนของเฟสที่1 ซึ่งทิศทางการพัฒนาจะรอผลการตอบรับเบื้องต้น จากการใช้งานในช่วงระยะเวลาของงาน มหกรรมหนังสือ ครั้งที่25 นี้ก่อน ซึ่งภายในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาระบบฟีเจอร์เพิ่มเติม เช่น แจ้งเตือนเวลาการอ่าน การนำแบดจ์ที่ปลดล็อคได้ ไปแลกของรางวัลต่างๆ ตามพันธมิตรที่ร่วมมือ
  • งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ นั้นนอกจากจะจัดใน กรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ยังเตรียมพร้อมที่จะขยายการจัดงานไปยังจังหวัดอื่นๆอีกด้วย ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง เว็บไซต์ ThaiBookFair.com
Tags: