ทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างกระแส สร้างเทรนด์ และความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบันเทิง หรือเรื่องสังคม การเมือง โดยเฉพาะในประเทศไทย ทวิตเตอร์คือพื้นที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ผ่านการสร้างแฮชแท็กต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาล้วนแต่ร้อนแรงและล่อแหลมอย่างมาก

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางทวิตเตอร์ได้ตั้งแอคเคาท์ @TwitterThailand แอคเคาท์ทวิตเตอร์ 2 ภาษาขึ้น เพื่อเชื่อมต่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยให้เข้าถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไทยและทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ หากทวิตเตอร์ต้องการจะใกล้ชิดกับผู้ใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในไทยเองที่ทวิตเตอร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วก็ปรากฏคำสัมภาษณ์ของอาร์วินเดอร์ กุจราล ผู้อำนวยการภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทวิตเตอร์ที่กล่าวว่า

“สำหรับในประเทศไทย เรายังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในควมร่วมมือการให้ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือของประเด็นโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย”

แม้จะเป็นประเด็นเรื่องโรคระบาด แต่รัฐกับชาวทวิตภพนั้นถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความไม่ไว้วางใจต่อรัฐในการใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เล่นงานผู้ที่มีความเห็นต่างทางประเด็นการเมืองและสังคม ดังจะเห็นได้ในหลายๆ กรณีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีล่าสุดในการจับกุมแอคเคาท์ ‘นิรนาม’   

หลังจากเปิดตัว @TwitterThailand ได้ไม่นาน ก็เกิดแฮชแท็ก #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์  ขึ้นมาและขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว พร้อมมีการแชร์การบล็อกแอคเคาต์@TwitterThailand ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสอดส่องประชาชนในโลกออนไลน์ของรัฐบาลไทยที่อาจจะทำให้โลกออนไลน์เริ่มไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน

ท่ามกลางความกังวลของชาวทวิตเตอร์บางกลุ่มถึงความปลอดภัยในการใช้ทวิตเตอร์ของพวกเขาทำให้เริ่มมีผู้ใช้งานหลายกลุ่มเสนอการย้ายไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ ในอนาคต ในกรณีที่หากทวิตเตอร์ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว เรามาดูกันว่าแต่ละแพลตฟอร์มที่มีการหยิบยกมาพุดถึงนั้น จะมีแพลตฟอร์มไหนบ้างที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยในโลกออนไลน์และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่คล้ายกับทวิตเตอร์บ้าง

Minds.com

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2015 โดยผู้ก่อตั้ง Minds.com ชูเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และ Free Speech เป็นจุดแข็งหลักของแพลตฟอร์มนี้ ฟีเจอร์หลักของแพลตฟอร์มนี้ไม่ต่างไปจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นเท่าไรนัก มีการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ แต่มีการเพิ่มบล็อก (Blog) เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถผลิตคอนเทนต์ได้หลากหลายมากขึ้น มีระบบค้นหาที่ระเอียดและมีการจัดอันดับคอนเทนต์ที่ผู้ใช้สนใจในแต่ละวันคล้ายๆ เทรนด์ทวิตเตอร์ และมีระบบ Vote ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยระบบนี้จะครอบคลุมทุกโพสต์ ทำให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ของผู้ใช้งาน

ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้ที่ยังคงใช้ระบบการ login เหมือนแพลตฟอร์มอื่น ทำให้ความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาจจะไม่ต่างไปจากแพลตฟอร์มอื่นมากนัก แต่ผู้สร้างระบบได้ตัดการเข้าถึงข้อมูลของตัวผู้ใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจว่าระบบจะไม่นำข้อมูลไปทำอย่างอื่น และมีระบบ Chat ที่ผู้ใช้งานที่ต้องการแชตกับอีกคนจะต้องสร้างรหัสผ่านสำหรับพูดคุย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล แต่อาจจะติดปัญหาที่ผู้ใช้ทั้งคู่จะต้องติดตามกันและกัน ระบบถึงจะให้แชตกันได้ นอกจากนี้ผู้ใช้งานอาจต้องมีวิจารณญาณที่จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เพราะระบบไม่ได้ตรวจสอบว่าบัญชีผู้ใช้นี้มีตัวตนหรือไม่ 

Reddit

แพลตฟอร์มแบบเว็บบอร์ดที่เป็นที่นิยมอีกหนึ่งแพลตฟอร์มซึ่งหากจะให้พูดถึงระบบของ Reddit ก็คือ Pantip ของบ้านเรานี่เอง แต่มีฟีเจอร์และการใช้งานที่ง่าย เพียงแค่โพสต์และแสดงความคิดเห็น แต่ความแตกต่างของ Reddit กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น คือระบบการโพสต์ที่ผู้ใช้จะต้องเลือก Community ที่ผู้ใช้สนใจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจึงไม่ใช้การแสดงความเห็นของคนที่ติดตามผู้ใช้ แต่เป็นผู้คนใน Community ที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับโพสต์ของผู้ใช้ ด้วยจำนวนของ Community ที่ระบบมีให้รองรับมากถึง 1,200,000 ห้อง ครอบคลุมเกือบทุกเรื่องที่สนใจในโลกออนไลน์ และโพสต์ไหนที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ระบบจะดึงโพสต์ไปปรากฎในหน้าฟีดหลักของ Reddit เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนความเห็นในวงที่กว้างขึ้น

Reddit ยังมีระบบ Karma ที่ผู้ใช้สามารถเอาไปใช้เป็นค่าการันตีชื่อเสียงของผู้ใช้ หรือใช้เป็นสิทธิ์เข้าถึงบางฟังชั่นของแพลตฟอร์มได้ โดยจะได้มาจากยอด Upvote หรือยอดไลก์ของโพสต์หรือคอมเมนต์ ที่ยิ่งมีคนมา Upvote ให้มากเท่าไร ค่า Karma จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย ในด้านความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัว ระบบมีให้กรอกแค่ความสนใจเท่านั้น และในหน้าโปรไฟล์ของผู้ใช้จะมีเพียงการโพสต์ คอมเมนต์ และค่า Karma โดยจะไม่ปรากฏช่องทางการติดต่ออื่นที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล นอกจากแชตส่วนตัวของผู้ใช้เท่านั้น

Blockdit

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติไทยที่มาในแนวผลิตคอนเทนต์โดยเฉพาะเหมาะสำหรับนักเขียนและนักอ่านแม้จะมีหน้าตาคล้ายกับเฟซบุ๊กแต่ Blockdit จะใช้ระบบที่คล้าย Blog และเพจ โดยมีข้อจำกัดว่าในแต่ละโพสต์จะต้องพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 200 คำ โดยไม่มีการคัดลอก ทำให้ในทุกโพสต์จะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ ตามความสนใจของผู้เขียน นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสนับสนุนด้วยการให้เพชรกับผู้โพสต์ ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ จุดเด่นสำคัญของ Blockdit คือไม่มีโพสต์โฆษณาและการขายของ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านคอนเทนต์ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีโฆษณามาคั่น 

อย่างไรก็ตามด้วยระบบผู้ใช้ที่คล้ายคลึงเฟซบุ๊กโดยผู้ใช้สามารถสร้างเพจจำนวนกี่เพจก็ได้ในการ login เข้าระบบ ผู้ใช้มี 2 ทางเลือกคือ login ด้วยบัญชีเฟซบุ๊ก และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งหาก login ด้วยเฟซบุ๊ก ข้อมูลผู้ใช้ในเฟซบุ๊กก็จะถูกดึงมาในใช้ใน Blockdit ด้วย อาจจะต้องระมัดระวังหากมีความพยายามคุกคามผ่านบัญชีเฟซบุ๊กที่ผู้ใช้ login 

ASKfm

ASKfm เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการถามตอบ เป็นคอนเซ็ปต์หลักของแพลตฟอร์ม โดยในการถามของผู้ใช้สามารเจาะจงได้ว่าจะถามใครหรือถามแบบสาธารณะก็ได้โดยจะสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเผยชื่อคนถามหรือไม่ ในขณะที่ผู้ตอบสามารถเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยชื่อผู้ใช้ก็ได้เช่นกัน ทำให้การใช้งานจะรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างมาก และทำให้ ASKfm เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นสายเหงาที่กำลังหาเพื่อนคุยกัน

อย่างไรก็ตามแม้จะรักษาความเป็นส่วนตัวสูง แต่กลับเป็นช่องทางให้เกิด Cyberbullying หรือข้อความแนว ‘เป็นพิษ’ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบจิตใจต่อผู้ถามหรือผู้ถูกถาม ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อความจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเจ้าของข้อความคือใคร และด้วยคอนเซ็ปต์ของแพลตฟอร์มที่เน้นการถามตอบเป็นหลัก ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่น้อยมาก อาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ติดตามสื่อสังคมออนไลน์

VK

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติรัสเซียที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เฟซบุ๊กของรัสเซีย’ ที่มีผู้เข้าใช้งานเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก ที่จุดเด่นของแพลตฟอร์มคืออิสระที่จะโพสต์เนื้อหาใดก็ได้ ซึ่งจะมี Community รองรับเป็นจำนวนมากให้ผู้ใช้สามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยน และความสามารถในการอัปโหลดไฟล์ในหนึ่งโพสต์ได้เกือบ 10 ไฟล์ ในด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้สามารถแก้ไขความเป็นส่วนตัวและเนื้อหาที่จะปรากฏได้ 

แม้รูปแบบของ Community เฉพาะของ VK จะมีจุดเด่นที่การกระจายอำนาจของสมาชิกในกลุ่มที่สามารถเข้าร่วมแก้ไขข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามด้วยความที่ VK เป็นโซเชียลมีเดียสัญชาติรัสเซีย ทำให้อาจจะหา Community ของผู้ใช้ชาวไทยยากเล็กน้อย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผู้ใช้สนใจหาได้ยาก เพราะเนื้อหาที่ผู้ใช้ VK ชาวไทยส่วนใหญ่ที่พบเห็น เป็นเนื้อหา 18+ ที่ผู้ใช้อาศัยความไร้ขีดจำกัดในการโพสต์ ทำให้ VK อาจจะเฉพาะกลุ่มหากชาวทวิตภพที่มีความสนใจหัวข้ออื่นย้ายมา

Mastodon

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบ Open Source ที่ชูเรื่องเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบ มีการกระจายอำนาจภายในสังคมออนไลน์ และมีความปลอดภัย เนื่องจาก Mastodon แยกเซิร์ฟเวอร์ตามหัวข้อที่ผู้ใช้สนใจโดยเฉพาะ และ 1 ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์กี่เซิร์ฟเวอร์ก็ได้ ราวกับมีโลกหลายๆ ใบเป็นของตัวเอง

ระบบการใช้งานคล้ายกับทวิตเตอร์ น่าจะเหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ชินกับการใช้งานทวิตเตอร์ มีระบบเทรนด์นิยม เพิ่มฟังก์ชั่นหน้าฟีดของเซิร์ฟเวอร์ที่ผู้ใช้ในเซิร์ฟเวอร์เดียวสามารถมีส่วนร่วมได้ และหน้าฟีดที่ติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ภายนอกที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามความเคลื่อนไหวภายนอกเซิร์ฟเวอร์ด้วย โดยชุมชนที่มีผู้ใช้ชาวไทยกำลังทยอยมาได้แก่ Mastodon.in.th และ kpop.social ที่ชาวทวิตภพจะย้ายเข้ามาใช้ ซึ่งนอกจาก 2 เซิร์ฟเวอร์ที่กล่าวมายังมีเซิร์ฟเวอร์ชุมชนอื่นให้เลือกทั้ง ศิลปะ เพลง วารสารศาสตร์ กีฬา LGBTQ+ สัตว์เลี้ยง อาหาร เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เกม และเทคโนโลยี ให้อิสระกับผู้ใช้งานที่สนใจจะเข้าร่วมชุมชน

จากทั้ง 6 แพลตฟอร์มที่อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของชาวทวิตที่กำลังตามหาแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ จะเห็นว่าใน 4 แพลตฟอร์มเริ่มมีบัญชีผู้ใช้ที่เป็นคนไทยเพิ่มขึ้นหลังมีแอคเคาท์ @TwitterThailand ยกตัวอย่างกรณีของ Minds.com มีผู้ใช้โพสต์มีมเกี่ยวกับ TwitterThailand มีผู้ใช้ชาวไทยหลายคนเข้ามาคอมเมนต์ว่าตนย้ายมาจากทวิตเตอร์เพราะเรื่องนี้ หรือกรณีของ Reddit ที่เริ่มมีการเล่นมีม TwitterThailand โดยผู้ใช้ชาวไทย กลายเป็นว่าการเคลื่อนย้ายแพลตฟอร์มของชาวทวิตเตอร์ไทยบางกลุ่มที่กำลังกังวลกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของพวกเขา กำลังสะท้อนให้เห็นว่าความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ชาวเน็ตให้ความสำคัญ แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากแค่ไหน แต่หากไม่รับรองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้ พวกเขายินดีจะย้ายแพลตฟอร์มเพื่อความสบายใจของพวกเขา แม้ในเวลานี้จุดประสงค์หลักของ @TwitterThailand คือการเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนของคนไทยกับโลกแบบเรียลไทม์ แต่ชาวทวิตเตอร์หลายกลุ่มต่างเฝ้าดูท่าทีแอคเคาท์ประจำประเทศไทย รวมไปถึงตัวแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เองด้วย ว่าต่อจากนี้จะตอบโจทย์ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของพวกเขาหรือไม่

Tags: , , ,