ประเทศไทยประกาศว่าเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลกช่วง 10 ปี (2559-2568) ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

การวางโพสิชันนิ่งให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านสุขภาพ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบรนด์เครื่องหอมและสปาของไทยมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์ไทยที่เน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มพรีเมียม ซึ่งแต่เดิม มักจะทำการตลาดแบบเงียบๆ ลักษณะบอกต่อกันแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) แต่เมื่อโอกาสของตลาดโลกกำลังเข้ามา ก็ทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้อีกต่อไป จำเป็นต้องขยับตัวและลงทุนครั้งสำคัญเพื่อชิงความได้เปรียบ

ดีวาน่ากับกลยุทธ์ CICE และขึ้นเบอร์หนึ่งเอเชียปี 2020

ดีวาน่า (Divana) แบรนด์สปาและเครื่องหอมที่แจ้งเกิดจากการนำบ้านทรงไทยมาเปลี่ยนเป็นดีวาน่า สปา ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของสกินแคร์และเครื่องหอมต่างๆ วางเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และเบอร์หนึ่งของเอเชียในปี 2020 ภายใต้กลยุทธ์  CICE

C – Collaboration การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเข้าถึงทุกไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

I – Innovation นำนวัตกรรมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น

C – CSV (Creating Shared Value) สร้าความยั่งยืนในชุมชนควบคู่กับการทำธุรกิจ ใช้วัตถุุดิบที่มาจากชาวบ้าน ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

E – Experience Penetration Superior Service สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าผ่านสปา ผลิตภัณฑ์เครื่องหอม และร้านดีว่านา ซิกเนเจอร์ คาเฟ่divana panpuri

พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ดี วี เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตลอด 17 ปีของดีวาน่า ได้สร้างมาตรฐานการบริการและความหรูหราให้กับสปาและตัวสินค้าที่ลูกค้าควรจะได้รับเหมือนทุกครั้ง จนกลายเป็นการบอกปากต่อปาก และมีลูกค้า ซึ่งถือเป็นไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ช่วยโปรโมทและทำให้ดีวาน่าเป็นที่รู้จัก

“งานบริการต้องมีความน่าเชื่อถือ ทำสินค้าอะไรก็ต้องออกมาแบบนั้น มีการรับประกันความพึงพอใจหลังการใช้สปา ถ้าลูกค้าไม่พอใจ เราไม่เก็บเงิน ยินดีให้ส่วนลด รวมถึงใช้บริการฟรีครั้งต่อไป”

พัฒนพงศ์เปิดเผยว่า ตลาดรวมในธุรกิจสปามีมูลค่ามหาศาล โดยในส่วนของดีวาน่า ตั้งเป้ารายได้ในปี 2018 อยู่ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งแค่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธุรกิจเติบโตขึ้น 150% มียอดขาย 120 ล้านบาท และตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ทำธุรกิจมามีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 1.3 ล้านคน เป็นลูกค้าเอเชีย 75% เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจีน ที่เหลือเป็นยุโรป 25% และลูกค้าคนไทย 5%

“ยังมีโอกาสอีกมากในกลุ่มลูกค้าพรีเมียม แต่การทำตลาดในปัจจุบันค่อนข้างมีความละเอียดมาก เราต้องจับพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่มให้ชัด”

สอดคล้องกับความเห็นของธเนศ จิระเสวกดิลก  ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ดี วี เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่กล่าวเสริมว่า ดีวาน่าแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ สอง กลุ่มคนเมือง และสาม ลูกค้าต่างชาติที่มาใช้บริการสปาในเมืองไทยdivana panpuri

“เราจะดูว่าพวกเขาต้องการอะไรบ้าง อย่างผู้สูงอายุพวกเขาต้องการมีอายุยืนยาว ไม่ยอมแก่ จะชอบเข้าสปาเพื่อสุขภาพและความงาม เรามีคลินิก และเมดิคอล สปา ที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ อย่างคนเมือง ต้องการความผ่อนคลายและไลฟ์สไตล์ที่ดี เราก็มี ดีวาน่า คาเฟ่ เป็นคาเฟ่ดอกไม้ที่ให้เขามีความสุขได้เต็มที่ และสำหรับนักท่องเที่ยว เราก็มีบริการสปาที่ทำเลติดรถไฟฟ้าไว้รองรับ”

พัฒนพงศ์มองว่า ความท้าทายของดีวาน่าคือเรื่องการขยายธุรกิจที่รวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายสาขาและจำนวนพนักงาน ที่ปัจจุบันมีอยู่ 300 คน และภายในสิิ้นปี 2018 คาดว่าจะมีพนักงานถึง 500 คน ซึ่งจะต้องบาลานซ์ระหว่างธุรกิจที่รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า และมาตรฐานการบริการ กับความสุขของพนักงาน

“เราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้แพ้ตลอด ถ้าผมแข่ง 100 เกม ขอชนะแค่หนึ่งครั้ง แล้วจะไม่กลับมาแพ้อีก เพราะผมจะเรียนรู้จากสิ่งนั้น เนื่องจากเราเป็นคนไม่เก่ง ฉะนั้นต้องทำงานหนัก และไม่ยอมแพ้ เจออุปสรรค ก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ”

โดยแผนการขยายธุรกิจของดีวาน่าหลังจากนี้เตรียมจะขยายสปาเพิ่มอีก 2 แห่ง คาเฟ่ อีก 2 แห่ง และช้อปสินค้าตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่สำคัญกำลังจะเปิด Divana Sanctuary Spa ในซอยสมคิด ชิดลม อีก 1 แห่ง ซึ่งจะเป็นสปาดูเพล็กซ์ที่แรกของโลก ในรูปแบบของบ้านทรงไทยที่มีเพดานสูง 6 เมตร มาเปลี่ยนเป็นสปา

ปัญญ์ปุริ กับเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก

สำหรับปัญญ์ปุริ (Panpuri) แบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2546 ซึ่งโดดเด่นในผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องหอม อาบน้ำและดูแลร่างกาย โดยมีสปาตามมาทีหลัง ก็ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปี ด้วยการขยายสาขาทั้งตัวร้าน สปา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นออร์แกนิก ปรับภาพลักษณ์สู่คลีนบิวตี้

ปราโมทย์ เดชะบุญศิริพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปุริ จำกัด เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศไทยปี 2559 มีมูลค่ากว่า 188,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 8% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเซกเมนต์ตลาดออแกร์นิกเติบโตเป็นสองเท่า เฉพาะในอาเซียนมีมูลค่า 700 ล้านเหรีญญสหรัฐ เฉพาะแค่เมืองไทยอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีและยังมีช่องว่างในตลาดอีกมาก

“เราวางโพซิชั่นไปในทาง Holistic Wellness มากขึ้น มีทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางสปาที่ครอบคลุม ลูกค้าซื้อของที่ไหนก็ได้ แต่ต้องได้ประสบการณ์ที่ทำให้แบรนด์เราแตกต่าง”divana panpuri

โดยกลยุทธ์หลักของปัญญ์ปุรินับจากนี้คือ 1. การสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ได้คุณภาพตามมาตรฐานของปัญญ์ปุริ คือ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เพื่อการเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 2. เน้นการขยายฐานลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในกลุ่ม Skincare และ Haircare และ 3. ลงทุนกับการขยายสาขา และใช้ระบบ CRM (Customer Relationship Management) กับลูกค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

“ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ เราจะขยายสาขาอีก 40 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าจะมีรายได้ 1,500 ล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ย 30% ในทุกปี คาดว่าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มร้านค้าจะอยู่ที่ 80% และบริการสปาอยู่ที่ 20%”

ปราโมทย์ ยังเปิดเผยอีกว่า จะมองสาขาที่เปิดใหม่จากการขยายตัวของเมืองในทำเลที่มีศักยภาพ อาจเป็นได้ทั้งร้านในห้างและสแตนด์อะโลน ซึ่งจะใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาทในการลงทุน พร้อมกับปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าให้ดูมินิมัลมากขึ้น

ขณะที่บริการสปาซึ่งยังมีสาขาไม่มากนัก โดยในไทยมีแค่ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิก สปา ที่โรงแรมพาร์ค ไฮแอท และเพิ่งเปิดสาขาใหม่ชื่อ ปัญญ์ปุริ เวลเนส ที่เกษร วิลเลจ ใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เป็นสถานดูแลสุขภาพและความงามแบบครบวงจรบนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตรdivana panpuri

“การขยายบริการสปาใน 5 ปีข้างหน้า คงต้องรอดูว่าเป็นอย่างไร เพราะเราลงเพิ่งทุนที่เกษร ถ้าได้รับการตอบรับที่ดีก็อาจจะขยายในในโรงแรม 5 ดาว หรือสแตนอะโลนก็ได้ เป็นได้ทั้งสองโมเดล เพราะข้อดีของโรงแรมคือมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน และรายได้ขึ้นอยู่กับอัตราการเข้าพัก และความสะดวกสบายของลูกค้าที่ไม่อยากออกไปข้างนอก”

“เราเป็นแบรนด์ไทย ความท้าทายนับจากนี้คือต้องใช้เวลาสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคตอบรับ เราเชื่อว่ามาถูกทางแล้วในสิ่งที่ทำอยู่ เราจะทำแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ มองทุกอย่างเป็นโอกาสและจัดอันดับว่าจะลงทุนอะไรก่อนหลัง” ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้ายdivana panpuri

ปัจจุบัน ปัญญ์ปุริมีสาขาในประเทศไทยกว่า 40 สาขา ใน 6 จังหวัด และจุดขายในต่างประเทศอีก 20 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งซิกเนเจอร์ สโตร์ที่กรุงเทพฯ และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีสปาในโรงแรมชั้นนำ 2 แห่ง ได้แก่ ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิค สปา ที่โรงแรมพาร์ค ไฮแอท ในกรุงเทพฯ และโรงแรมอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียลทอล เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

Fact Box

  • ดีวาน่า (Divana) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2545 โดยพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ และธเนศ จิระเสวกดิลก เปิดให้บริการสปาสาขาแรกที่สุขุมวิท 25 ก่อนจะขยายสาขาอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา โดยเฉพาะสาขาสีลมที่นำบ้านทรงไทยมาทำเป็นสปา ซึ่งปัจจุบัน ดีวาน่ามีบริการคลอบคลุุมทั้งสปา เมดิคอล คาเฟ่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องหอมและสปา
  • ปัญญ์ปุริ (Panpuri) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2546 โดยวรวิทย์ ศิริพากย์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 3 ประการคือ ความบริสุทธิ์ (Purity) ความรื่นรมย์ (Pleasure) และผลลัพธ์ (Result) ซึ่งเน้นการใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติและออแกร์นิก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เครื่องหอม ดูแลร่างกาย สกินแคร์ แฮร์แคร์ เป็นต้น รวมทั้งบริการสปาแบบครบวงจร
Tags: , ,