ค่ำวานนี้ (10 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเดินทางไปสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต เพื่อสั่งห้ามจัดงานเสวนาในหัวข้อ นายพลของพม่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่ (Will Myanmar’s Generals Ever Face Justice for International Crimes?) ถือเป็นครั้งที่ 6 ที่ FCCT ถูกยกเลิกกิจกรรมนับแต่หลังรัฐประหาร 2014 ในประเทศไทย

ก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงเย็น FCCT ได้รับหนังสือด่วนที่สุดจากพันตำรวจเอกอัครวุฒ ธานีรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ให้งดจัดกิจกรรมด้วยเหตุผลว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจะมีบุคคลที่ไม่หวังดีฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อ FCCT ยืนยันจัดงานต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นายได้เดินทางมาสั่งให้ยุติกิจกรรมดังกล่าวในที่สุด

ก่อนหน้านี้ รายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า นายพลระดับสูงของพม่าควรจะถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และรัฐฉาน งานเสวนาดังกล่าวจึงจะจัดขึ้นเพื่อหาคำตอบว่า จะนำกรณีดังกล่าวจะไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อพม่าไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ตุน ขิ่น ประธานองค์กรโรฮิงญาพม่า (Burmese Rohingya) ในสหราชอาณาจักร กอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยและสมาชิกรัฐสภาซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยโรฮิงญาซึ่งแต่งตั้งโดยนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า เมื่อต้นปี และคิงสลีย์ แอ๊บบอตต์ ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)

ด้าน FCCT ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจยุติงานเสวนาดังกล่าวพร้อมระบุว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างถึงประเด็นมือที่สามที่อาจก่อความไม่สงบและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล โดยที่ผ่านมากว่า 62 ปี FCCT จัดงานเสวนาในประเด็นสถานการณ์โลกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น นอกจากนี้ FCCT ก็จัดกิจกรรมในประเด็นพม่ามากว่าสิบครั้งในช่วงทศวรรษ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ขึ้นต่อพม่าและความสัมพันธ์กับประเทศอื่นในภูมิภาค

FCCT วิจารณ์ด้วยว่า รัฐไทยทำเกินกว่าเหตุ และกรณีดังกล่าวส่งผลต่อชื่อเสียงของประเทศไทยเองในด้านเสรีภาพสื่อ ทั้งที่ครั้งหนึ่งไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“นี่เป็นครั้งที่ 6 ที่กิจกรรมที่จัดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ถูกยกเลิก นับแต่หลังรัฐประหาร 2014 เป็นต้นมา และประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองของทหาร” แถลงการณ์จาก FCCT ระบุ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2014 ห้าวันหลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่ FCCT และเข้าควบคุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ซึ่งใช้พื้นที่ของ FCCT ในการแถลงท่าทีไม่ยอมรับรัฐประหาร โดยนายจาตุรนต์ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ปัจจุบัน คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างสืบพยานในศาลทหาร

ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา FCCT ยกเลิกการฉาย  ‘When Mother’s Away’ ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับครอบครัวชาวเวียดนามที่ผู้เป็นแม่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีจากการตีแผ่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ครั้งนั้น  สน.ลุมพินีขอให้ยกเลิกการฉาย โดยระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย

 

อ้างอิง:

  • https://www.facebook.com/FCCThailand/posts/1873938326024442
  • https://www.fccthai.com/items/2559.html
  • https://apnews.com/736a35484c594821bd4688e95f1ee853
  • https://www.facebook.com/events/2585956404963660/
Tags: , , ,