ในการสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ ‘พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน’ ในวันที่ 30 – 1 กันยายน 2562 เป็นงานวิชาการที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่อาจตอบคำถามปรากฏการณ์ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ของประเทศไทย ซึ่งเผชิญการเติบโตต่ำ ความเหลื่อมล้ำที่ย่ำแย่ลง ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระดับมหภาคกลับเข้มแข็ง สะท้อนได้ในอัตราค่าเงินบาที่แข็งค่าที่สุดในรอบหลายปี รวมถึงศักยภาพการเติบโตไทยในอนาคต

ความงดงามของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมคือการแข่งขัน ยิ่งธุรกิจมีการแข่งขันกันมากเท่าไหร่โดยมีแรงจูงใจคือกำไรเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวมดีขึ้น การเกิดขึ้นใหม่และการล้มหายตายจากของบริษัทจึงเป็นเสมือน ‘พลวัต’ ธรรมดาของวงจรการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ (creative destruction) แต่การแข่งขันที่เป็นธรรมคงยากจะเกิดขึ้นได้หากไม่มี ‘กรรมการ’ หรือภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล

งานชิ้นแรกที่เปรียบเสมือนเรือธงของงานสัมมนานี้คือ ‘ไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ’ นำเสนอโดย รศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ โดยมีคณะวิจัยหลักคือคุณทศพล อภัยทาน และคุณชานนท์ บันเทิงหรรษา ที่พยายามหาคำตอบว่าอำนาจตลาดและพลวัตของธุรกิจไทยส่งผลอย่างไรต่อภูมิทัศน์การแข่งขัน

ผลลัพธ์ของงานชิ้นดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่พบคือธุรกิจไทยอยู่ในภาวะกระจุกตัว แนวโน้มของอำนาจตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโตของผลิตภาพต่ำ ส่งออกต่ำ และการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่น้อยลง

ภูมิทัศน์ธุรกิจไทย: เหลื่อมล้ำ ชรา และกระจุกตัว

เราอาจคุ้นชินกับความเหลื่อมล้ำของปัจเจกชน แต่ความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจอาจเป็น ‘กล่องดำ’ ที่ไม่มีการศึกษาเผยแพร่มากนัก คณะวิจัยได้หยิบเอาข้อมูลบริษัทจากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มาวิเคราะห์แล้วพบว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในไทย 5 เปอร์เซ็นต์ มีรายรับรวมคิดเป็นถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าบริษัทที่เหลือในตลาดอีก 95 เปอร์เซ็นต์ ต้องแบ่งเค้ก 15 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจากบริษัทยักษ์ใหญ่

ในแง่ของอายุบริษัท ทีมวิจัยก็พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มของทั้งอัตราการเข้าและอัตราการออกจากตลาดลดลงเช่นกัน เทรนด์ดังกล่าวหมายความว่าพลวัตของธุรกิจไทยลดลง กล่าวคือธุรกิจดั้งเดิมก็ยังอยู่ได้ ในขณะที่ธุรกิจใหม่เกิดน้อยลง เรียกได้ว่าธุรกิจไทยกำลังเข้าสู่วัยชราก็คงไม่ผิดนัก

คณะวิจัยได้ล้วงลึกในรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มบริษัทโดยพบว่าสามารถแบ่งออกได้ประมาณ 6,000 กลุ่มทุน บริษัทเหล่านี้คิดเป็นราว 5 เปอร์เซ็นต์ของตลาด แต่มียอดขายเป็นสัดส่วนสูงถึง 46 เปอร์เซ็นต์ และคว้าส่วนแบ่งกำไร 60 เปอร์เซ็นต์ของภาคธุรกิจในไทย โดยกลุ่มทุนเหล่านี้มักจะถือครองบริษัทขนาดใหญ่

การจัดกลุ่มบริษัทตามผู้ถือหุ้นทำให้เราเห็นภาพธุรกิจในไทยได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการวิเคราะห์โดย ดัชนีเฮอฟินดาล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl–Hirschman Index) หรือ HHI ซึ่งจะเป็นภาพแทนของการกระจุก-กระจายตัวของส่วนแบ่งตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมที่หากเกิน 0.25 ก็นับว่ามีการกระจุกตัวมาก ถ้าไม่คำนึงถึงกลุ่มทุนแล้ว อุตสาหกรรมเช่นการผลิตสุราและเบียร์จะมี HHI อยู่ที่ 0.3 – 0.4 แต่หากรวมเอาข้อมูลกลุ่มทุนเข้าไปด้วย จะพบว่า HHI ของอุตสาหกรรมผลิตสุราจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 0.8 และอุตสาหกรรมผลิตเบียร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.6 ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย

อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวมากที่สุด 10 อันดับแรก ภาพจากเอกสารการนำเสนอ ไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ

อย่างไรก็ดี การกระจุกตัวอาจแบ่งง่ายๆ ออกได้เป็นสองรูปแบบ คือการกระจุกตัวที่ดีที่ส่งเสริมผลิตภาพ ขยายส่วนแบ่งตลาด โดยไม่จำเป็นต้องกีดกันคู่แข่ง ส่วนการกระจุกตัวที่ไม่ดี ก็คือเหล่าเจ้าตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ มีอำนาจตลาดสูง และใช้อำนาจเหล่านั้นในการกีดกันผู้เล่นรายใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาด 

น่าเสียดาย ที่คณะวิจัยยังไม่ได้ตอบโจทย์ว่าการกระจุกตัวของหลากอุตสาหกรรมในไทยนั้น เป็นการรวมตัวเพื่อเสริมสร้างผลิตภาพ หรือการใช้อำนาจเพื่อกีดกันคู่แข่ง

อำนาจตลาดและผลกระทบต่อผลิตภาพ

อำนาจตลาด คือความสามารถของบริษัทในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถวัดได้หลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ทีมวิจัยเลือกใช้มาร์กอัพ (markup) ซึ่งคำนวณจากสัดส่วนราคาต่อต้นทุนหน่วยสุดท้าย (marginal cost) ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทมีอำนาจต่อผู้บริโภคในการกำหนดราคาและอำนาจต่อคู่ค้าในการกำหนดต้นทุนมากน้อยเพียงใด

ในช่วง พ.ศ. 2549 – 2559 ในช่วง 5 ปีแรกค่าเฉลี่ยของมาร์กอัพนั้นค่อนข้างคงที่ในขณะที่ 5 ปีหลังค่าเฉลี่ยดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าบริษัทมีอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ คณะวิจัยพบว่ายิ่งบริษัทอายุมากเท่าไรก็ยิ่งมีอำนาจตลาดมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวก็จะยิ่งมีอำนาจตลาดสูงขึ้นไปอีก

ค่ามาร์กอัพเฉลี่ยระหว่าง พ.ศ. 2549 – 2559 ตัวเลขที่สูงสะท้อนอำนาจตลาดของธุรกิจในการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่มากขึ้น ภาพจากเอกสารการนำเสนอ ไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ

ข้อค้นพบสำคัญคืออำนาจตลาดที่สูงนั้นสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตของผลิตภาพและอัตราการลงทุนที่ต่ำ ในแง่ของการส่งออก พบว่ามีแนวโน้มที่จะอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกน้อย และมีแนวโน้มต่ำที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 

หากจะให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอหยิบยกผลกระทบจากการยึดที่มั่น (entrenchment effect) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่พบจากการที่ผู้บริหารบริษัทมีอำนาจและความมั่นคงทางตำแหน่งสูงเกินไป โดยใช้อำนาจเหล่านั้นในการเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้น ตัดสินใจลงทุนเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองไม่ใช่บริษัท โดยมักกู้ยืมและลงทุนในระดับที่ต่ำเกินไป ส่งผลให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นลดต่ำลง

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการทำลายฐานที่มั่นนั้นลงและส่งเสริมให้เกิด ‘ผู้ท้าทายรายใหม่’ ที่จะผลักดันให้ผู้ครองอำนาจอยู่ก่อนต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการสนับสนุนโดยภาครัฐ รวมถึงการดำเนินกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เคร่งครัดและเป็นธรรม

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ความจำเป็นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเทศไทยมีกฎหมายแข่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 แต่นับตั้งแต่วันแรกของการบังคับใช้จนผ่านมากว่าทศวรรษ กลับไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ถูกลงโทษจากกฎหมายดังกล่าว จนกฎหมายที่ในต่างประเทศมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้นถึงขั้นโดยสั่งจ่ายค่าปรับหลักหมื่นล้านบาท กลายเป็นเพียง ‘เสือกระดาษ’ ในประเทศไทย

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ได้มีการผ่านร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘แสงแห่งความหวัง’ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดและข้อบกพร่องหลายประการของกฎหมายฉบับเก่า โดยเฉพาะ ‘คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า’ ทั้ง 7 คนซึ่งเป็นอิสระมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ยกเว้นการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ผูกขาดเพราะขายเก่งหลีกไป ผูกขาดโดยนโยบายแน่นอนกว่า)

จวบจนปัจจุบัน คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก็ได้เริ่มลงดาบในหลายคดีรวมถึงบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังเจ้าใหญ่ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปเพราะภูมิทัศน์การแข่งขันไทยยังมีปัญหาที่ฝังลึกหลายประการ ในบทความนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศในเอเชีย ซึ่งมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่นับว่าประสบความสำเร็จ แม้ว่าในประเทศจะมีกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งมีอำนาจสูงลิบคล้ายคลึงกับประเทศไทย นั่นคือเกาหลีใต้นั่นเอง

เกาลีใต้มีกฎหมายกำกับการผูกขาดและการค้าที่เป็นธรรม (Monopoly Regulation and Fair Trade Act: MRFTA) โดยบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 10 ประเทศที่มีกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของการกระจุกตัวในเครือบริษัทขนาดยักษ์ (ซึ่งขณะนั้นนำโดยรัฐบาลเนื่องจากทรัพยากรที่ขาดแคลน) และปกป้องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีที่ยืนในตลาด รวมถึงลดบทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจและปล่อยให้กลไกตลาดทำงานผ่านการแข่งขัน

กฎหมายดังกล่าวดำเนินการผ่านคณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมเกาหลี (Korea Fair Trade Commission: KFTC) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ โดยสามารถแบ่งการบังคับใช้ออกเป็น 4 ประเภทคือ การใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิด การกำกับการควบรวมที่อาจส่งผลต่อการแข่งขัน การป้องกันร่วมมือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเพื่อกำหนดราคา (cartels) และพฤติกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม

ตัวอย่างการบังคับใช้ที่น่าสนใจ เช่น การฟ้องร้องในกรณีที่การกระทำส่งผลลัพธ์ที่ ‘ต่อต้านการแข่งขัน’ เป็นคดีความต่อบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์อย่าง Microsoft Intel และ Qualcomm ที่ใช้อำนาจเหนือตลาดและต้องเสียค่าปรับหลักสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลลัพธ์ดังกล่าวนำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมไอที รวมถึงคดีความระดับโลกที่ KFTC ฟ้องร้องการร่วมมือเพื่อกำหนดราคาขนส่งสินค้าทางอากาศ ของ 21 บริษัทการบินจาก 16 ประเทศ โดยเรียกค่าปรับ 1.243 แสนล้านวอน ซึ่งนับว่าเป็นคดีความระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ KFTC และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

สำหรับพฤติกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม KFTC ได้จัดการข้อพิพาทหลักพันคดีตั้งแต่มีการก่อตั้ง โดยช่วยเหลือธุรกิจขนาดการและขนาดย่อมจากการเอารัดเอาเปรียบโดยเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ 

บทเรียนความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ และการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขัน นับว่าเป็นต้นแบบสำคัญที่เราควรมองและใคร่ครวญ จากหลักฐานเชิงประจักษ์ก็ค่อนข้างเห็นชัดว่าภูมิทัศน์การแข่งขันในไทยที่ขาดการกำกับดูแลทำให้เกิดภาวะ ‘ทุนกระจุกและอำนาจตลาดไม่ถูกกระจาย’ จึงอาจถึงเวลาที่กฎหมายการแข่งขันฉบับใหม่จะทำให้เจ้าตลาด ‘ขยับ’ ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นบนสนามที่เป็นธรรม

 

ขอบคุณ สฤณี อาชวานันทกุล ที่อนุเคราะห์บัตรประชุมวิชาการ

เอกสารประกอบการเขียน

Towards a Competitive Thailand: The Role of Market Power and Business Dynamism

เอกสารนำเสนอในงาน สัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2562

วีดีโอการนำเสนอ – ไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ

Development of Competition Laws in Korea

Tags: ,