ปัญหาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ป่าอุทยานในไทยมีมาอย่างยาวนาน ครั้งหนึ่งพวกเขาถูกกันให้ออกไปจากป่าและต้องตั้งถิ่นฐานในที่ที่รัฐจัดเอาไว้ให้ผ่าน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับปี พ.ศ.2504 จนกระทั่งถึงวาระของ พ.ร.บ. อุทยานฯ ฉบับใหม่ (ปี พ.ศ.2562) ที่มีการเพิ่มโทษสำหรับกรณีทำลายป่า แต่สำหรับกรณีของผู้ที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับป่ามาแต่เดิม ได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกับป่าหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า ‘โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติ’ โดยชุมชนชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในพื้นที่ใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะเป็นหมู่บ้านนำร่องของการใช้ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่นี้ 

แต่ก่อนอื่นเราอยากชวนไปดูว่าที่ผ่านมา วิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากการที่ถูกกันให้ต้องตัดขาดออกจากป่า

เมื่อที่อยู่อาศัยเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและตัวตน การยอมรับของสังคม และเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากวันหนึ่งเราต้องย้ายที่อยู่ สถานที่แห่งใหม่จะเป็นสถานที่แบบใด? หลายคนอาจจะคิดว่าสถานที่แห่งใหม่จะต้องดีขึ้นกว่าเดิมและตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หากเป็นคนชอบสังสรรค์ ก็อาจจะเลือกย่านที่คึกคัก มีเสียงผู้คนจอแจยามค่ำคืน หรือหากเป็นคนรักความสงบก็อาจจะเลือกแถบชานเมืองหรือต่างจังหวัดเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย

การมองหาสิ่งที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกันกับชาวกะเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธ์ที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นในการอยู่ร่วมกับป่า ด้วยวิถีที่มีการพึ่งพิงธรรมชาติและทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงไม่แปลกนักหากผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งต้นน้ำคือปัจจัยสำคัญที่ชาวกะเหรี่ยงใช้ตัดสินใจเพื่อลงหลักปักฐานมาตั้งแต่ในอดีต

แต่การอยู่ร่วมกันระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับป่าสำหรับโลกสมัยใหม่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย นับตั้งแต่รัฐไทยได้ประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้มีการใช้ข้อบังคับทางกฎหมายคือ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (ฉบับเก่า) เป็นเครื่องมือในการควบคุมพื้นที่ป่า และด้วยพ.ร.บ ฉบับนี้เน้นไปที่การอนุรักษ์และท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีผู้อยู่อาศัย ยิ่งทำให้ว่าคนและป่าแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

ผลกระทบจึงตกมาอยู่กับชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่เดิม ก่อนจะมีการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดังเช่นกรณีของชาวกะเหรี่ยง ‘บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่แห่งเดิมได้ เนื่องจากอดีตยังไม่มีข้อกฎหมายที่อนุญาตให้คนอยู่ร่วมกับป่า ดังนั้นทางเลือกที่เหลืออยู่คือลงมาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐเป็นผู้จัดสรรไว้ให้คือโป่งลึก-บางกลอย

วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการอพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ พวกเขาต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากที่อยู่ใหม่นี้มีความแตกต่างจากพื้นที่เดิม นับตั้งแต่การเพาะปลูกทำได้ยากขึ้น เพราะสภาพดินส่วนมากเป็นหิน อีกทั้งยังห่างไกลจากแหล่งน้ำ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น เช่น มะนาว ทุเรียน ข้าวโพด สัปปะรด มะละกอ กล้วยไข่ ฯลฯ บางส่วนก็ทำการเกษตรแบบรับจ้าง คือมีผู้ออกทุนให้เพาะปลูก รวมถึงมีการให้เมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ โดยผู้ที่ออกทุนให้เป็นคนเดียวกับที่รับซื้อผลิตผลนั้นไป ซึ่งแตกต่างจากกับวิถีดั้งเดิม

เดิมชาวกะเหรี่ยงทำเกษตรเพื่อยังชีพในครัวเรือน อีกทั้งยังมีวิธีการทำไร่ข้าวแบบเฉพาะของตนเองที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน คือ ‘ไร่หมุนเวียน’ หมายถึงระบบการเกษตรที่คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินที่เคยทำการเพาะปลูกด้วยการหมุนเวียนพื้นที่ทำไร่ในทุกๆ รอบปี นั่นคือชาวกะเหรี่ยงจะทำการเพาะปลูกในแปลงระยะหนึ่ง ก่อนจะผลัดเปลี่ยนไปเพาะปลูกอีกแปลง เมื่อเวียนใช้ที่ดินจนครบที่แต่ละครอบครัวได้กำหนดแล้ว จึงค่อยย้อนกลับมาที่แปลงเดิมและเริ่มการเพาะปลูกใหม่อีกครั้ง ทำให้ผืนดินที่ว่างจากการเพาะปลูกจะได้รับการพักฟื้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี นั่นคือการทำไร่หมุนเวียนในแบบของพวกเขา ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีคนเข้าใจว่านี่คือการทำไร่เลื่อนลอย

จากวิถีการดำรงชีวิตอยู่ในป่าและใกล้พื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงมีระบบความเชื่ออันเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าและดำเนินชีวิตโดยยึดโยงตัวตนของตัวเองเข้ากับธรรมชาติอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ได้รับผลตอบแทนเป็นผลผลิตที่เพียงพอในแต่ละรอบปี ด้วยวิถีเช่นนี้จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้ต่างจากวิถีชีวิตของคนพื้นราบหรือคนในเมือง 

การพึ่งพิงธรรมชาติก่อให้เกิดความเชื่อที่ชาวกะเหรี่ยงสืบทอดต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการด้านการเพาะปลูก เช่น การทำไร่ข้าวในแต่ละขั้นตอนจะต้องดำเนินการเพื่อสื่อสารกับแม่โพสพ (พิบียอ) และแม่ธรณี (ซูตอริ) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวกะเหรี่ยง นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงจะมีความเชื่อที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าซึ่งเกี่ยวข้องกับคำทำนาย ลางบอกเหตุ รวมถึงสร้างคติความเชื่อเพื่อให้เป็นกฎในการล่าสัตว์ รวมไปถึงการรักษาความสะอาดของแม่น้ำโดยไม่ทิ้งสิ่งใดๆ ลงในแม่น้ำ 

ภาพโดย ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ transbordernews.in.th

แต่เมื่อย้ายลงมาอยู่ในโป่งลึก-บางกลอย สภาพแวดล้อมที่ต่างจากเดิมส่งผลให้การยึดโยงความเชื่อกับวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เช่นเมื่อการปลูกข้าวไม่ได้ผล การทำพิธีเรียกขวัญข้าวก็เริ่มห่างหายไป ไม่เพียงแต่ความเชื่อเท่านั้น ด้านวิถีชีวิตเช่นทำไร่หมุนเวียนไม่สามารถทำได้เหมือนอดีต เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด รวมไปถึงการทำไร่หมุนเวียนมักถูกเข้าใจว่าเป็นการบุกรุก และใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ภาครัฐจึงเข้ามาแนะนำวิธีทำเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมไปถึงแนะนำให้เปิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนหรือโฮมสเตย์แทน ซึ่งจะมีผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินที่ช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเมืองได้

นอกจากนี้ ปัญหาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือต้องมีการลงทุนสูง ทั้งจากเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งแตกต่างจากการปลูกพืชไร่แบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง คือการเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนเป็นปลูกแบบขั้นบันได ใช้วิธีไถพรวนหรือเปิดหน้าดินซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ดินมากขึ้น รวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เมื่อชาวบ้านไม่มีเงินจึงทำให้ต้องออกไปเป็นแรงงานรับจ้างข้างนอกชุมชน  

การย้ายที่อยู่ส่งผลกระทบไปถึง ‘ตัวตน’ ของความเป็นชาวกะเหรี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการดำรงชีวิตแบบชาวกะเหรี่ยงหายไป เสมือนเป็นการลดคุณค่าของวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่ามาอย่างช้านาน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมบริบทใหม่ที่แตกต่างจากวิถีเดิมอย่างมาก

เมื่อย้อนกลับไปดูข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อภาครัฐ ข้อหนึ่งที่สำคัญนั่นคือพวกเขาต้องการเป็นผู้กำหนดพื้นที่ทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียนด้วยตัวเอง รวมถึงอยากให้เจ้าหน้าที่กำหนดเขตที่ดินทำกินให้ชัดเจน และเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมากขึ้น สิ่งนี้ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องการอย่างแท้จริงนั่นคือการที่ยังคงสืบทอดวิถีชิวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเองได้ต่อไป โดยไม่ขัดกับหลักกฎหมาย และต้องการการยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ขณะเดียวกันนั้นก็นำมาสู่คำถามที่ว่า การอ้างว่าความเปลี่ยนแปลงจะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ชีวิตที่ดีขึ้น เป็นเพียงมุมมองของคนเมืองที่อยู่ภายนอกโดยปราศจากความเข้าใจหรือไม่

แล้วชาวกะเหรี่ยงควรปรับตัวไปในทิศทางใด?

หากตั้งคำถามว่าแล้วหลังจากนี้ชาวกะเหรี่ยงจะต้องปรับตัวอย่างไรหากไม่ได้อยู่ร่วมกับป่า แล้ว เราอาจจะพบเจอคำตอบที่หลากหลาย ฝั่งหนึ่งเชื่อว่าชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงคือผู้ปกป้องป่า พวกเขาไม่มีวันทำลายป่าซึ่งมอบที่อยู่และแหล่งอาหารให้แก่พวกเขา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็เชื่อว่าชาวกะเหรี่ยงควรจะต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนเมืองพื้นราบได้

นายสมบูรณ์ สูงตัง อายุ 64 ปี ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านห้วยเกษม อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี กล่าวว่าวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเป็นมิตรกับธรรมชาติ ปลูกพืชตามฤดูกาลจึงทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีอันตราย แตกต่างจากคนบนพื้นที่ราบ เมื่อถามถึงอนาคตหากต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เขาก็ได้กล่าวว่า “เราคงอยู่ไม่ได้ แม้คนรุ่นใหม่จะออกไปทำงานรับราชการอย่างไรก็ต้องกลับมาพัฒนาชุมชน” 

ขณะที่ นางจินตนา ทองริด ชาวไทยที่แต่งงานกับครอบครัวชาวกะเหรี่ยงและใช้ชีวิตกับชาวกะเหรี่ยงใน อ.หนองหญ้าปล้องมาตั้งแต่เล็ก กลับมองว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจก็ช่วยให้มีรายได้และเข้าถึงบริการสาธารณะได้สะดวกสบายขึ้น อีกทั้งการไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นป่านั้นทำให้มีที่ดินที่มีโฉนดเป็นชื่อของตัวเอง แต่สำหรับเรื่องประเพณีของชาวกะเหรี่ยงไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงต้องยึดถือปฏิบัติแบบเดิมไว้ จะละทิ้งไม่ได้ 

จากคำบอกกล่าวของคนในพื้นที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากมีประเพณี คุณค่าและวัฒนธรรมที่ยึดถือไว้เป็นหลักในการดำรงชีวิต แต่ในขณะเดียวกันชาวกะเหรี่ยงเองก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเช่นคนอื่นๆ ในสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

มุมมองใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าในปัจจุบัน 

นอกเหนือไปจากการถูกยอมรับจากคนในสังคม อีกสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งนั่นคือการถูกยอมรับจากผู้บังคับใช้กฎหมาย นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันได้นำ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติ 2562 มาใช้ในพื้นที่อุทยาน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำข้อมูลชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า และยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด 

ลักษณะเด่นของ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติฉบับนี้ คือมุ่งเน้นธรรมชาติ สร้างความสมดุล และแก้ปัญหาคนที่อยู่กับป่า แตกต่างจาก พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติฉบับที่แล้ว (พ.ศ.2504) ซึ่งเน้นการใช้เพื่อการท่องเที่ยว โดยหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยจะเป็นหมู่บ้านนำร่องของการใช้ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่นี้  

สำหรับนายกฤษฎา บุญชัย  รองเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบนใจ-แผ่นดิน” ว่าสิ่งที่ปกป้องป่าได้ดีที่สุดมากกว่าเครื่องมือที่มีอำนาจใดๆ ของรัฐ นั่นคือเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า การรักษาธรรมชาติไม่เพียงแต่ต้องใส่ใจกับต้นไม้ แม่น้ำ และสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ปัจจุบันต้องใส่ใจชุมชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ป่าด้วย 

แน่นอนว่าหลายคนในสังคมย่อมต้องรู้สึกรักและห่วงใย ไม่ต้องการเห็นธรรมชาติถูกทำลาย แต่บางครั้งเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรอาจไม่ใช่เพียงแค่การเก็บรักษาไว้โดยไม่แตะต้องเพียงอย่างเดียว แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดการการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนับว่าเป็นทิศทางที่ดี ที่ พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติฉบับปี 2562 แสดงถึงการยอมรับโดยกฎหมายว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ผ่านการเพิ่มสิทธิให้ชุมชนที่อยู่ป่าแต่เดิมเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ทั้งยังนับเป็นการประนีประนอมระหว่างภาครัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าติดตามตอนต่อไป

อ้างอิง:

ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน. (2562). มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation): กรุงเทพฯ

________________

*ผลงานจากโครงการ Young Forest Journalist Fellowshhip 2019 หรือ โครงการนักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ 2019 คิด-เขียน-สร้างสรรค์ เพื่อธรรมาภิบาลป่าไม้ไทย

ร่วมสร้างสรรค์และสนับสนุนโดย Voices for Mekong Forest (V4MF), ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย สหภาพยุโรป