คุณเคยมีความฝันอยากมีชีวิตไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง ใช้ชีวิตในสังคมศิวิไลซ์ อยู่กับระบบสวัสดิการที่ดีไหม

การเดินทางจากบ้านเกิดไปทำงานในต่างแดน ส่วนใหญ่มักมากับความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเจอกับขั้นตอนที่แสนจะยากและซับซ้อน หากไม่ใช่กลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจร่วมกันอยู่แล้วอย่างเครือสหภาพยุโรปที่คนในประเทศสมาชิกสามารถข้ามห้วยไปทำงานในประเทศอื่นในเครือได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องเผชิญกับปราการความวุ่นวาย โดยเฉพาะงานเอกสารที่ต้องยื่นหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

กลับมาดูประเทศไทย ในฐานะประเทศปลายทาง คนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องเริ่มจากการมีนายจ้างที่ให้การรับรอง ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปกติที่เกิดกับแทบทุกประเทศ แต่ที่ต่างคือ ทุกวันนี้ การจะยื่นเรื่องเอกสารให้คนต่างชาติทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีขั้นตอนที่ซับซ้อน หลายกรณี นายจ้างและลูกจ้างยื่นเอกสารกับกรมการจัดหางานด้วยตัวเองไม่ได้ หรือทำได้แต่ยากลำบาก แต่ต้องผ่านเอเจนซี่ที่ได้รับอนุญาต

หนำซ้ำเมื่อเข้ามาแล้ว คนทำงานบางกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยรัฐที่อาจมีสัญญาจ้างสองปี แต่ก็ยังต้องไปรายงานตัวกับกองตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน

ที่กล่าวมานี้ ต้องบอกว่า การปฏิบัติกับกลุ่มแรงงานจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กับกลุ่มแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างพม่า ลาว กัมพูชา ก็มีมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันด้วย

สกู๊ปชิ้นนี้ จะพาผู้อ่านไปสำรวจโลกของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ที่อีกไม่กี่วันก็จะครบกำหนด ‘ระยะเวลาผ่อนผัน’ การบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ที่กำลังจะครบครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ช่วงเวลานี้จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สังคมไทยต้องเฝ้าจับตา ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลัง พ.ร.ก. ฉบับนี้ประกาศใช้เต็มรูปแบบในวันปีใหม่นี้

000

 

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ว่า แรงงานจากพม่า ลาว กัมพูชา ต้องหอบผ้าหอบผ่อนรีบกลับประเทศบ้านเกิดไป เพราะรัฐบาล คสช.ออกกฎหมายเร่งด่วน เป็นพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีใจความว่า จะสั่งปรับนายจ้างที่จ้างงานแรงงานผิดกฎหมายหัวละ 400,000-800,000 บาท ทำให้นายจ้างพากันหวาดกลัวและกดดันแรงงานให้กลับบ้านไป

ผลจากเรื่องนี้ มีแรงงานอย่างน้อย 60,000 คนถูกส่งตัวกลับ บางคนไปแล้วไปลับ บางคนรอคอยมาตรการรองรับอื่นๆ ที่จะตามมา

อาจฟังดูเหมือนจะสมเหตุสมผล อะไรที่ผิดกฎหมายก็น่าจะเร่งจัดการให้ถูกต้อง แต่เรื่องนี้มีความย้อนแย้ง เพราะในด้านหนึ่ง ขั้นตอนที่จะดำเนินการให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในไทยซึ่งอยู่อย่างผิดกฎหมายมาทำงานแบบถูกกฎหมายก็ยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมและบริการบ้านเราก็ต้องการแรงงานเหล่านี้ เพื่อมาอุดช่องโหว่ในสายงานที่แรงงานชาวไทยไม่อยากทำ

ปัจจุบัน บ้านเราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน การขาดแคลนแรงงานในประเทศมาจากสองปัจจัยหลัก คือ โครงสร้างประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย และแรงงานไทยมีการศึกษามากขึ้น จึงปฏิเสธงานในกลุ่มตลาดล่าง เช่น งานบริการ การประมง หรือก่อสร้าง เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานประเมินว่า ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ตัวเลขความต้องการแรงงานข้ามชาติอาจสูงถึง 6-9 ล้านคน แต่รัฐไทยยังขาดความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้เกิดการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย และลดปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน หากไม่รีบปฏิรูปทั้งระบบ จะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจไทยในไม่ช้า

ธุรกิจก่อสร้าง เป็นหนึ่งในสายงานที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง (ภาพโดย Chaiwat Subprasom /Reuters)

 

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ยาแรงแต่ผิดโรค

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ เป็นยาแรงที่คสช. ใช้บริหารจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ สาระสำคัญคือ เพิ่มบทลงโทษสำหรับนายจ้างที่รับคนต่างชาติมาทํางานในงานที่ห้ามทำ หรือรับคนต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทํางาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท รวมถึงถ้านายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท

กฎหมายใหม่มีโทษสูง แต่ต้นทุนของการทำให้เกิดการจ้างงานแบบถูกกฎหมายก็สูงไม่แพ้กัน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว การผลักดันหรือส่งตัวแรงงานกลับประเทศบ้านเกิดจึงกลายเป็นทางเลือกหลัก มากกว่าที่จะทำให้นายจ้างไปดำเนินการจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ผลกระทบจากการหายไปของแรงงานแบบกระทันหันจึงไม่ได้ตกอยู่แค่กับ ลูกจ้างหรือนายจ้าง-ผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบภายหลังการบังคับใช้กฎหมายนี้ว่าอาจจะกระทบต่อจีดีพีสูงสุดถึง 0.3 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่า 4.65 หมื่นล้านบาท และต่ำสุดที่ 0.08 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกรรมและกิจการต่อเนื่อง กลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจค้าขาย และกลุ่มก่อสร้าง ที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวรวมกันกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวเป็นการประเมินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป ยังไม่รวมต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการทำให้แรงงานต่างด้าวทำงานอย่างถูกต้อง
หลังเกิดปฏิกิริยาเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ นำมาสู่เสียงวิจารณ์มากมาย รัฐบาลคสช. จึงแก้ไขปัญหาชั่วคราวด้วยการใช้มาตรา 44 ‘ผ่อนผัน’ การบังคับใช้ออกไปก่อน ให้ไปเริ่มอีกที่ 1 ม.ค. 2561 นี้

 

    พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ เป็นยาแรง ที่คสช. ใช้บริหารจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ  เพิ่มบทลงโทษสำหรับนายจ้างที่รับคนต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทํางาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท

แล้วทำไมนายจ้างไม่จ้างแรงงานให้ถูกกฎหมาย

ลองเหลียวไปมองรอบๆ ตัว เชื่อว่าเราล้วนเกี่ยวพันกับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อาจเป็นร้านค้าที่เราไปกินอาหาร หรือเป็นเพื่อนใกล้ตัวเราเองที่จ้างงานให้คนมาทำงานในบ้านโดยไม่มีใบอนุญาต

คำถามคือ ทำไมห้างร้านและครัวเรือนเหล่านั้นไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง

การขอเอกสารสิทธิให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นขั้นตอนที่ยาก ด้วยระบบระเบียบของราชการ เช่น ถ้านายจ้างต้องการนำเข้าแรงงานมาอย่างถูกกฎหมาย ผ่านระบบข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี  หรือที่เรียกกับว่า ‘ระบบ MOU’ ก็จะมีขั้นตอนที่นายจ้างต้องดำเนินการทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าขั้นตอน ประมาณการณ์เวลาคร่าวๆ ทั้งกระบวนการต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน พร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างน้อย 16,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับนายจ้างบางราย

นอกจากระบบ MOU แล้ว นายจ้างบางคนอาจจ้างแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศชั่วคราว หรือที่เรียกกันว่า ‘แรงงานบัตรชมพู’ และไปดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกกฎหมาย เรียกว่าระบบพิสูจน์สัญชาติ แม้วิธีนี้จะไม่ยุ่งยากเท่ากับระบบ MOU แต่ระยะเวลาในการดำเนินการก็ไม่น้อย ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก พร้อมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวนหนึ่งอีกเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ นายจ้างบางคนจึงยอมจ้างงานแบบผิดกฎหมาย เพราะมีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายถูกกว่า

เพื่อจะจ้างแรงงานให้ถูกกฎหมาย มีขั้นตอนที่นายจ้างต้องดำเนินการไม่น้อยกว่าห้าขั้นตอน ใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างน้อย 16,000-20,000 บาท

โควต้าอาชีพ เฉพาะคนไทย

รู้ไหมว่า ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่สงวนเอาไว้ให้เฉพาะคนไทยทำได้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ช่างตัดผม

พิภูเอก สกุลหลิม ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยแห่งหนึ่งเห็นว่า กฎหมายที่กำหนดอาชีพของแรงงานต่างด้าว เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลกเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว

“เราต้องยอมรับความจริงว่างานบางอย่างไม่สามารถหาคนไทยทำงานได้แล้ว หรือถ้าได้แรงงานคนไทย บางทีก็ไม่สู้งานเท่าแรงงานข้ามชาติ แทนที่จะปลดล็อกอาชีพกลับไปเพิ่มโทษให้สูงขึ้น แบบนี้ธุรกิจเจ๊งแน่นอน” พิภูเอกกล่าว

เขาเห็นว่า เมื่อ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ เพิ่มบทลงโทษให้นายจ้าง โดยมีค่าปรับหลักแสน หากกลับมาบังคับใช้จริง ถ้าไม่ล้มละลายไปเสียก่อนก็คงต้องถูกรีดไถเก็บส่วยเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

นอกจากความอ่อนแอของกฎหมายที่เปิดช่องให้เกิดการรีดไถเก็บส่วยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อเจ้าของกิจการแล้ว ระดับของการขูดรีดยังสะเทือนเป็นเกมโดมิโน เพราะการที่คนทำงานต้องแอบทำงานแบบผิดกฎหมาย ก็ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง กลายเป็นใบผ่านทางนำไปสู่การขูดรีดและละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ

ความอ่อนแอของกฎหมาย เปิดช่องให้เกิดการรีดไถเก็บส่วยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อเจ้าของกิจการ

 

ระดับของการขูดรีดยังสะเทือนเป็นเกมโดมิโน

เพราะคนทำงานก็ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง

กลายเป็นใบผ่านทางสู่การขูดรีดและละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบ

 

สารพัดปัญหาของการเป็น ‘แรงงานข้ามชาติ’ ในไทย

การเป็นแรงงานข้ามชาติในไทยต้องประสบกับปัญหาใหญ่ๆ อย่างน้อยสี่ข้อ หนึ่ง ปัญหาเรื่องการเข้ามาทำงานโดยไม่มีเอกสาร หรือมีเอกสารแต่ถูกยึดไว้โดยนายจ้าง สอง ปัญหาเรื่องสิทธิแรงงาน เช่น ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม สาม การไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคม เช่น การรักษาพยาบาล การเข้าถึงศึกษา และสี่ การถูกละเมิดอื่นๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย

ทั้งสี่ข้อที่กล่าวมา ล้วนมีรากฐานมาจากปัญหาข้อเดียวกัน คือ การไร้ซึ่งเอกสารรับรอง เพราะแรงงานที่ไม่มีเอกสารติดตัว จะเสี่ยงถูกละเมิดได้ง่าย มีความเปราะบางด้านสิทธิ เพราะเมื่อแรงงานมีอำนาจต่อรองต่อนายจ้างต่ำ ทำให้ถูกกดขี่อย่างไรก็ได้ โดนกลั่นแกล้งทำร้ายแล้ว ยังไม่สามารถแสดงตัวกับรัฐเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หนำซ้ำยังมีโอกาสถูกจับกุม เก็บส่วย รีดไถ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกต่างหาก

แต่ครั้นได้เอกสารทำงานอย่างถูกกฎหมายมาแล้ว หากเจอเงื่อนไขในรายละเอียดยิบย่อย เช่น วันหนึ่งคิดเปลี่ยนงาน และต้องย้ายถิ่นฐาน ก็แปลว่าต้องขอใบอนุญาตใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและต้องใช้เวลา เป็นขั้นตอนเอกสารที่ทำยาก ขาดความคล่องตัว การเข้าสู่ระบบบางครั้งจึงไม่ต่างกับการเป็นนักโทษในคุก

สุดท้าย การเลือกเสี่ยงดวง ไม่เข้าระบบ อยู่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าสำหรับแรงงานข้ามชาติเช่นกัน

แรงงานชาวเมียนมาร์ร้องไห้ หลังเจ้าหน้าที่เข้าบุกจับแรงงานผิดกฎหมายที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ถ่ายเมื่อ 27 กันยายน 2559 โดย Athit Perawongmetha/ Reuters)

 

การตอบโต้ของต่างชาติต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

เมื่อตลาดมีความต้องการแรงงานข้ามชาติที่มีต้นทุนราคาถูก อุตสาหกรรมการค้ามนุษย์จึงเกิดขึ้น จนท้ายที่สุด ไทยถูกตอบโต้จากต่างชาติ ในรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Person Report : TIP REPORT) ที่รวบรวมสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมกับประเมินให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 3 คือ เป็นประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์รุนแรงที่สุดในปี 2557

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Fishing  (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เป็นการตอบโต้ทางการค้า และกดดันอุตสาหกรรมประมงและอาหารแปรรูป

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งดูดาย เพราะการถูกจัดให้อยู่ในระดับล่างสุด ส่งผลต่อสิทธิในการค้าการลงทุนต่างๆ ของประเทศ จึงพยายามแก้ไขปัญหา เวลานี้ สถานะของประเทศไทย เลื่อนอันดับจาก Tier 3 ขึ้นมาสู่ Tier 2 ซึ่งเป็นลิสต์ที่ต้องจับตา (Watch list) แต่นั่นก็ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาอย่างฉับไว เรื่องนี้จึงเป็นที่มาที่รัฐบาล คสช.ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือ ‘พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ’ เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการหักดิบโดยละเลยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะปฏิรูปทั้งระบบ กำหนดทิศทางแบบมีส่วนร่วม

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ เปิดเผยว่า หลัง คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผ่อนผันและขยายเวลาการบังคับใช้ตัว พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ออกไป และออกมาตรการมารองรับสำหรับแรงงานที่เข้าสู่ระบบผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้สถานการณ์ดูจะทุเลาลง แต่นั่นก็เป็นการแก้ไขสถานการณ์เพียงชั่วคราว และรัฐบาลยังมีโจทย์ใหญ่ต้องแก้ให้ทันระเบิดเวลาที่ตนเป็นคนจุดไว้ในปีใหม่นี้

อดิศรมองว่า ในระยะสั้น รัฐคงต้องขยายเวลาออกไปอีกเมื่อครบกำหนด 180 วัน (ครบกำหนด 31 ธันวาคม 2560) เพราะปัจจุบัน การดำเนินการเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายมีเพียงการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีความยุ่งยากเพราะต้องติดต่อประสานงานกับประเทศต้นทางด้วยเช่นกัน และที่ผ่านมา การดำเนินการก็ไปได้แค่เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ส่วนในระยะยาว อดิศรยังมองไม่เห็นทิศทางที่รัฐจะดำเนินการ เขาเสนอว่า ทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกันให้มากขึ้น รับฟังและปรึกษากันให้มากขึ้น ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพราะบทเรียนจากการใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ คือ ขาดการมีส่วนร่วมและปรึกษากันให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปรับปรุงคือระบบการทำงานของรัฐ อดิศรเห็นว่า แนวคิดบางอย่างที่รัฐดำเนินการอยู่แล้วน่าสนใจ เช่น การตั้งศูนย์การบริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service-OSS) แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ว่า จะต้องปฏิรูปให้หน่วยงานของรัฐ อย่างเช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยตรวจคนเข้าเมือง ให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ลดลง หรือทบทวนแนวคิดการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวร ซึ่งเคยถูกเสนอไว้ในรายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติมาก่อน

 

FACT BOX:

ประเภทของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มีดังนี้

  • แรงงานที่มีใบอนุญาตตาม MOU ถือใบอนุญาตซึ่งมีอายุสี่ปี แต่ต้องต่ออายุทุกๆ สองปี หลังจากนั้นต้องกลับประเทศไปสามปีจึงจะกลับมาใหม่ได้ แต่เพิ่งเปลี่ยนเงื่อนไขเมื่อปี 2558 ให้ลดเหลือเพียง 30 วัน ถึงกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้
  • แรงงานที่ถือบัตรชมพู ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว โดยต้องไปพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ถือบัตรชมพูมีทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและทำเอกสารแทนหนังสือเดินทางแล้ว (บัตรชมพู ใช้ในกรณีคนที่เข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย แล้วรัฐบาลมีนโยบายโดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้อยู่และทำงานได้ชั่วคราว โดยให้มารายงานตัวทำบัตรชมพู ซึ่งเป็นการทำทะเบียน (มหาดไทย) และขออนุญาตทำงาน (จัดหางาน) บัตรชมพูมีอายุตามแต่มติครม.ประกาศ)
  • กลุ่มจ้างงานแบบไปกลับหรือจ้างงานตามฤดูกาลในพื้นที่ชายแดน
  • กลุ่มที่เข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย แต่ทำงานผิดกฎหมาย (วีซ่าท่องเที่ยว แอบทำงาน) ซึ่งไม่ได้รับการผ่อนผัน
  • กลุ่มที่แอบเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย และแอบทำงาน ซึ่งไม่ได้รับการผ่อนผัน
Tags: , , ,