‘ความปลอดภัยในการเดินทาง’ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งในช่วงเทศกาล เพราะการสัญจรที่มากกว่าปกติ อาจหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นตามมา

ข้อมูลจากศูนย์อํานวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เฉพาะช่วง 7 วันอันตราย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2559-2561) มีผู้เสียชีวิตรวม 1,281 คน บาดเจ็บ 11,578 คน เกิดเหตุ 11,119 ครั้ง และรุนแรงเพิ่มขึ้น  

พรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ชี้ว่า จุดที่เกิดเหตุในเทศกาลปีใหม่ ปี 2561 นั้นเป็นทางตรงร้อยละ 64.91 ทางโค้งร้อยละ 21.30 และทางแยกร้อยละ 11.05 โดยมีสาเหตุจากการขับเร็วเกินกําหนดสูงถึงร้อยละ 43.36

“ต้องไม่ลืมว่ายิ่งขับเร็ว ยิ่งมองไม่เห็นด้านข้าง ตอบสนองช้าลง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความรุนแรง จึงควรใช้ความเร็วตามกฎหมายกําหนด” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าว ซึ่งการขับด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. ต้องใช้ระยะทางหยุดรถ 13 เมตร หากใช้ความเร็ว 80 กม./ชม.ต้องใช้ระยะเบรกถึง 36 เมตร ยิ่งสภาพรถไม่พร้อมยิ่งต้องเพิ่มระยะเบรก และถ้าชนคนเดินถนนด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. จะมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 85 ที่จะมีผู้เสียชีวิต

ในระดับพื้นที่ ข้อมูลการวิเคราะห์จุดเสี่ยงคนทํางาน RTL (Road Traffic Injury) ทั่วประเทศ ระบุว่า ทางแยกและทางร่วมในไทยเป็นจุดที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงมาก เพราะขาดป้ายเตือนความเร็วและป้ายบอกทางแยก บางครั้งหากถนนต่างระดับก็ทำให้ต้องเร่งเครื่องส่ง

นอกจากนี้ ยังมีทางโค้ง มีตัวอย่างที่หลายจุดในภาคใต้ หากฝนตกแล้วยังขับเร็ว ก็มีโอกาสพลิกคว่ำสูง ขณะที่เกือบทุกภาค พบว่ามีอัตราการตายสูงมากที่จุดกลับรถ โดยเฉพาะถนนที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นจาก 2 เลนเป็น 4 เลน ผู้สูงวัยที่ยังปรับตัวไม่ได้ก็มีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูง นอกจากจุดเสี่ยง ยังพบว่ามีปัญหาร้านขายสินค้าสองข้างทาง ตลาด และจุดก่อสร้าง ที่ไม่มีป้ายเตือน รวมถึงไม่มีการกั้นทาง

“หากคนไทยทั้งประเทศช่วยกันลดความเร็วลง เราจะมีสิทธิ์รอด” – พรหมมินทร์ กัณธิยะ

นอกจากเตือนใจตัวเองให้ขับขี่อย่างระมัดระวังแล้ว รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำสปอตโฆษณาชุด “สูญเสียกันทุกฝ่าย” ภายใต้แคมเปญ “กลับบ้านปลอดภัย” ของ สสส. และภาคีเครือข่าย ว่าเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สามารถใช้ส่งต่อความห่วงใยเพื่อช่วยเตือนสติคนในครอบครัวได้

และแม้ความเร็วจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ แต่ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ก็ชี้ว่า ในหลายกรณีพบสาเหตุอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น อาการเมา ความง่วง หรือคุณภาพรถไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมให้มากที่สุด

ก่อนเดินทาง แนะนำให้เช็คอุปกรณ์ความปลอดภัย กรณีขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องมีหมวกกันน็อกทั้งคนขี่และคนซ้อนท้าย เช่นเดียวกับผู้ที่ขับรถยนต์ ที่ควรต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากเป็นเด็กเล็กก็ควรมีคาร์ซีท หรือเสริมเบาะให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่รัดคอ

รุ่งอรุณ เล่าว่า ที่ผ่านมา สสส. ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะเทศกาลเท่านั้น เพียงแต่ใช้โอกาสช่วงเทศกาลย้ำเตือนกัน ทั้งนี้ ในช่วงปกติ มีการสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการทำงานระยะยาว ตั้งแต่ทำแผนป้องกันความปลอดภัยทางถนน ลดจุดเสี่ยง ดูแลสภาพแวดล้อม และสื่อสารสาธารณะ โดยช่วง 2-3 ปีหลังมานี้จะเน้นที่การทำงานในระดับตำบลและอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนที่สุด

สอดคล้องกับ ดร.ปัญณ์ จันทร์พาณิชย์ จากกลุ่มการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจร สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ชี้ว่าการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ระดับอําเภอนั้นเป็นจุดที่เหมาะสม โดยสามารถดําเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประเมินผลได้ดีที่สุด โดยมีตัวชี้วัดจากการดําเนินงานที่ผ่านมา พบว่ามีอําเภอผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองคุณภาพในระดับดีเยี่ยม 54 อําเภอ และ 32 อําเภอ สามารถลดจํานวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตลงได้อย่างเป็นรูปธรรม และปี 2561 มี 136 อําเภอ ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองคุณภาพ โดยใช้ข้อมูลบริษัทกลางคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถ จํากัด พบว่า 75 อําเภอ มีจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง และมี 52 อําเภอ มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง

ดร.ปัญณ์ ฝากไว้ว่า อยากให้ทุกชุมชนค้นหาจุดเสี่ยงในชุมชนของตนเอง ทำจุดนั้นให้เด่นชัด เช่น ปักธงแดงแจ้งจุดเสี่ยงที่พึงระวัง ใช้ยางรถยนต์เก่านำมาทาสีไว้ที่ขอบถนน เพื่อทำให้เห็นขอบทางชัดเจน หรือทำจุดชะลอความเร็วตามแหล่งชุมชน เนื่องจากลำพังกำลังของเจ้าหน้าที่นั้นไม่เพียงพอ และหากรออาจจะไม่ทันการ เพราะขณะนี้ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ย 50-60 รายต่อวันแล้ว

นอกจากการเตรียมความพร้อมของผู้ขับขี่ ปรับสภาพแวดล้อม อีกตัวช่วยหนึ่งเพื่อความปลอดภัยคือนวัตกรรมของชุมชน ที่ ต.วังน้ำเขียว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีการตั้งด่านชุมชน ร่วมกันระหว่าง อบต. ผู้นำชุมชน และหน่วยราชการในพื้นที่ ในช่วง 7 วันอันตรายมาเป็นเวลากว่าสี่ปีแล้ว โดยด่านชุมชนนี้จะเป็นจุดให้บริการ มีการตั้งเต๊นท์ มีไฟสว่าง เครื่องดื่ม กาแฟคอยให้บริการ ถ้าง่วงนอน ก็นอนพักได้ หรือจีพีเอสบอกทางมาผิด ก็สามารถมาถามทางได้ รวมถึงมีหน่วยพยาบาล และรถเตรียมพร้อม กรณีเกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

สื่อรณรงค์ของ สสส. : http://www.thaihealth.or.th/Multimedia/3122/ปีใหม่กลับบ้านปลอดภัย.html

Tags: , , , ,