มีคำถามที่มักพูดกันเล่นๆ ว่า ใครนะคือคนแรกที่รู้ว่าผลไม้หน้าตาอันตรายอย่างทุเรียนนั้นกินได้? ต้องใช้ไหวพริบระดับไหนถึงค้นพบว่าข้างในเปลือกหนาๆ ของมันมีเนื้อสีเหลืองละมุนซ่อนอยู่ แถมยังรสชาติถูกอกถูกใจใครต่อใครจนได้รับฉายา ‘ราชาผลไม้’ ไปครองอย่างไร้ข้อกังขา

เขาคือใครเราไม่แน่ใจ แต่คงเกิดและเติบโตไม่ไกลจากมาเลเซีย

การเดินทางของทุเรียน

ด้วยรากเหง้าเดิมของทุเรียนนั้นอยู่ละแวกเกาะบอร์เนียว เกาะร้อนชื้นที่กินอาณาเขตประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน โดยหลักฐานยืนยันบ้านเกิดของมันชัดเจนอยู่ที่ชื่อ เพราะ ‘ทุเรียน’ เป็นคำผันมาจากคำว่า ‘ดูรี’ (Duri) แปลว่าหนามในภาษามลายู กระทั่งจนทุกวันนี้คนมาเลเซียเองก็ยังเรียกราชาผลไม้กันว่า ดุเรน และนับเป็นผลไม้ลูกรัก ปลูกกันมากมาย ส่งออกทำรายได้ปีละหลายหมื่นตัน แถมช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ฤดูกาลที่ทุเรียนสุกมีเกลื่อนตลาด ชาวมาเลเซียเองก็นิยมจัดเทศกาลชมและชิมทุเรียนกันเอิกเกริกไม่แพ้ชาวสวนทุเรียนไทย

และแล้ววันหนึ่งทุเรียนก็เริ่มออกเดินทาง

อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าทุเรียนเป็นนักเดินทางเหมือนอย่างผลไม้เมืองร้อนหลายๆ ชนิด ที่ขยายพันธุ์ผ่านตัวกลางอย่างผึ้ง นก หรือเมล็ดที่ร่อนร่วงลงพื้นดิน เนื่องจากตามกายภาพของผลไม้เปลือกหนา กว่าเมล็ดจะออกมาพบกับดินได้ก็ต้องอาศัยแรงมือที่สาม แต่อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในอดีตทุเรียนขยายอาณาเขตของสายพันธุ์อยู่เพียงบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ ‘ดอก’ ของทุเรียนที่จะบานเฉพาะช่วงโพล้เพล้ไปจนถึงย่ำรุ่งของอีกวัน สวนทางกับเวลาทำงานของผึ้งและสัตว์ต่างๆ จะมีก็แต่ ค้างคาวที่รับหน้าที่แม่สื่อคอยผสมพันธุ์ทุเรียนให้ขยายกระจายออกไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ไกลจากถิ่นเดิมเท่าไหร่นัก

แต่การค้าในโลกสมัยใหม่ ก็ได้ทำให้ทุเรียนเดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม

หลังทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงลำดับต้นๆ ของประเทศแถบใกล้บ้านเรา ไม่นาน ประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นใกล้เคียงกันอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือบางเมืองในประเทศจีนก็เริ่มนำกล้าพันธุ์ทุเรียนไปทดลองปลูกดูบ้าง แต่ก็ยังมีในปริมาณบางตา และรสชาติก็ยังทิ้งระยะห่างจากทุเรียนแหล่งเดิมอยู่หลายช่วงตัว

ทว่ามีพื้นที่หนึ่งซึ่งมีปัจจัยเหมาะสมทุกประการ กระทั่งบันดาลให้เกิดแหล่งปลูกใหญ่ขึ้นมา

เมืองหลวงเก่าของทุเรียนไทย อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างที่รู้กันว่าเมืองหลวงของทุเรียนไทยในปัจจุบันคือจังหวัดจันทบุรี เพราะแค่จังหวัดเดียวก็กินพื้นที่สวนทุเรียนถึง 210,631 ไร่ คิดเป็นจำนวนผลผลิตทุเรียนราว 3 แสนตันต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จังหวัดจันทบุรี) นับเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่สุดในโลก

แต่นั่นเป็นเพียงปลายทาง เพราะแม้จะยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าทุเรียนเข้ามาในไทยตั้งแต่ยุคไหน แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็คิดตรงกันว่าเมืองหลวงเก่าของทุเรียนนั้น น่าจะกินพื้นที่ไม่ไกลจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ในเรื่องนี้มีสองแนวคิดที่มักถูกหยิบมาอธิบายรากเหง้าของทุเรียนในเมืองไทย แนวคิดแรกสันนิษฐานว่าทุเรียนถูกนำเข้ามาพร้อมกับที่รัชกาลที่ 1 ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและมะริดในปี พ.ศ. 2330 เมื่อพระองค์เสวยทุเรียนของเมืองนั้นแล้วพอพระทัยจึงดำริให้นำกล้าพันธุ์มาปลูกไว้ในพระนคร หลักฐานสนับสนุนแนวคิดนี้คือบรรดาต้นทุเรียนเก่าแก่ที่สูงใหญ่อยู่บริเวณ ‘สวนใน’ หรือสวนในเรือนคหบดีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์เดียวกับที่พบทางใต้เรื่อยไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย

นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็คิดตรงกันว่าเมืองหลวงเก่าของทุเรียนนั้น น่าจะกินพื้นที่ไม่ไกลจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนแนวคิดถัดมาสันนิษฐานตามหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศส ‘ลาลูแบร์’ ผู้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยบันทึกระบุว่า “สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น ยาวตั้งแต่เข้าเขตบางกอกจนมาถึงตลาดขวัญ เป็นระยะราว 650 เส้น แสดงให้เห็นว่าทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่สมบูรณ์” ซึ่งเหมาะเจาะกับภาพทิวต้นทุเรียนตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไล่มาตั้งแต่นนทบุรี (ตลาดขวัญ) ไปถึงตัวเมืองบางกอก กินระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

จึงอนุมานได้ว่าเมืองหลวงเก่าของทุเรียนไทยอยู่ในบริเวณนั้น สอดคล้องกับชื่อเสียงของทุเรียนเมืองนนท์ที่โด่งดังมานับร้อยปี โดยเฉพาะทุเรียนจาก ‘ตำบลท่าอิฐ’ ชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ที่อพยพมาจากเมืองปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 5 และยึดอาชีพเกษตรกรรมกันมาตั้งแต่นั้น

และนอกจากมะปรางท่าอิฐที่นับเป็นของดีดั้งเดิมของตำบลแล้ว ‘ทุเรียนเมืองนนท์’ จำนวนไม่น้อยก็เป็นผลิตผลจากชุมชนมุสลิมแห่งนี้เช่นกัน กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีสวนทุเรียนโบราณยืนต้นให้ผลอยู่ทุกหน้าร้อน จึงพอสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า สายพันธุ์ทุเรียนในแถบภาคกลางและภาคตะวันออกล้วนเดินทางมาจากทางใต้ แม้จะยังไม่สามารถระบุวันเดือนปีของการมาถึงได้อย่างแน่ชัดก็ตาม

เมื่อจันท์เติบโต นนท์กลับเริ่มล้มตาย

ถัดจากทุเรียนเมืองนนท์ ก็คงเป็นทุเรียนเมืองจันท์ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งสมน้ำสมเนื้อ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปสักร้อยสองร้อยปีก่อน ทุเรียนจันท์กลับไม่ใช่สินค้ามีค่ามีราคาอะไร เพราะแม้จันทบุรีจะมีต้นทุเรียนเติบใหญ่จากการนำพาของพ่อค้าชาวใต้ ที่ล่องเรือมาค้าขายที่เมืองท่าอย่างจันทบูรตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ทุเรียนจันท์ในวันนั้นเป็น ‘ทุเรียนบ้าน’ ที่ปลูกไว้กินกันในครัวเรือนเท่านั้น หาใช่ทุเรียนที่ถูกประคมประหงมเพื่อส่งขายทำกำไรอย่างเครื่องเทศเช่นพริกไทยหรือกระวาน

หลักฐานเรื่องนี้ระบุอยู่ในประพาสจันทบูรซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงบรรยายถึงทุเรียนเมืองจันทร์เอาไว้ว่า ‘มีละลานตาอยู่ในเรือกสวนของชาวบ้าน’ แต่ไม่ได้เป็นสินค้าขึ้นชื่อหรือมีขายอยู่ในตลาดแต่อย่างใด ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของการย้ายเมืองหลวงของทุเรียนจากนนทบุรีมายังจันทบุรีจึงน่าจะเกิดขึ้นในยุคที่มีการตัดถนนเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-จันทบุรีราวๆ ปี พ.ศ.2490 เสียมากกว่า

เมื่อถนนหนทางสะดวก การขนส่งทางบกก็เริ่มคึกคัก ทุเรียนเมืองนนท์ที่มีชื่อเสียงมานานและได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะหมอนทอง ชะนี หรือกระดุม จึงเริ่มกระจายสู่ภาคตะวันออกของไทย ไล่มาตั้งแต่ระยอง จันทบุรี ขึ้นไปถึงปราจีนบุรี แต่ด้วยเมืองจันท์นั้นดินก็ดีน้ำก็ชุ่ม เนื้อของทุเรียนจันทร์จึงหอมมันถูกใจคอทุเรียนเป็นพิเศษ

และขณะที่ทุเรียนจันท์เติบโต ทุเรียนนนท์กลับเริ่มล้มตาย

เมื่อพื้นที่ลุ่มอย่างนนทบุรีต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่ถึงสองครั้งสองครา ในปี 2526 และ 2538 กระทั่งสวนทุเรียนหลายพันไร่ต้องแช่น้ำนานอยู่หลายเดือนและยืนต้นตายอย่างน่าเสียดาย บวกกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานครช่วงก่อนฟองสบู่แตก ยิ่งเร้าให้ชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์บ่ายหน้าจากราชาผลไม้หันไปปลูกพืชทนฝนชนิดอื่นแทน และมีไม่น้อยที่ตัดใจขายสวนให้นายทุนนำพื้นที่ไปสร้างตึกสูงไว้ทำกำไร

แน่นอนว่าเมื่ออุปทานลดลง แต่อุปสงค์ยังเท่าเดิม ในปัจจุบันราคาทุเรียนเมืองนนท์ โดยเฉพาะสายพันธุ์หายากอย่าง ‘ทุเรียนก้านยาว’ จึงถีบตัวสูงขึ้นเท่าทวีคูณ กระทั่งกลายเป็นทุเรียนไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ ‘ขายกันเป็นลูก’ ไม่ขายยกสวนหรือขายเป็นกิโลอย่างแหล่งอื่น ใครอยากลิ้มรสต้องรีบจับจองกันตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทุเรียน ช้ากว่านั้นคอทุเรียนอาจต้องควักเงินประมูลแข่งกันหลายพันบาท หรือบางปีอาจขึ้นไปแตะหลักหมื่นบาทหากผลผลิตน้อยกว่าที่เคย

ทุเรียนบ้านอร่อยๆ ในไทย ต้องลงใต้ไปตามหา

นอกจากทุเรียนสายแมสที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่างหมอนทอง ชะนี กระดุม ยังมีทุเรียนสายพันธุ์แปลกหน้าหาทานยากอีกราว 200 สายพันธุ์ยืนต้นไล่เรื่อยมาตั้งแต่อำเภอเบตง จนถึงนนทบุรี ข้ามไปฟากตะวันออกอย่างระยอง จันทบุรี ตราด หรือทางเหนืออย่างอุตรดิตถ์ก็มี ‘ทุเรียนหลงลับแล’ เป็นของขึ้นชื่อ กระทั่งบางจังหวัดในภาคอีสาน เช่น สุรินทร์และศรีสะเกษ ก็เริ่มมีสวนทุเรียนให้เห็นประปราย ยิ่งทุเรียนได้รับความนิยมเท่าไร อาณาเขตของมันยิ่งแผ่ไปไกลเท่านั้น

ความหลากหลายของพันธุ์ทุเรียนนั้นแบ่งกว้างๆ เป็นสองประเภท คือทุเรียนบ้าน และทุเรียนพันธุ์ กล่าวคือ ทุเรียนบ้านนับเป็นทุเรียนป่าที่ชาวบ้านนิยมนำมาเพาะกล้าไว้ในสวนหลังบ้าน แจกจ่ายกินกันในชุมชน ส่วนมากลำต้นสูงใหญ่เพราะไม่ได้ตัดแต่งกิ่ง บางต้นสูงถึง 50 เมตร จะกินทีต้องรอจนลูกสุกร่วงลงพื้นเพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยงปีนขึ้นไปเก็บ แต่ทุเรียนประเภทนี้มีข้อดีตรงกลิ่นรสลึกซึ้ง เนื่องจากเติบโตตามธรรมชาติ ผสมข้ามสายพันธุ์กันบ้าง ขาดน้ำบ้าง ขาดปุ๋ยบ้างก็ไม่เป็นไร ผลผลิตจึงน้อย แต่รสชาติอร่อยล้ำอย่างที่หาไม่ได้จากทุเรียนสายแมสตามท้องตลาด

และถ้าถามถึงทุเรียนบ้านอร่อยๆ ในไทย ก็ต้องลงใต้ไปตามหากัน

อย่างที่กล่าวข้างต้น ทุเรียนมีพื้นเพมาจากเกาะบอร์เนียว และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างช้าๆ ขึ้นมาทางภาคใต้ (ไม่นับการค้าขายหรือการสงครามที่ทำให้มันลัดมาไกลถึงจันทบุรีหรือบางกอก) ทุเรียนสายพันธุ์โบราณทั้งหลายจึงมีมากมายในป่าดิบชื้นบนผืนดินด้ามขวาน

ตัวอย่างสายพันธุ์ที่ได้รับการกล่าวขานว่าทั้งอร่อยและมีคุณสมบัติที่หาไม่ได้จากทุเรียนชนิดอื่นก็เช่น ‘ทุเรียนพันธุ์ลากขา’ จากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่สิบต้น เนื้อรสชาติหอมมัน แต่กินมากเข้าอาจเกิดอาการหน้าร้อนผ่าวราวกับเป็นไข้ หรืออีกหนึ่งทุเรียนบ้านที่ขึ้นชื่อไม่แพ้ใคร คือ ‘ทุเรียนพันธุ์สาลิกา’ ของดีเมืองพังงาที่หายากขึ้นทุกวัน ร่ำลือกันว่าเนื้ออร่อยไม่แพ้ทุเรียนก้านยาวของชาวนนท์ คนพังงานิยมปลูกไว้กินในครัวเรือน เหลือจึงส่งขาย และต้นหนึ่งมักมีอายุล่วงหลายทศวรรษ

นอกจากทุเรียนบ้านของทางใต้ ยังมีอีกหลายสายพันธุ์กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะเมืองท่าใหญ่ในอดีตอย่างจันทบูรที่เต็มไปด้วยต้นทุเรียนเก่าแก่ที่ซ่อนตัวลับแลอยู่ในสวนผลไม้ เรียกว่าดีไม่ดีอาจปลูกมาตั้งแต่ครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสก็เป็นไปได้

ครั้งหนึ่ง เจ้าของทุเรียนอินทรีย์พ่อรวย จังหวัดจันทบุรี เล่าให้เราฟังว่ายิ่งต้นทุเรียนแก่เท่าไหร่ ผลทุเรียนที่ได้มักยิ่งอร่อย โดยธรรมชาติทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังเพาะเลี้ยงนาน 4-7 ปี แต่เนื้อทุเรียนระยะนี้มักไม่ละมุนเท่าทุเรียนที่ยืนต้นมานานๆ และในสวนทุเรียนอินทรีย์พ่อรวยเองก็มีต้นทุเรียนโบราณอายุเฉียดร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งชาวสวนทุเรียนจันทร์มักมีต้นทุเรียนแก่เช่นนี้ซ่อนไว้สวนละต้นสองต้นเป็นปกติ ทว่าจะมีก็แต่คอทุเรียนตัวจริงเท่านั้นที่รู้และเดินเข้าสวนมาซื้อหาเป็นขาประจำ จนบางครั้งถึงกับต้องเปิดประมูลให้ต้องชิงไหวชิงพริบกันสุดตัว

เมื่อชื่อเสียงขจรขจาย การปลูกเพื่อขายจึงถือกำเนิด

ด้วยทุเรียนบ้านส่วนมากต้นสูงชะลูด เนื้อน้อย เมล็ดใหญ่ ถึงจะอร่อยแค่ไหนก็ไม่เหมาะกับการปลูกเพื่อส่งขายทีละหลายพันลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนเพื่อการค้าจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุนี้ ซึ่งการปรับปรุงสายพันธุ์นั้นทำได้โดยการคัดต้นทุเรียนบ้านที่เนื้ออร่อย ผลดก น้ำหนักดี นำมาตอนกิ่งเก็บไว้เพื่อไม่ให้กลายพันธุ์ จากนั้นก็เพาะเลี้ยงส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นจนได้พันธุ์ทุเรียนที่ไม่ต้องลุ้นเรื่องคุณภาพ

ตัวอย่างทุเรียนชนิดนี้ก็เช่น หมอนทอง ชะนี กระดุม รวมถึงก้านยาวเองก็นับเป็นทุเรียนคัดพันธุ์เช่นกัน และระหว่างพัฒนาสายพันธุ์นั้นชาวสวนก็จะหมั่นแต่งกิ่งทุเรียนให้มีความสูงไม่เกิน 5-6 เมตร เป็นจุดสังเกตว่าทุเรียนพันธุ์มักต้นเตี้ย เพื่อสะดวกต่อการเก็บผลผลิตที่ต้องพิถีพิถันเก็บทีละลูก ทีละลูก เพราะแม้ผลทุเรียนจะมาจากต้นเดียวกัน แต่ระยะเวลาสุกนั้นก็ต่างกันออกไป

กรณีการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนเพื่อการค้าที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง คือ ‘มูซานคิง’ (Musang King) ทุเรียนสัญชาติมาเลเซียที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ โดยทางการมาเลเซียลงทุนพัฒนาสายพันธุ์มูซานคิงถึงราว 15 ปี กระทั่งได้ทุเรียนเปลือกบาง ให้ผลเร็ว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ สำคัญคือเมื่อสุกแล้วเนื้อไม่เละ คงรูปเป็นพูสวย จึงได้เปรียบในแง่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่รักมูซานคิงในระดับจัดเทศกาลกินทุเรียนมาเลเซียขึ้นในหลายเมือง เรียกว่าเป็นงานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีทุเรียนเป็นสื่อกลางก็ไม่ผิด

ทว่าในตลาดทุเรียนพันธุ์ ก็มีเรื่องซับซ้อนกว่านั้นให้ทำความเข้าใจ

เพราะเมื่อตลาดทุเรียนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เกรดของทุเรียนจึงหลากหลายตามไปด้วย ทำนองว่าถึงจะเป็นหมอนทองเหมือนกัน แต่คุณภาพจากแต่ละแหล่งผลิตนั้นก็อาจต่างกันไกล

หลักสังเกตง่ายๆ ที่ชาวสวนแทบทุกรายเข้าใจตรงกัน คือ ทุเรียนพันธุ์ในท้องตลาดนั้นแบ่งออกเป็นสามเกรดใหญ่ๆ ได้แก่ ทุเรียนสวน ทุเรียนตลาด และทุเรียนส่งออก คุณภาพดีที่สุดต้องยกให้ทุเรียนสวน ด้วยหมายถึงทุเรียนที่ชาวสวนขายตรงถึงมือผู้บริโภค ส่วนมากเป็นทุเรียนจากสวนเกษตรอินทรีย์ที่มีผลผลิตต่อปีไม่มาก เน้นคุณภาพ และขายกันเป็นลูกในราคาพรีเมียม

ส่วนทุเรียนตลาดนั้นความหมายก็ไม่ผันไปจากชื่อ เพราะคือทุเรียนที่เรามักพบกันตามตลาดทั่วไป เป็นทุเรียนที่ส่วนใหญ่พ่อค้าคนกลาง ‘เหมายกสวน’ มาขายต่ออีกหลายทอด เป็นทุเรียนเกรดที่ราคาจับต้องได้ แต่คุณภาพก็อยู่ในระดับตาดีได้ตาร้ายเสีย

และพฤติกรรม ‘เหมายกสวน’ นี้เองคือประเด็นน่าสนใจ เพราะมันกลายเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของวงการทุเรียนไทยทั้งในและนอกบ้านเรา

กลไกราคา และภาพมายาที่มาจาก ‘ล้ง’

ย่างเข้าเดือนสี่ คือช่วงเวลาที่พ่อค้าคนกลางจะกลับมารับผลทุเรียนที่ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดู โดยเกือบทั้งหมดมักเสนอซื้อแบบ ‘เหมายกสวน’ และคิดราคาเป็นกิโลกรัม

แต่อย่าลืมว่าทุเรียนไม่เหมือนผลไม้ชนิดไหน เพราะแต่ละลูกสุกไม่พร้อมกัน แถมรสชาตินั้นแม้จะกำเนิดจากต้นเดียวกัน ก็อาจไม่เหมือนกัน สำคัญคือการตัดทุเรียนควรทำตอนความสุกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เพื่อป้องกันเนื้อเหลวเละ แต่เมื่อรอให้ทุกลูกสุกพร้อมกันไม่ได้ การซื้อขายแบบเหมายกสวนจึงมักได้ทุเรียนอ่อนปนแก่คละกันไปแล้วแต่ว่าพ่อค้าเจ้าไหนมือดี

และเมื่อทุเรียนอ่อนไม่มีราคา พ่อค้าจึงต้องหาทางออก

ทางออกที่คุ้มและเร็วสำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนขายไม่ได้ราคาก็คือ การนำสารเคมีฤทธิ์ร้อนอย่างเอทิลีน (Ethylene) มาป้ายตรงขั้วทุเรียนเพื่อเร่งให้เนื้อทุเรียนอ่อนที่แข็งนุ่มลงคล้ายเนื้อทุเรียนสุก ทว่าความหวานหอมของทุเรียนอ่อนป้ายยานั้น ไม่สามารถเทียบชั้นทุเรียนสุกคาต้นได้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายการใช้สารเคมีป้ายขั้วยังทำให้เนื้อทุเรียนมีรสขมเมื่อสุกงอม แต่ข้อดีสำหรับผู้ขายก็คือทุเรียนที่เนื้อนิ่มจากสารเคมีมักทำน้ำหนักได้ดีกว่าทุเรียนที่ค่อยๆ สุกตามธรรมชาติ ซึ่งน้ำหนักจะลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์หลังตัดขั้วออกจากต้น พ่อค้าทุเรียนตลาดจึงนิยมฝืนธรรมชาติด้วยประการฉะนี้

ส่วนทุเรียนเกรดส่งออก เป็นทุเรียนที่ผลิตอย่างรอบคอบเพื่อตอบโจทย์ประเทศปลายทาง ไม่ว่าจะน้ำหนักผลต้องดี เลือกตัดเฉพาะลูกที่สุดตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ยิ่งถ้าเป็นทุเรียนที่ส่งออกไปยังตลาดใหญ่อย่างจีน สิ่งสำคัญรองจากขนาดอาจคือความสะอาดของผลทุเรียน ถึงกับเคยมีเคสตีกลับทุเรียนจากมาเลเซียล็อตใหญ่ เพียงเพราะมีเศษดินติดอยู่ในซอกหนาม เนื่องจากสถานะทุเรียนในแดนมังกรนั้นมีสถานะละม้ายคล้ายทองคำ ด้วยทำกำไรให้พ่อค้าคนกลางกิโลละนับพันบาท

สถานะทุเรียนในแดนมังกรนั้นมีสถานะละม้ายคล้ายทองคำ ด้วยทำกำไรให้พ่อค้าคนกลางกิโลละนับพันบาท

และถ้ามองจากสัดส่วนทุเรียนไทยที่กินส่วนแบ่งกว่าค่อนในตลาดโลก ก็คงพอพูดได้ว่าเราเป็นพี่ใหญ่ในวงการทุเรียน และเป็นมานานหลายทศวรรษ ทว่ากระแสความต้องการเพิ่งเกิดขึ้นชัดเจนในระยะสามถึงสี่ปีให้หลัง ทั้งราคายังสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความคลั่งไคล้อย่างไร้ลิมิตของตลาดทุเรียนแดนมังกร การันตีด้วยราคาเฉลี่ยทุเรียนหมอนทองในปี 2560 ที่สูงถึงกิโลกรัมละ 120-140 บาท ทิ้งห่างจากราคาเฉลี่ยเมื่อปี 2558 ที่กิโลกรัมละ 60 บาทชนิดไม่เห็นฝุ่น

ทั้งยังเหมือนจะสูงขึ้นทุกขณะ เมื่อพิจารณาจากภาวะการขับเคี่ยวของพ่อค้าคนกลาง

พ่อค้าคนกลาง หรือ ‘ล้ง’ ตามภาษาปากที่ชาวบ้านใช้เรียก คือกลไกสำคัญในการกำหนดราคาทุเรียน และเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนอย่างยิ่ง เพราะสุดท้ายทุเรียนในท้องตลาดจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าล้งเจ้าใหญ่พอใจนำเสนอทุเรียนแบบไหนออกสู่สังคม

การทำงานของล้งนั้นเริ่มตั้งแต่ต้นทุเรียนเริ่มผลิดอก โดยพ่อค้าจะเข้ามาเจรจาเหมาซื้อผลผลิตกับชาวสวน จ่ายเงินมัดจำ และเสนอตัวแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะน้ำท่วม แมลงลง หรือใดๆ ก็ตามที่ชาวสวนหวาดผวาว่าจะเจอก่อนทุเรียนจะทำกำไร จากนั้นเมื่อถึงฤดูเก็บผลผลิต ล้งจะกลับมาพร้อมแรงงานมืออาชีพ กว้านเก็บทุเรียนเพื่อนำไปคัดขนาด และบรรจุหีบห่อจัดส่งไปยังตลาดที่ให้ราคาดีที่สุด ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุด

ถ้ามองในภาพกว้าง จะเห็นว่าล้งรับบทบาทใหญ่ที่ชาวสวนผลไม้อาจไม่ถนัด ทั้งเรื่องการจัดการดูแลผลไม้ ความรู้เรื่องการส่งออก ที่สำคัญคือการเป็นเจ้าของแรงงานที่มีทักษะ เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ต้องเก็บอย่างพิถีพิถัน การจ้างแรงงานรายวันจึงไม่ตอบโจทย์ แต่การจ้างแรงงานมีทักษะไว้ประจำสวนก็ไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมีระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ทว่านอกจากล้งไทย ผู้เล่นรายใหญ่ยังรวมถึงล้งชาวจีน

เมื่อจีนกลายเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนที่มีมูลค่านับหมื่นล้าน นายทุนชาวจีนจำนวนมากจึงตั้งตัวเป็นพ่อค้าคนกลางเข้ามาเหมาซื้อทุเรียนไทยนำกลับไปขายยังบ้านเกิดตัวเอง และข้อได้เปรียบของล้งจีนก็คือเส้นสายทางการตลาดในแผ่นดินบ้านเกิด ที่เปิดทางให้ทุเรียนไทยไปเฉิดฉายในตลาดซื้อขายใหญ่ๆ ได้อย่างไม่น้อยหน้าทุเรียนใดในแถบเอเชียอาคเนย์

ยิ่งกว่านั้น การเข้ามาของกลุ่มทุนอย่างอาลีบาบาที่เชื่อมตลาดจีนเข้ากับสินค้าไทยได้แบบไร้รอยต่อผ่านการซื้อขายออนไลน์ ยิ่งส่งให้อุปสงค์หนักหน่วงและดึงราคาทุเรียนให้พุ่งขึ้นอีก ทั้งการลดขั้นตอนการซื้อขายยังเปิดทางให้ชาวสวนนำเสนอสินค้าด้วยตัวเองง่ายกว่าเดิมหลายเท่า

ถึงเหมือนว่าผลประโยชน์จะตกเป็นของชาวสวน แต่อีกแง่ยิ่งอำนาจตกอยู่ในมือคนกลางมากเท่าไร การปั่นราคาหรือลับลมคมในย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องหลบเลี่ยงภาษีด้วยการทยอยส่งสินค้าลัดเลาะชายแดน หรือการเล่นแร่แปรธาตุนำทุเรียนอ่อนส่งขายแล้วให้ร้ายเกษตรกรเพื่อกดราคาเหมาสวนให้ต่ำลงก็มีปรากฏ การเอาชนะในตลาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากว่าผู้ผลิตทุเรียนไทยจะหันกลับมาสร้างโอกาสใหม่ๆ ในวิถีของตัวเอง

โอกาสในการแข่งขันของโลกยุคใหม่ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีจุดยืน

ด้วยคุณภาพสินค้าจะพัฒนาก็ต่อเมื่อผู้ค้าได้แข่งขันกันอย่างอิสระ การแก้ปัญหาล้งจีนแย่งซื้อทุเรียนไทยด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า จึงอาจไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ทั้งยังไม่ยั่งยืนเท่ากับการหันมาศึกษาจุดเด่นของทุเรียนไทย และนำเสนอออกไปอย่างรู้ใจตลาด

ตัวอย่างการทำการตลาดที่น่าสนใจต้องยกให้ประเทศที่อาจไม่มีทุเรียนปลูกเยอะเท่าไทยแต่มีไอเดียในการขายโดดเด่นอย่างเวียดนามและสิงคโปร์ โดยเฉพาะเวียดนามที่ขณะนี้มีพื้นที่สวนทุเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ เพื่อมุ่งสร้างแบรนด์ทุเรียนเวียดนามให้เทียบชั้นทุเรียนหมอนทองหรือมูซานคิง เรียกว่าหากเราไม่รีบวิ่งไล่ ก็อาจกลายเป็นผู้ตามได้ในไม่ช้า

อาทิ ‘ทุเรียนดาฮวาย’ จากอำเภอดาฮวาย (Da Huoai) ที่เพิ่งจดทะเบียนการค้าเป็นทุเรียนท้องถิ่นที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ เรียกว่าซื้อลูกไหนก็อร่อยถูกใจแบบไม่ต้องลุ้น เนื่องจากชาวสวนทุเรียนในอำเภอดาฮวายรวมกลุ่มกันพัฒนาทั้งสายพันธุ์ การดูแลผลผลิต และศึกษาตลาดอย่างเข้มข้น ชนิดไม่ยอมตัดทุเรียนอ่อนส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่เลือกขายตรง หรือขายให้กับพ่อค้าที่เข้าใจและพร้อมนำเสนอแบรนด์ทุเรียนดาฮวายออกสู่ตลาดโลก ที่แม้อาจต้องยอมขายราคาต่ำในระยะต้น แต่หากแบรนด์เป็นที่รู้จักก็ย่อมส่งผลดีในระยะยาว เมื่อตลาดทุเรียนอิ่มตัวและหันมาแข่งขันกันเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลัก

ด้านสิงคโปร์แม้จะมีสวนทุเรียนน้อยนิด แต่อุปสงค์ในประเทศก็มากพอจะเร้าให้เกิดไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นในที่สุด เช่น การขายทุเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะทำการเสนอขายพร้อมใบรับประกัน ระบุตั้งแต่แหล่งปลูก สายพันธุ์ น้ำหนัก เพียงคอทุเรียนเข้าเว็บไซต์ไปคลิกเลือกทุเรียนชนิดที่ชอบ รสชาติที่ใช่ พ่อค้าก็พร้อมให้บริการผ่าทุเรียนสดแพ็คใส่กล่องส่งถึงมือภายในไม่กี่ชั่วโมง ทั้งช่วยเพิ่มมูลค่า และลดความเสี่ยงในการสุ่มซื้อทุเรียนอ่อนลงได้มหาศาล

พลวัตของราชาผลไม้ในโลกสมัยใหม่ชวนให้เรากลับมาคิดถึงต้นทางของทุเรียนอีกครั้ง ผลไม้ที่ไม่ใช่นักเดินทางตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจต้านทานความต้องการของตลาดที่นำพามันเดินทางมาไกลเกินกว่าที่ใครในอดีตจะล่วงรู้ และพานให้เราจับตาว่าจากนี้ไปราชาผลไม้จะครองบัลลังก์ไว้ได้ด้วยวิธีใด หรือต้องเปลี่ยนถ่ายสถานะให้กับผลไม้ชนิดไหนในโลกที่การแข่งขันขับเคี่ยวกันเป็นวินาที

 

 

อ้างอิง :

 

ขอขอบคุณ

  • สำนักงานเกษตร จังหวัดจันทบุรี
  • กลุ่มเกษตรอินทรีย์ชองมูแฮง จังหวัดจันทบุรี
  • กลุ่มพัฒนาเกษตรอินทรีย์ สวนเงินมีมา (Farm visit project)

Fact Box

  • ตามปรกติ ถ้าอากาศไม่แปรปรวน ทุเรียนจากภาคตะวันออกจะให้ผลผลิตก่อน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ส่วนทุเรียนทางใต้จะตามมาสู่ท้องตลาดในเดือนกรกฎาคม-กันยายน
  • ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีคอเรสเตอรอลเท่ากับศูนย์ เพราะไขมันในเนื้อทุเรียนเป็นไขมันไม่อิ่มตัว
  • ความอร่อยของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์นั้นผกผันตามดินฟ้าอากาศ เช่นว่า ถ้าปีไหนแล้ง หมอนทองกับชะนีจะอร่อยมาก แต่ถ้าน้ำหลาก พวงมณีจะอร่อยที่สุด
  • แต่ละพูในทุเรียนหมอนทองหนึ่งลูกมักสุกไม่พร้อมกัน การเจาะเปิดดูว่าส่วนไหนสุก จึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าทุกพูจะเหลืองสวยน่ากินเหมือนกันหมด
Tags: ,