“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
เป็นประโยคที่ได้เห็นได้ยินอยู่เสมอสำหรับผู้ที่สนใจยกระดับการออมของตนเองไปสู่การลงทุนที่ซับซ้อนขึ้นจากการฝากเงินในบัญชีเงินฝากทิ้งเอาไว้เฉยๆ ทุกวันนี้ มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการลงทุน มีศัพท์เทคนิคจำนวนมากให้ศึกษาได้อย่างไม่รู้จบ พอๆ กับจำนวน ‘กูรู’ ด้านการลงทุนที่แจ้งเกิดและแจ้งตายหายไปจากวงการอยู่ตลอดเวลา และผู้คนก็ยังสนใจการลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยภาพจำที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า รวยด้วยหุ้น เศรษฐีหุ้น และอีกสารพัดโอกาสจากตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นยังน่าสนใจอยู่หรือไม่?
สิ่งที่น่าคิดในวันนี้คือ หุ้นขนาดใหญ่ทั้งหลายของประเทศไทยในขณะนี้ยังถือเป็นหุ้นพื้นฐานที่ดี มีอนาคตหรือที่มักเรียกกันว่า ‘หุ้นบลูชิพ’ อยู่อีกหรือไม่ และผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยได้ดีเพียงไร The Momentum จึงตั้งใจหาคำตอบผ่านงานเขียนชิ้นนี้
เมื่อตลาดหุ้นไทยไม่ได้โตตามโลก มองหุ้นใหญ่สะท้อนเศรษฐกิจที่แท้จริง
เปิดปี 2563 มา นับแต่เดือนมกราคมต่อเนื่องจนถึงกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงเวลาที่โลกต้องจดจำ เนื่องจากเกิดปัจจัยลบและเรื่องที่ไม่คาดคิดมากมายจนยากจะคาดเดาทิศทางได้ เริ่มจากสหรัฐอเมริกาเปิดฉากโจมตีและสังหารผู้นำระดับสูงของอิหร่านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาหลายทศวรรษจนทำให้กระต่ายตื่นตูมทั้งหลายหยิบแนวคิดสงครามโลกคร้ังที่สามขึ้นมาพูดอีกครั้ง ทั้งๆ ที่โลกเพิ่งจะได้รับสัญญาณบวกของการเจรจาการค้าเฟสแรกระหว่างอเมริกาและจีนมาหมาดๆ หลังจากสะบักสะบอมจากความขัดแย้งของสองชาติมหาอำนาจมานานนับปี
แค่เริ่มต้นก็เหนื่อยแล้ว
แม้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะผ่อนคลายลงมาในที่สุด ไม่มีสงครามและการรบพุ่งอย่างที่กังวล แต่กระแสข่าวไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากจีนก็เขย่าโลกทั้งใบ สร้างปัจจัยลบครั้งรุนแรงโดยไม่ยอมให้บรรดานักลงทุนได้หยุดพักและชื่นชมพอร์ตการลงทุนของตนเองเลย จากสถิติล่าสุดที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์รวบรวมเอาไว้ พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแซงหน้าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคซารส์เมื่อ 17 ปีก่อนไปแล้ว แม้ว่าอัตราการตายจะต่ำกว่ามาก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดในวงกว้างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
จีนกระทบ ก็กระเทือนทั้งโลก
หากพิจารณาภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปี 2562 ทีผ่านมา พบว่า SET Index ปิดตลาดในวันทำการสุดท้ายที่ 1,579.4 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงต้นปี ทั้งที่ช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงจนนักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่าจะสามารถแตะ 1,800 จุด แต่สุดท้ายก็ทดสอบระดับดังกล่าวไม่ผ่าน โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,748.15 จุด จากนั้นก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตลาดหุ้นไทยขยายตัวต่ำเกือบที่สุดในอาเซียน โดยนำหน้าเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่หดตัวลงเกือบ 5%
ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปี 2562 ทีผ่านมา พบว่า SET Index ปิดตลาดในวันทำการสุดท้ายที่ 1,579.4 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงต้นปี ทั้งที่ช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีทะยานขึ้นอย่างร้อนแรง
และเมื่อพิจารณาภาพรวมของผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยย้อนหลังสิบปี พบว่าให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.82% ถือว่ายังสูงเมื่อเทียบกับดัชนีตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.4% ราคาทองคำ 1.94% บัญชีเงินฝาก 1.74% โดยที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.58% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนในปีที่ผ่านมา (2562) ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเต็มๆ และส่งผลกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจ พบว่าผลตอบแทนของดัชนีตราสารหนี้ถีบตัวไปถึง 15.25% สะท้อนภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่ำ ดันให้ราคาและดัชนีตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนความกังวลที่มีต่อความไม่แน่นอนในอนาคต และตราสารหนี้ของไทยยังเป็นที่ต้องการของเงินลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเก็บเอาไว้แทน นอกจากนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็เก็บทองคำเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ตัวเลขของทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นช่วงที่ผันผวนและมีปัจจัยภายนอกประเทศเข้ามาส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างชัดเจน ยิ่งท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คาดเดาได้ยากเท่าไร ดูเหมือนตลาดทุนจะยิ่งสับสนอลหม่านมากขึ้นเท่านั้น
หากพิจารณาหุ้นขนาดใหญ่ โดยเลือกหุ้นที่น่าสนใจจากกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในปีที่ผ่านมา และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่าย ก็จะทำให้เห็นมุมน่าสนใจที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
สำรวจหุ้นไทยที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในปี 2562
เริ่มจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีมูลค่าตลาดราว 1.25 ล้านล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) อยู่ที่ 13.22 เท่า อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ที่ 4.55% ราคาหุ้นปรับลดลงมาเรื่อยๆ นับจากจุดสูงสุดที่ 56.80 บาทต่อหุ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขณะที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีมูลค่าตลาด 4.94 แสนล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไร 10.74 เท่า และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 4.02% ราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่องจากจุดสูงจุดที่ 155 บาทต่อหุ้นในเดือนกันยายน 2561
สิ่งที่กดดันหุ้นกลุ่มพลังงานที่ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญและครองสัดส่วนที่สูงในตลาดหุ้นไทย คือระดับราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่การผงาดของสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังจากที่ปลุกเชลล์ออยล์หรือน้ำมันจากชั้นหินดินดานขึ้นมาทำตลาดได้สำเร็จ อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกลายเป็นหอกข้างแคร่ของกลุ่มโอเปคที่เคยกินดีอยู่ดีจากการส่งออกน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว การผลิตโดยเฉพาะภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องมาสักพักแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะต่ำต่อไป เราจึงได้เห็นระดับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ของโลกรวมทั้งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถือเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมในช่วงปีที่ผ่านมา จากปริมาณนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมเดินทางมาประเทศไทย การใช้งานสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิแตะระดับสูงสุดที่ศักยภาพจะรองรับได้ และเป็นองค์กรที่บริหารจัดการสนามบินสำคัญได้อย่างเบ็ดเสร็จ การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีที่ผ่านมา ผู้ชนะการประมูลก็เสนอผลตอบแทนในระดับที่สูง ยิ่งทำให้นักลงทุนมองเห็นอนาคตที่สดใสของ AOT อยู่เสมอ โดยมีมูลค่าตลาดราว 1 ล้านล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไรอยู่ที่ 42.38 เท่า อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 1.41% ราคาหุ้นของ AOT ถือว่าปรับตัวอย่างร้อนแรงนับจากต้นปี 2560 ที่ 41.40 บาทต่อหุ้น ก่อนทะยานขึ้นแตะ 70 บาทต่อหุ้นในต้นปี 2561 และขึ้นอยู่ระดับสูงสุดที่ 78.25 บาทต่อหุ้นในเดือนตุลาคม 2562 ก่อนจะปรับตัวลงมาเล็กน้อยในปัจจุบัน
แม้จะเกิดปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะลากยาวและส่งผลกระทบกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกไปทั้งปี โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นผู้ใช้งานรายสำคัญของสนามบินแห่งชาติทั้งหลายของไทย แต่ดูเหมือนนักลงทุนจะยังมั่นใจกับพื้นฐานที่แข็งแรงของ AOT อยู่ ด้วยลักษณะองค์กรและรูปแบบธุรกิจที่น่าจะยังครอง ‘ความได้เปรียบ’ ไปได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟสใหม่ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากนโยบาย (Regulatory Risk) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากรัฐบาลเข้ามาแตะหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของ AOT ดังเช่นปลายปีที่ผ่านมา ที่กระทรวงคมนาคมแย้มว่าอาจจะนำรายได้จากผู้โดยสารขาออกมาพัฒนาสนามบินอื่นๆ ซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ทำให้หุ้นของ AOT ราคาตกในช่วงที่ผ่านมาและทำให้นักลงทุนใจหายใจคว่ำพอสมควร
ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารถือว่าน่าจับตาทีเดียว กลุ่มนี้เคยเป็นทางเลือกยอดนิยมโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจของบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่และพื้นฐานที่ดี แต่เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็ว (Digital Disruption) ทำให้การใช้งานช่องทางออนไลน์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด บทบาทของสำนักงานสาขาลดลงอย่างชัดเจน เกิดการแข่งขันที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งระหว่างธนาคารด้วยกันเอง รายได้จากค่าธรรมเนียมที่เคยทำให้ธนาคารเป็นเสือนอนกินมานานหลายสิบปีก็อันตรธานหายไป จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะมองอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้ต่างไปจากเดิม
ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK มีมูลค่าตลาดที่ 3.6 แสนล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไรอยู่ที่ 9.78 เท่า อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 2.65% ราคาหุ้นของ KBANK เคยแตะจุดสูงสุดที่ 232 บาทต่อหุ้นในปลายปี 2560 ก่อนที่จะเกิดการประกาศใช้ระบบพร้อมเพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามด้วยสงครามการยกเลิกค่าธรรมเนียมที่นำไปสู่การวัดพลังเรื่องดิจิทัลแบงค์กิงอย่างเต็มรูปแบบ ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนหลุดระดับ 150 บาทต่อหุ้นในปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 นี้
เช่นเดียวกับธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB มีมูลค่าตลาดราว 4 แสนล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไรอยู่ที่ 9.87 เท่า ใกล้เคียงกับ KBANK แต่อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าที่ 4.51% ราคาหุ้นของ SCB เคยทะยานขึ้นไปใกล้เคียง 200 บาทต่อหุ้น ก่อนจะปรับลดลงมาที่ 150 บาทในปลายปี 2560 และลดลงต่อเนื่องจนใกล้เคียงระดับ 100 บาทต่อหุ้นในช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไม่เพียงผ่านศึกการแข่งขันที่รุนแรงเท่านั้น ยังมีมาตรการใหม่ๆ ที่ถือเป็นการยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มข้นขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งเรื่องมาตรการสินเชื่อบ้านใหม่หรือ LTV รวมทั้งการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบเพื่อสกัดปัญหาหนี้เสียที่น่าเป็นห่วงและหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP รายได้สำคัญของธนาคารมาจากเงินกู้ ในเมื่อผู้คนกู้ได้ยากขึ้น กู้ได้น้อยลง ก็ส่งผลกระทบกับรายได้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
และเมื่อนักลงทุนพูดถึง ‘หุ้นพื้นฐานดี’ แล้ว หนึ่งในหุ้นที่อยู่ในใจมาช้านาน คือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งราคาตลาดเปลี่ยนแปลงพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท อัตราส่วนราคาต่อกำไรอยู่ที่ 13.3 เท่า อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 4.59% ราคาหุ้นของ SCG เคยทะยานไปแตะจุดสูงสุดที่ 540 บาทต่อหุ้นในต้นปี 2560 ก่อนจะปรับลดลงหลุดระดับ 500 บาทในช่วงปลายปีเดียวกัน และเมื่อเกิดสงครามการค้า ทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกและสินค้าจากลุ่มเคมีภัณฑ์ที่เป็นรายได้หลักของ SCC ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นสินค้าที่อิงกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกระแสลดการใช้พลาสติกที่มีมากขึ้นทำให้นักลงทุนเริ่มมองเห็นอนาคตที่อาจะไม่สดใสเหมือนเก่า จึงเกิดการเทขายและทำให้ราคาหลุดระดับ 400 บาทต่อหุ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทีผ่านมา
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เวลาที่หอมหวานสักเท่าไร
นับจากปี 2560 ที่คำว่าการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Forth Industrial Revolution) เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่ออธิบายภาพของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางดิจิทัล เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนรูปโฉมวงการสื่อของ Facebook Live การขยายตัวของสตาร์ตอัปที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วราวกับวัฒนธรรมป๊อป แต่สิ่งที่สำคัญคือ พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ค่ายยักษ์ใหญ่ไอทีทั้งหลายออกมายอมรับว่าธุรกิจของพวกเขามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์จริง เกิดการแข่งขันที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งสงครามธุรกิจเทคโนโลยีได้ถูกยกระดับไปเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเกิดอภิมหาสงครามการค้าที่กระเทือนภาคเศรษฐกิจและตลาดทุนไปทั้งโลก
แต่เมื่อดูที่ผลลัพธ์สุดท้ายของปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% เกิด ‘New High’ ใหม่ๆ นับครั้งไม่ถ้วนกับตลาดสำคัญทั้งดาวโจนส์ แนสแด็คและ S&P 500 ประกอบกับตัวเลขขาดดุลการค้าที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ แน่นอนโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ค่อนข้างภูมิใจกับเรื่องดังกล่าวและใช้มันเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่จะรับรองว่า เขาได้ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งจริงๆ
ตลาดหุ้นสำคัญปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรง แต่ดูเหมือนตลาดหุ้นไทยจะยังย่ำอยู่กับที่
คงจะไม่ใช่เรื่องบังอิญแน่ๆ
โลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน มองหุ้นบลูชิพในมุมใหม่
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเล่าให้ The Momentum ฟังว่า การประเมินตลาดหุ้นกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากปัจจัยด้านพื้นฐานของอุตสาหกรรมและบริษัทนั้นๆ ยังมีประเด็นอื่นอย่างเช่น รายได้ (Earning) และองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้ามองเฉพาะกลุ่มธนาคารจะพบว่าตอนนี้กำลังแข่งขันอยู่บนเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ซึ่งเดิม การธนาคารจะต้องใช้เงินทุนที่สูง ใช้ระยะเวลาในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อสร้างความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมนี้
แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำบริการทางการเงินอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างความไว้วางใจได้ในระยะเวลาอันสั้นจากพลังของเครือข่ายที่เชื่อมโยงความคิดเห็นและผลตอบรับการใช้บริการจากผู้บริโภคโดยตรงได้ ทำให้เกิดการยอมรับจากสังคม (Social Reputation) ดังเช่นการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการใช้บริการบนแอปพลิเคชั่นสารพัดประโยชน์ทั้งหลายในขณะนี้ จุดแข็งที่ธนาคารภาคภูมิใจจึงหายไปในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ ช่องทางดิจิทัลยังทำให้ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงลูกค้าลดลงอย่างมาก ธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ธนาคารได้ลงทุนไปกับการขยายและพัฒนาสาขาไปมากแล้ว คาดว่ารายได้ของกลุ่มธนาคารน่าจะยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่บทบาทใหม่ของธนาคารในอนาคต
ขณะที่ มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC อธิบายประเด็นที่หลายฝ่ายประเมินราคาหุ้น (Valuation) ของไทยว่าอยู่ในระดับสูงว่า
“หุ้นบ้านเราไม่ได้ถือว่าแพง เพียงแต่ว่าตอนนี้ ตลาดไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่าสนใจในระยะสั้น ถ้าหุ้นแพงคือดัชนีปรับขึ้นเร็วกว่ากำไร แต่นี่ กำไรลดลงเร็วกว่าดัชนี เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพลังงานก็อยู่ในระดับต่ำ ตอนนี้ ถ้าลองดูดัชนีตลาดต่อกำไรตลาดจะอยู่ที่ 18 เท่า ที่ผ่านมามีหุ้นเข้าตลาดหลายตัวด้วย ก็ยิ่งทำให้ P/E สูงตาม ถ้าในอนาคต บริษัทจดทะเบียนทำกำไรได้ดีขึ้น ก็จะกลับมาน่าสนใจ”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีต้นปีจะเท่ากับดัชนีปลายปี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะปรากฏว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF กลับหดตัว บางกองติดลบถึง 20% เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนของ LTF มักจะให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดใหญ่ที่ครองมูลค่าตลาดในระดับสูง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ หรือโทรคมนาคม ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เมื่อ LTF ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกต่อไป จึงต้องมองหากองทุนใหม่ที่กระจายการลงทุนไปในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่ดีแทน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก เพราะกองทุนส่วนใหญ่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นหลัก
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ปัจจัยของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 ที่กระทบไปทั้งโลก แม้ตลาดหุ้นไทยจะตกลงเกือบ 100 จุดและดีดกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่มงคลชี้ว่า ปรับขึ้นมาไม่ถึง 50 จุด ถือว่าน้อยกว่าที่ตกลงไป เนื่องจากนักลงทุนรอดูความชัดเจนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาด หากเห็นข้อจำกัดของผลกระทบและปลายทางของปัญหาชัดเจนขึ้น ก็จะส่งผลที่ดีกับการลงทุนในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยช่วงหลังผันผวนคือ Block Trade หรือการซื้อขายแบบจับคู่ซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สของหุ้นอ้างอิง ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่หวือหวากว่าการซื้อหุ้นสามัญเป็นรายตัว เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อยก็สามารถซื้อได้ และอาจทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลงโดยการใช้อัตราทด (Leverage) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวในกรอบแคบแบบนี้ อย่างไรก็ตาม มงคลชี้ว่า แม้ Block Trade จะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดความผันผวนได้เร็วขึ้น ในอนาคต หน่วยงานที่กำกับดูแลอาจจะเข้ามาจัดการเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและรักษาสมดุลของตลาดหุ้นมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยช่วงหลังผันผวนคือ Block Trade หรือการซื้อขายแบบจับคู่ซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สของหุ้นอ้างอิง ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่หวือหวากว่าการซื้อหุ้นสามัญเป็นรายตัว เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อยก็สามารถซื้อได้ และอาจทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลงโดยการใช้อัตราทด (Leverage) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักเก็งกำไร
“ส่วนหุ้นบลูชิพ คำนี้เป็นคำเก่าแล้ว หมายถึงหุ้นที่ราคาไม่ผันผวน มีขนาดใหญ่ กำไรสม่ำเสมอ เติบโตต่อเนื่องและมีผลตอบแทนที่ดี เดี๋ยวนี้หุ้นบลูชิพถูกกรัดกร่อนไปมากจนแทบจะหายไปแล้ว เนื่องจากการเปิดเสรีจากโลกาภิวัตน์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังปี 2540 ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น รายเล็กก็มาชนกับรายใหญ่ได้ อีกเรื่องคือ กฏเกณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้บางธุรกิจอย่างธนาคารทำกำไรได้ลดลง”
หุ้น SCC โดย SCG นั้นเคยเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่คนรุ่นก่อนจะต้องซื้อเก็บเอาไว้เพราะว่าตรงกับคุณสมบัติการเป็นหุ้นบลูชิพครบทุกประการ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ท้าทายขึ้น แม้ที่ผ่านมา SCG จะปรับตัวต่อเนื่อง ผลักดันธุรกิจปิโตรเคมีเข้ามาอยู่แถวหน้าแทนที่ธุรกิจปูน แต่เมื่อเจอกับเงื่อนไขธุรกิจที่เปลี่ยนไป ตอนนี้จึงหันมาชูธุรกิจกระดาษเป็นไฮไลต์ แม้จะทำได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะทดแทนส่วนที่หายไปจากธุรกิจปิโตรเคมี
มงคลพาย้อนอดีตกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ หุ้นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ รวมทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เคยเป็นหุ้นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของตลาด ต่อมาหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เปลี่ยนมาเป็นหุ้นกลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม และพลังงาน แม้ปัจจุบันสัดส่วนเฉพาะกลุ่มพลังงานและธนาคารจะคิดเป็น 30-40% ของมูลค่าตลาด แต่ปัจจัยที่สำคัญและน่าติดตามคือบทบาทของหุ้นกลุ่มที่ยังเติบโตได้ดีและมีแนวโน้มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างกลุ่มค้าปลีก อาหาร โรงไฟฟ้า และธุรกิจการเงิน ที่จะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ และปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มนี้เองก็คือหุ้นที่พยุงตลาดหุ้นไทยมาได้จนถึงปัจจุบัน
การเฟ้นหาหุ้นบลูชิพดูเหมือนจะยากมากขึ้นในวันที่ไม่อาจแน่ใจได้แล้วว่าหุ้นบลูชิพตามนิยามเดิมจะยังหลงเหลืออยู่หรือไม่ ดูเหมือนแนวทางการลงทุนจากนี้จะพุ่งเป้าไปที่หุ้นที่เติบโตดี (Growth Stock) มากกว่า ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ได้ดีทีเดียว และการลงทุนยังจะมีความเสี่ยงอยู่เสมอตามนิยามของตัวมันเอง
เสือนอนกินทั้งหลายล้มหายตายจากไปหมดแล้วในยุค Digital Disruption
หมดเวลาที่จะฝากอนาคตไว้กับสินทรัพย์หรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปตลอด เพราะทุกอย่างปรับเปลี่ยนเสมอ กระทั่งความมั่นคงยังถูกเปลี่ยนแปลง (Disrupt) แล้วเราจะยังวางใจอะไรอีกได้
เปลี่ยนตัวเองให้เก่งขึ้น ปรับพอร์ตการลงทุนเสมอ
ก่อนที่จะต้องปลงอยู่ยอดดอยโดยไม่รู้ตัว
Tags: การลงทุน, หุ้น, ตลาดหุ้น, หุ้นบลูชิพ