อย่างที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าปลาปักเป้าเป็นปลามีพิษ แต่ก็เป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น จึงมีกฎหมายกำหนดว่าปลาปักเป้าชนิดใดที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ และจะต้องเตรียมโดยพ่อครัวที่ผ่านการอบรมมาแล้วเท่านั้น ถึงจะสามารถแล่เนื้อปลาโดยไม่ปนเปื้อนกับอวัยวะส่วนที่มีพิษได้

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในเมืองแห่งหนึ่งบนเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากแกงกะทิปลาปักเป้ากว่า 20 คน โดยที่สองรายในจำนวนนั้นป่วยหนักถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล รายแรกไม่รู้สึกตัวต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนอีกรายกล้ามเนื้ออ่อนแรงและคลื่นไส้อาเจียน โชคดีที่ทั้งคู่อาการคงที่แล้ว

สารพิษที่เป็นสาเหตุมีชื่อเรียกว่า เทโทรโดทอกซิน (Tetrodotoxin)  มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ Tetraodontidae ของกลุ่มปลาปักเป้า (Tetra สี่ + odous ฟัน = ฟันขนาดใหญ่ 4 ซี่) ต่อท้ายด้วย toxin ที่แปลว่าสารพิษนั่นเอง ทว่าปลาปักเป้ากลับไม่ได้เป็นผู้ผลิตสารนี้เอง หากแต่เป็นแบคทีเรียและสาหร่ายที่ปลากินเข้าไปสะสมในตัว ซึ่งนอกจากปลาปักเป้าแล้ว ยังพบสารนี้ได้ในแมงดาถ้วยอีกด้วย

โดยสารพิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาท เปรียบเหมือนโทรศัพท์โดนตัดสัญญาณ (และไม่มีสัญญาณไวไฟ) ทำให้ไม่สามารถไลน์ติดต่อกับอีกเครื่องหนึ่งได้ เริ่มจากอาการชาที่ลิ้น ลามไปรอบปากและใบหน้า ร่วมกับอาการปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ จากนั้นจะมีอาการพูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจไม่ทำงาน เกิดภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตได้ในที่สุด

แต่ปลาปักเป้าไม่มีตัวรับสารพิษชนิดนี้จึงไม่มีผลต่อตัวมันเอง

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษสำหรับเทโทรโดทอกซิน การรักษาจึงทำได้เพียงการประคับประคองอาการเท่านั้น จนกว่าพิษจะหมดฤทธิ์ภายในประมาณ 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นสารพิษที่มีอันตรายมากทีเดียว แต่ถ้าหากได้รับการช่วยเหลือทันเวลาและได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โอกาสรอดชีวิตก็มีสูง

สำหรับประเทศไทย หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้ามาตั้งแต่ปี 2545 ก็ยังมีรายงานข่าวอาหารเป็นพิษจากปลาปักเป้าทุกปี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่นำปลาปักเป้าที่จับได้มาทำอาหารกินเอง โดยอาจเคยกินมาก่อน หรืออาจสับสนกับสายพันธุ์ที่มีพิษ ทั้งนี้ พิษจะสะสมในตัวปลามากขึ้นในฤดูวางไข่

แผนที่แสดงจำนวนเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากปลาปักเป้ารายจังหวัดระหว่างปี 2557-2562 (ข้อมูล: โปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดเมื่อ 14 ส.ค. 2562)

หลายคนอาจมีภาพจำของปลาปักเป้าเป็น ‘ปลาปักเป้าหนามทุเรียน’ ที่ตัวกลมป่องมีหนามเต็มตัวและพบเฉพาะในทะเลเท่านั้น แต่จากภาพแผนที่จังหวัดที่มีการรายงานข่าวอาหารเป็นพิษจากปลาปักเป้าจะพบว่ามีพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่ติดกับทะเลด้วย นั่นก็เพราะในแหล่งน้ำจืดก็มีปลาปักเป้าเช่นกัน เช่น ปักเป้าดำ ปักเป้าจุดดำ ปักเป้าจุดแดง เป็นต้น

หากค้นหาภาพปลาปักเป้าเหล่านี้จะเจอว่าพวกมันไม่มีหนามอย่างที่หลายคนคุ้นเคย จึงอาจทำให้ชาวบ้านหรือชาวประมงเข้าใจผิดว่าเป็นปลาชนิดอื่นและนำไปประกอบอาหารได้ ดังนั้นจึงควรมีการแจ้งเตือนประชาชนถึงอันตรายของปลาชนิดนี้เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาปักเป้า หรือเคยพบผู้ป่วยมาก่อน

แน่นอนว่าสำหรับประชาชนไม่ควรกินปลาปักเป้า (ข้อมูลปลาปักเป้าน้ำจืดไม่ตรงกันว่าชนิดใดมีพิษหรือไม่มีพิษ) ถึงแม้จะผ่านความร้อนแล้ว เทโทรโดทอกซินก็ไม่ถูกทำลาย แต่ถ้ากินไปแล้วมีอาการที่พูดถึงข้างต้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรรีบมาโรงพยาบาล และแจ้งหมอถึงประวัติอาหารที่กินมาด้วย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: ,