จากเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย และโค้ชรวม 13 ชีวิตหายเข้าไปในถ้ำที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ความพยายามค้นหาและช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมภายในถ้ำและน้ำที่เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จากฝนที่ตกไม่หยุด

มีการระดมความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ ทั้งฝ่ายประดำน้ำ  การสำรวจและเตรียมความพร้อมในพื้นที่ทั้งในและนอกถ้ำให้มากที่สุด เช่น เดินกระแสไฟฟ้า การรักษาความเสถียรของสัญญาณการสื่อสาร และการสูบน้ำ

 

สำรวจพื้นที่ด้วยความรู้ภูมิศาสตร์

ความรู้ด้านภูมิศาสตร์เป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่สำคัญมากต่อการวางแผนช่วยเหลือด้วยการวิเคราะห์แผนที่ เพราะทำให้เห็นลักษณะภูมิประเทศภายในถ้ำ ความสูง ความสูงเฉลี่ยของระดับน้ำทะเล ร่วมกับความรู้จากชาวบ้านในพื้นที่

อนุกูล สอนเอก นักภูมิศาสตร์ ซึ่งเคยเข้าไปสำรวจภายในถ้ำหลวงมาแล้วสองครั้ง เผยแพร่แผนที่ภายในถ้ำและข้อมูลเบื้องต้น เช่น ลักษณะพื้นดิน ความกว้าง-แคบของเส้นทางจากที่เคยสำรวจมาก่อนในเฟซบุ๊กของตนเอง นอกจากนี้ ยังประกาศระดมนักภูมิศาสตร์ที่สามารถสร้างแผนที่ในระบบคอมพิวเตอร์ และเชี่ยวชาญงานแผนที่ภาคสนามและการผลิตแผนที่ในภาคสนาม เข้ามาประสานงานรวมรวมข้อมูลแผนที่ที่ถ้ำหลวงนางนอนช่วยกันสร้างระบบแผนที่บน DEM (Digital Elevation Model)

อีกด้านหนึ่ง มีการสำรวจสันเขาบริเวณถ้ำเพื่อวางแผนการช่วยเหลือ และใช้เฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบว่ามีโพรงที่สามารถหย่อนอาหารและน้ำลงไปได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้หย่อนน้ำและอาหารลงไปในถ้ำแล้วพร้อมกระดาษที่เขียนขอความว่า “ถ้าเจอขนมให้หยุดรอหน่วยซีล”

ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้เฮลิคอปเตอร์สำรวจปล่องภูเขา 3 ปล่อง ซึ่งแต่ละปล่องแบ่งเป็นชั้นๆ เพื่อที่อาจจะเป็นทางเข้าสู่ถ้ำหลวงได้อีกทางหนึ่ง

 

ลดความเสี่ยงด้วยหุ่นยนต์

นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจะใช้วิธีเดินสำรวจสันเขาแล้ว ยังใช้หุ่นยนต์ดำน้ำและโดรนตรวจจับความร้อน โดยทีมศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอากาศและทะเล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

หุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) เป็นเรือดำน้ำแบบไร้คนขับขนาดเล็ก มีต้นแบบจากโดรนใต้น้ำ ซึ่งใช้เพื่อการเก็บข้อมูลทะเลใต้น้ำ นี่เป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกนำมาใช้ในภารกิจกู้ชีพ หน้าที่ของมันคือเข้าไปสำรวจเส้นทางให้แก่นักประดาน้ำ โดยใช้สัญญาณโซนาร์ดูว่าถ้ำมีความกว้าง ความลึกเท่าใด หรือมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ตัวเครื่องจะไม่สามารถตรวจจับคลื่นชีวิตได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่จะติดตั้งกล้องจับภาพเพิ่มเติมเข้าไป สามารถทำงานได้ต่อเนื่องนาน 2-3 ชั่วโมง

ส่วนโดรนตรวจจับความร้อนอีกสองเครื่อง สามารถแยกแยะอุณหภูมิระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เป็นคน สัตว์ ต้นไม้ และอื่นๆ ได้ จับกลุ่มความร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ เนื่องจากภายในถ้ำซึ่งมีน้ำอยู่จะมีอุณหภูมิต่างกัน การตรวจจับความร้อนจะช่วยทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิต

 

การฝึกสมรรถภาพร่างกาย เพื่อดำน้ำช่วยเหลือคน

ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยซีลของกองทัพเรือ ซึ่งดำน้ำเข้าไปภายในถ้ำ

หน่วยซีลนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และผ่านการฝึกฝนโดยหน่วยซีลของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม ภารกิจหลักคือการป้องกันการก่อการร้าย

ผู้ที่ได้ประดับปีก ‘หน่วยซีล’ ได้ ต้องสอบผ่านหลักสูตรนักเรียนนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ ‘มนุษย์กบ’ เป็นเวลา 31 สัปดาห์ก่อน หัวข้อการฝึกได้แก่ การพัฒนาสมรรถภาพร่างกาย ความรู้ทั่วไป การอาวุธศึกษา ว่ายน้ำ-ดำน้ำ วัตถุระเบิดและทำลาย ยุทธวิถีของหน่วยขนาดเล็ก การลาดตระเวนสำรวจหาด การฝึกภาคสนามทางทะเลและทางบก ในปี 2561 นี้หน่วยซีล รุ่น 45 มีผู้ทดสอบผ่านแค่ 25 คนจากเข้ารับการฝึก 99 นาย

นอกจากหน่วยซีลแล้ว ยังมีนักดำน้ำที่เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำจากต่างประเทศ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมคือ ตัวยึดถังออกซิเจนเข้ากับร่างกาย เพราะก่อนหน้านี้หน่วยซีลต้องใช้วิธีลากถังอากาศซึ่งไม่สะดวกต่อการเข้าค้นหาเข้าไป

 

เทคนิคลดระดับน้ำในถ้ำ

อุปสรรคใหญ่ของปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้คือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นภายในถ้ำตลอดเวลา จึงทำให้ต้องหาทางลดระดับน้ำทุกทางเท่าที่ทำได้

ภายนอกถ้ำ มีการสกัดและเบี่ยงทางน้ำจากผาหมีเพื่อไม่ให้ไหลเข้าไปในถ้ำหลวง โดยอาสาสมัครและเทศบาลตำบลเวียงพางคำขุดดินและนำหินมาวางเพื่อเบี่ยงทางน้ำ

นอกจากเบี่ยงทางน้ำจากภายนอกแล้ว ก็ต้องการวิธีพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำหนองน้ำพุ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างระดับต่ำกว่าถ้ำ โดยหวังว่า หากน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลง ระดับน้ำในถ้ำก็อาจลดลงด้วย

ส่วนภายในถ้ำ มีความพยายามติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เครื่อง แต่เนื่องจากเป็นเครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันซึ่งจะทำให้อากาศในถ้ำเป็นพิษ จึงไม่สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตาม มีการระดมเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน และติดตั้งระบบไฟฟ้าและสายไฟกันน้ำ เพื่อให้เดินเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าได้ โดยพนักงานช่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโรยตัวดึงสายไฟจากเครื่องปั่นไฟฟ้าเข้าไปภายในถ้ำเป็นระยะทาง 900 เมตร รวมทั้งการเดินสายไฟฟ้ารวมแล้วมียาวกว่า 6 กิโลเมตร

 

เพิ่มสัญญาณการสื่อสาร

นอกจากการติดตั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมไอพีสตาร์ 1 วงจร 2 เมกะเฮิร์ตซ ให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 รายในประเทศไทย ได้เข้าไปในพื้นที่ ร่วมกันหันเสาสัญญาณไปยังปากถ้ำและขยายช่องสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้ใช้งานได้เร็วและกว้างขึ้นบริเวณปากถ้ำ

มีการลากสายโทรศัพท์ที่ใช้เดินบนเสาไฟ (Drop wire) จากปากถ้ำเข้าไปในถ้ำลึกประมาณ 1.3 กิโลเมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยซีลสามารถประสานงานกับศูนย์อำนวยการบริเวณปากถ้ำได้ กสทช.ยังจัดหาวิทยุสื่อสารสำหรับเจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ชีพเพิ่มเติม และจัดทีมตรวจสอบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่วิทยุบริเวณปากถ้ำด้วย

 

ที่มา:

Tags: , , ,