“ที่ผ่านมา ฉันลังเลที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะมาโดยตลอด แต่หลายเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและโลกของเราในรอบสองปีที่ผ่านมา ฉันเปลี่ยนความคิดไปมากทีเดียว”

มีอยู่สองสามเหตุผลที่ประโยคข้างต้นสะเทือนโลกการเมืองฝั่งอเมริกา ประการแรก มันเป็นข้อความเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏอยู่บนอินสตาแกรมส่วนตัวของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศิลปินหญิงที่ปีนี้ทำเงินไปได้ราวๆ 320 ล้านเหรียญฯ จากการออกทัวร์ทั่วสหรัฐฯ ประการที่สอง ที่ผ่านมาเธอเลือกจะเก็บงำความคิดเห็นที่มีต่อการเมืองมาโดยตลอด ประการที่สาม มันคือหมัดฮุคที่โจมตีนโยบายพรรครีพับลิกันอย่างตรงไปตรงมา ประการที่สี่ สวิฟต์คือขวัญใจฝ่ายขวาชาวอเมริกันมาตั้งแต่เธอเริ่มตั้งไข่บนอุตสาหกรรมดนตรี การออกมา ‘ตุ๊ยท้อง’ นโยบายจากพรรคการเมืองของแฟนเพลงตัวเองจึงดูจะเป็นการกระทำที่เปี่ยมความหมายในหลายมิติมากๆ

และประการสุดท้าย สดๆ ร้อนๆ สวิฟต์เพิ่งจะคว้ารางวัลศิลปินแห่งปีจากเวที AMAs ได้เมื่อเช้าวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยเธอก็ได้อุทิศพื้นที่บนเวทีหลังรับรางวัลเพื่อกล่าวเชิญทุกคนให้ไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางภาคที่จะถึงในเดือนพฤศจิกายน

“รางวัลนี้และทุกๆ รางวัลที่ถูกมอบในคืนนี้ล้วนแล้วมาจากการโหวตโดยประชาชนทั้งสิ้น และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่รอให้ประชาชนโหวตคือการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ค่ะ แล้วไปออกเสียงกันนะคะ”

ยังไม่นับว่าหลังเธอออกมาเคลื่อนไหว เชิญชวนให้ผู้คนไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ Vote.org เพื่อยืนยันสิทธิในการออกเสียง ผลปรากฏว่ายังไม่ข้ามวัน ประชากรชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี แห่ไปลงทะเบียนจำนวนมากกว่า 65,000 ราย และจนถึงตอนนี้ จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนก็ยังไม่หยุดลงง่ายๆ

แล้วจะไม่ให้เราสนใจการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเธอได้ยังไงกัน

ทำไมความคิดเห็นทางการเมืองของสวิฟต์จึงสลักสำคัญ?

และทำไมทุกอย่างจึงดูว้าวุ่นเสียเหลือเกินเมื่อแม่อสรพิษสาวตัดสินใจเปล่งเสียงของเธอออกมา เราอาจต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเธอเสียก่อน เธอเกิดที่รัฐเพนซิลเวเนีย —รัฐซึ่งเป็นฐานเสียงให้พรรคเดโมแครต ก่อนที่ออกเดินทางตามความฝันตั้งแต่อายุ14 ปีด้วยการย้ายมายังแนชวิลล์ และเซ็นสัญญากับค่ายเพลงคันทรี่ค่ายยักษ์อย่างบิ๊กแมชชีน เรคอร์ดส ซึ่งตั้งอยู่ในแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นั้นเทคะแนนเสียงให้ฝั่งรีพับลิกันมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ที่คะแนนเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีผู้มาพร้อมนโยบายขวาจัดได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากชาวเทนเนสซี

และไม่ใช่แค่เซ็นสัญญาเป็นนักร้องเพลงคันทรี่ในเมืองแนชวิลล์เท่านั้น แต่ภาพลักษณ์ที่ผ่านมาของสวิฟต์เองก็ยังดูเป็น ‘อเมริกาสวีตฮาร์ต’ จ๋าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กสาวใสซื่อผู้เดินตามความฝันในการเป็นนักร้อง ครวญเพลงรักที่แต่งเองเล่าถึงชายหนุ่มผู้เป็นรักแรกของเธอ ไม่ปรากฏคำหยาบหรือข่าวคราวเสียหายจากเธอผ่านหน้าสื่อ จนเราอาจกล่าวได้ว่าเธอคือหนึ่งในนักร้องที่วางตัวดีและวางตัวเป็นที่สุดคนหนึ่ง ในทางกลับกัน การวางตัวเป็นของเธอยังหมายรวมถึงการไม่ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความแตกแยกหรืออาจทำให้สูญเสียแฟนเพลงของเธอไป เธอจึงนั่งแท่นอยู่บนตำแหน่งคนดังผู้ไม่มีข่าวคราวเสียหาย (นอกจากเรื่องคบหรือเลิกกับใครซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ) เพราะเธอไม่เคยออกมาแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว

และเมื่อเธอเติบโตขึ้น ข้ามฝั่งแนวเพลงจากคันทรี่มายังแนวป๊อปอย่างเต็มตัว ภาพลักษณ์ของเธอเปลี่ยนจากสาววัยใสมาสู่สาวฮ็อตกับเพื่อนฝูงผู้ทรงอิทธิพล (หลายคนออกมาบอกว่าราวกับเด็กเนิร์ดหน้าห้องปีหนึ่งกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์เมื่อขึ้นชั้นเรียนปีสุดท้ายในไฮสกูล) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนขาว ทำให้เธอถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นพวกกลุ่มชาตินิยมขวาจัด (white supremacist) ที่เชื่อว่าคนขาวนั้นสูงส่งกว่าชนชาติอื่นๆ แน่ล่ะว่าสวิฟต์แทบไม่เคยออกมาปริปากแสดงความเห็นหรือโต้แย้งในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในบทเพลงที่เธอเขียนเองหรือบทสัมภาษณ์ที่มีต่อสื่อมวลชน

และเมื่อถึงเวลาลงเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ท่ามกลางเหล่าคนดังที่ออกมาแสดงทัศนคติและเลือกจุดยืนของตัวเองอย่างคับคั่ง ทั้งเลดี้ กาก้า, เคธี่ เพอร์รี่และบียอนเซ่ ก็แสดงความชัดเจนอย่างถึงที่สุดด้วยการถือป้ายชูสนับสนุน ฮิลลารี่ คลินตัน ผู้ลงสมัครฝั่งเดโมแครต ไปจนถึงประกาศอย่างเข้มแข็งชัดเจนว่าในการเลือกตั้งนั้น พวกเขาหรือพวกเธอจะออกเสียงให้คลินตันอย่างแน่นอน ขณะที่สวิฟต์นั้นเก็บตัวเงียบ และลงเพียงรูปภาพเธอกำลังจะไปเลือกตั้ง พร้อมข้อความเชิญชวนให้ทุกคนไปใช้สิทธิใช้เสียงกันนะจ๊ะ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะพอใจกับท่าทีเช่นนี้ของเธอ หลายคนอกว่าเธอขี้ขลาดเกินกว่าจะออกมาแสดงจุดยืนของเธอ หรือห่วงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเสียจนไม่กล้าชวนแฟนเพลงมากไปกว่าการเข้าคูหาไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วสองปี เมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสภาคองเกรสในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สวิฟต์ก็เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวจนเป็นข่าวสะเทือนไปทั้งโลก

ประกาศจุดยืนทางการเมืองครั้งแรก จริงหรือ?

แต่ถามว่าสวิฟต์ไม่เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเลยจริงๆ หรือ ก็อาจไม่ใช่อย่างนั้น หลังจากทรัมป์คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ประชาชนก็ออกเดินขบวน Women’s March แสดงพลังต่อต้านนโยบายขวาจัดหลายประการที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี และแม้สวิฟต์ไม่ได้ร่วมออกเดินในขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เธอก็โพสต์ข้อความสนับสนุนลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเธอว่า “ภูมิใจและเคารพผู้คนที่ออกไปเดินขบวนในครั้งนี้อย่างมาก ฉันรู้สึกภูมิใจจริงๆ ที่เป็นผู้หญิงในวันนี้และในทุกๆ วัน”

นอกจากนี้ เธอยังเคยต่อสู้เพื่อสิทธิในเนื้อตัวของผู้หญิงอย่างถึงที่สุดมาแล้ว หลังจากบอกว่าเธอโดนดีเจรายหนึ่งจับก้นเธอระหว่างถ่ายรูปและจัดการฟ้องร้องดีเจรายนั้นด้วยเงินเพียงดอลล่าร์เดียว การฟ้องร้องครั้งนี้กินเวลายาวนาน และเธอชนะคดี ไล่เลี่ยกันนั้น เธอยังสนับสนุนและช่วยเหลือ เคช่า นักร้องสาวชาวอเมริกันที่ยื่นฟ้องศาลกรณีถูกโปรดิวเซอร์ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้สวิฟต์ปรากฏตัวในฐานะบุคคลแห่งปีของนิตยสาร TIME ปี 2017 โดยเธอออกมาเล่าประสบการณ์การโดนคุกคามของเธอและยืนยันว่า ทุกคนควรมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมี (และตอบกลับคำถามที่ว่า เธอรู้สึกอย่างไรที่ทำให้ดีเจรายงานต้องตกงานจากเรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาทำให้ฉันรู้สึกว่านี่เป็นความผิดของฉันหรอกนะ”)

นี่เองที่อาจเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดที่จะเก็บเงียบทัศนคติทางการเมืองของเธออีกต่อไป นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเธอยังมีท่าทีสนับสนุนสิทธิของ LGBT อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเธอออกทัวร์คอนเสิร์ตของเธอที่ชิคาโก้เมื่อเดือนมิถุนายน -ซึ่งเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ- ที่ผ่านมาได้อย่างน่าประทับใจ “ช่างเป็นเรื่องกล้าหาญจริงๆ ที่พวกคุณต่างซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง กับคนที่คุณรัก เมื่อคุณรู้ว่าหากแสดงความรู้สึกออกไปอาจจะต้องเจอกับเรื่องยากเข็ญมากมายจากสังคม” และ “ฉันอยากส่งความรักไปยังทุกคนที่เข้มแข็งมากพอจะซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็น รู้สึกอย่างที่รู้สึกค่ะ”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่การออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งนี้ของเธอ จะประกอบด้วยข้อความที่ระบุว่า “ฉันจะลงเสียงให้ผู้แทนที่ต่อสู้และสนับสนุนสิทธิมนุษยชนที่ฉันเชื่อว่าเราทุกคนล้วนสมควรได้รับในประเทศแห่งนี้ ฉันเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ และเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติใดๆ ก็ตามต่อเพศสภาพนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และเชื่อว่า การเหยียดเชื้อชาติอันแสนน่าสะพรึงกลัวและน่าสะอิดสะเอียนนั้นยังแพร่หลายให้เราได้เห็นอยู่ในประเทศแห่งนี้

“ฉันไม่อาจลงคะแนนเสียงให้ใครก็ตามที่ไม่ต่อสู้เพื่อเกียรติยศของชาวอเมริกันโดยไม่แบ่งแยกสีผิว เพศ หรือคนที่พวกเขารักได้”

และนั่นเท่ากับเป็นการประกาศตัวยืนอยู่คนละฝั่งกับชาวพรรครีพับลิกันในทันที เมื่อ มาร์ชา แบล็คเบิร์น ผู้สมัครวุฒิสมาชิกของรัฐเทนเนสซีที่เมื่อปี 2009 เคยโหวตค้านกฎหมาย  Paycheck Fairness Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างอย่างเท่าเทียมระหว่างเพศ ขณะที่ในปี 2010 ก็เคยโหวตค้านกฎหมาย Don’t Ask, Don’t Tell ซึ่งเป็นนโยบายห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งชาว LGBT ในกองทัพอย่างที่เคยปรากฏเป็นคดีความก่อนหน้ามาโดยตลอด และยังเคยออกมาแสดงความผิดหวังต่อคดี Obergefell v. Hodges ว่า “ช่างน่าผิดหวัง ฉันนั้นสนับสนุนการแต่งงานตามธรรมเนียมมาโดยตลอด แม้ครั้งนี้ผลการตัดสินจะเป็นดังนี้ แต่ก็ไม่มีใครลบล้างข้อเท็จจริงของการแต่งงานไปได้ว่า เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง” อย่างไรก็ตาม แม้แบล็กเบิร์นจะผิดหวัง แต่คดีที่คู่รัก LGBT ฟ้องร้องรัฐโอไฮโอที่ไม่ยอมรับการแต่งงานของชาวเกย์นี้ ผลที่สุดแล้ว คู่รักเป็นฝ่ายชนะจนเกิดแฮชแท็ก #Lovewins ขึ้นมา

เราจึงไม่แปลกใจเลยที่เหตุใดสวิฟต์จึงระบุชื่อของแบล็คเบิร์นลงในแถลงการณ์ยาวเหยียดของเธอว่า “ที่ผ่านมา ฉันพึงใจจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้หญิงเข้าไปอยู่ในสภา แต่ครั้งนี้ฉันลงเสียงสนับสนุน มาร์ชา แบล็คเบิร์น ไม่ได้จริงๆ เพราะสถิติการลงคะแนนเสียงในสภาของเธอนั้นทำให้ฉันหวั่นกลัว เธอออกเสียงค้านการจ่ายเงินจ้างอย่างเท่าเทียมของผู้หญิง, ออกเสียงค้านการต่ออายุกฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องผู้หญิงจากการถูกกระทำความรุนแรง, ลอบตามรังควานและการข่มขืน เธอเชื่อด้วยว่าภาคธุรกิจมีสิทธิที่จะให้บริการแก่คู่รักเกย์ และยังเชื่ออีกว่าชาวเกย์เหล่านี้ไม่มีสิทธิที่จะแต่งงานอย่างถูกกฎหมาย”

และแบล็คเบิร์นเพิ่งจะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนช่อง Foxnews โต้กลับข้อกล่าวหาของสวิฟต์อย่างเผ็ดร้อนว่า “แน่นอนอยู่แล้วว่าฉันสนับสนุนสิทธิของสตรีและอยากให้ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงนั้นสิ้นสุดลงเสียที แล้วฉันยังเคลื่อนไหวเพื่อศูนย์ดูแลและปกป้องเด็กจากการทารุณกรรม เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้หญิงได้รับรายจ่ายอย่างเท่าเทียมมาตั้งแต่อายุ 19 และทำทุกทางเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเธอจะได้รับค่าแรงอย่างสมน้ำสมเนื้อ

“อีกอย่างนะคะ ตอนนี้เรากำลังเข็นกฎหมาย Music Modernization Act เข้าสภาคองเกรส และประธานาธิบดีจะเซ็นชื่อสนับสนุนในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคุณเทย์เลอร์ สวิฟต์ ก็จะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายนี้ด้วยนะคะ”

เทย์เลอร์มงลงจริงไหม จากกรณีนี้?

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีเห็นงามกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเธอ หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า การออกตัวแสดงความเห็นทางการเมืองในวันที่ตัวเองเพิ่งทัวร์คอนเสิร์ตรอบอเมริกาไปหมดแล้วมันก็แทบไม่มีความเสี่ยงหรือราคาที่ต้องจ่ายอะไร รวมไปถึงแฟนเพลงหลายคนออกมาเผาเสื้อ, ซีดีเพลง รวมทั้งออกมาแสดงความขุ่นใจที่เห็นศิลปินคนโปรดของพวกเขา ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ห่างจากเรื่องการเมืองและความขัดแย้งมาตลอด ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจน จนเกิดแฮชแท็กล่าสุด #BoycottTaylorSwift หรือ คว่ำบาตรนังเทย์เลอร์สวิฟต์

นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังออกมาให้สัมภาษณ์อย่างรวดเร็ว (กว่าตัวแบล็คเบิร์นเองด้วยซ้ำไป) ว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสวิฟต์นั้น ทำให้เขารู้สึกชื่นชอบเธอเพลงเธอน้อยลงไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทั้งยังสนับสนุนแบล็คเบิร์นว่า “เธอทำงานได้ดีนะครับ เธอเป็นผู้หญิงที่ทรงพลังมาก ผมแน่ใจว่าเทย์เลอร์ สวิฟต์ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเธอเลยสักนิดเดียว”

ดูเหมือนฝุ่นควันเหล่านี้จะยังคงตลบอีกพักใหญ่ อย่างน้อยที่สุดก็อาจจะก่อนถึงวันเลือกตั้งในเดือนหน้า

“แน่ล่ะว่าเราไม่อาจหาผู้แทนจากฝ่ายไหนที่เราเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ว่าจะในประเด็นใด แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องออกเสียงอยู่ดี” สวิฟต์ลงท้ายในแถลงการณ์ของเธอไว้เช่นนั้น และเราเองคงได้แต่จับตาดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปถัดจากนี้

เครดิตรูป Valerie MACON / AFP

Tags: , , , ,