‘มะเร็ง’ คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 130,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60,000 ราย นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับคนทั่วไป ‘การฉายรังสี’ และ ‘คีโม’ คงจะเป็นคำที่คุ้นเคยกันดีเมื่อพูดถึงการรักษามะเร็ง แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันมีเทคนิคการรักษามะเร็งอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งได้ ‘การรักษามะเร็งแบบตรงจุด’ หรือ ‘Targeted Therapy’ คือวิธีการรักษามะเร็งที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้ว
นายแพทย์ประสาร ขจรรัตนเดช อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายความแตกต่างของ Targeted Therapy กับการรักษาวิธีอื่นๆ ว่า “ในอดีต การรักษามะเร็งมีวิธีหลักอยู่สามวิธี คือการผ่าตัด การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ซึ่งการผ่าตัดและการฉายรังสีจะเป็นการรักษาเฉพาะที่ คือเป็นตรงไหนก็ตัดก้อนมะเร็งตรงนั้นออก แต่การใช้ยาในการรักษา หรือ chemotherapy เป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษกับเซลล์ โดยยาจะเข้าไปทำลายการแบ่งเซลล์ ไม่ว่าเซลล์นั้นจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ปกติ ในขณะที่ Targeted Therapy เป็นการเข้าไปหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเมื่อเซลล์มะเร็งไม่เติบโต เซลล์ก็จะตายในที่สุด
“หรือพูดง่ายๆ คือ Targeted Therapy เป็นเหมือนการตัดเสื้อเฉพาะคน ไม่ใช่การตัดเสื้อโหล”
การรักษาแบบ Targeted Therapy มีกระบวนการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Precision Medicine ซึ่งจะนำตัวอย่างเซลล์มะเร็งของคนไข้หลายๆ คนมาวิเคราะห์โมเลกุลโปรตีนและลักษณะความผิดปกติของยีน เพื่อออกแบบตัวยาที่เข้ากับคนไข้
ปัจจุบันก็มีตัวยาเกิดขึ้นมากมาย แม้จะไม่สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด แต่ก็เป็นวิธีการที่ตอบสนองต่อโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยตัวยาจะเข้าไปหยุดมะเร็งที่เซลล์ตั้งต้น ตั้งแต่หยุดกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หยุดการเคลื่อนที่ลุกลาม และทำให้เซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองสิ่งกระตุ้นอีกต่อไป
นายแพทย์ประสารอธิบายการรักษาเพิ่มเติมว่า “ก่อนเริ่มการรักษา เราจะตรวจเซลล์มะเร็งของคนไข้ เพื่อวิเคราะห์ว่ามีโมเลกุลหรือโปรตีนที่จำเพาะเจาะจงใดบ้าง แล้วจึงมาดูว่า มียาตัวใดที่ผ่านการรับรองมาแล้ว และสามารถยิงตรงเข้าสู่เซลล์มะเร็งนั้นได้ เพราะคนไข้มะเร็งชนิดเดียวกันก็อาจใช้ยาในการรักษาต่างกัน”
Targeted Therapy เป็นแนวทางการรักษาที่ลดผลข้างเคียงที่มีต่อเซลล์ปกติ เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาแบบอื่นๆ จะช่วยยืดอายุผู้ป่วยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และเพิ่มโอกาสหายในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก
นายแพทย์ประสารให้ข้อมูลว่า ในอดีต แพทย์มักจะบอกว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจะมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ยประมาณหกเดือน หรือถ้าได้รับยาเคมีบำบัดก็จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณสิบเดือน แต่การรักษาด้วยวิธี Targeted Therapy ก็ทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ “อย่างคนไข้มะเร็งปอด หากได้รับการรักษาด้วย Targeted Therapy ร่วมกับการรักษาอื่นๆ แบบเต็มที่ ค่าเฉลี่ยก็สามารถไปได้ถึงสองปีกว่าถึงสามปี เรียกว่าช่วยยืดอายุให้คนไข้ได้มากขึ้น แต่การรักษาหาย เปอร์เซ็นต์อาจจะยังน้อยอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีมะเร็งอื่นๆ ที่ Targeted Therapy ช่วยเพิ่มโอกาสในการหายได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งเต้านมบางชนิด”
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่ง การรักษาด้วยวิธี Targeted Therapy อาจจะเกิดการดื้อยา เช่น ยาบางตัวให้ผลการรักษาที่ดี แต่เมื่อผ่านไปประมาณหนึ่งปี อาจเกิดอาการดื้อยา ทีมแพทย์จึงต้องตัดชิ้นเนื้อมาตรวจอีกครั้ง เพื่อค้นหายาตัวใหม่
การรักษาด้วย Targeted Therapy อาจใช้ยาเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดตั้งแต่แรก หรืออาจใช้ Targeted Therapy หลายชนิดเพื่อรักษาที่เป้าหมายหลายตำแหน่งพร้อมกัน เพราะโดยธรรมชาติของเซลล์มะเร็ง จะมีกลไกการเติบโตหลายกลไก และในบางครั้ง เมื่อกำจัดกลไกหนึ่ง ก็อาจเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่ทำลายเซลล์มะเร็งระยะสุดท้ายได้หมดจนถึงขั้นหายขาด
นายแพทย์ประสารกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ในปัจจุบัน Targeted Therapy หรือวิธีการรักษาที่ใหม่กว่านี้ เช่น การรักษาโดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็หวังว่าจะช่วยให้เรารักษามะเร็งในระยะที่เป็นมากๆ ให้หายขาดได้ แต่ในปัจจุบัน เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น เราสามารถทำให้คนไข้มะเร็งที่ไม่ได้เป็นในระยะสุดท้ายหายขาดได้ แต่คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย สิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบันคือทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น จากการที่มียาชนิดใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่ทำให้หายขาดได้ทุกคน”
มะเร็งเกิดขึ้นได้กับเกือบทุกเซลล์ในร่างกาย และก่ออาการได้มากมายหลากหลาย เพราะฉะนั้น การป้องกันมะเร็งที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับเราทุกคนตามที่นายแพทย์ประสารแนะนำ คือการดูแลรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด กินอาหารให้ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ กินผักและผลไม้ประมาณวันละสามถ้วยตวง และออกกำลังกาย นอกจากนั้น หากมีอาการผิดปกติที่ค่อนข้างเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์
“อย่าปล่อยให้อาการของโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุทำให้เกิดความกังวลใจ ควรรีบปรึกษาหมอ เพราะหมอพร้อมจะเป็นทีมเดียวกับคนไข้ แต่ถ้าไม่อยากป่วยก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เพราะหมอไม่อยากให้ใครมาโรงพยาบาล” นายแพทย์ประสารกล่าวทิ้งท้าย
Fact Box
- สำหรับประเทศไทย มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในเพศหญิงคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในเพศชายคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง คือประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
- สถิติสาธารณสุขจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2554 พบว่า มีสตรีไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ 12,613 ราย หรือ 34.5 รายต่อวัน คิดเป็นอัตราป่วย 28.5 รายต่อประชากรแสนคน โดยในปี 2557 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเสียชีวิต 3,455 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 10.5 ราย
- ขณะที่สถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่าในปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งตับ 23,410 ราย และเสียชีวิต 20,334 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตวันละ 55 ราย หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 ราย