หากนึกละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเรียกสั้นๆ ติดปากว่า ‘ละคอนถาปัด’ สิ่งที่ผู้คนนึกถึงก็คือ ความสนุกสนาน ความแหวกแนว ไม่อยู่ในแบบแผนในแบบของละครเวทีทั่วๆ ไป ซึ่งหาได้เพียงในละคอนถาปัดเท่านั้น รวมไปถึงความลังการของฉาก แสง สีเสียง ซึ่งในแต่ละปี ถาปัดการละคอนมักจะสร้างความเซอร์ไพรส์ให้คนดูเรื่อยมา ตั้งแต่ละครเวทีเรื่องในปีพ.ศ. 2517 หรือแม้แต่เรื่อง ‘สามก๊ก’ ซึ่งกลายเป็นตำนานไปแล้ว เพราะเล่นกว่าร้อยรอบ

นอกจากนั้น การเฝ้ามอง จับตาว่าปีนี้พวกเขาจะ ‘เล่น’ อะไร เพราะถาปัดการละคอนนั้นไม่ใช่แค่การแสดงละครเวที ละครเวทีแต่ละเรื่องของพวกเขานั้นนอกจากจะเต็มไปด้วยมุกตลกขบขันแล้ว ยังเต็มไปด้วยประเด็นการเมืองและสังคมที่พวกเขาหยิบมาเล่น หยิบมาหยอกเพื่อกระทุ้งถาม หรือชักชวนให้คนดูได้คิดตามในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รวมไปถึงการแจ้งเกิด ‘ดาว’ มากมาย ที่ไม่จำเป็นต้องสวยหล่ออย่างเดียว แต่ทว่ามากไปด้วยความสามารถ ตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่างปัญญา นิรันดร์กุล, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, สัญญา คุณากร มาจนถึงปัจจุบัน ที่งานคอนเสิร์ต ‘ครบเด็กสร้างบ้าน’ Anti-Aging ต่างวัยใจเดียวกัน ที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคงการันตีได้ว่ามีมากมายแค่ไหน

และนั่นทำให้ละคอนถาปัดในปีนี้เป็นที่จับตามองอีกครั้ง เมื่อพวกเขานำเรื่องราวคลาสสิกที่เราคุ้นเคย รู้จัก เคยดูกันมาแล้วอย่าง ‘เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้’ มาตีความใหม่

ละคร(โดย)เด็กสถาปัตย์

ในแรกเริ่มนั้น ละคอนถาปัดเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อความบันเทิงและหารายได้ให้กับกิจกรรมอื่นๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น โดยชื่อละคอนถาปัดเกิดจากการจงใจเขียนอย่างผิดไวยากรณ์ เพื่อสื่อเป็นนัยๆ ว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำในนามของคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ หากแต่เป็นในนามของเหล่านิสิตที่รักสนุกและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่มีใครเหมือนเท่านั้นเอง

ละคอนถาปัดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.. 2517 ในเรื่อง ‘ลืมบอกแม่ซึ่งด้วยเอกลักษณ์ความสนุกสนานและมุกตลกที่สร้างสรรค์ ทำให้ชื่อเสียงของละคอนถาปัดโด่งดังไปเป็นวงกว้าง เป็นแรงผลักดันให้ละคอนถาปัดผลิตผลงานละครเวทีอันเป็นเอกลักษณ์นี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี 

ขำขัน เสียดสี และตีแผ่

โรมิโอจูเลียต สามก๊ก ก็อดฟาเธอร์ ทวิภพหรือแม้แต่สโนไวท์ ต่างเป็นเรื่องที่เคยปรากฏมาแล้วทั้งนั้นในละคอนถาปัด ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามิได้มีวิธีการเลือกละครมาแสดงในแต่ละปีแบบตายตัว เพราะใจความสำคัญของละคอนถาปัดอยู่ที่การล้อเลียนและมุกตลกเชิงสร้างสรรค์ ที่สะท้อนประเด็นต่างๆ ในสังคมไทยในรูปแบบที่ดูทีเล่นทีจริง อาทิ ปัญหาสังคม การศึกษา ประเด็นข่าวดังในช่วงนั้น รวมถึงการเมืองที่เป็นเหมือนไม้เด็ดของละคอนถาปัด 

สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นการสะกิดกับคนดูเบาๆ ว่า ในประเด็นปัญหาที่ถูกถ่ายทอดผ่านมุกตลกที่ดูสนุกสนานนั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นในสังคม สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ชมสามารถตีความและคิดต่อไปได้ในรูปแบบของตนเอง โดยมีละคอนถาปัดเป็นดั่งกระบอกเสียงที่นำพาเรื่องราวต่างๆ มานำเสนอผ่านการแสดงให้ผู้ชมทุกท่านได้เห็นเพียงเท่านั้น 

จากการออกแบบอาคารสู่การออกแบบฉากเวทีละคร

ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กสถาปัตย์ฯ แล้ว การออกแบบบ้าน ออกแบบอาคารย่อมเป็นเรื่องที่นิสิตคณะนี้ทุกคนต้องผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง การนำความรู้ในชั้นเรียนมาใช้ในการออกแบบฉากหลังย่อมทำให้ผลงานมีความโดดเด่นและน่าสนใจ ใครจะคิดว่าฉากหนึ่งฉากที่อยู่ตรงหน้า เพียงแค่พลิกกลับด้านออกมา จะสามารถปรากฏเป็นฉากต่อไปขึ้นได้ในแค่เพียงชั่วพริบตาเดียว

การออกแบบฉากที่เกิดขึ้นแต่ละฉากไม่ได้เกิดขึ้นจากการทดลองแบบสุ่ม ทีมฉากได้ใช้เวลาออกแบบอย่างละเอียดละออในทุกๆ จุด ข้อต่อ การหมุน การพับ ฉากทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากการออกแบบหุ่นจำลองสามมิติผ่านโปรแกรมต่างๆ ทำให้มีมิติที่ซับซ้อน สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายโอกาส และสร้างความประทับใจนอกเหนือจากความสามารถของนักแสดงให้กับเหล่าผู้ชมได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยแสดงให้เห็นกันมาแล้วในละครเวทีเรื่อง มู่หลาน, ทวิภพ, แดจังกึม และอีกหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา

โปรดักชั่นร้อยล้านที่สร้างสรรค์โดยนิสิต

แสงสปอตไลต์สีตระการตาทอดผ่านม่านควันฉายลงไปยังตัวละครตัวต่างๆ บนเวที หิมะโปรยปรายคลุ้งด้วยกลิ่นหอมที่ปกคลุมไปทั่วทั้งบรรยากาศของโรงละคร ความสร้างสรรค์ของเหล่านิสิตคณะสถาปัตย์ฯ ก่อให้เกิดการนำเสนอโปรดักชั่น (Production) ด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาและให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งไปพร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านี้เองที่ช่วยผลักดันและถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร ณ ช่วงเวลานั้นๆ ออกไปสู่ผู้ชม

ในกรณีตัวอย่างหนึ่งเรื่อง แดจังกึม ที่จำเป็นต้องมีหิมะ ด้วยข้อจำกัดทางสถานที่ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องทำหิมะได้ เหล่านิสิตจึงแก้ไขปัญหาโดยการเปลี่ยนบท ณ ฉากนั้นไปในทางที่ตลกเสีย กลายเป็นว่าคนเข้าไปฉีดหิมะกลางเวทีทื่อๆ เสียอย่างนั้น มองเผินๆ อาจจะดูเป็นการแก้ปัญหาอย่างกำปั้นทุบดิน แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ชมให้ผลตอบรับที่ดี เป็นความตลกที่คาดไม่ถึงที่มาพร้อมกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างน่าประทับใจ

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในละคอนถาปัดก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าการแก้ปัญหาแม้แต่น้อย อาทิ การใช้เทคนิคการ Mapping ฉายฉากที่เคลื่อนไหวได้ลงบนฉากหลัง แม้เทคนิคนี้จะดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่เกินอายุของนิสิตนักศึกษาไปมาก แต่ด้วยการทดลอง ค้นคว้า และหาคำตอบเพื่อผลลัพท์ที่ดีที่สุดในทุกๆ ครั้ง ทำให้โปรดักชันของถาปัดการละคอนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของคำว่านิสิต นักศึกษาไปไกลโขทีเดียว

Tryout ใครๆ ก็เล่นละคอนถาปัดได้

จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่พลาดไม่ได้ของละคอนถาปัด คือการทรายเอาต์ (Tryout)’ ของนักแสดง ซึ่งมีเพียงแค่ในละคอนถาปัดเพียงที่เดียวเท่านั้น การทรายเอาต์ได้ชื่อมาจากความหมายในเชิง มาลองดู มาลองทำ มาลองแสดงกัน โดยที่สุดท้ายแล้วทุกคนที่เข้าร่วมทรายเอาต์จะมีสิทธิ์ได้แสดงทุกๆ คน ไม่เหมือนกับในละครเวทีอื่นๆ ที่มีการตระเตรียมบทไว้ล่วงหน้าแล้วจึงคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมกับบทนั้นๆ แต่ในถาปัดการละคอน บทจะถูกออกแบบให้เข้ากับนักแสดงที่มี ซึ่งทำให้ตัดปัญหาเรื่องการไม่ม่บทให้กับนักแสดงคนใดก็ตาม

เนื่องจากทรายเอาต์เปิดรับนิสิตทุกคนในคณะที่สนใจการแสดงโดยไม่ตัดสินความสามารถในการแสดงที่มีมาก่อน ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาความสามารถให้ยิ่งยวดขึ้นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน และถึงแม้ว่าทรายเอาต์จะเปิดรับให้กับทุกคนที่สนใจ แต่ด้วยการฝึกซ้อมที่ทั้งเข้มข้นและสนุกสนาน ทำให้ละคอนถาปัดมีนักแสดงที่ไม่ใช่แค่มากไปด้วยฝีไม้ลายมือ แต่ยังยืดหยุ่นในการแสดงแบบด้นสดเพื่อเพิ่มสีสันให้กับถาปัดการละคอนได้อีกด้วย

ภายใต้บทละครคือบทสะท้อนสังคมไทย

การคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของสังคม การศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านการแสดงให้เป็นเรื่องตลกโปกฮา แต่ความสนุกอาจเรียกว่าเป็นเพียงเปลือกภายนอกของเนื้อความที่ต้องการจะสื่อเท่านั้น โดยเนื้อแท้แล้วละคอนถาปัดต้องการนำเสนอแง่คิดและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมผ่านการใช้เครื่องมือที่ง่ายต่อการสื่อสาร อาทิ การล้อเลียนการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านตัวละครสมมติในเรื่องอาจสร้างความขบขัน ณ ตอนนั้นก็จริง แต่เมื่อการแสดงจบลง ผู้ชมอาจได้กลับมานั่งคิดถึงเรื่องที่ละครพูดถึงอีกครั้งหนึ่งในบริบทที่ไม่มีความขบขันเข้ามาเกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ตาม ละคอนถาปัดมิได้ต้องการแค่เพียงถ่ายทอดเรื่องจริงจังให้สนุกขบขันเท่านั้น หากแต่เรื่องที่ตลกอยู่แล้ว ละคอนถาปัดก็สามารถนำมาผนวกเข้ากับเนื้อหาของเรื่องได้อย่างกลมกล่อม สร้างมิติทางอารมณ์ที่หลากหลายพร้อมกับให้แง่คิดให้แก่ผู้ชมไปได้พร้อมๆ กัน

ถาปัดการละคอน การกลับมาของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

เตรียมพบกับละคอนถาปัดครั้งที่ 62 กับเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้นำเสนอเรื่องราวของเซี่ยงไฮ้ปี 1930 ในยุคที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพของความเป็นอนาธิปไตย ภายใต้การปกครองของเจ้าพ่อ ฟงจิ้งเหยาผู้กุมทุกความเป็นในเมืองเซี่ยงไฮ้แห่งนี้ กลับมีสองชายหนุ่มสี่เหวินเฉียงและติงลี่ลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมด้วยอุดมการณ์และความกล้าหาญ แน่นอนว่า เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ฉบับละคอนถาปัดนั้นเป็นการตีความใหม่ และเต็มไปด้วยความเซอร์ไพรส์ ไม่เหมือนเจ้าพอเซี่ยงไฮ้เวอร์ชั่นไหนๆ ที่เคยดูมา

ละครเวที เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ในแบบฉบับของเด็กสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ จะจัดแสดงในวันที่ 4-5 และ 11-12 มกราคม 2563  ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สนใจซื้อบัตรออนไลน์ได้ที่ www.ticketmelon.com/tapadkarnlakorn

หรือติดตามข่าวสารและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านทาง

Facebook : www.facebook.com/tapadkarnlakorn

Instagram : tapadkarnlakorn

Twitter : @tapadkarnlakorn

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ คีตา ฐาปนพันธ์นิติกุล นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tags: , , ,