จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่หลายคนน่าจะสัมผัสได้คือบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สะท้อนผ่านการแสดงออกทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการกำหนดทิศทางของประเทศไทยในอนาคต และแน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงภาคประชาชน ในเกมการเมืองเอง ‘คนรุ่นใหม่’ ก็เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่น่าจับตา อย่างเช่นเขาคนนี้—ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ

ตั้งแต่เริ่มลงเล่นการเมืองจนถึงการตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุที่พรรคประกาศร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ ชื่อของ ไอติม พริษฐ์ ก็เป็นที่จดจำในฐานะนักการเมืองอายุน้อยที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการออกจากพรรค และการจบลงของกลุ่ม New Dem เราจึงอยากชวนเขาพูดคุยถึงทิศทางต่อไปในเส้นทางการเมืองของเขา รวมถึงมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ในวันที่คนรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

คิดอย่างไรกับความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ และความตื่นตัวในรูปแบบที่เป็นอยู่จะส่งผลต่อการเมืองโดยรวมมากน้อยแค่ไหน

ผมมีความหวังว่าความสนใจและบทบาทของคนรุ่นใหม่จะดำเนินต่อไป เรื่องที่น่าสนใจในประเด็นคนรุ่นใหม่คือรูปแบบการแสดงออกจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นอะไรที่สำคัญและไม่ใช่แค่สำหรับประเทศไทย อย่างช่วงประชามติเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปที่อังกฤษก็ทำให้คนรุ่นผมตื่นตัวขึ้นเยอะมาก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มันทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว

ถามว่าความสนใจของคนรุ่นใหม่จะส่งผลอย่างไรต่อการเมือง ผมคิดว่าส่งผลมาก ไม่ใช่แค่คนรุ่นเดียวหรอก แต่เป็นความสนใจจากประชาชน ในวันที่เรากลับเข้าสู่ระบบที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว การเฝ้าดูของประชาชนจะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจะต้องตอบสนองและตอบคำถามสังคมตลอด เราจะเห็นว่าแม้กระทั่งช่วงก่อนเลือกตั้ง ประเด็นหลายๆ อย่างในสังคมถูกตั้งคำถามโดยประชาชนทั่วไป ประเด็นนาฬิกา ประเด็นเสือดำ ล้วนเป็นคำถามที่สังคมเป็นคนตั้งแล้วนักการเมืองหรือว่าผู้บริหารประเทศตอนนั้นต้องมาตอบ ในวันที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีฝ่ายค้าน มี ส.ส.เขต มีตัวแทนแล้ว ผมคิดว่าระบบตรวจสอบตรงนี้จะเข้มข้นขึ้น

คิดว่าอะไรเป็นจุดเปลี่ยนชัดๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมาพูดเรื่องการเมืองกันมากขึ้น

การที่ประเทศไทยห่างเหินจากการเลือกตั้งมาค่อนข้างนานเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองเพิ่มขึ้น พอไม่ได้ใช้สิทธิอย่างที่ควรจะเป็นมานาน บางคนอายุถึงก็ยังไม่ได้มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลย ความตื่นตัวจึงมีมากในวันที่ได้สิทธิกลับมา เชื่อว่าตนเองสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศได้ ผมเคยคุยกับคนที่เด็กกว่าผม หลายคนเครียดจริงๆ นะครับเพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่มีมันสำคัญมาก และผมอยากให้เขาเก็บความเชื่อมั่นนั้นต่อไป ทุกคะแนนเสียงมีค่าจริงๆ

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ในแวดวงการเมือง อายุส่งผลต่อการทำงานบ้างไหม

ส่วนตัวแล้วไม่นะครับ จนถึงตอนนี้ที่แม้ว่ามันจะชัดเจนว่าอุดมการณ์เราต่างกัน แต่ว่าผมก็ยังนับถือการที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ให้เกียรติผมมาเสมอ แล้วก็ให้โอกาสผมมาเสมอในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคย เพราะตั้งแต่ก่อนที่ผมจะจบปริญญาตรี ผมได้เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสมาคม Oxford Union ที่พอเข้าไปแล้วกรรมการบริหารทุกคนเป็นเด็กนักศึกษาแล้วก็ต้องทำงานคู่กับผู้ใหญ่ เราก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

พอผมเริ่มทำงาน ที่บริษัทเขาจะเอาเด็กจบใหม่ที่เขาคิดว่ามีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์มาฟอร์มทีมเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจหรือว่ารัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งทุกวันที่เราเข้าไปสิ่งแรกที่เจอคือเขาจะสงสัยว่าทำไมทีมนี้เด็กจัง ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพยายามพิสูจน์ ก็เลยทำให้ผมคุ้นเคยกับการที่อาจจะมีคนตั้งคำถามหรือว่าสงสัยว่าเด็กเกินไปหรือเปล่ามาตลอด ผมคิดว่าเป็นอะไรที่เราต้องพยายามไม่ให้มันมาเป็นเงื่อนไข

ความสนใจการเมืองของคุณเกิดจากการที่อยู่ในครอบครัวที่มีนักการเมืองด้วยหรือเปล่า

ไม่เกี่ยวเลย พูดจากใจจริงว่าพอโตขึ้นได้เจอคุณอภิสิทธิ์กับคุณสุรนันทน์ที่ทำงานการเมืองแค่ปีละครั้งคืองานรวมญาติ ซึ่งแน่นอนพอรวมญาติกันเขาจะไม่ให้คุยการเมือง ความสนใจการเมืองของผมเกิดจากการที่ตั้งแต่เด็กเราจะชอบเป็นหัวหน้าห้อง หัวหน้ากลุ่มลูกเสือ เราชอบการเป็นตัวแทนของกลุ่มคน ชอบในการทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม พอมีโอกาสได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ ผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เปิดโลกให้กับผม ผมได้เห็นถึงข้อดีและข้อที่ควรพัฒนาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พอลักษณะนิสัยที่ชอบเป็นตัวแทนกับความคิดที่เราอยากจะเห็นประเทศไทยดีขึ้นในหลายๆ ด้านมารวมกัน มันเลยลงตัวที่เรื่องการเมือง

เพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็กผมจะตามข่าวสารการเมืองมาโดยตลอด ที่บอกว่าสนใจเป็นพิเศษเพราะว่าสมัยก่อนเวลาอยู่มัธยม อยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูง ผมแทบจะเป็นคนเดียวที่พูดถึงเรื่องการเมือง พอมาตอนนี้ผมค่อนข้างดีใจเพราะเห็นว่าคนส่วนมากสนใจการเมืองกันเยอะ อย่างน้อยในคนรุ่นผม ตอนหาเสียงสมัยเด็กๆ ที่ผมฝึกงานที่พรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเจอคนอายุ 18-20 เขาก็จะดูว่าพ่อแม่เลือกพรรคไหนแล้วจะเลือกตาม แต่ตอนนี้ที่ผมหาเสียงจะเห็นว่าบางทีพ่อแม่กับลูกถกเถียงกันอย่างจริงจังเลยว่าพรรคไหนดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งตราบใดที่การถกเถียงตรงนั้นไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี

จากจุดเริ่มต้น ทำไมจึงเลือกที่ทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์

ด้วยความสนใจการเมืองนี่แหละ ผมเลยหาช่องทางที่จะเรียนรู้ว่านักการเมืองเขาทำอะไรกัน และตอนอายุ 16 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีโครงการฝึกงาน พอฝึกจบก็ไม่ได้มีการโน้มน้าวให้เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคหรืออะไร นั่นคือสัมผัสแรกของผมต่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่การตัดสินใจเข้าไปเป็นตัวแทนหรือว่าผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์มันเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างใช้เวลานาน

ครั้งแรกที่ผมขึ้นเวทีในนามพรรคประชาธิปัตย์ ผมพูดเสมอว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างที่พรรคทำที่ผ่านมา แต่ผมมีความเชื่อสองอย่างซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นจริงในตอนนั้น อย่างแรกคือผมมีความเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนี้สามารถเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ที่ผมเรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ได้ อย่างที่สอง คือผมมีความเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เป็นพรรคที่ใครก็ตามไม่ว่าจะอายุมาก อายุน้อยก็เข้ามาแล้วมีบทบาท สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคได้ นั่นคือ ณ ตอนนั้น

มาถึงตอนนี้ จุดเปลี่ยนคือมติพรรคที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี อันนั้นเป็นจุดที่ชัดเจนมากที่ทำให้ผมรู้สึกว่าอุดมการณ์เราอาจจะแตกต่างกับทิศทางที่ถูกกำหนดโดยมติของพรรค

ซึ่งในข้อนี้ผมว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วยกันหมด ผมจะพูดเสมอว่าอย่าไปบอกคนที่กาให้พรรคพลังประชารัฐว่าตัวเขาเป็นเผด็จการ มันไม่ใช่ ทุกคะแนนเสียงมันมีคุณค่าเท่ากัน แต่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบต้องเป็นการแข่งขันบนกติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม แต่จากหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐหรือว่าแกนนำรัฐบาลปัจจุบันมีความพร้อมที่จะสู้บนกติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม

นอกจากมติพรรคเรื่องพลังประชารัฐแล้ว ก่อนหน้านี้เคยมีร่องรอยของการไปกันไม่ได้กับพรรคประชาธิปัตย์อีกบ้างไหม

ความคิดที่ว่าพรรคการเมืองควรจะรวบรวมคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน มันไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองไม่ควรจะมีความคิดที่หลากหลาย เพราะเราอาจจะเห็นต่างกันได้ เช่น ผมเสนอเรื่องนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็มีบางคนที่เห็นต่าง เราก็รับฟังซึ่งกันและกันแล้วก็ค่อยปรับ หาทางออกที่เราคิดว่าตอบโจทย์ทุกฝ่าย แต่เรื่องของอุดมการณ์มันเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น ถ้าถามว่ามีช่วงไหนที่ผมรู้สึกไหมว่าอุดมการณ์ของผมไม่ตรงกับพรรคก่อนที่จะมีมตินี้ออกมา ก็ต้องตอบว่าไม่ เพราะทุกครั้งที่ผมคิดว่าอุดมการณ์ของผมตรงไหม ผมก็จะเปิดดูอุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับข้อใด จนกระทั่งมีมติออกมาอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามันต่างกันแล้วล่ะ

ผมจะพูดเสมอแล้วก็ย้ำทุกครั้งว่าผมไม่เคยบอกว่าอุดมการณ์ของผมถูก แล้วอุดมการณ์หรือว่าทิศทางของพรรคตอนนี้ผิด มันไม่มีอะไรถูกอะไรผิด มันแค่ต่างกัน เพราะฉะนั้นในเมื่อพรรคตัดสินใจเดินไปทางนี้แล้ว เพื่อให้พรรคมีความชัดเจน มีเอกภาพ มีบุคลากรที่พร้อมที่จะชูชุดความคิดนี้ ผมคิดว่าการเคารพมติพรรคตรงนี้ที่ดีที่สุดของผมคือการถอยออกมา

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ คิดว่าการเมืองที่ดำเนินไปด้วยอุดมการณ์จะเกิดขึ้นได้จริงไหม

มันอาจจะยาก เราก็ต้องพยายาม อย่างตอนที่คสช.เข้ามาแล้วเขาบอกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ความจริงหลายๆ กฎหมายที่ออกมาโดยคสช. ทั้งเรื่องของการตั้งพรรคการเมือง เรื่องระบบการเลือกตั้ง มันได้ทำลายโครงสร้างพรรคการเมือง ถ้ายังจำกันได้ สมัยก่อนพรรคการเมืองที่อยู่มาจะมีสมาชิกอยู่ฐานหนึ่ง ตอนนั้นก็ถูกตั้งค่าใหม่หมด แล้วตอนนั้นเวลาที่สมาชิกสามารถมายืนยันสถานะสมาชิกได้แค่เดือนเดียว ระบบการเลือกตั้งก็มีการบิดเบือนเรื่องของแรงจูงใจ ทำให้บางทีผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อกับผู้สมัครส.ส.เขตแทบจะต้องแข่งกันเลย เพราะว่าถ้าเราอยู่ในลำดับถัดไปของบัญชีรายชื่อเราอาจจะต้องหวังว่าเขตนี้จะแพ้ ซึ่งอันนี้มันทำให้กลายเป็นว่าแรงจูงใจมันบิดไป และอาจจะไปทำลายเรื่องของโครงสร้างและความเข้มแข็งของพรรคการเมืองได้

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่านักการเมืองเป็นอาชีพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไวที่สุด แล้วหากไม่ได้เป็นนักการเมือง ตอนนี้คุณน่าจะทำอาชีพอะไรอยู่

ความจริงผมเคยทำอาชีพอื่นมาแล้ว ขอชี้แจงก่อนว่าทำไมถึงคิดว่าอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด สมมติว่าผมจะต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มความหลากหลายทางเพศให้เขามีสิทธิสมรส แน่นอนภาคประชาชนมีบทบาทที่สำคัญมากในการเรียกร้องถึงประเด็นนี้ แต่ว่าการเข้าเป็นนักการเมืองสามารถผ่านกฎหมาย ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่มันแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ได้อย่างรวดเร็วที่สุด

และการเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทำให้การแก้ปัญหาจะต้องซื่อตรงเสมอต่อความต้องการของประชาชน เพราะว่าถ้าเราทะนงตัวว่านี่คือทางที่ถูกแล้ว แต่นั่นไม่ใช่ความต้องการของประชาชน ในอีก 4 ปีเขาจะสั่งให้เราหยุดทำ เพราะฉะนั้นนักการเมืองจะมีอัตลักษณ์ตรงที่ว่า สิ่งที่เราพยายามจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศสามารถถูกตรวจสอบโดยประชาชนที่ถูกผลกระทบตรงนี้จริงๆ ผมจะตั้งโจทย์กับตัวเองเสมอว่าผมจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในโลกนี้ แล้วจะทำให้ผมเรียนรู้ได้เยอะที่สุดและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มากที่สุดจากสิ่งที่ผมมี

ก่อนที่จะเป็นนักการเมืองผมตัดสินใจไปเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลต่างประเทศ เหตุผลที่ไปก็เพราะรู้สึกว่าได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรม ทุก 2-3 เดือนผมต้องเดินทางแล้วก็เปลี่ยนโปรเจคต์ไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าผมได้เปิดตัวเองกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันเยอะมาก เลยคิดว่าพร้อมที่จะกระโดดเข้ามาในวงการการเมือง

ถามว่าตอนนี้ผมจะกลับไปที่นั่นไหม นั่นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ว่าก็กำลังมองทางเลือกอื่นเหมือนกัน เช่น ต้องดูว่าสิ่งที่ผมมีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกไหนได้ดีที่สุด กลไกนั้นอาจจะเป็นการเข้าไปดูเรื่องของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจริญเติบโตเยอะมากในประเทศไทย มีองค์กรหลายองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไรถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม

นอกจากนี้ก็มีบทบาทหนึ่งคือการเป็นสื่อมวลชน ก่อนที่ผมเข้ามาในพรรคผมก็ทำหน้าที่เป็นพิธีกรของสารคดีอันหนึ่งที่ผมคิดขึ้นมา เป็นสารคดีที่พยายามจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ของแต่ละอาชีพ เช่น ทำไมคนขับแท็กซี่ต้องไม่รับผู้โดยสาร ปัญหามันอยู่ที่อะไร อยู่ที่การคำนวณมิเตอร์หรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่ตารางการเอารถกลับเข้าอู่ ผมคิดว่าเป็นวิธีการถ่ายทอดปัญหาที่มีอยู่ในประเทศไทยให้คนที่อยากจะเข้ามาแก้ปัญหาสังคมสามารถได้รับข้อมูลมากขึ้น

ประเด็นสังคมอะไรที่คุณสนใจเป็นพิเศษ

สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุดคือเรื่องการศึกษา ไม่ได้บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าอย่างแรกประสบการณ์เราเคยผ่านระบบการศึกษามาหลายระบบมาก เราเคยอยู่โรงเรียนไทย เคยอยู่โรงเรียนอินเตอร์ เราเคยอยู่ที่โรงเรียนที่อังกฤษ ทำให้เราเห็นข้อแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละระบบ

และเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือผมรู้สึกว่าการที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้เป็นทางออกของหลายปัญหาในประเทศไทย เช่น ถ้าอยากจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต บุคลากรของประเทศจะต้องมีทักษะที่สัมพันธ์กับความต้องการของโลกปัจจุบัน ถ้าจะเพิ่มความยุติธรรม ทำยังไงให้ระบบอุปถัมภ์หายไป ทำยังไงให้ความสามารถของแต่ละคนมากำหนดความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับว่าเกิดเป็นลูกหลานใคร คำตอบคือการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ผมจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อในพลังของการศึกษา

อนาคตของประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งในสายตาคุณเป็นอย่างไร

ประเทศจะเดินหน้าไปได้ดีขึ้นไหมก็ขึ้นอยู่กับผลงานของรัฐบาล แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราจะมีมากขึ้นคือระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ถึงแม้รัฐบาลอาจจะมีหน้าตาคล้ายๆ เดิม แต่อย่าลืมว่าการเป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมา เขามีคำถามที่ต้องตอบ มีคำพูดที่ต้องรักษา มีนโยบายที่ประชาสัมพันธ์ไปแล้วต้องทำตาม เพราะฉะนั้นแรงกดดันสำหรับกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องเจอมากขึ้นที่จะต้องทำตามสัญญา ตอบสนองความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีให้

ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้เรามีฝ่ายค้านซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่าการค้านในช่วงหลังจากเปิดสภามามันเข้มข้นกว่าก่อนการเลือกตั้งเยอะ ผมก็เพียงแต่หวังว่ากลุ่มฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ นั่นหมายความว่าถ้ามีอะไรที่รัฐบาลทำแล้วมันอาจจะดีต่อประชาชนก็ต้องพร้อมที่จะยอมสนับสนุน แต่อะไรที่แน่นอนเป็นอะไรที่เขาคิดว่าไม่ดีก็ควรที่จะตรวจสอบและเสนอทางออก เพราะฉะนั้นก็คิดว่าระบบการตรวจสอบตรงนี้ ระบบรัฐสภาที่เราควรจะเชื่อมั่น น่าจะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมา กฎหมายที่ผ่านถูกไตร่ตรองมีประสิทธิภาพและมีการเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น

ทางด้านพื้นที่ของความหลากหลายในสภา มีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง

น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผมจะพูดเสมอว่าถ้าเราอยากให้สภาของเราสะท้อนความหลากหลายในสังคม สภาก็ต้องมีผู้แทนที่ทั้งอายุมากทั้งอายุน้อย ผู้แทนจากทุกเพศ กลุ่มสังคม กลุ่มวิชาชีพ ผมว่าครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่เราได้เห็นแล้วว่ามี ส.ส.หลายคนซึ่งเรียกได้ว่าอาจจะเป็น ส.ส.สมัยแรก แล้วบางคนเป็นส.ส.ที่อายุน้อย ผมก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่เราได้เห็นความหลากหลายของสังคมไทยถูกสะท้อนโดยคนในสภา

ท้ายที่สุดนี้อยากให้คุณแนะนำหนังสือสักเล่มหนึ่งได้ไหม สำหรับคนที่สนใจการเมือง

หนังสือที่ผมชอบมากที่สุดเกี่ยวกับการเมืองคือของจอห์น รอลส์ ชื่อว่า A Theory Of Justice เขาเป็นนักปรัชญา ผมชอบเรื่องกระบวนความคิดที่เขาถ่ายทอด อย่างการที่เขาบอกว่าให้พวกเราทุกคนลองหลับตา เมื่อเราหลับไปในค่ำคืนนี้ แล้วถ้าเกิดลืมตาขึ้นมาเราจะไม่รู้ว่าจะลืมตามาเป็นใครในสังคม เราจะลืมตามาเป็นผู้หญิง หรือลืมตามาเป็นผู้ชาย เราจะลืมตามาเป็นเกษตรกร หรือลืมตามาเป็นแพทย์

ถ้าในวันนี้คุณไม่รู้ว่าจะลืมตามาเป็นใคร คุณอยากเห็นสังคมที่เราเกิดขึ้นมาหรือลืมตาขึ้นมาเป็นอย่างไร เป็นสังคมที่ทุกคนรายได้เท่ากันไหม หรือว่าเป็นสังคมที่คนมีความสามารถมีรายได้มากกว่าคนที่มีความสามารถน้อยกว่า ซึ่งทำให้คุณตอบตัวเองได้ว่าความยุติธรรมในความหมายคุณมันคืออะไร เพราะบางคนทำกระบวนการความคิดตรงนี้มันก็อาจจะมาถึงบทสรุปเช่น ทุกคนมีรายได้เท่าเทียมกัน บางคนอาจจะมาถึงบทสรุปว่าคนมีความสามารถควรจะมีรายได้มากกว่า บางคนอาจจะมีบทสรุปว่าเป็นบางอย่างที่อยู่ระหว่างสองทางตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมจะไม่เคยบอกว่าความยุติธรรมเป็นสีขาวดำ หรือความยุติธรรมในความเห็นผมจะต้องเหมือนกับของทุกคน เพียงแต่ว่ากระบวนการความคิดตรงนี้มันจะทำให้เราค้นพบตัวเองว่าท้ายที่สุดแล้วอุดมการณ์ของเราคืออะไรกันแน่

*ขอขอบคุณโรงแรม นิกโก้ กรุงเทพฯ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์*

Tags: , , , ,