โครงการ Early Years Project ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด COEVAL ที่นำเสนอวิสัยทัศน์ของศิลปินผ่านการตั้งคำถามต่อสังคมร่วมสมัย และสำรวจการดำรงอยู่ร่วมกับความเป็นอื่น ทั้งความคิด การเคลื่อนตัวของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงของเมือง การเมืองในประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี
ศิลปินรุ่นใหม่ทั้ง 7 คนที่ผ่านเข้ารอบมา กำลังมีการผลงานแสดงผลงานของตัวเองถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ล้วนแล้วแต่มุมมองทางศิลปะที่น่าสนใจ และมีความหลากหลายในการนำเสนอ บางคนนำเรื่องใกล้ตัวจากครอบครัว ความทรงจำในอดีตมาถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้ สำหรับคนบางคนก็เลือกที่จะใช้ถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นจุดตั้งต้นที่พาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวในอดีต และบางคนก็ตั้งคำถามกับเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนยุคนี้ ผ่านสื่อหลากหลายประเภททั้งสื่อเดิมและสื่อสมัยใหม่
Transforming ผลงานของ อัครวินท์ ไกรฤกษ์
นั่งร้านขนาดใหญ่ที่มีภาพถ่ายอาคารย่านเจริญรุง เป็นผลงานของ ณัท เศรษฐ์ธนา
dnilb ผลงานของภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์
หจก มิตรภาพสองข้างทาง ผลงานของสิทธิกร ขาวสะอาด
ความคิดเชิงกระบวนการและพัฒนางานต่อไปได้
พิชญา ศุภวานิช หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ริเริ่มโครงการ EYP เล่าถึงที่มาว่าอยากให้เป็นโครงการที่พัฒนาศิลปินด้วย ไม่ใช่แค่ให้เงินสนับสนุนการทำงานเพียงอย่างเดียว
พิชญา ศุภวานิช หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“ปีที่สามนี้ เราอยากให้อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการพัฒนางาน มีกิจกรรมที่บ่มเพาะศิลปินในเรื่องศิลปะภาพรวมเป็นอย่างไร และการทำงานต้องหลากหลาย เพราะปัจจุบัน ศิลปะเข้าไปอยู่ในชุมชนและส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย พร้อมกับสะท้อนตัวตนของศิลปินที่สามารถพัฒนาได้อย่างไรบ้าง ในแง่ของความเป็นมืออาชีพ สามารถบริการจัดการกับงานของตัวเองได้ บริการเรื่องเวลา ดูงานให้เรียบร้อย”
“เราอยากเห็นวิธีคิด วิธีการทำงาน และสิ่งที่ศิลปินรุ่นใหม่มอง สร้างศิลปินที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพื่อสลัดมายาคติว่า การเป็นศิลปินมันต้องจน ทำตัวลึกลับ อยากให้เห็นอีกแบบหนึ่งว่า ความจริงของศิลปินอาชีพมีองค์ประกอบอย่างหลาย เรื่องภาษา การทำงานศิลปะที่ต้องสื่อสารกับคนดู สิ่งเหล่านี้ทำให้ไปต่อยอดในระดับนานาชาติได้”
7 ศิลปินบนความหลากหลายของการทำงานศิลปะ
สำหรับศิลปินทั้ง 7 คนที่ผ่านเข้ารอบโครงการ Early Years Project ครั้งที่ 3 ซึ่งกำลังมีผลงานจัดแสดงอยู่ในขณะนี้ แต่ละคนล้วนนำเสนอผลงานศิลปะที่แตกต่างกันออกไปตามความสนใจของแต่ละคน
อย่าง สิทธิกร ขาวสะอาด เด็กหนุ่มจากจังหวัดร้อยเอ็ด เลือกนำเสนอความเป็นอีสานในช่วงหลังพ.ศ. 2500 ถึงปัจจุบัน ที่มาพร้อมกับ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติฉบับที่ 1’ ร่วมด้วยวาทกรรม ‘ชาวนาคือกระดูก สันหลังของชาติ’ และภาพลักษณ์ของอีสานที่กลายเป็นชนชั้นแรงงาน ผ่านผลงานที่ชื่อว่า หจก มิตรภาพสองข้างทาง
สิทธิกร ขาวสะอาด
“ผมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชาวนา เริ่มจากวาทกรรม ‘ชาวนาคือกระดูก สันหลังของชาติ’ แล้วมันก็พาผมไปรื้อจุดเริ่มต้นในยุคสร้างชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งอีสานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีถนนมิตรภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น ผมเลยศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเบื้องหลังวาทกรรมดังกล่าว ดูว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอีกบ้าง”
ผลงานของสิทธิกรจึงหยิบถ้อยคำภาษาอีสานถ่ายทอดลงในชุดข้อมูล เสื่อที่ให้ชาวบ้านปักคำต่างๆ ลงไป และสื่อวิดีโอ “งานผมคือระยะห่าง มันต้องเข้าไปดูใกล้ๆ เห็นความทับซ้อนของคำที่ชัดเจน การอ่านภาษาอีสานถ้าคุณอ่านไม่ออกแสดงว่าไม่ทำความเข้าใจ เป้าหมายของผมคือลดช่องว่างระหว่างความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง”
เช่นเดียวกับ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง ที่หยิบเรื่องใกล้ตัวของคนในครอบครัวมาทำงานศิลปะจัดวาง ผลงานของเขาชื่อ 333 JITBUNJONG : THE HEIRS ที่เจ้าตัวหยิบเอาข้อสงสัยเกี่ยวกับวีรกรรมของปู่สมัยไปรบที่สมรภูมิลาว ในภารกิจลับของหน่วยรบ 333 หรือ บก.333 กองกำลังเสือพรานซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ที่ปู่ของเขาเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของสงครามเย็นระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนหลัง กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่จีนและสหภาพโซเวียต รัสเซียสนับสนุน
ณัฐดนัย จิตต์บรรจง
ณัฐดนัย เล่าเรื่องผ่านสื่อผสมจัดวาง ตุ๊กตารถถังเป่าลม กระสุนและอาวุธปืนของปู่ที่ใช้ในสงครามจริง และภาพอนุเสาวรีย์ของหน่วยดังกล่าวที่ฉายผ่านสื่อโทรทัศน์ เพราะเขาหวังว่าจากความทรงจำนี้จะขยายพื้นที่ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าของประชาชน และในขณะเดียวกัน จะทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของชาติในอีกมุมหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของประเทศไทยอันซับซ้อน
อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจและใช้สื่อสมัยใหม่เป็นผลงานของ ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์ โดยใช้ Virtual Reality (VR) เป็นสื่อนำเสนอ ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องที่พบในชีวิตประจำวันกับการเมืองระดับประเทศได้ภายใต้ผลงานที่มีชื่อว่า dnilb
ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์
เขาเล่าถึงงานของเขาว่า เป็นการพูดเรื่องการเมืองในระดับปัจเจกบุคคลที่สัมพันธ์กับการเมืองระดับที่ใหญ่กว่า ผลงานชิ้นนี้นำเสนอถึงความซับซ้อนและหลากหลายของความจริง กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขามักจะคุ้นชิน และเชื้อเชิญให้ผู้ชมแลกเปลี่ยนมุมมองจากความหลากหลายทางความคิดที่เกิดขึ้นหลังการปฏิสัมพันธ์กับผลงาน
“ผมนำ VR มาใช้กับห้องมืด เพื่อเล่นกับการรับรู้ของผู้ชม หลังจากเข้าไปเล่นจะพบว่ามีหลายสิ่งที่มันขัดแย้งกัน ตรงนี้มันกระตุ้นให้คนตีความได้หลายทางและให้คิดได้หลายแบบ” ภานรินทร์กล่าว
กฤชพล เกตุชู
ขณะที่ กฤชพล เกตุชู ศิลปินจากสุราษฎร์ธานี สนใจการรับรู้ที่เกี่ยวกับการเห็นและการได้ยินของคน ผลงานของเขาเป็นแนวทดลองชื่อว่า WAVE/SITE ที่หยิบเอาสิ่งของบางอย่างในวัฒนธรรมไทยที่เห็นแล้วคนเข้าใจว่ามันคืออะไร มาสร้างสรรค์ใหม่และสังเกตปฎิกิริยาของคนดูที่มีต่อมัน
“เป็นงานที่ขยายการได้ยินและการเห็นของคน ต้นไอเดียคือหนังเรื่องลุงบุญระลึกชาติ มีฉากที่ลุงบุญมีนั่งอยู่บนโต๊ะกินข้าวภรรยาที่เป็นผี และลูกที่หายไปแล้วกลับมา แต่ปฎิกิริยาของเขา กลับไม่ได้มองเป็นเรื่องประหลาด แสดงว่าวัฒนธรรมเรามีปฎิกิริยากับนามธรรมแบบภายนอก ไม่ใช่นามธรรมที่เป็นไอเดียและวิธีการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อีกรูปแบบหนึ่ง”
“ผมลงพื้นที่ เห็นแม่ค้าขายของตีความพื้นที่กับความร่วมสมัยและความชั่วคราว เช่น การออกแบบพื้นที่ร้านค้าทำให้ให้ตัวมันเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เราสนใจไอเดียตรงนี้ จึงหยิบจับสิ่งของต่างๆ มาทำงาน เช่น ปลอดไฟ กระเป๋า โต๊ะ รวมทั้งการพ่นตามกำแพง พวกนี้มันเป็นสิ่งที่ทางวัฒนธรรมเห็นแล้วรู้ว่ามันคืออะไร และใส่วิธีคิดทางปรัญชาเข้าไป”
ณณฐ ธนพรรพี เป็นศิลปินอีกคนที่มีงานน่าสนใจ เขาตั้งคำถามกับความหมายของคำว่าบ้าน เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนได้กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กๆ จนรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าเมื่อกลับบ้านเกิด ความทรงจำมีน้อยและกระจัดกระจาย โดยเลือกเล่าผ่าน มูฮัมหมัด-คนขายโรตีชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศไทย
ณณฐ ธนพรรพี
“เรารู้สึกแปลกหน้าที่บ้าน ความทรงจำมีน้อยมาก เลยตั้งคำถามกับ ‘บ้าน’ ว่ามันคืออะไร มีอยู่สามอย่างคือในฐานะที่อยู่อาศัย ความทรงจำ และถิ่นกำเนิด แต่เราเล่าเรื่องผ่านตามคนพลัดถิ่นพี่มูฮัมหมัด เอาเรื่องราวของเขามาแปลงเป็นภาพยนตร์ตามความหมายของคำว่าบ้านและงานอินสตอลเลชัน ที่เรายกข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของพี่เขามาไว้ที่นี่เลย”
นั่งร้านขนาดใหญ่ที่มีภาพถ่ายอาคารย่านเจริญรุง เป็นผลงานของ ณัท เศรษฐ์ธนา ที่อยากบันทึกการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม หลังกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา
“เราเติบโตมากับพื้นที่เจริญกรุงตั้งแต่เด็ก เห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ความตั้งใจคืออยากทำสารคดีภาพถ่ายของเมือง โครงสร้างตึก พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ส่วนนั่งร้านเป็นการสื่อสารถึงความชั่วคราวของเมือง”
ณัท เศรษฐ์ธนา
“เจริญกรุง มันถูกเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ ศิลปิน ครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ อันดับแรกมันเริ่มจากราคาค่าเช่าที่ถูก ประกอบกับคาแรกเตอร์ของพื้นที่ก็ดูดคนกลุ่มนี้เข้าไป หลังจากนั้นก็เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ต่างๆ คราวนี้ พอในเชิงธุรกิจ มันทำให้ค่าเช่าแพงขึ้น คนที่อยู่มาก่อนหรือมีรายได้ไม่เยอะ เขาก็อยู่ไม่ได้ ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ในแบบท่ีเขาอยากให้เป็น แต่ทำให้เอกลักษณ์เดิมบางอย่างหายไปหรือเปล่า”
ส่วน อัครวินท์ ไกรฤกษ์ นำเสนอผลงานชื่อ Transforming ฝุ่นละอองที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ เป็นปัญหามลภาวะที่มีอยู่และไม่เคยสลายไป ฝุ่นจึงเป็นภาพแทนของปัญหา ที่ไม่สามารถแก้ไข เป็นผลกระทบต่อร่างกาย ที่เปลี่ยนจากสุขภาพแข็งแรงให้อ่อนแอ
อัครวินท์ ไกรฤกษ์
“เราเห็นคนใกล้ตัวป่วยเยอะมากๆ ส่วนหนึ่งมาจากสารพิษต่างๆ ในเมืองที่เรามองไม่เห็น ที่อยู่ในอากาศ อย่างฝุ่น เราก็ไปขอข้อมูลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ มหิดล ลาดกระบัง รามคำแหง เกี่ยวกับฝุ่นเพื่อเข้าใจและศึกษาดูว่าในตัวโครงสร้างมันมีอะไรบ้าง”
อัครวินท์สร้างห้องแล็บทดลองจำลอง สีเทาภายในห้องเปรียบเสมือนคราบควัน ภายในห้องมีฟิล์มเอกซเรย์ฝุ่น
“เราเรียนรู้ทุกอย่างจากธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ให้อะไรกับเราบ้าง การปรับตัว วิธีการใช้ชีวิตในเมือง ถ้าเราดื้อก็อยู่ไม่ได้ ออกไปโดยไม่รุ้จักมัน เหมือนกับว่าสิ่งที่มองไม่เห็น มันคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด” อัครวินท์กล่าว
Fact Box
- ติดตามผลงานของศิลปินทั้ง 7 คนได้ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2561