ณ สตูดิโอในหมู่บ้านเก่าแก่ที่ชื่ออันนอต ในเทือกเขาแอลป์ เมืองโพรวองซ์ ประเทศฝรั่งเศส หน้าต่างบานใหญ่ถูกเปิดออกเพื่อรับแสงนวลจากธรรมชาติ เสียงดนตรีคลาสสิกขับกล่อมสรรพสิ่งทั้งภายในและภายนอกห้อง มองออกไปนอกหน้าต่าง น้ำกระเซ็นสายในลำธาร ดอกไม้ผลิบาน เสียงนกขับขาน สัตว์เลี้ยงน้อยใหญ่โลดเต้นอยู่รอบบ้าน สุภาพสตรีท่านหนึ่งกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าผืนผ้าใบ จินตนาการถูกถ่ายทอดลงฝีแปรงที่กำลังสะบัดปลายอย่างสม่ำเสมอ

และภาพเขียนซึ่งสะท้อนจินตนาการอันน่าพิศวง ราวกับดึงดูดเราเข้าสู่โลกแห่งเทพนิยาย ที่สร้างสรรค์ขึ้นในสตูดิโอแห่งนี้ ได้นำกลับมาจัดแสดงอีกครั้งในที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ในนิทรรศการ ‘ความงามและความน่าเกลียด: สุนทรียศิลป์แห่งมารศี’ (Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi) ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-23 ธันวาคมนี้

เขตแดนอันเป็นที่มา

“อย่าย้อนเวลากลับไปเพียงห้าสิบปี จงย้อนกลับไปห้าร้อยปีเพราะคุณจะไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่จะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นใหม่ ที่สามารถปรับให้เข้ากับยุคสมัยและเปลี่ยนแปลงได้” ท่านหญิงมารศี หรือหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อปี พ.ศ. 2542 เอาไว้ดังนั้น ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของจิตวิญญาณอิสระ ที่ยึดเอาความเชื่อและแนวคิดของตนเป็นหมุดหมาย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของงานจิตรกรรมในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา

หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือ ‘ท่านติ๋ง’ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์ บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้รับการเลี้ยงดูในพระราชวงศ์ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยาม และต้องอยู่ระหว่างกึ่งกลางสองวัฒนธรรมระหว่างไทยและยุโรปตั้งแต่ยังเด็กจนโต กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยปารีส และด้านประวัติศาสตร์ภาพเขียนจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกล ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมาดริด และเมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทย ก็เป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ท่านตัดสินใจยุติบทบาทในแวดวงวิชาการ เพื่อศึกษาด้านการวาดภาพด้วยตัวเอง และแม้จะถึงพร้อมด้วยฐานันดร ท่านหญิงกลับเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายในต่างแดนที่ปราศจากกฎเกณฑ์ทางสังคม เพราะทรงรู้สึกอิสระและสบายใจกว่า

อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ เขียนเล่าถึงท่านหญิงเอาไว้ในหนังสือ ‘Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi’ อันเป็นสูจิบัตรของนิทรรศการครั้งนี้ว่า “หาก ‘ฮิปปี้’ หรือบุปผาชนคือนิยามชาวโรแมนติกยุคใหม่ (Neo-Romantic) ของยุคหลัง ค.ศ. 1960  แน่นอนว่าท่านติ๋งทรงเป็นฮิปปี้มาก่อนที่จะมีฮิปปี้อย่างแพร่หลาย” เช่นเดียวกับคนสนิทของท่านหญิงอีกผู้หนึ่ง ได้เคยกล่าวเอาไว้ถึงเรื่องการแต่งองค์ของท่านว่า “ทรงเป็นผู้หญิงที่เปรี้ยวมาก บอกว่า ฝรั่งที่ไม่รู้จักเรามักจะดูถูกเราไว้ก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องแต่งตัวทำขนให้ฟูเหมือนไก่ เพื่อที่ฝรั่งจะได้ไม่ดูถูกเรา”

นั่นอาจไม่เทียบเท่าจิตวิญญาณอันเสรีของเธอ การตระหนักดีว่าทุกสิ่งไม่จีรัง จึงอาจเป็นเหตุผลที่ท่านหญิงเต็มใจเปิดรับทุกเหตุการณ์ในชีวิต กำหนดทางเดินชีวิตของตนเองในรูปแบบเดียวกับที่สร้างโลกแห่งสุนทรียศาสตร์ด้วยปลายพู่กัน โลกที่เต็มไปด้วยความหลงใหล ความฝัน ความสนุกสนาน เธอต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระอย่างเต็มที่ในแบบของตัวเอง ก่อนสัจธรรมแห่งจุดจบของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้จะมาเยือน ดังที่เธอเองได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นและความตายผ่านงานศิลปะที่ลุ่มลึกงดงามอยู่มากมายหลายชิ้น

“ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดมันออกมา”

หลังล้มป่วยจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน ท่านหญิงมารศีฯ ไม่สามารถวาดภาพและถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาพเขียนได้เช่นเดิม จึงขอให้ญาติสนิทและเพื่อนผู้ใกล้ชิด นำภาพเขียนของเธอกลับมายังประเทศไทย และก่อตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ขึ้นเพื่อดูแลผลงานภาพเขียนของทั้งหมด รวมถึงดำเนินงานสนับสนุนการศึกษาด้านศิลปะให้กับนิสิตนักศึกษา และสนับสนุนนิทรรศการศิลปะของศิลปินรุ่นเยาว์

ท่านหญิงอาศัยอยู่ที่บ้านในอันนอต อันเป็นทั้งบ้านและสตูดิโอจนวาระสุดท้าย เธอเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2556

ศิลปะลัทธิเหนือจริง ที่สะท้อนสิ่งอันเป็นสัจจะ

หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศึกษาการวาดรูปด้วยตัวเองอย่างจริงจังก็เมื่ออายุประมาณ 30 ปี โดยได้รับคำแนะนำเรื่องหลักในการวาดภาพจิตรกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือเรอเนสซองส์ และเทคนิคการใช้สีจากเพื่อนศิลปินหลายคน เวลานั้นเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ศิลปะลัทธิเหนือจริง หรือเซอร์เรียลลิสม์กำลังรุ่งเรือง ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินหัวหอกในยุคนั้นก็เป็นหนึ่งในพระสหายที่เคยอภิปรายเรื่องศิลปะกันบนโต๊ะอาหาร ดาลียังได้ให้คำแนะนำเพื่อให้ท่านหญิงจะได้ค้นหารากฐานของตัวเองด้วยเช่นกัน

จิตรกรรมของท่านหญิงมารศีฯ แม้จะดูเหมือนอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ แต่เทพนิยายจากปลายพู่กันเหล่านั้นยังอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากชีวิตจริง โดย พริ้ง บุนนาค ภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์งานศิลปะ และนักเขียน ได้กล่าวถึงผลงานของท่านหญิงเอาไว้ในสูจิบัตรเล่มเดียวกันนี้ว่า “ภาพจิตรกรรมของท่านหญิงมารศีฯ มีทั้งภาพสิ่งมีชีวิตทั้งจริงและในตำนาน เรื่องเล่าปรัมปรา ภาพจินตนาการที่หวนรำลึกถึงเทพนิยายหรืออุปมานิทัศน์ สัตว์ประหลาด ภาพเปลือย ดอกไม้บานสะพรั่ง ตลอดจนสัตว์ในจินตนาการของท่านที่ผนวกเป็นองค์ประกอบของผลงานได้อย่างวิจิตรบรรจง”

การได้ศึกษาถึงชีวิตอันน่าทึ่งของท่านหญิงมารศีฯ รูปแบบการทำงาน และภาพรวมของผลงาน พริ้งพบว่าเนื้อหา รูปแบบ ตลอดจนเทคนิคการวาดภาพ ล้วนมีความสอดคล้องประสานกัน เพื่อสร้างงานที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว

“ภาพเขียนของท่านมีความสว่างจากภายในเมื่อมองดูภายใต้แสงอาทิตย์ ชั้นสีแต่ละชั้นซึ่งทรงบรรจงวาดอย่างพิถีพิถัน เหมือนจะหลอมละลายลงบนรองพื้นอันเงางาม จนเหมือนเกิดประกายแสงในภาพ เสริมให้ทุกรายละเอียดสะดุดตามากขึ้น ความโปร่งแสงนี้ทำให้นึกถึงเทคนิคชั้นครูในการลงสีน้ำมันหลายชั้นในการวาดภาพแบบยุคเรอเนสซองส์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์แห่งแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติของเทือกเขาแอลป์ในโพรวองซ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ท่านประทับและทรงงานนั่นเอง”

ท่านหญิงมารศีฯ มักวาดภาพในช่วงเวลาเย็นท่ามกลางสัตว์เลี้ยง พร้อมดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีคลาสสิกของชูมานน์และปุชินี การเตรียมผ้าใบด้วยตนเองทำให้ภาพเขียนของท่านมีขนาดของภาพแตกต่างไปจากขนาดสำเร็จรูปทั่วไป ความเป็นและความตายของชีวิตถูกเชื่อมโยงผ่านภาพ Le Mur (The Wall) ด้วยกำแพงคดเคี้ยวที่แบ่งแยกดินแดนรกร้างเต็มไปด้วยเถ้ากระดูกออกจากดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต  มีภาพเขียนร่างกายแนวแมนเนอริสต์ที่มีลำคอและลำตัวยาว กระจัดกระจายอยู่ทั้งสองฟากของกำแพง ส่วน Je me souviens (I Remember) ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง The Picture of Dorian Gray ภาพของเธอนำเสนอความแตกต่างระหว่างหญิงชรากับสตรีแรกรุ่นผู้เลอโฉม ที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่อาจบ่งบอกถึงตัวตนที่ก้าวร้าวบุบสลายภายในได้

เห็นได้ชัดว่า ท่านหญิงมารศีฯ มีความสนใจแนวคิดอุปมาอุปไมยและมโนภาพแบบแฟนตาซี ผลงานส่วนใหญ่ของเธอสอดแทรกรายละเอียดของเทพนิยายปกรณัม ขณะเดียวกันก็ได้เติมแต่งเอกลักษณ์ของตนเองโดยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเครื่องประดับที่วิจิตรบรรจง เธอเลือกใช้สีสันหลากหลายเฉด ลงในภาพเขียนที่สะท้อนเสน่ห์ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ ใบไม้ ขนสัตว์ ถ่ายทอดภาพสัตว์และองค์ประกอบขนาดเล็ก เดินไปมา กระทบกระทั่ง กระโดดโลดเต้น และโอบกอดกัน เช่นในภาพ Le Bal (The Ball) นกแก้ว สุนัขล่าเนื้อ ฯลฯ ในกายที่เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์  ต่างจับคู่เต้นรำอย่างอิสระราวกับอยู่ในความฝัน หรือในภาพ Noah’s Ark เป็นภาพการลงเรือที่สตรีสวมประดับด้วยเพชรนิลจินดา นำทางสัตว์หลากสายพันธุ์ไปขึ้นเรือเพื่อหนีน้ำท่วมทะเล

หลายภาพยังสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ท่านหญิงมักวาดภาพตัวเองในจินตนาการเปลือยกายอิงแอบอยู่ใกล้สิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสุนัขคล้ายพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดที่เลี้ยงเอาไว้ ดังในภาพ Le Mariage Mystique du Prince Noui Noui à Vellara บ่อยครั้งที่เธอวาดภาพเหมือนของพระองค์เองในลักษณะของคู่แต่งงาน หนุ่มสาวและวัยชราเต้นรำร่วมกัน และยังแฝงสัจธรรมแห่งชีวิตของการเกิด แก่ เจ็บ ตายเอาไว้อย่างล้ำลึก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษหลังของการทำงาน ท่านหญิงมารศีฯ ทรงนิยมนำภาพโครงกระดูกและกะโหลกชายหญิงเข้ามาอยู่ในผลงานภาพเหมือนของตัวเองด้วย

ความงามและความน่าเกลียด

ชื่อของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยเป็นทั้งตำนานและความน่าฉงน ภาพจิตรกรรมต่างๆ ของท่านหญิงได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งในแง่ของความละเอียดอ่อน มีจินตนาการและใช้ภาพสัญลักษณ์ที่แฝงปรัชญาผสมผสานรวมกันจากแนวคิดทั้งตะวันออกและตะวันตก แต่นิทรรศการและงานวิจัยที่ปรากฏออกมาสู่สังคมไทยมีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นในระหว่างเวลาที่เธอทำงานมากมายอย่างยาวนาน

ที่ผ่านมามูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้จัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีฯ ในประเทศไทยมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2556 ภายใต้แง่มุมและหัวข้อที่แตกต่างกัน โดยในครั้งที่ 3  ‘ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี’ (Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi) นี้ ได้นำมุมมองเกี่ยวกับการตีความเรื่องสุนทรียศาสตร์ในผลงานของหม่อมเจ้ามารศีฯ มานำเสนอผ่านผลงานภาพเขียน ตลอดจนงานวาดเส้น วัตถุสิ่งของ หนังสือ และภาพยนตร์สารคดีส่วนพระองค์ โดยตีความออกมาเป็นคำสำคัญ 4 คำ ผ่านการจัดแสดง 4 ห้องหลัก ได้แก่

ห้องที่ 1 ความงาม (Beauty) การสร้างความเข้าใจ และตีความผลงานในด้านความงามแบบหม่อมเจ้ามารศีฯ ผ่านสัญลักษณ์ ภาพแทนจากดอกไม้ สัตว์เลี้ยง คน รวมถึงตัวบทวรรณกรรม

ห้องที่ 2 ความน่าเกลียด (Ugliness) แสดงผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ภาพสัญลักษณ์ของความน่าเกลียด ความตาย ความอัปลักษณ์ของรูปกายที่ไม่จีรัง โครงกระดูก ภาพครึ่งคนครึ่งสัตว์ ราวกับการสร้างอุปลักษณ์ให้ปรากฏในภาพจิตรกรรม

ห้องที่ 3 เส้นทางศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีฯ (Chronology of Marsi and Art History) แสดงเนื้อหาพัฒนาการในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะของเธอ ด้วยการเทียบลำดับเวลาของเหตุการณ์ ศิลปิน ปรากฏการณ์ทั้งในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้เข้าใจว่างานของเธอจัดอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สนใจศึกษาเปรียบเทียบงานในเชิงลึกต่อไป

ห้องที่ 4 สัจจะ (Truth) แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่หม่อมเจ้ามารศีฯ ได้พิสูจน์ให้เห็น ‘สัจจะ’ ในเส้นทาง เลือกที่จะเป็น ‘ศิลปิน’ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และผลงานของท่านแสดงให้เห็นถึง ‘สัจธรรม’ ของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งความรัก ความสุข ความตาย

นอกเหนือจากผลงานศิลปะในงานที่เปิดให้เข้าชมแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งเสริมด้านศิลปศึกษา อาทิ เสวนา เวิร์กช็อปต่างๆ และ Flynow III ยังได้ร่วมถ่ายทอดจินตนาการของท่านหญิงผ่านแฟชั่นและผลิตภัณฑ์คอลเล็กชั่นพิเศษด้วย  

อ้างอิง: สูจิบัตรนิทรรศการ ‘ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี’ (Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi)

Tags: