เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมสมัชชาหรือซีโนด (Synod) สำหรับภูมิภาคแอมะซอน ณ กรุงโรมสิ้นสุดลงแล้วหลักจากดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่าสามสัปดาห์
ผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประกอบด้วยสังฆราช (Bishop) จากเก้าประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีบริเวณติดกับลุ่มแม่น้ำแอมะซอน (Amazon Basin) ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู เวเนซุเอลา ซูรินาเม กายอานา และเฟรนช์เกียนา นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนของชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในภูมิภาคแอมะซอน หรือแม้กระทั่งแขกรับเชิญพิเศษอย่าง บัน คี มูน (Ban Ki-moon) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมอีกด้วย
การประชุมสมัชชาสำหรับภูมิภาคแอมะซอนนี้มีขึ้นเพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาที่ศาสนจักรท้องถิ่นในภูมิภาคแอมะซอนกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาการขาดแคลนบาทหลวง ฯลฯ ขณะเดียวกัน การประชุมดังกล่าวยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นพ้องกันว่าภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแอมะซอนนั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพื้นเมืองในแอมะซอนที่ใช้ชีวิตพึ่งพิงอยู่กับป่าและธรรมชาติ
ระหว่างการประชุมดังกล่าว สังฆราช หัวหน้าคณะนักบวชชาย-หญิง ผู้เชี่ยวชาญ และชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแอมะซอน ต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยคำบอกเล่าจาก ‘ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของนักล่าที่ดินและความมั่งคั่ง’ ประกอบกับเรื่องราวของชาวพื้นเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงศีลมหาสนิท (Eucharist) อันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตคริสตชน เผยถึงเสียงตะโกนที่อยู่เบื้องลึกของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาน พื้นที่ที่โครงสร้างเขตวัดของศาสนจักร (ซึ่งบาทหลวงจำเป็นต้องเดินทางไปชุมชมต่างๆ ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา) ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลและข้อเสนอที่มาจากการหารือแลกเปลี่ยนนั้น จะรวบรวมอยู่ในเอกสารสุดท้ายของการประชุม (Final Document) ซึ่งสังฆราชที่เข้าร่วมประชุม (Synodal Father) จะร่วมกันโหวตหามติ ก่อนจะส่งต่อไปยังสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งจะพิจารณาว่าข้อเสนอใดควรรับ หรือต้องปรับปรุงแก้ไข
ข้อมูลและข้อเสนอที่มาจากการหารือแลกเปลี่ยนนั้น จะรวบรวมอยู่ในเอกสารสุดท้ายของการประชุม (Final Document) ซึ่งสังฆราชที่เข้าร่วมประชุม (Synodal Father) จะร่วมกันโหวตหามติ ก่อนจะส่งต่อไปยังสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งจะพิจารณาว่าข้อเสนอใดควรรับ หรือต้องปรับปรุงแก้ไข
แต่งงานแล้วเป็นบาทหลวงได้ เว้นแต่เป็นบาทหลวงแล้วจะแต่งงานไม่ได้
สำหรับครั้งนี้ เอกสารสุดท้ายที่เสนอต่อโป๊ปฟรานซิสมีความยาวกว่า 30 หน้า และประกอบไปด้วย 120 ย่อหน้า/ข้อเสนอ ได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ โดยมีผู้ที่เห็นด้วยมากกว่า 75%
สำหรับข้อเสนอที่ถูกพูดถึงมากที่สุดนั้น หนีไม่พ้นย่อหน้าที่ 111 ซึ่งว่าด้วยการอนุญาตให้ ‘Viri Probati’ หรือ ชายที่แต่งงานแล้ว มีประสบการณ์ชีวิตและตัวอย่างคริสตชนที่ดี สามารถบวชเป็นบาทหลวงในศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น (128 เสียงที่เห็นด้วย หรือ Placet และอีก 40 เสียงที่ไม่เห็นด้วย หรือ Non placet)
แต่ถึงอย่างนั้น ข้อเสนอนี้ไม่ได้หมายความว่าบาทหลวงที่บวชแล้ว จะสามารถไปแต่งงานมีครอบครัวได้
โดยธรรมเนียมประเพณีการครองโสดในศาสนจักรคาทอลิกได้กลายเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป นับตั้งแต่การปฏิรูปเกรโกเรียนในศตวรรษที่ 11 และปฏิบัติเรื่อยมาในศาสนจักรคาทอลิกที่ใช้จารีตละติน (ซึ่งเป็นจารีตส่วนใหญ่ในศาสนจักรโรมันคาทอลิก)
อันที่จริงการอนุญาตให้ชายที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วสามารถบวชได้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับศาสนจักรคาทอลิกเท่าไหร่นัก เพราะศาสนจักรคาทอลิกที่ใช้จารีตตะวันออก (ประเทศที่ตั้งอยู่ภูมิภาคตะวันออก) ไม่ได้จำกัดว่าบาทหลวงต้องเป็นชายที่ถือโสดเท่านั้น นอกจากนี้ ในสมัยที่โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 (โป๊ปองค์ก่อนหน้าโป๊ปฟรานซิส) อนุญาตให้บาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (ของอังกฤษ) ซึ่งแต่งงานแล้วสามารถบวชเป็นพระสงฆ์ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ โดยสาเหตุที่อดีตบาทหลวงเหล่านี้ตัดสินใจเปลี่ยนนิกายเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรแองกลิกันที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเป็นบิชอบได้
ดูเหมือนว่าการยกเลิกข้อกำหนดการถือโสดสำหรับผู้ที่ต้องการบวชในศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่ตั้งอยู่บริเวณแอมะซอนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบาทหลวง แต่มันอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจาก “70% ของชุมชนทั้งหมดในลุ่มน้ำแอมะซอนมีผู้หญิงเป็นผู้บริหารจัดการ”
ผู้หญิงยังไม่ได้รับตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในสังฆกรรม
แม้ว่าระหว่างการประชุม จะมีการพูดถึงการจัดตั้งตำแหน่งอย่างเป็นทางการสำหรับผู้หญิงที่คอยทำหน้าสำคัญแทนบาทหลวง เช่น พิธีล้างบาป เป็นต้น มติสุดท้ายในที่ประชุมไม่ได้เสนอให้ผู้หญิงสามารถเป็นสังฆนุกร (ตำแหน่งทางศาสนาที่ต่ำกว่าบาทหลวง) แต่กลับเห็นว่าควรรอข้อสรุปจากคณะกรรมการที่กำลังศึกษาเรื่องสังฆนุกรหญิง ซึ่งริเริ่มโดยโป๊ปฟรานซิสในปี 2016
‘บาปทางนิเวศ’ การทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นบาป
เนื่องจากป่าแอมะซอนซึ่งกินพื้นที่กว่า 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญของโลก โดยร้อยละ 20 ของออกซิเจนที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มาจากผืนป่าแอมะซอน ที่ประชุมย้ำถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งที่ประชุมนั้นต่างมีมติให้บัญญัติ ‘บาปทางนิเวศ’ (Ecological Sin) ซึ่งถือว่าเป็น “การกระทำที่ละเลยและต่อต้านพระเจ้า คนใกล้ชิด ชุมชนและสิ่งแวดล้อม” อีกทั้ง ‘บาปทางนิเวศ’ ยังจัดว่าเป็นการทำ “บาปต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต โดยเป็นการกระทำที่เกิดจากความเคยชินอันเป็นมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม…”
การเรียกร้องให้บัญญัติ ‘บาปทางนิเวศ’ พร้อมกับเสนอให้ศาสนจักรในภูมิภาคแอมะซอน นับเป็นการขานรับจุดยืนของสันตะปาปาฟรานซิสที่เห็นว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมถือว่าบาป ซึ่งสันตะปาปาเคยกล่าวเมื่อ 2016 ว่า “การกระทำผิดต่อธรรมชาติเป็นการกระทำผิดต่อตัวเราเอง และเป็นบาป”
‘บาปทางนิเวศ’ ยังจัดว่าเป็นการทำ “บาปต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต โดยเป็นการกระทำที่เกิดจากความเคยชินอันเป็นมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม…”
ทั้งนี้เป็นที่แน่นอนว่า ปัญหาและความท้าทายที่ศาสนจักรในภูมิภาคแอมะซอนเผชิญนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้โดย ‘กลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ’ เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความเห็นของผู้คนในพื้นที่ซึ่งรู้จักสภาพปัญหาและสถานการณ์เป็นอย่างดี
และ ‘ซิโนด’ หรือการประชุมสมัชชาคงจะไม่ใช่ ‘ซิโนด’ อย่างแท้จริง หากมีเพียงแค่ ‘กลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ’ เท่านั้นที่เข้าร่วมและนั่นก็เป็นเพราะคำว่า ‘ซิโนด’ ตามรากศัพท์เดิมในภาษากรีก หมายถึง การสร้างเส้นทางร่วมกัน
การประชุมสมัชชาสำหรับภูมิภาคแอมะซอนแสดงให้เห็นความพยายามของสันตะปาปาฟรานซิสที่ต้องการกระจายอำนาจการบริหารไปยังศาสนจักรท้องถิ่น โดยให้ศาสนจักรท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น สามารถหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคนั้นๆ และหนึ่งในอุปสรรคของการประชุมสมัชชาก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วยนานาประเทศจากทั่วทุกมุมโลก คือ การที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัญหาในโลกตะวันตกมากเกินไป จนดูเหมือนว่าศาสนจักรประกอบไปด้วยประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป
สุดท้ายนี้ หากสันตะปาปาฟรานซิสเห็นด้วยกับข้อเสนอของศาสนจักรในแถบลุ่มแอมะซอนที่ว่าด้วย “ชายที่แต่งงานแล้ว ซึ่งดูเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของชุมชน(คริสตชน) […] มีครอบครัวที่มั่นคงถูกต้องตามกฎหมาย” สามารถบวชเป็นบาทหลวงได้ การยอมรับข้อเสนอนี้จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหน้าประวัติของศาสนจักรคาทอลิก โดยภูมิภาคแอมะซอนนั้นจะกลายเป็น ‘ห้องทดลอง’ สำหรับศาสนจักรในการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบาทหลวงที่หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญ
แต่เสียงต่อต้านมากมายจากฝ่ายอนุรักษนิยมในโลกตะวันตกที่ไม่ต้องการให้แตะต้องการถือโสดในศาสนจักรคาทอลิกจารีตละตินกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าท้ายสำหรับสันตะปาปาฟรานซิสในการปรับศาสนจักรให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน
อ้างอิง
- Vatican II : Lumen Gentium 11
- https://www.vaticannews.va/fr/vatican/news/2019-09/liste-participants-synode-eveques-amazonie-vatican-octobre-2019.html
- https://www.vaticannews.va/fr/vatican/news/2019-10/synthese-document-final-synode-amazonie.html
Fact Box
การประชุมสมัชชาหรือซีโนด (Synod) สำหรับภูมิภาคแอมะซอน ณ กรุงโรม มีขึ้นระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2019