การเกลี้ยกล่อมคริสตชนดูเหมือนเป็นเรื่องยากกว่าสำหรับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่กับชาวมุสลิมเขากลับได้รับความร่วมมืออย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันและหน่วยเอสเอส สามารถเกณฑ์พลจากโลกอิสลามเข้าร่วมรบในกองทัพของตนได้มากถึง 600,000 นาย

ต้นปี 1944 เยอรมนีในวงล้อมของข้าศึกพันธมิตรใกล้ถึงจุดพ่ายแพ้เต็มที ผู้นำฮิตเลอร์ต้องการทหารใหม่เพื่อเป็นกำลังเสริมทัพ จึงต้องหาเพิ่มเท่าที่จะทำได้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ปรากฏมีชาวมุสลิมจำนวนนับแสนคนเข้าร่วมในกองทัพของเยอรมนี โดยความเห็นชอบจากบรรดาเหล่านายพล

แม้กระทั่ง ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอสก็เออออไปกับการเกณฑ์พลทหารมุสลิม และเพื่อหลอมรวมกองกำลังทั้งสองฝ่ายให้เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกัน ฮิมม์เลอร์ถึงกับเดินทางไปยังสนามฝึกที่นอยฮัมเมอร์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 1944 เพื่อต้อนรับนายทหารมุสลิมจากบอสเนียด้วยตนเอง

“มันแน่ชัดอยู่แล้ว ทำไมชาวมุสลิมในยุโรปและทั่วโลกจะต้องแตกแยกกับเราชาวเยอรมัน ในเมื่อเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน” ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์กล่าวในพิธีต้อนรับนายทหารมุสลิม ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนต่างก็มีพระเจ้า “พวกคุณเรียกพระเจ้าว่าอัลเลาะฮ์ นั่นก็พระเจ้าเหมือนกัน” เป้าหมายของผู้นำก็คือ ทั้งยุโรปและทั่วโลกจะต้องเป็นอิสระจากชาวยิว

เยอรมันและมุสลิมต่างมีศัตรูกลุ่มเดียวกัน นั่นคือ บอลเชวิก (กลุ่มสังคมนิยมแบบสุดขั้ว) อังกฤษ อเมริกา และยิว

“พระศาสดาโมฮัมเหม็ดบนสวรรค์จะต้องซาบซึ้งในตัวข้าพเจ้า” ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ถ่ายทอดคำพูดหรือสิ่งที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์คิด แถมยังป่าวตะโกนเรียกขวัญ “กองทัพที่กล้าหาญ” เป็นภาษาอิสลามด้วย

การที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ให้ความสนใจในศาสนาอิสลามฟังดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ ในความเห็นของนักประวัติศาสตร์อย่างเดวิด โมทาเดล (David Motadel) และลงมือทำในสิ่งที่นักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ ก่อนหน้ายังไม่เคยทำ นั่นคือ เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาตินิยมและโลกของศาสนาอิสลาม

เดวิด โมทาเดลเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สากลที่ London School of Economics มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กว่าจะเขียนหนังสือสำเร็จเป็นเล่มสมบูรณ์ได้ เขาต้องใช้เวลาวิจัย สืบค้นข้อมูลใน 14 ประเทศ ตั้งแต่ภูมิภาคยุโรปจนถึงอิหร่าน ต้องรื้อค้นเอกสารกองเท่าภูเขา เพื่อคัดเลือกเอาเฉพาะประเด็น ‘อิสลาม’ และประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้จะมีคำยกย่องชื่นชมชาวมุสลิมจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทว่าการเกณฑ์พลทหารมุสลิมเข้าเป็นกองกำลังเสริมกลับไม่ได้มีเหตุผลทางศาสนาหรืออุดมการณ์ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ยอมแม้กระทั่งละคำพูดที่ส่อไปในทาง ‘เหยียด’ ที่ติดในมโนสำนึกของเขาเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งทหารใหม่ เพื่อจุดประสงค์ นั่นเพราะกองทัพเยอรมันต้องการกองกำลังเพิ่ม ไปอุดช่องว่างความพ่ายแพ้ในสงครามที่นับวันจะคืบเข้าใกล้ทุกที

ความต้องการกำลังเสริมยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป และดูเหมือนว่าเยอรมนีจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากความร่วมมือและความช่วยเหลือจากนักรบมุสลิม ข้อนี้เคยเป็นที่ประจักษ์ช่วงสิ้นปี 1941 เมื่อสงครามกับโซเวียตรัสเซียส่อเค้าว่าจะไม่ยุติภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่หากยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ในตอนนั้นกองทัพเยอรมันเคลื่อนพลไปใกล้ถึงกรุงมอสโกแล้ว และควรจะรุกคืบบุกยึดพื้นที่ได้สำเร็จ ทว่ากลับไปติดหล่มอยู่ท่ามกลางฤดูหนาวของรัสเซียเสียก่อน พื้นที่ในภูมิภาคนั้นความจริงมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งคาบสมุทรบอลข่าน หรือบางส่วนของสหภาพโซเวียต

แรงจูงใจหลักที่ทำให้ชาวมุสลิมยอมสมัครใจเข้าร่วมทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับเยอรมนี เป็นเพราะต้องการหลีกหนีความอัตคัตในชีวิตประจำวัน ในภาวะสงครามที่กรุ่นไปทั่วยุโรปขณะนั้นเต็มไปด้วยความแร้นแค้น นักรบมุสลิมมองเห็นโอกาสที่ดีกว่าในการเข้าร่วมกับมหาอำนาจผู้รุกราน อีกทั้งการเสี่ยงภัยเอาตัวรอดไปอยู่แนวหน้า ยังดีกว่าการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกในค่ายกักกัน นอกจากนั้น มุสลิมส่วนใหญ่มองบอลเชวิกเป็นศัตรู พอๆ กับอังกฤษ

ส่วนความเกลียดชังยิวนั้นไม่ใช่เหตุผลเลย ยกเว้นมุสลิมในปาเลสไตน์ โดยเฉพาะผู้นำอิสลามในเยรูซาเล็มขณะนั้น มองชาวยิวเสมือนผู้กดขี่เอาเปรียบ และเป็นศัตรู ที่พวกเขาคิดอยากขับไล่หรือทำลายล้าง

เพื่อชนะใจและการได้กองกำลังเสริม นาซีจึงต้องยอมผ่อนปรนบางอย่างที่เกี่ยวข้องทางศาสนาให้กับชาวมุสลิมในเขตยึดครอง อย่างเช่นยินยอมให้สร้างมัสยิด และอนุญาตให้ทหารทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ ทั้งฮิตเลอร์ ฮิมม์เลอร์ และพรรคพวกยังกล่าวถึงการเมืองโลก ที่มีอิสลามเป็นส่วนหนึ่งอีกด้วย

“ชาวมุสลิม 232 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส และรัสเซีย พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้สนใจศาสนาหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามเลย แต่เยอรมนีใส่ใจ และถ้าหากเยอรมนีถูกทำลายล้างเมื่อไหร่ ความเป็นไปได้สุดท้ายที่ชาวมุสลิมจะมีชีวิตอยู่อย่างเสรีก็จะหมดไปด้วย”

นอกจากนั้น เยอรมนียังพยายามชักจูงพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและอิตาลี ให้อ้าแขนต้อนรับมุสลิมเข้าร่วมในฝ่ายของตนอีกด้วย ผลลัพธ์คือ ในกรุงโตเกียวมีการสร้างมัสยิดหลังใหญ่ขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วกลุ่มมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม หรือชาวมุสลิมเลย ทุกฝ่ายต้องการเพียงแนวร่วม เพราะในขณะนั้นมีประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 350 ล้านคน

กองทัพเยอรมันและหน่วยเอสเอสดูเหมือนจะประสบความสำเร็จกับความเพียรพยายามในการชักจูงทหารมุสลิมเข้าร่วมในสงคราม กลางปี 1943 พวกเขาเกณฑ์ทหารมุสลิมเข้าในกองทัพได้ราว 300,000 นาย ในปีต่อมาจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 นาย โดยส่วนใหญ่เกณฑ์ได้จากอาเซอร์ไบจาน เตอร์กีสถาน คัลมืยคียา ยูเครน จอร์เจีย และอาร์เมเนีย ในส่วนของอาหรับมีจำนวนเพียงน้อย

ผู้นำในการเกณฑ์พลของนาซีคือ เคลาส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus von Stauffenberg) ที่ต่อมาเป็นตัวการสำคัญในการลอบสังหาร อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 1944 ทหารมุสลิมที่เกณฑ์มาได้ ถูกส่งไปประจำการตามที่ต่างๆ เช่น ในเหตุการณ์ปราบจลาจลที่กรุงวอร์ซอร์

หรือแม้กระทั่งใน ‘ศึกสุดท้าย’ ที่กรุงเบอร์ลิน เดือนเมษายน 1945

อ้างอิง:

  • David Motadel, Für Prophet und Führer: Die Islamische Welt und das Dritte Reich (Islam and Nazi Germany’s War), Klett-Cotta Verlag, 2017
  • www.focus.de
  • www.sueddeutsche.de
Tags: , , , , ,