กระแสสิ่งแวดล้อมที่มาแรงในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาขยะพลาสติกที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ติดประกาศให้ลูกค้าเตรียมพร้อมว่าจะงดการแจกถุงพลาสติก ถุงผ้าที่เคยกองอยู่ในตู้ของใครหลายคนเลยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง กระทั่งภาครัฐเองก็ยังขยับตัวโดยประกาศกฎหมายแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งบางประเภทซึ่งคาดว่าจะคลอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แต่หากมองไปรอบตัว นอกจากพลาสติกที่อยู่ในรูปถุงหูหิ้วแล้ว ในชีวิตประจำวันเรายังต้องใช้พลาสติกอีกจำนวนมหาศาลในฐานะ ‘บรรจุภัณฑ์’ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า น้ำยาล้างจาน รวมถึงสารพัดแพ็คเกจอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียงไม่นานก็ต้องถูกส่งลงถังขยะ
ด้วยกระแสอนุรักษ์และความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมาแรง แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่ต้องการเปลี่ยนการบริโภคของเราจากขุดทรัพยากร -> ผลิต -> ซื้อมาใช้ -> ทิ้งเป็นขยะ สู่การปิดวงจรให้ขยะเหล่านั้นสามารถย้อนกลับไปเป็นวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานการผลิตได้อีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน แก้ปัญหาขยะล้น-ทรัพยากรลด ด้วยเศรษฐกิจปิดวงจร (Circular Economy))
แต่ต้องยอมรับว่าการนำบรรจุภัณฑ์มา ‘ใช้แล้ว ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่’ ก็ไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คิด ลองจินตนาการเล่นๆ ว่าคงไม่สนุกนักหากเราต้องล้างถุงข้าวสาร ตากให้แห้ง แล้วนำไปซื้อข้าวสารที่ขายแบบตักตามร้านขายของชำซึ่งนับวันจะหายากขึ้นทุกวัน ยังไม่นับการที่ต้องแวะไปอีกร้านเพื่อเติมสบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน ซึ่งบางครั้งอาจไม่มีของแบรนด์ที่ใช้ประจำหรือกลิ่นที่ชอบ และความยุ่งยากดังกล่าวก็อาจมาพร้อมราคาที่แพงขึ้นไปอีก!
แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว สู้ไปเดินห้างซื้อซองพลาสติกแบบเติมมาใช้ดีกว่า ลดขยะขวดพลาสติกแบบหนาเปลี่ยนมาเป็นซองบรรจุภัณฑ์แบบบางแทน
แต่เมื่อมีโอกาสก็นำไปสู่ธุรกิจ ผู้เขียนขอหยิบเอาสตาร์ทอัพสดใหม่ที่เปลี่ยนสนามการอนุรักษ์เป็นสนามการค้า และช่วยให้วิถีชีวิตปลอดพลาสติกไม่ยุ่งยากอีกต่อไป
Loop สั่งของออนไลน์ในบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล
Loop สตาร์ทอัพที่เริ่มดำเนินการจริงเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา มีหัวหอกใหญ่คือทอม ซากี (Tom Szaky) ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ TerraCycle ว่าด้วยเรื่องการรีไซเคิลโดยเฉพาะ โดยเขามองว่าการรีไซเคิลมีความสำคัญแต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น หากต้องการแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องเปลี่ยนวิถีการบริโภค นั่นคือที่มาของ Loop ซึ่งหากนิยามอย่างง่าย คือบริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ โดยเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากคนส่งนมแห่งศตวรรษที่ 21
กลไกของ Loop ก็คล้ายคลึงกับการสั่งของจากร้านค้าออนไลน์ โดยมีให้เลือกกว่าร้อยรายการ ตั้งแต่ ธัญพืช ไอศกรีม แชมพู สบู่ ยาสระผม น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ ฯลฯ ทั้งหมดจะส่งตรงถึงบ้านคุณในกล่องลูป (Loop Tote) โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมคือ ‘เงินประกันบรรจุภัณฑ์’ เมื่อคุณบริโภคเสร็จก็เพียงนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปใส่ไว้ในกล่องเดิม วางไว้หน้าบ้าน และนัดให้บริษัทมาเก็บกลับไปโดยไม่ต้องล้างทำความสะอาดแต่อย่างใด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง Loop จะนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปทำความสะอาดเพื่อใส่สินค้าให้กับลูกค้าคนอื่นต่อไป
ความโดดเด่นของ Loop คือการที่บริษัทได้จับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตแบรนด์ซึ่งหลายคนคุ้นเคยและเป็นต้นเหตุของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแชมพูแพนทีน ไอศกรีมฮาร์เกนดาซ หรือมีดโกนหนวดยิลเล็ตต์ โดยวางแผนที่จะจับมือกับคู่ค้ารายอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
หัวใจทางธุรกิจของ Loop คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มีความคงทนและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าโดยที่พยายามกำหนดต้นทุนของสินค้าให้ใกล้เคียงกับสินค้าที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ โดยมีส่วนต่างเพียงเงินประกันบรรจุภัณฑ์ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ผู้บริโภคจะได้รับคืนหากส่งบรรจุภัณฑ์คืนให้กับ Loop และหากไม่ทำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นเสียหาย
ปัจจุบัน Loop ให้บริการในบางพื้นที่ของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ใช้บริการราว 10,000 คนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทวางแผนจะขยายการให้บริการไปยังเมืองใหญ่ต่างๆ และหากทำได้จริง ก็ย่อมสร้างการสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกไม่น้อยเลยทีเดียว
Algramo กรัมเดียวก็ขาย แถมได้ส่วนลดจากการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
การลดบรรจุภัณฑ์ไม่ได้เป็นเรื่องของชนชั้นกลางเท่านั้น Algramo หรือที่แปลว่าขายเป็นกรัม (by a gram) เริ่มจากร้านค้าปลีกเล็กๆ ในซานติเอโก้ ประเทศชิลีเมื่อ พ.ศ. 2554 เพื่อจำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ธัญญาหารต่างๆ โดยผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาจากบ้านเพื่อซื้อ ‘เป็นกรัม’ แนวคิดดังกล่าวนำโดยโจเซ มานูเอล โมลเลอร์ (Jose Manuel Moller) บัณฑิตบริหารธุรกิจที่พบกับปัญหา ‘ภาษีของคนจน’ ที่ผู้มีรายได้น้อยกลับต้องจ่ายเงินเพิ่ม 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อซื้อสินค้าแบ่งขายจำนวนน้อยๆ โดยบางครั้งค่าต้นทุนบรรจุภัณฑ์อาจสูงถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนสินค้าทั้งหมด
เขาชี้ให้เห็นว่า การจำหน่ายสินค้าในบรรจุภัณฑ์เล็กๆ นอกจากจะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากพื้นที่ยากจนมักจะมีการจัดเก็บขยะที่ไม่ดีนัก ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ขยะเหล่านั้นจะหลุดรอดลงสู่ทะเล
จากร้านเล็กๆ เพียงแห่งเดียว Algramo ได้ขยายสาขากว่า 2,000 แห่ง และอัตราการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ของผู้บริโภคจากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มทะยานเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ Algramo ยังติดตั้งเครื่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามน้ำหนักตามร้านค้าท้องถิ่นอีกกว่า 300 แห่ง โดยแบ่งกำไรกับเจ้าของร้านค้าคนละครึ่ง
ล่าสุด Algramo ได้จับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยูนิลิเวอร์ โดยจำหน่ายสินค้าแบบเคลื่อนที่ผ่านสามล้อไฟฟ้าภายในชุมชน รวมถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางโดยใช้แนวคิดใหม่อย่าง ‘บรรจุภัณฑ์คือกระเป๋าสตางค์’ ที่ติดเครื่องส่งสัญญาณ RFID ไว้ที่บรรจุภัณฑ์ เมื่อนำกลับมาซื้อสินค้าที่ร้านอีกครั้งจะได้รับส่วนลด 11 เปอร์เซ็นต์ จากราคาขายซึ่งต่ำกว่าร้านค้าทั่วไปราว 30 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
นอกจากนี้ Algramo ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจาก Closed Loop Partners กองทุนสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเตรียมเจาะตลาดสหรัฐฯ ในเร็ววันนี้
Refill Station และร้านปลอดบรรจุภัณฑ์อื่นๆ
หากมองย้อนกลับมาในไทย เจ้าแรกๆ ที่ทำให้แนวคิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยการนำบรรจุภัณฑ์มาเองก็คงหนีไม่พ้น Refill Station หรือปั๊มน้ำยาโดย ภัชญา เตชะชูเชิด ปภาวี พงศ์ธนาวรานนท์ และ ชนินทร์ ศรีสุมะ ซึ่งต้องการมุ่งหน้าสู่สังคมปลอดขยะ โดยเริ่มจากการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ โดยในร้านมีการจำหน่ายสินค้าค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่ ครีมอาบน้ำ แชมพู โฟมล้างหน้า รวมถึงน้ำยาล้างจาน และธัญญาหารต่างๆ โดยแนวคิดทางธุรกิจดังกล่าวเริ่มมีการแพร่กระจาย และขยายออกไปตามจังหวัดนอกกรุงเทพฯ
สิ่งที่ผู้เขียนพบคือ ร้านปลอดบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังถูกจัดอยู่ในตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม โดยปัญหาหลักก็คงหนีไม่พ้น ‘ความสะดวก’ อย่างที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างข้างต้นว่า การแบกบรรจุภัณฑ์เพื่อไปเติมที่ร้านค้าแล้วแบกกลับมาใช้อาจ ‘ไม่คุ้มค่าคุ้มทุน’ ในมุมมองของผู้บริโภคมากนัก ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่ธุรกิจในกลุ่มนี้ต้องตีให้แตกเพื่อขยายสาขาและสร้างผลลัพธ์ให้เข้าถึงคนหมู่มาก
สตาร์ทอัพเหล่านี้ถือว่าน่าจับตามอง เพราะเป้าหมายของพวกเขาและเธอคือการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคของเราให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ในขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่ขยายได้และยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค นับว่าเป็นบทเรียนทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่อาจต้องฉีกกรอบคิดเดิมๆ และสร้างธุรกิจเพื่อจับโอกาสในการทำกำไรเช่นเดียวกับสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่มีอยู่จริงแต่ยังไม่มีใครฉกฉวยมันไป
เอกสารประกอบการเขียน
The world’s biggest brands have a garbage problem. This man can help
Reusable Packaging Startup Loop Makes Headway On Store Shelves
This startup is ditching plastic waste by bringing the refills to you
How does this innovation accelerate the transition to a circular economy?
REFILL STATION แบ่งน้ำยาใส่ขวด แบ่งใจใส่โลก
Tags: สตาร์ทอัพ, พลาสติก, บรรจุภัณฑ์