สื่อต่างประเทศ ‘เดอะ การ์เดียน’ เคยรายงานไว้ว่า ในทุกๆ 1 นาที ทั่วโลกจะมีการใช้ขวดพลาสติกใหม่ประมาณ 1,000,000 ชิ้น หรือเท่ากับ 1,440,000,000 ชิ้นในหนึ่งวัน และมีการประมาณว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอเซนต์ภายในปี 2021(ประมาณ 1,200,000 ชิ้น/นาที และ 1,728,000,000 ชิ้นในหนึ่งวัน)
สำหรับประเทศไทยติดอันดับ 7 จากการเป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก โดยผลิตขยะพลาสติกมากถึง 1 ล้านตัน/ปี และกลายมาเป็นขยะในท้องทะเลมากถึง 0.41 ล้านตัน/ปี และจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจหมุนเวียนของในทวีปเอเชียระบุว่า เฉพาะขวดพลาสติกเครื่องดื่มอย่างเดียว ประเทศไทยผลิตมากกว่า 185,000 ตัน/ปี โดยน้อยกว่าครึ่งของจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ที่เหลือล้วนถูกฝังกลบ รวมถึงกลายเป็นขยะในท้องทะเล
ขวดพลาสติกเป็นขยะที่พบมากทั้งบนบกและในทะเลของประเทศไทย เป็นปัญหาที่น่าขบคิดว่าเราสามารถลดจำนวนขยะชนิดนี้ได้อย่างไร หลายสุ้มเสียงอาจจะพูดถึงการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ในวงการอุตสาหกรรมอาจจะกำลังคิดถึงการปรับเปลี่ยนวัสดุพลาสติกสู่ชนิดที่มีอันตรายน้อยกว่า อย่าง rPET
แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้ เราอยากจะชวนผู้อ่านนึกไปถึงสมัยรุ่นๆ ที่เราใช้มือกรองน้ำจากตู้กดน้ำในโรงเรียน หรือใช้แก้วกระดาษกดน้ำจากตู้ในโรงพยาบาล หรือภาพจากหนังตะวันตกที่ตัวละครดื่มน้ำจากก๊อกน้ำประปาภายในบ้าน
ถ้า ‘น้ำประปา’ สามารถดื่มได้ เราในฐานะมือเล็กๆ คู่หนึ่งจะสามารถช่วยลดการใช้พลาสติกภายในประเทศได้มากขนาดไหน
นับตั้งแต่ปี 2542 การประปานครหลวง ร่วมกับกรมอนามัยฯ และกรุงเทพมหานคร ริเริ่มโครงการ ‘น้ำประปาดื่มได้’ รอบกรุงเทพมหานคร จัดตั้งตู้น้ำดื่มสาธารณะทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหวังให้ประชาชนไทยใช้บริการน้ำดื่มฟรีจากภาครัฐ เพื่อลดปริมาณขยะ และลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดจากร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาคยังมีการขยายผลอย่างต่อเนื่องไปอีกในหลายจังหวัด
(ตู้กดน้ำสาธารณะบริเวณหน้าโรงเรียนหอวัง)
แต่แม้การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคจะย้ำนักย้ำหนาว่า น้ำประปาที่ตนผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถดื่มได้โดยปราศจากอันตราย ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคของ องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมไปถึงคำยืนยันจากปากของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยทดลองดื่มน้ำประปาเป็นตัวอย่าง พร้อมทั้งยืนยันว่าน้ำประปาดื่มได้ และตนเองกับครอบครัวก็ดื่มน้ำประปาเป็นประจำ ก็ยังไม่ช่วยสร้างความมั่นใจให้คนทั่วไปหันมาดื่มกินน้ำประปาได้อยู่ดี
ภาพที่เรามักพบเห็นกลับกลายเป็นตู้น้ำดื่มสาธารณะภายในกรุงเทพมหานครถูกเพิกเฉย ตั้งขวางการสัญจรมากกว่ามีประโยชน์ และมักถูกนำมาใช้เพื่อล้างรถ ล้างมือ ตลอดจนเป็นที่เขี่ยบุหรี่เสียมากกว่า
(ตู้กดน้ำสาธารณะบริเวณหน้าห้างเอสพลานาด รัชดา)
จึงยิ่งน่าขบคิดขึ้นไปอีกว่า เมื่อภาครัฐออกมายืนยันชัดเจนเช่นนี้แล้ว ทำไมประชาชนถึงยังเลือกใช้บริการน้ำบรรจุขวดจากเอกชนมากกว่า
ทีมงาน The Momentum ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากทั้งประชาชนที่สัญจรไปมาบนถนน รวมถึงผู้ที่มีชีวิตประจำวันวนเวียนไปบริเวณนั้นๆ เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักเรียน หรือพ่อค้า-แม่ค้า
จากผลการสำรวจมีเพียง 7 ใน 28 คนเท่านั้นที่ใช้น้ำประปาจากตู้กดน้ำสาธารณะ และ 6 คนใน 7 คนนั้น นำน้ำไปใช้เพื่อการกินดื่ม และจากคำบอกเล่า บางคนนำน้ำไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น ล้างรถ เติมหม้อน้ำรถ ล้างมือ หรือล้างจาน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า น้ำมีกลิ่นคลอรีนแรง ไม่มั่นใจในความสะอาด ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง คุณภาพของน้ำ ตลอดจนวิธีการกดน้ำ
มากไปกว่านั้น จากการสังเกตทั้ง 28 คนไม่มีแม้สักคนที่พกภาชนะใส่น้ำแบบสามารถใช้ซ้ำได้ ล้วนแล้วจึงต้องซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด คิดเล่นๆ ว่าร่างกายเราต้องการน้ำต่อวันเทียบเป็น 3 ขวด เราประมาณให้น้ำดื่มขวดหนึ่งมีราคา 10 บาท ตกเดือนหนึ่งเราอาจจะเสียค่าน้ำดื่มถึง 900 บาท และปีละ 10,800 บาท
คิดเล่นๆ ว่าร่างกายเราต้องการน้ำต่อวันเทียบเป็น 3 ขวด เราประมาณให้น้ำดื่มขวดหนึ่งมีราคา 10 บาท ตกเดือนหนึ่งเราอาจจะเสียค่าน้ำดื่มถึง 900 บาท และปีละ 10,800 บาท
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะถึงภาครัฐเพื่อที่จะให้คนหันมาดื่มน้ำจากตู้กดน้ำสาธารณะ พวกเขาเสนอ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้ง เนื่องจากตู้กดน้ำสาธารณะหลายแห่งตั้งอยู่ใกล้กับถนนมากเกินไป ควรหลบเข้ามาให้ห่างจากถนนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ฝุ่นและควันจากท้องถนนลอยเข้ามา
- ติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน เพราะในบางสถานที่ หลายคนมองไม่เห็นว่ามีตู้กดน้ำสาธารณะตั้งอยู่
- ควรมีแก้วกระดาษบริการ เพื่อป้องกันการสัมผัสและป้องกันเชื้อโรคจากการกดด้วยมือ
- ควรเปลี่ยนให้ใช้เท้ากดแทน เพื่อป้องกันการสัมผัสและป้องกันเชื้อโรคจากการกดด้วยมือ
- ควรให้มีฝาครอบบริเวณที่กดน้ำเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
- ควรปรับปรุงให้ฐานรองน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ควรปรับปรุงการไหลของน้ำจากก๊อก ให้ดื่มกิน หรือใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น
- ประชาชนทุกคนล้วนอยากให้ภาครัฐที่ดูแลหมั่นเข้ามาซ่อมบำรุงและตรวจสอบคุณภาพน้ำให้บ่อยขึ้นมากกว่านี้
ในแง่ของสุขภาวะและการดูแลรักษา สำนักข่าวอิศราเคยสอบถามไปยังการประปานครหลวงและได้คำยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจคุณภาพของน้ำอยู่ทุก 6 เดือน ซึ่งผลการตรวจออกมาว่าไม่เป็นอันตราย และสามารถดื่มได้ อย่างไรก็ตาม การประปานครหลวงเองก็ยังยอมรับว่าการดูแลยังไม่ทั่วถึง และการทำความสะอาดบางครั้งเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอุปกรณ์ฝังอยู่ใต้ดิน
แต่เมื่อ The Momentum ถามประชาชนในกลุ่มดังกล่าว ผลกลับพบว่า พวกเขาไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงตู้กดน้ำสาธารณะ หรือมาสุ่มนำตัวอย่างน้ำไปตรวจเลย
ปัญหาอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่คุณภาพหรือความสะอาดของน้ำประปา แต่รวมถึงภาครัฐเองยังไม่ได้ทำดั่งเช่นที่ตัวเองให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว จึงไม่อาจสร้างมั่นใจให้กับประชาชนได้
ดังนั้น หากให้ลองตอบคำถามที่น่าสนใจว่า ‘ทำไมเราถึงไม่กล้าดื่มน้ำประปา และเลือกให้ความมั่นใจน้ำดื่มที่เอกชนนำมาบรรจุขวดขายมากกว่า?’ เราอาจจะอธิบายได้เป็น 3 ประเด็น
ในแง่หนึ่ง เราอาจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นสาเหตุมาจาก ‘สุขภาวะ’ ของตู้น้ำดื่มดังกล่าว ที่มักตั้งอยู่ติดถนนซึ่งรถสัญจรขวักไขว่ หรือบริเวณป้ายรถเมล์ที่ผู้คนมากหน้าหลายตาเดินผ่าน และจะให้ถูกสุขอนามัยย่อมเป็นไปได้ยาก เมื่อกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ฝุ่นนานาชนิดตลบอบอวลไปทั่วถึงเพียงนั้น
ในอีกแง่หนึ่ง เรามองได้ไหมว่าเป็นเพราะ ‘การโฆษณา’ จากน้ำดื่มแบรนด์ต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิดอ่านของเราให้เชื่อว่า น้ำดื่มแต่ละแบรนด์มีคุณสมบัติพิเศษเป็นของตัวเองเหนือกว่าน้ำดื่มปกติ เช่น น้ำดื่มชนิดหนึ่งที่โฆษณาตัวเองว่า พิถีพิถันทุกขั้นตอน ทั้งกระบวนการผลิต บรรจุขวด ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อม หรือน้ำแร่แบรนด์ต่างๆ ที่บอกว่าตนไปนำน้ำมาจากเทือกเขาแอลป์บ้างละ เทือกเขาบูชิโดบ้างละ เทือกเขานู่นนี่ มีสารอาหารที่สำคัญครบถ้วน มีแร่ธาตุมหัศจรรย์ล้ำลึกมากมาย
หรือในอีกแง่หนึ่งเกิดมาจากปัญหาที่หยั่งรากลึกมากกว่านั้นอย่าง ‘ความไม่เชื่อใจในภาครัฐ’ ของประชาชน
ความไม่เชื่อใจอาจมีสาเหตุมาจากหลากประการ หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาความโปร่งใสของภาครัฐ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากหากรัฐจัดบริการให้แก่ประชาชน รวมถึงเดินหน้าสู่แนวคิดรัฐสวัสดิการ จากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ประเทศในแถวสแกนดิเนเวียที่สามารถก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพราะประชาชนมีความไว้ใจภาครัฐสูง เชื่อว่าภาษีที่ตนจ่ายไปจะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
แต่ในการเมืองไทย ภาพที่เห็นเป็นเช่นที่เป็นปัญหามาตลอดว่าประชาชนในประเทศส่วนใหญ่มองว่าภาครัฐมีการทุจริตคอร์รัปชันสูง และมักเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ในทางเดียวกัน ประชาชนเองก็ส่งเสริมการใช้อำนาจที่มิชอบนั้นๆ เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่จราจร
ไม่เพียงแต่โครงการน้ำประปาดื่มได้เท่านั้น ที่สะท้อนว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อคุณภาพบริการที่รัฐจัดให้ ในกรณีของบริการสุขภาพก็น่าคิดเช่นกัน เมื่อประเทศไทยมีระบบสวัสดิการคุณภาพที่นับว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทำไมคนบางกลุ่มถึงเลือกที่จะใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชน มากกว่าโรงพยาบาลรัฐ
อาจจะเถียงได้ว่า โรงพยาบาลเอกชนมีความรวดเร็ว และมีบริการที่คุณภาพเยี่ยมกว่าโรงพยาบาลรัฐมาก ในทางกลับกัน สาเหตุเหล่านั้นคือปัญหาที่น่าคิดในตัวมันเอง
การบริการสุขภาพที่ติดขัด ล่าช้าของโรงพยาบาลรัฐเกิดจากผู้ใช้บริการที่ล้นหลาม หรือจากระบบการจัดการและวางแผนที่ไม่ดีนักกันแน่ แต่คล้ายจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า หากเรามองว่าปัญหาผู้ใช้บริการล้นเกินผู้ให้บริการ สาเหตุหนึ่งย่อมมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็คาราคาซังมานานนับสิบๆ ปี คำถามที่ควรถามจึงน่าจะเป็น รัฐส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์อย่างไรบ้าง
แต่ไม่ว่าคำตอบของปัญหาน้ำประปาดื่มได้จะเป็นเช่นไร ส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่า หากรัฐปรับปรุง ใส่ใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ โครงการน้ำประปาดื่มได้จะยังเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญในการลดจำนวนขวดพลาสติกภายในประเทศ และช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องมีชื่อเสียงจากการติดอันดับหัวตารางของประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก
อ้างอิง:
https://thaipublica.org/2018/10/recycled-pet-advertorial/
Tags: กรมอนามัย, ตู้กดน้ำสาธารณะ, น้ำประปาดื่มได้, การประปานครหลวง