5 กันยายน 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งยืน ให้จำหน่ายคดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร ที่บริษัทไร่ส้ม ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวถูกตั้งข้อหา จากกรณีโฆษณาเกินเวลาในรายการคุยคุ้ยข่าวที่ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. ในช่วงปี 2547-2549 เพราะถือเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีทุจริตที่อยู่ระหว่างฎีกา

ทั้งนี้ ในกรณีโฆษณาเกินเวลา มีการฟ้องคดีแบ่งเป็นสองคดี คือ 1) คดีทุจริต และ 2) คดีปลอมแปลงเอกสาร โดยคำสั่งของศาลฎีกาในวันนี้ เป็นคดีการปลอมแปลงเอกสาร ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารสิทธิ-ใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม โดยทางบริษัทไร่ส้มถูกกล่าวหาว่า ยื่นเอกสารปลอมเป็นหลักฐานคิดค่าโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าว ปี 2549 ทำให้ บริษัทไร่ส้ม ไม่ต้องเสียค่าโฆษณาหรือเสียค่าโฆษณาส่วนเกินน้อยกว่าความเป็นจริง โดยมูลค่าความเสียหายกว่า 138 ล้านบาท

ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนให้จำหน่ายคดี เพราะเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหลักที่ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่อัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ศาลรับฟ้องคดีไว้พิจารณา และศาลฎีกาได้มีคำสั่งยืนให้จำหน่าย หรือไม่รับฟ้องในวันนี้

โดยวันนี้ สรยุทธ และจำเลยร่วมในคดีรวมสามคนเดินทางมาฟังคำสั่ง และภายหลังศาลฎีกามีคำสั่ง ทั้งหมดได้เดินทางกลับโดยขออนุญาตไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

สำหรับพื้นเพของคดีนี้ สรยุทธเริ่มทำรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ กับช่อง 9 อสมท. มาตั้งแต่ปี 2547-2549 โดยก่อตั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทำสัญญาผลิตรายการกับทาง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งตกลงกันให้แบ่งเวลาโฆษณากันคนละครึ่ง นั่นคือ รายการวันเสาร์อาทิตย์ที่มีเนื้อหา 1 ชั่วโมง สามารถโฆษณาได้ 10 นาที ส่วนรายการวันธรรมดาที่มีเนื้อหาครึ่งชั่วโมง สามารถโฆษณาได้ 5 นาที

ในตามสูตรการแบ่งเวลาแบบครึ่ง-ครึ่ง ทำให้เข้าใจได้ว่า รายการที่ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00 -13.00 น. ทางไร่ส้มจะมีเวลาโฆษณาวันละ 5 นาที และ อสมท.อีกวันละ 5 นาที (หากเกินจากเวลาที่กำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ อสมท นาทีละ 200,000 บาท) ส่วนรายการคุยคุ้ยข่าวที่ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.30 -22.00 น. ทางไร่ส้มจะมีเวลาโฆษณาวันละ 2.30 นาที และอสมท.อีกวันละ 2.30 นาที (หากเกินจากเวลาที่กำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ อสมท นาทีละ 240,000  บาท)

แต่เมื่อมีการตรวจสอบก็พบว่า รายการคุยคุ้ยข่าวใช้เวลาโฆษณามากกว่าที่ตกลงไว้ อีกทั้งยังพบหลักฐานการโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ธุรการของ อสมท. จำนวนเจ็ดแสนกว่าบาท จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เงินก้อนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสินบนพนักงานเพื่อให้ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาของไร่ส้ม หรือเป็นค่าตอบแทนปกติที่ไร่ส้มจ่ายอย่างเปิดเผยให้แก่พนักงานคนดังกล่าว เพื่อเป็นค่าแรงในการจัดเรียงโฆษณา

ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่คณะทำงานพิจารณาศึกษากรณีการทุจริตค่าโฆษณา ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยว่า ฝ่าย อสมท. ก็โฆษณาเกินเวลาไป รวมมูลค่า 237 ล้านบาท 

โดยในประเด็นนี้ จึงยังไม่ชัดเจนว่า อสมท.และไร่ส้มจะต้องแบ่งผลประโยชน์จากการโฆษณาแบบครึ่ง-ครึ่ง ตามหลักไทม์แชร์ริ่งหรือไม่ ทั้งนี้ ตามสัญญาลายลักษณ์อักษรระบุเพียงว่า ไร่ส้มใช้เวลาโฆษณาได้แค่ 2.30 นาทีในวันธรรมดา และ 5 นาทีในวันเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่ได้ระบุขอบเขตเวลาของฝั่งอสมท.

อย่างไรก็ตาม ในสำหรับคดีหลัก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกนายสรยุทธ จำนวน 13 ปี 4 เดือน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฎีกาคดี

 

Tags: , , , , ,