วันนี้ (29 สิงหาคม 2562) เวลาประมาณ 13.00 น. ศาลฎีกา จังหวัดนนทบุรี ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินประหารชีวิต นายซอลิน หรือ โซเรน สัญชาติเมียนมา จำเลยที่ 1 และ นายเวพิว หรือ วิน สัญชาติเมียนมา จำเลยที่ 2 จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอริดจ์ อายุ 23 ปี และ นายเดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ บริเวณหาดทรายรี เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธาน

สำหรับการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ศาลจังหวัดเกาะสมุย ไม่ได้เบิกตัวจำเลยมาที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย เนื่องจากจำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง และจำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตซึ่งเป็นโทษสูงสุด จึงจัดการให้มีล่ามแปลคำพิพากษาให้จำเลยฟังผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน

ล่ามแปลภาษาไทย-พม่า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี 2557 ฮานนาห์ และ มิลเลอร์ ถูกพบเป็นศพอยู่บริเวณริมหาดทรายรี เกาะเต่า ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ตำรวจจับกุม นายซอลิน ได้บนเกาะเต่า ส่วน นายเวพิว หลบหนีไปก่อนถูกจับกุมได้ที่ท่าเทียบเรือในตัวเมือง จ.สุราษฎร์ธานี 

พนักงานอัยการเกาะสมุยยื่นฟ้องทั้งคู่ในข้อหาร่วมกันก่อเหตุฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้, ร่วมกันกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นอยู่ในภาวะไม่อาจขัดขืนได้, ร่วมกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 288, 289 ประกอบมาตรา 83 และ 91 รวมทั้ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 4, 5, 7, 11, 12, 18, 58, 62 และ 81

นอกจากนี้ นายวิน จำเลยที่ 2 ยังถูกยื่นฟ้องเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหา คือ ฐานลักทรัพย์ในยามวิกาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 โดยมีหลักฐานสำคัญคือการตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องหาทั้งสองคน ที่ตรงกับดีเอ็นเอที่พบบนร่างของผู้ตาย ประกอบกับพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ในเวลาที่เกิดเหตุ

ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ศาลชั้นต้นเกาะสมุยมีพิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งคู่ แต่ทนายจำเลยขอยื่นอุทธรณ์ และในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต ทีมทนายความจำเลยรวบรวมหลักฐานขอยื่นฎีกาต่อ 

อย่างไรก็ตาม ตลอดการสืบสวนของคดีดังกล่าว ทีมทนายความของจำเลยยกหลักฐานถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจับกุมและการสืบสวนสอบสวน เรื่องที่จำเลยถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ รวมทั้งเรื่องการจัดเก็บดีเอ็นเอ ที่มองว่าไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล 

ทั้งนี้ เฟสบุ๊คเพจ สื่อศาล ยืนยันว่าคดีนี้มีพยานหลักฐาน รวมทั้งผลพิสูจน์ทางนิติวิทยศาสตร์ ตลอดจนการตรวจดีเอ็นเอตรงกับจำเลย โดยกระบวนการตรวจดีเอ็นเอได้มีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน ใช้น้ำยาตรวจที่มีคุณภาพ รวมถึงเครื่องตรวจอัตโนมัติที่มีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ และพบว่าเยื้อบุกระพุงแก้มของจำเลยมีความสอดคล้องกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานหลักฐานโจทย์จึงรับฟ้องได้ปราศจากข้อสงสัย ดังนั้น ศาลจึงไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย

ทีมทนายความของจำเลย

ล่ามแปลภาษาไทย-พม่าเล่าให้ The Momentum ฟังว่า ภายหลังการตัดสินของศาลฎีกา ทนายของจำเลยถามจำเลยว่าจะพูดอะไรหรือไม่ จำเลยกล่าวว่าตนเสียใจ ตนไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ศาลก็ตัดสินว่าเขาผิด และตนอยากรู้ว่าจะประหารตนเมื่อไร

และก่อนหน้านี้ ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหารชีวิตชาวเมียนมาทั้งสอง ชาวเมียนมาในเมืองย่างกุ้งได้ออกมาประท้วงคำพิพากษาของศาลไทย จนเป็นเหตุให้แผนกกงสุลของสถานทูตไทยที่ย่างกุ้ง ต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายวัน

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/thailand-40996133

https://www.bbc.com/thai/thailand-45327318

https://prachatai.com/journal/2015/12/63204

https://www.sanook.com/news/1919654/

https://www.nytimes.com/2018/11/03/world/asia/thailand-koh-tao-death-island.html

https://www.dailynews.co.th/crime/728562

Tags: ,