10 ตุลาคมของทุกปี ถูกนับว่าเป็น ‘วันยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล’ ในปัจจุบัน ประเทศกว่า 3 ใน4 ประเทศทั่วโลก (143 ประเทศ จาก 196 ประเทศ) ยกเลิกบทลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิตแล้ว

การประหารชีวิต (Capital Punishment) เป็นการลงโทษพลเมืองผู้กระทำผิดหรือขัดแย้งกับรัฐ เป็นวิธีลงโทษที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ปรากฏในทุกอารยธรรม โดยจะมีลักษณะการลงโทษที่ต่างกันไป ตามแต่ละบริบททางวัฒนธรรมและช่วงเวลา

การลงโทษจากรัฐด้วยการประหารชีวิต สะท้อนนัยยะของการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งพิจารณาจากทฤษฎีของ ฟรีดริกซ์ เฮเกล ที่สรุปได้ดังนี้

  1. รัฐมีความสำคัญกว่ามนุษย์
  2. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐ
  3. รัฐจึงมีอำนาจเหนือประชาชน
  4. ประชาชนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังรัฐอย่างเด็ดขาด

หากพิจารณาตามที่เฮเกลกล่าวไว้ เราจะพบว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกชนดำรงอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่ารัฐ และมีหน้าที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามกรอบเกณฑ์ที่รัฐสร้างขึ้น ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนประพฤติตัวผิดกฎเกณฑ์ที่สังคมร่วมกันวางไว้ รัฐสามารถดำเนินการกับบุคคลนั้นได้ตามข้อตกลงที่กฎหมายกำหนด

ประชาชนในสังคมของระบบการเมืองอำนาจนิยม จึงเปรียบได้กับทาสของรัฐ ซึ่งรัฐมีความชอบธรรมในการตัดสินลงโทษหากประพฤติตนผิด โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ

แต่ถ้าเราลองมองที่มาของอำนาจเหล่านี้ให้ลึกซึ้งลงไป จะพบว่าที่มาแห่งอำนาจเหล่านี้อยู่ภายใต้การยินยอมเชื่อฟังและให้ความร่วมมือของผู้ใต้ปกครอง

นัยยะเช่นนี้ สะท้อนได้ตรงกับคำกล่าวที่ว่า เราถูกปกครองเพราะเรายินยอมให้ปกครอง ฉะนั้นการกระทำของรัฐต่อตัวประชาชนจึงเกิดจากความสมยอมของตัวประชาชนเอง แม้ว่าการกระทำนั้นจะรุนแรงมากน้อย เพียงใดก็ตาม

ในปัจจุบัน สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดหลักที่เป็นที่ยอมรับในสากล มีความหมายว่า สิทธิที่มนุษย์ทุก คนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนษุย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ล่วงละเมิดไม่ได้

พิจารณาจากคำกล่าวนี้ สะท้อนนัยยะที่ขัดแย้งกับระบบการเมืองอำนาจนิยม ที่มองมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐ และรัฐอยู่ ในฐานะที่เหนือกว่า ฉะนั้น ท่ามกลางกระแสของสิทธิมนุษยชนสากล บทลงโทษประหารชีวิตยังคงเหลือความชอบธรรมอยู่อีกหรือ และที่สำคัญยังคงมีประสิทธิภาพดั่งเช่น ที่เคยได้กล่าวอ้างไว้อยู่หรือเปล่า

 

โทษประหารชีวิต ในอาเซียน

จากข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในปี 2560 พบว่าประเทศที่มีการลงโทษประหารชีวิตสูงสุดคือ จีน ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ปากีสถาน และอิรัก ตามลำดับ หากดูประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมา ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึง ยังมีโทษอาญาให้ประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนมาเลเซียเพิ่งมีประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาว่ากำลังจะยกเลิกโทษประหารชีวิต และจะยับยั้งทุกคำตัดสินประหารชีวิตไว้ก่อน

สถานการณ์ในอาเซียนตอนนี้ จึงเหลือแค่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ยังคงมีบทลงโทษประหารชีวิตทั้งในแง่บทกฏหมาย และแง่การปฏิบัติ

 

ทำไมไทยจึงเก็บโทษประหารชีวิตเอาไว้

การที่ประเทศไทยยังคงดำรงโทษประหารชีวิตไว้ มาจากจุดประสงค์หลายข้อ เช่น เพื่อแก้แค้นทดแทน เพื่อป้องปราม และเพื่อตัดโอกาสการทำความผิดซ้ำ

หากเราพิจารณาดูจุดประสงค์ทีละข้อ อย่างเรื่องการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนั้น มองว่าการลงโทษมีไว้เพื่อแก้ไขความเสียหายและต้องได้สัดส่วนต่อ โทษจึงจะร้ายแรงตามความเสียหายที่ก่อขึ้น แต่หากลองเปรียบกับบริบทของสังคมไทยที่ถือกันเป็นสังคมพุทธ การลงโทษเพื่อแก้แค้นไม่ดูจะไม่ไปด้วยกันกับหลักศาสนา

การลงโทษเพื่อป้องปราม เชื่อว่าโทษสูงจะทำให้คนกลัว ไม่กล้าทำผิด แต่ก็ยังไม่มีผลการวิจัยใดที่บอกได้ว่าการกำหนดโทษประหารชีวิตจะสามารถยับยั้งหรือลดจำนวนของอาชญากรรมลงได้ ในทางตรงกันข้าม บางประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ กลับมีจำนวนของอาชญากรรมน้อยลงจนต้องปิดเรือนจำกว่า 19 แห่งในปี 2013 ประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวน ประชากรกว่า 17ล้านคน หากแต่มีผู้อยู่ในเรือนจำเพียง 11,600 คน ข้อมูลนี้ทำให้ชวนสงสัยว่า ความเชื่อที่ว่าการลงโทษจะป้องปรามปัญหาได้ก็อาจไม่จริงนัก

ส่วนการลงโทษประหารชีวิต เพื่อตัดโอกาสการทำความผิดซ้ำ หรือการกันผู้กระทำความผิดออกจากสังคม ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายและตัดตอนรวบความ แต่ค่อนข้างเป็นทางออกที่ไม่มีความหวังในมนุษย์แล้ว

รศ.ดร.โคทม อารียา กล่าวถึงแนวคิดในสังคมไทยที่มีต่อโทษประหารชีวิตว่า บทลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทยผูกพันอยู่กับความเชื่อเรื่องลำดับชั้นและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (86 ปีที่แล้ว) ไพร่ฟ้าประชาชนไม่มีสิทธิเลือกชีวิตที่ตัวเองต้องการ ทำให้ชีวิต โอกาส ความก้าวหน้ามั่นคง ตลอดจนความตาย ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ยึดกุมรัฐ อำนาจ และราชบัลลังค์

อย่างไรก็ดี การลงโทษประหารชีวิต ไม่ได้เป็นแค่เรื่องศาลตัดสินลงโทษ ยิงเป้าผู้กระผิด ทำพิธีทางศาสนา แล้วทุกอย่างจะจบลง แต่ทุกครั้งที่ลงโทษประหารชีวิต จะส่งผลกระทบครอบคลุมไปอีกหลายมิติ หลายบุคคล

 

โทษแรงเพื่อแก้ไขปัญหา หรือแค่ขู่ให้เกรงกลัว

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก อีกทั้งการการออกแบบและบังคับใช้กฎหมาย ก็อาจจะขาดมิติความเข้าใจที่มาที่ไปของการก่อเหตุ

มิติของเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ โอกาสในชีวิต ฯลฯ ล้วนผสมผสานเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังของการกระทำความผิด สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมอาจต้องทำความเข้าใจคือ บ่อยครั้งที่การกระทำผิดของคนคนหนึ่ง มีที่มาที่ไปที่มากกว่าเพียงการตัดสินใจของปัจเจก แต่ความผุพังและไม่เป็นธรรมในสังคมก็มีส่วนอยู่มาก และยิ่งหากกระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่ ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาซ้ำอีก

สุดท้าย ยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องตั้งข้อสงสัยต่อ ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ อย่างการประหารชีวิตว่ามันจะสามารถหยุด ลดจำนวน และยับยั้งการกระทำผิดในสังคมได้ไหม แล้วท้ายที่สุด หน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายในบ้านเมืองเรา มีเป้าหมายหลักที่การฟื้นฟูผู้กระทำผิดเพื่อคืนเขาสู่สังคม หรือมุ่งเสียบประจานผู้กระทำผิด เพื่อสร้างความเกรงกลัวกันแน่

 

อ้างอิง :

Tags: