กระบวนการในการซื้อของผู้บริโภคอาจหยุดอยู่แค่การหยิบเงินขึ้นมาแลกกับสินค้า แต่สำหรับวงการอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรด การรับเงินจากลูกค้าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของฟันเฟืองที่หมุนเวียนรายได้ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

การหมุนเวียนรายได้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย หมุนไปโดยผู้เล่นทั้งหมดสามฝ่าย ได้แก่ ตัวห้างร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุด มีสิทธิจะบังคับควบคุมธุรกิจไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ถัดมาคืออุตสาหกรรมแปรรูปวัตถุดิบเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองในระดับปานกลาง สุดท้ายคือผู้ผลิตรายย่อย ที่ไม่มีกำลังจะเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นสินค้า ต้องรอคอยว่าฟันเฟืองรายได้จะหมุนมาถึงตัวเองเมื่อไร ถ้ามาไม่ถึงก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร ด้วยกำลังทางทุนทรัพย์ความรู้​ทางด้านเทคโนโลยี​ที่น้อยกว่าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แทบไม่มีอำนาจในการต่อรองกับตลาดใหญ่ ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางตามเกษตรพันธสัญญา หน้าที่ของผู้ผลิตรายย่อยจึงมีเพียงหน้าที่เดียวคือร้องเพลงรอต่อไป

แตกต่างจากผู้ผลิตรายย่อยของอุตสาหกรรมอาหารในต่างประเทศ ที่อย่างน้อยก็ยังมีผู้สนใจตระหนักถึงสิทธิในการเข้าถึงรายได้ มีนโยบายจากภาคประชาสังคมคอยควบคุมการหมุนของฟันเฟือง และมีทิศทางไปในเชิงบวกมากขึ้นเรื่อยๆ  เช่น ห้าง Lidl UK ในอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการเอาเปรียบแรงงานทุกรูปแบบ เพื่อแสดงความตั้งใจจริงที่จะพัฒนามาตรฐานแรงงานให้ดีขึ้น

หลังจากอ็อกแฟมเปิดเผยผลการประเมินนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลก 16 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเจ้าในสหราชอาณาจักรต่างพากันออกมาแถลงตอบในเชิงบวก พร้อมยืนยันตรงกันว่ามีความตั้งใจจะปรับปรุงพัฒนาที่มาของสินค้าให้ดีและยั่งยืนมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนทิศทางการหมุนเวียนรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีการประเมินผลในปีนี้เป็นปีแรก  ภายใต้การร่วมมือกันขององค์กรภาคีฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย

จากการประเมินผลนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 รายในไทย ได้แก่ เทสโกโลตัส แม็คโคร บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ วิลล่ามาร์เก็ต ซีพีเฟรชมาร์ท และกูร์เมต์มาร์เก็ต ตีกรอบการวิเคราะห์จากนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่ที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ไม่จำกัดช่องทางการสื่อสาร อาทิ เช่น ในเว็บไซต์ของซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ๆ ในรายงานประจำปี หรือรายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจังเห็นเป็นรูปธรรม พิจารณาครอบคลุมสิทธิสี่ด้าน อันได้แก่ ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม สิทธิแรงงาน สิทธิของเกษตรกรรายย่อยและสิทธิสตรี ตามที่ปรากฏในรายงานประจำปีสากลของ UN (Sustainable Development Goals–SDGs)

ผลการประเมินพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนผ่านการประเมินจากมิติทั้งสี่ด้านเพียงแค่รายเดียว คือ เทสโก้ โลตัส เพราะมีการเปิดเผยนโยบายเชิงสังคม ที่สื่อถึงความยั่งยืน เช่น โครงการเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์โป ’60  ส่งเสริมการค้าท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ค้ารายย่อยและเกษตรกรไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่รายอื่นๆ ยังไม่มีนโยบายที่กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงาน สิทธิสตรี หรือสิทธิของเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นรูปธรรม หากมีก็มีครอบคลุมเพียงบางมิติ ยกตัวอย่างเช่น ซีพีเฟรชมาร์ท มีนโยบายเชิงสังคมในมิติความโปร่งใสและความรับผิดชอบ มิติด้านสิทธิแรงงาน และสิทธิของผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งอาจสามารถพัฒนาต่อได้ในอนาคต

ที่มา: ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย เว็บไซต์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก

สอดคล้องกันกับงานวิจัยขององค์การอ็อกแฟมสากลเมื่อต้นปี 2561 ที่ชี้ผลไปในทิศทางเดียวกันว่าเกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหารเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) มีรายได้จากการขายสินค้าเพียงหยิบมือ เพราะรายได้จากราคาขายราว ๆ 30 เปอร์เซ็นต์ตกอยู่ในมือของซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่เกษตรกรหรือแรงงานได้ส่วนแบ่งรวมกันไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ขาดอำนาจในการต่อรองหรือสะท้อนปัญหาออกไปให้ผู้บริโภคทั่วไปรับรู้ ในขณะเดียวกัน แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเองก็มีสภาพไม่ต่างจากทาส มีรายได้น้อยกว่าค่าครองชีพในแต่ละวัน เกิดเป็นปัญหาความยากจนเรื้อรัง แม้ว่าจะมีงานทำแต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้  

ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าวคงชี้ให้เราเห็นแล้วว่า ตอนนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังขาดการเอาใจใส่เรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งด้านแรงงาน เกษตรกรรายย่อย สิทธิสตรี รวมถึงความโปร่งใสในการเข้าถึงนโยบายทางสังคมของผู้บริโภค ยังต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากลองพิจารณาจากผลตอบรับเชิงบวกของบรรดาห้างร้านต่าง ๆ หลังทราบผลการประเมิน  ยกตัวอย่างเช่น ห้างเทสโก้โลตัส ที่เปิดตัวโครงการ “ภูมิใจไม่ใช้ถุง” แจกแต้มกรีนพ้อยท์เพิ่ม 5 เท่าทุกวัน ถ้าลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก และ “ไม่รับถุง 1 ใบ เท่ากับร่วมบริจาคเงิน 1 บาท” ให้กับกองทัพเรือเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์รักษาเต่าทะเลและสัตว์น้ำหายาก การปลี่ยนแปลงและปรับปรุงนโยบายไปในเชิงสังคม อาจจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าวงการอุตสาหกรรมอาหารไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ตามมิติเชิงสังคม

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,