ตามที่ผู้เขียนถึงเคยกล่าวไปเมื่อครั้งเขียนถึง Blind Experience (กลับมาแสดงอีกครั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ช่วง 21 ก.ย. – 6 ต.ค. 2562) ว่าธีมหนึ่งที่ชัดเจนของวงการละครเวทีบ้านเราปีนี้คือเรื่องของ ‘ประสาทสัมผัส’ อย่าง Blind Experience เป็นละครที่ต้องปิดตาดู เล่นกับเสียง กลิ่น และการสัมผัส ส่วน Sunny Side Up: เกือบสุข เป็นละครที่หนึ่งในนักแสดงเป็นผู้พิการทางสายตาและมีการใช้กลิ่นเช่นกัน ตามที่เขาห้อยสร้อยท้ายไว้ว่า a smellable performance

เนื้อเรื่องหลักของ Sunny Side Up คือบทสนทนาในห้องนั่งเล่นระหว่างสองสาว พลอย (สโรชา กิตติสิริพันธุ์) สาวตาบอดที่ร่ำเรียนด้านจิตวิทยา และซันนี่ (โรฬา วรกุลสันติ) นักแสดงที่มีอาการไบโพล่าร์ การพูดคุยดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นเวลาราวชั่วโมงครึ่ง เป็นบรรยากาศของการฟังผู้หญิงแลกเปลี่ยนเรื่องราวอันละเอียดอ่อนของชีวิต

จุดที่ผู้เขียนชอบคงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคนตาบอดแบบที่ไม่ต้องล้นทะลักด้วยความเห็นอกเห็นใจตามที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในพวกหนังสั้นรณรงค์โครงการนั่นนี่ พลอยได้แชร์แง่มุมที่น่าสนใจว่า ‘ความเห็นใจ’ หรือ ‘ความสงสาร’ หลายครั้งทำร้ายเธออย่างร้ายกาจ เช่น การที่คนรอบข้างจะหยิบของให้หรือห่วงว่าเธอเดินเหินไปไหนได้หรือเปล่า รวมไปถึงคำชมประเภทว่า “อุ๊ย เก่งจังเลย ไปเข้าห้องน้ำเองได้ด้วย” ในบางวาระของชีวิตพลอยก็อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเธอเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

ส่วนเรื่องอาการไบโพลาร์ของซันนี่ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้น่าสนใจนัก อาจเพราะทุกวันนี้การพูดถึงโรคซึมเศร้าหรือภาวะอารมณ์สองขั้วปรากฏในสื่อต่างๆ มากมาย (และอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ) อีกทั้งคนรอบข้างผู้เขียนเองก็มีอาการเหล่านี้ชนิดที่เอาสองนิ้วมือนับยังไม่พอ พูดแบบไม่ PC ได้ว่าวงการนักเขียนและศิลปะล้วนเต็มไปด้วยคนป่วยทางจิตทางใจ 

เช่นนั้นแล้วปัญหาหลักที่ผู้เขียนมีต่อ Sunny Side Up คือดูไปได้ครึ่งทางก็เริ่มเกิดอาการเบื่อ ไม่รู้สึกอยากติดตามต่อ ไม่ได้อยากรู้เรื่องราวอะไรของตัวละครทั้งสองแล้ว บางช่วงแก้เบื่อด้วยการก้มหน้าหลับตาไปเลย แล้วก็พบว่า อ้าว ถึงหลับตาไปหลายนาทีก็ยังดูละครรู้เรื่องนี่นา! ผู้เขียนเลยเกิดความคิดแวบขึ้นมาว่าที่จริงแล้วการแสดงชุดนี้ทำเป็น Podcast ไปเลยยังได้

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญหาประการถัดมาว่าการแสดงบนเวทีของนักแสดงทั้งสองอาจไม่น่าสนใจเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีการให้พลอยและซันนี่สลับกันสวมบทบาทเป็นอีกคนเป็นระยะ แต่มันก็ดูออกมาอิหลักอิเหลื่อพิกล ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าทำเป็นละคร realistic นั่งคุยกันไปเลย หรือเพิ่มความ stylish กว่านี้สักหน่อยจะดีกว่าหรือเปล่า 

อีกสิ่งที่ผิดหวังนิดหน่อยคือเรื่องของ ‘กลิ่น’ ที่ไม่ได้นำพาไปสู่อะไรนัก แม้กลิ่นบางช่วงจะบ่งบอกถึงบรรยากาศหรือความรู้สึกตัวละครได้ แต่ก็ดูจะเป็นแค่กิมมิคมากกว่าตัวนำสารใดๆ ส่วนรุ่นน้องของผู้เขียนกล่าวหลังละครจบว่าสิ่งที่เธอจดจำได้มากที่สุดจาก Sunny Side Up คือการแจกปลาหมึกอบกรอบให้กินระหว่างการแสดง แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นเรื่องของรสมากกว่ากลิ่น

ส่วนงานอีกชิ้นที่ผู้เขียนได้ดูไล่เลี่ยกับ Sunny Side Up คือ The (Un)Governed Body ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องตาบอดหรือการมองเห็น แต่เป็น ‘ร่างกาย’ แบบองค์รวม

The (Un)Governed Body เป็นผลงานล่าสุดของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล เจ้าพ่อด้าน physical theatre และละครเวทีมีนัยทางการเมืองและสังคม ผู้เขียนสังเกตว่าผลงานในช่วงก่อนหน้าของเขาจะมีความซับซ้อนและต้องแกะรหัสมากมาย (เช่น แผ่นดินอื่น หรือ Flu-Fool) แต่งานช่วงหลังจะมีลักษณะเป็นแก่นแกนเดียวให้จับต้อง อย่างเช่น Fundamental ที่มีเพียงกลุ่มนักแสดงและตัวแบริเออร์กั้นถนน

เรื่อง The (Un)Governed Body ยังคงมีลักษณะไปทางมินิมัลอย่างที่ว่า โดยหลักคือการเคลื่อนไหวของนักแสดงสามคน (ศรุต โกมลิทธิพงศ์, สุรัตน์ แก้วสีคร้าม, เบียร์ ยิ่งสุวรรณชัย) และการเล่นกับพร็อพที่เป็นแท่งไม้ ตลอดการแสดงราวชั่วโมงกว่ามีเพียงเท่านี้ หากแต่ความหมายและนัยต่างๆ กลับถูกเปิดช่องให้ตีความอย่างไม่สิ้นสุด

การแสดงชิ้นนี้พัฒนามาจากงานชื่อ Trance แสดงที่สถาบันเกอเธ่เมื่อปีที่แล้ว ในงานชิ้นนั้นธีระวัฒน์สำรวจเรื่องการควบคุมทางร่างกายของเหล่า ‘คนทรง’ ตั้งคำถามอันน่าสนใจว่าเวลาคนทรงองค์ลง เขาสามารถคุมร่างกายของตัวเองได้หรือไม่ หรือถูกควบคุมด้วยสิ่งที่ไม่อาจอธิบาย ส่วนใน The (Un)Governed Body พูดถึงการควบคุมในภาพใหญ่มากขึ้น คนเราทุกวันนี้กำลังถูกควบคุมด้วยอะไรกันแน่ อำนาจ? สิ่งศักดิ์สิทธิ์? ศาสนา? เชื่อว่าผู้ชมแต่ละคนจะมีคำตอบที่หลากหลายกันไป 

ผู้เขียนมองว่า The (Un)Governed Body อาจแบ่งออกเป็นสามพาร์ทใหญ่ๆ ด้วยกัน พาร์ทแรกว่าด้วยการถูกควบคุม นักแสดงยึดติดกับแท่งไม้ที่ดูมีสถานะมากกว่าแท่งไม้ธรรมดา ในอีกทางก็ถูกสั่งการเคลื่อนไหวด้วยเสียงลึกลับของใครบางคน ต่อด้วยฉากหมอบกราบที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างและตามด้วยการปรากฏของตัวประหลาดลึกลับที่พันล้อมด้วยเชือกกระโดด (!?) เจ้าตัวพิสดารนี่คือใครหรือสิ่งใด ก็ถือเป็นความท้าทายของผู้ชม

พาร์ทที่สองเป็นอะไรที่ชวนฉงนมาก เมื่ออยู่ดีๆ นักแสดงก็ ‘พูด’ ขึ้นมา (มันแปลกเพราะเรากำลังดูงาน physical theatre) น่าสังเกตว่านักแสดงพูดถึงแต่ร่างกายของคนอื่น แต่ไม่มีการกล่าวถึงร่างกายของตัวเองแต่อย่างใด มันอาจเป็นการบอกเล่าถึงการตระหนักถึงร่างกายของคนอื่น สถานการณ์ของผู้อื่น แต่หัวใจสำคัญคือสถานการณ์แบบไหนที่คนเหล่านั้นประสบอยู่

ส่วนพาร์ทสุดท้ายหากบรรยายง่ายๆ ก็เป็นฉาก ‘เต้นลืมตาย’ ของนักแสดงทั้งสาม คำถามในใจของผู้เขียนคือ ณ ตอนนี้พวกเขาเต้นด้วยตัวเอง เต้นเพราะมีคนสั่ง หรือเต้นเพื่อจะเป็นอิสระ ไม่ว่าจะอย่างไรการระเบิดพลัง (Catharsis) ทั้งด้านการเคลื่อนไหว แสง และเสียงอันไม่บันยะบันยังอย่างยาวนานก็ถือเป็นฉากน่าประทับใจแห่งปี อดห่วงไม่ได้ว่านักแสดงจะขาดใจตายเสียก่อน 

บทสรุปของ The (Un)Governed Body ช่างอ่อนโยน สงบนิ่ง ทว่าเศร้าบาดลึก นักแสดงที่แน่นิ่งไปนานลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เป็นมวลหมู่ ในท่วงท่าเดิมๆ แพทเทิร์นเดิมๆ บางทีนี่อาจแสดงภาพถึงความควบคุมขั้นสูงสุด คือการควบคุมที่ทำให้เรารู้สึกว่ากำหนดได้ด้วยตัวเอง หากแต่แท้จริงถูกชักใยอยู่ 

 

  • Sunny Side Up: เกือบสุข แสดงถึง 22 กันยายน 2562 ที่ห้องสตูดิโอชั้นสี่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BTS สนามกีฬาฯ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/464758017654624/
  • The (Un)Governed Body แสดงถึง 22 กันยายน 2562 ที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ (BTS ช่องนนทรี) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/367282007265766/

เครดิตช่างภาพละคร Sunny Side Up : จักรกฤษณ์ หาญพิพัฒน์พาณิชย์

Tags: , ,