ปลายสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับภูมิภาคงานใหญ่งานหนึ่ง นั่นก็คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ The ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียนจะได้มาพบปะหารือประเด็นต่างๆ ร่วมกัน

งานประชุมในครั้งนี้ชวนให้นึกถึงศัพท์ที่ใช้เรียกการประชุมแบบต่างๆ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายคำมีที่มาน่าสนใจ โยงใยไปได้ถึงสิ่งต่างๆ มากมายตั้งแต่แม่มดและสำนักชีจนถึงน้ำกามและป่าไม้

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการประชุมหรือการรวมตัวกันและดูว่าศัพท์เหล่านี้มีที่มาอย่างไร

Summit

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า the ASEAN Summit หลายคนเห็นคำว่า summit แล้วอาจจะแปลกใจว่าทำไมถึงนำคำนี้มาใช้เรียกการประชุม เพราะคำนี้โดยปกติแล้วหมายถึง ยอดเขา (เช่น the summit of the Everest ก็คือ ยอดที่สูงสุดของเทือกเขาเอเวอเรสต์) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ เคยใช้คำนี้พูดถึงการประชุมระหว่างผู้นำรัฐ ซึ่งเป็นผู้ที่มีตำแหน่งอยู่บนยอดขององค์กรนั่นเอง เมื่อนำผู้นำที่มีตำแหน่งสูงสุดทั้งหมดมาประชุมหารือกัน การประชุมนี้จึงเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุด เปรียบได้กับยอดสูงสุดของภูเขานั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า summit สืบสาวกลับไปถึงคำว่า summa ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า ยอด ผลรวม จุดสูงสุด ด้วยเหตุนี้ คำว่า summit จึงเป็นญาติกับคำอีกหลายๆ คำที่สืบเชื้อสายมาจาก summa เช่น sum (ผลลัพธ์) summation (การบวก การรวมผล) summarize (สรุป) รวมไปถึง consummate ที่แปลว่า ทำให้สมบูรณ์ (ปกติใช้ในบริบทงานแต่งงาน หมายถึงคู่แต่งงานได้มีเพศสัมพันธ์กันแล้ว เป็นคู่สมรสทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัยโดยแท้จริง) และ summa cum laude (มาจากภาษาละติน แปลว่า ด้วยเกียรติสูงสุด) แปลแบบไทยๆ ได้ทำนองว่า เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง

Convention

คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่มักใช้เรียกงานประชุมต่างๆ เช่น healthcare convention (งานประชุมด้านสาธารณสุข) หรือ artificial intelligence convention (งานประชุมด้านปัญญาประดิษฐ์) คำนี้เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายจนกระทั่งมีการย่อเหลือแค่ con และนำไปผสมเป็นส่วนหนึ่งของชื่องานต่างๆ เช่น งาน Comic-Con ซึ่งเดิมทีเป็นงานเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนก่อนที่จะพัฒนากลายมาเป็นงานที่มีการแต่งคอสเพลย์ อีกตัวอย่างคืองาน Beautycon หรืองานที่อินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามและเครื่องสำอางยี่ห้อต่างๆ มาพบปะกับผู้คน

คำว่า convention นี้ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า con- ที่แปลว่า ด้วยกัน และกริยา venire ในภาษาละตินที่แปลว่า มา รวมกันได้ความหมายว่า มาประชุมกัน (เป็นที่มาของกริยา convene ที่แปลว่า นัดประชุม ด้วย) คำนี้นับว่ามีความน่าสนใจ เพราะหากสืบสาวกลับดีๆ แล้วจะพบว่ามีญาติที่ความหมายเกี่ยวกับการมารวมตัวชุมนุมในทำนองนี้อยู่อีกสองคำในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ convent หรือ สำนักชี ซึ่งก็คือสถานที่ที่แม่ชีมารวมตัวกัน และ coven หมายถึง กลุ่มแม่มด (ซึ่งบางตำราบอกว่าต้องมีแม่มดมารวมตัวกันครบ 13 ตนถึงจะเรียกว่า coven แต่บ้างก็บอกว่าไม่ต้องครบ แค่แม่มดสามตนอย่างตอนต้นเรื่อง Macbeth ก็เรียกว่า coven ได้แล้ว)

ทั้งนี้ คำว่า convention ยังเป็นญาติกับคำว่า convenience ที่แปลว่า สะดวก อีกด้วย เนื่องจากมาจาก con- รวมกับ venire เช่นเดียวกัน แต่ในที่นี้ หมายถึง การที่ทุกสิ่งมาบรรจบกัน อยู่ในสภาพพร้อมสรรพนั่นเอง (ลองจินตนาการถึงร้านสะดวกซื้อ หรือ convenience store อย่าง 7-11 ที่มีทุกอย่างพร้อมให้เราซื้อโดยสะดวก)

Seminar

หากเป็นงานประชุมที่มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะงานวิชาการ เราก็อาจเรียกงานประชุมกันว่าเป็นงานสัมมนา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า seminar คำนี้มีที่มาจากวงการการศึกษา แต่เดิมหมายถึงชั้นเรียนขั้นสูง มาจากภาษาละตินว่า seminarium แปลว่า สถานที่เพาะเมล็ด (ในที่นี้ใช้ในเชิงเปรียบเหมือนว่าชั้นเรียนเป็นสถานที่เพาะเมล็ดแห่งปัญญา) เนื่องจากในชั้นเรียนประเภทนี้ใช้วิธีการอภิปรายถกเถียงกันเป็นวิธีในการเรียนการสอน ดังนั้นในเวลาต่อมาคำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกงานประชุมที่มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ทั้งนี้ คำว่า seminarium นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า seminary ที่แปลว่า สามเณราลัย หรือ สถานที่ศึกษาอบรมบ่มเพาะนักบวช ด้วย

แต่หากสืบสาวกลับไปอีก จะพบว่าทั้ง seminar และ seminary มาจากคำว่า semen ซึ่งความหมายดั้งเดิมในภาษาละติน คือ เมล็ดพืช แต่เนื่องจากน้ำอสุจิของผู้ชายก็เป็นดั่งเมล็ดพืชที่ให้กำเนิดชีวิต คำว่า semen จึงถูกนำมาใช้หมายถึง น้ำอสุจิหรือน้ำกาม ในภาษาละตินด้วย ความหมายนี้จึงถูกใช้สืบมาจนถึงภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ทั้งนี้ คำว่า semen นี้ ยังไปโผล่ในคำอื่นในภาษาอังกฤษอีก เช่น insemination ซึ่งหมายถึง การผสมเชื้อ (เช่น artificial insemination คือ การผสมเชื้อเทียมที่ใช้ช่วยผู้ที่ต้องการมีบุตร) และ dissemination ซึ่งหมายถึง การเผยแพร่ (ให้ภาพคล้ายๆ การหว่านเมล็ดพืช)

Symposium

สำหรับงานประชุมวิชาการบางงาน เราอาจจะเห็นว่าไม่ได้ใช้ชื่อว่า seminar หรือสัมมนา แต่ใช้ชื่อว่า symposium แทน คำนี้มีคำแปลภาษาไทยหรูๆ ว่า การประชุมเอกสารัตถ์ ปกติแล้วมักใช้กับงานประชุมวิชาการที่มีผู้มานำเสนอผลงานทางวิชาการและอาจมีธีมเฉพาะเจาะจง

คำนี้ภาษาอังกฤษยืมมาจากคำกรีกโบราณ symposion มาจากส่วนเติมหน้า syn- ที่แปลว่า ด้วยกัน รวมกับ posis ซึ่งหมายถึง การดื่ม แต่เดิมใช้เรียก งานดื่มสังสรรค์ของบรรดาผู้ทรงภูมิและนักปราชญ์ ส่วนที่การเลี้ยงสังสรรค์ของปัญญาชนกลายมาเป็นการประชุมทางวิชาการได้ก็เพราะในงานดื่มสังสรรค์เหล่านี้ บรรดาปราชญ์และปัญญาชนก็จะมาแลกเปลี่ยนทัศนะเรื่องต่างๆ กันด้วย ด้วยเหตุนี้ คำว่า symposium (ซึ่งเป็นคำว่า symposium ในเวอร์ชั่นภาษาละติน) จึงกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกการประชุมทางวิชาการนั่นเอง

ทั้งนี้ posis ที่แปลว่าการดื่มนี้ ยังเป็นที่มาของคำอีกหลายคำในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม เช่น potion ที่แปลว่า น้ำยา (ซึ่งไม่ใช่ขนมจีน แต่คือน้ำยาแบบที่พ่อมดแม่มดปรุงขึ้น) potable ซึ่งแปลว่าสามารถดื่มได้ (เช่น potable water หมายถึง น้ำที่ดื่มได้) รวมไปถึงคำว่า poison ซึ่งแต่เดิมหมายถึง เครื่องดื่มหรือน้ำยาเฉยๆ แต่ไปๆ มาๆ เริ่มพัฒนาไปหมายถึงสิ่งที่ดื่มแล้วเป็นพิษ จนกลายมามีความหมายว่า ยาพิษ อย่างในปัจจุบัน

Forum

คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกงานประชุมได้ เช่น The World Economic Forum หรืองานประชุมเศรษฐกิจโลก คำนี้เป็นคำที่มีที่มาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ แต่เดิมหมายถึง ตลาดหรือพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมารวมตัวกัน เนื่องจากการรวมตัวในพื้นที่แบบนี้บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการถกเถียงประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือโต้วาที ด้วยเหตุนี้ คำว่า forum จึงกลายมามีความหมายว่า งานประชุม ในที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือคำว่า forum นี้เป็นญาติกับคำว่า fores ในภาษาละตินที่แปลว่า ภายนอก (เพราะ forum ก็เป็นสถานที่เปิดภายนอก) และเป็นญาติกับคำที่เราอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือคำว่า forest ที่แปลว่า ป่า คำนี้มาจากคำเต็มๆ ว่า forestem silvam ที่แปลว่า ป่าด้านนอก (sylvan แปลว่า ป่า พบได้ในคำเช่น sylvan ที่แปลว่า เกี่ยวกับ ป่า) ซึ่งหมายถึงป่ารอบๆ พระราชวังที่อยู่ในเขตพระราชทานที่มีไว้เป็นพื้นที่ให้กษัตริย์ล่าสัตว์

นอกจากนั้น คำว่า fores ที่แปลว่า ภายนอก ยังเป็นที่มาของคำว่า foreign ซึ่งแปลว่า ต่างประเทศ หรือ แปลกปลอม (เช่น foreign object) ด้วยเพราะสิ่งที่ ถือเป็นของต่างประเทศก็คือสิ่งที่อยู่พ้นออกจากพรมแดนของประเทศออกไปนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสืบสาวย้อนกลับไปอีก จะพบว่าคำว่า fores ที่แปลว่า ภายนอกนั้น มาจากรากภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนที่เป็นที่มาของคำว่า door ที่แปลว่า ประตู ในภาษาอังกฤษ และคำว่า ทวาร ที่เรายืมมาจากภาษาสันสกฤตด้วย เพราะสิ่งที่อยู่ข้างนอกก็คือสิ่งที่อยู่ด้านนอกเมื่อเปิดประตูออกไปแล้วนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of English down the Ages: Words & Phrases Born out of Historical Events Great & Small. Kyle Cathie: London, 2005.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016..

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Fact Box

อีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกงานประชุมได้ค่อนข้างครอบจักรวาลคือคำว่า conference คำนี้มาจาก confer ที่แปลว่า ปรึกษาหารือกัน ประชุม มาจากกริยา conferre ในภาษาละตินที่มีความหมายว่า นำมารวมกัน (มาจาก con- ด้วยกัน รวมกับ ferre ที่แปลว่า ถือ นำมา)

Tags: ,