เวลา 02.00 นาฬิกาของคืนวันเสาร์ที่ 24 ล่วงเข้าวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเวลา 03.00 นาฬิกา หรือปรับให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เป็นเวลามาตรฐานสำหรับกลุ่มประเทศในยุโรปสำหรับฤดูร้อนของปีนี้ ซึ่งจะไปสิ้นสุดและเริ่มกลับไปใช้เวลาจริงในช่วงฤดูหนาวอีกครั้ง ตอนตี 2 ของวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2018
ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนเวลาคือ ทั้งคนและสัตว์จะมีอาการคล้ายเจ็ตแล็ก (Jetlag) มีผลกระทบต่อคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ในวันถัดมา อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นกว่าปกติ สำหรับคนที่ทำงานเป็นกะ ใครคนหนึ่งจะได้กลับบ้านก่อนเวลาหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่ใครอีกคนที่มารับช่วงกะถัดไปก็ต้องตื่นนอนเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง และรถไฟทุกขบวนในเครือข่ายยุโรปจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทางช้ากว่าปกติ ในทางกลับกัน เมื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงเวลาฤดูหนาวอีกครั้ง รถไฟทุกขบวนจะต้องจอดรถอยู่ที่จุดพักตามสถานีหนึ่งชั่วโมงในช่วงเปลี่ยนเวลา
การปรับเปลี่ยนเวลาฤดูร้อนและฤดูหนาวในโซนยุโรป เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1916 ในอาณาจักรไรช์ของเยอรมนี รวมทั้งออสเตรีย-ฮังการี ด้วยเหตุผลเพื่อประหยัดพลังงานในช่วงฤดูร้อน ในปีเดียวกัน ประเทศศัตรูยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ถือโอกาสปรับเปลี่ยนเวลาตามไปด้วย
ต่อมาในปี 1919 เยอรมนีประกาศยกเลิกมาตรการคับขันยามสงครามเรื่องการปรับเปลี่ยนเวลา ส่วนสหราชอาณาจักรยังคงร่นเวลาช่วงฤดูร้อนสืบต่อ ฝรั่งเศสเองก็เช่นกัน ยังถือปฏิบัติต่อมาจนกระทั่งมายุติลงในปี 1923 เหตุเพราะการประท้วงต่อต้านของชาวไร่ชาวนา
ปี 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีนำนโยบายประหยัดพลังงานด้วยการปรับเปลี่ยนเวลากลับมาใช้อีกครั้ง และครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ยึดครองโดยยึดเวลาที่กรุงเบอร์ลินเป็นศูนย์กลาง กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงที่ความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ประเทศต่างๆ ในยุโรปพากันหวนกลับไปใช้เวลาของตนเอง ส่วนเยอรมนีซึ่งถูกแบ่งดินแดนเป็นสองประเทศ ได้แก่ ตะวันออกและตะวันตก หลังจากเห็นชอบร่วมกันในการใช้เวลาเดียวกันในปี 1949 จึงค่อยยกเลิกการปรับเปลี่ยนเวลาฤดูร้อนไป
แต่วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 ซึ่งส่งผลกระทบถึงยุโรปค่อนข้างรุนแรง สภาพเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำฝืดเคืองเพราะค่าเชื้อเพลิงพุ่งสูง ทำให้ทุกประเทศต้องประหยัด และประเทศแรกในยุโรปตะวันตกที่อ้างนโยบายประหยัดพลังงานแล้วนำการปรับเปลี่ยนเวลาฤดูร้อนกลับมาใช้อีกครั้งในปี 1976 คือ ฝรั่งเศส ส่วนประเทศอื่นๆ ค่อยๆ ถือปฏิบัติตาม (อย่างค่อนข้างลังเล) กระทั่งถึงปี 1996 สหภาพยุโรป (EU) ลงมติเห็นชอบให้มีเวลาของฤดูร้อนร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยกำหนดให้ปรับเวลาในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปี ให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง (จาก 02.00 น. เป็น 03.00 น.) และปรับเวลาในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปีให้ช้าลงหนึ่งชั่วโมง (จาก 03.00 น. เป็น 02.00 น.)
เวลาฤดูร้อนของสหภาพยุโรปคือเวลาสังเคราะห์ และหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกันว่าการปรับเปลี่ยนเวลานั้นเป็นการประหยัดพลังงานจริงหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่ปรับเปลี่ยนเวลาหมายถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล อีกทั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้น อากาศยังหนาวเย็น แม้จะปรับเปลี่ยนเวลาก็ตาม ผู้คนก็ยังต้องสิ้นเปลืองไปกับการใช้พลังงานเครื่องทำความร้อนอยู่ดี
ประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องของปรับเปลี่ยนเวลา มีการสำรวจความเห็นของผู้คนในประเทศโดยสถาบันฟอร์ซา (Forsa-Institut) ได้คำตอบล่าสุดว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ตอบสำรวจไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนเวลาฤดูร้อน กว่า 63 เปอร์เซ็นต์ให้เหตุผลว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นเรื่องน่าโมโหมากกว่าเรื่องดี เหตุผลนอกเหนือจากนั้นก็มี ส่วนหนึ่งต้องการให้ใช้เวลาฤดูร้อนไปตลอด ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอีก (เหมือนตุรกี ที่เมื่อปีกลายปรับใช้เวลาฤดูร้อนแล้วไม่ปรับเปลี่ยนให้กลับมาเหมือนเดิมอีกเลย)
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภายุโรปในสตราสเบิร์กเองก็หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย และตั้งโจทย์ให้ประเทศสมาชิกไปขบคิดหาคำตอบว่า ควรยกเลิกการปรับเปลี่ยนเวลาฤดูร้อนเสียที-ดีหรือไม่
อ้างอิง:
Fact Box
ประเทศและพื้นที่ซึ่งใช้เวลาฤดูร้อนในโซนเวลาเดียวกันกับสหภาพยุโรป (28 ประเทศ)
ในยุโรป: อัลบาเนีย อันดอร์รา บอสเนีย & แฮร์เซโกวินา แฟรอร์ กิบรัลตาร์ โคโซโว ลีคเทนสไตน์ มาเซโดเนีย โมลดาเวีย โมนาโค มอนเตเนโกร นอร์เวย์ ซาน มาริโน สวิตเซอร์แลนด์ เซอร์เบีย ยูเครน (ไม่รวมไครเมีย) และสำนักวาติกัน
นอกโซนยุโรป: เลบานอน โมร็อกโค (ไม่นับช่วงรอมฎอน) และเวสต์ซาฮารา (ไม่นับช่วงรอมฎอน)
ประเทศและพื้นที่ซึ่งใช้เวลาฤดูร้อนในโซนเวลาอื่นๆ
ได้แก่ ออสเตรเลีย (บางส่วน) บาฮามาส์ เบอร์มิวดา บราซิล (เฉพาะในรัฐทางใต้) ชิลี ฟิจิ กรีนแลนด์ (บางส่วน) อิหร่าน อิสราเอล จอร์แดน แคนาดา (บางส่วน) คิวบา ลิเบีย เม็กซิโก (บางส่วน) นามิเบีย นิวซีแลนด์ ดินแดนปาเลสไตน์ ปารากวัย เซนต์ ปิแอร์ & มิเกลอง ซามัว ไซเรีย หมู่เกาะเติร์กส์และเคคอส อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา (บางส่วน)