ในงานแสดงเกี่ยวกับงานศพ (funeral fair) ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านการุณยฆาตได้นำตัวอย่าง “เครื่องฆ่าตัวตาย (suicide machine)” มาจัดแสดง ซึ่งเขาบอกว่าถือเป็นการปฏิวัติวิธีการตายของมนุษย์เรา

ฟิลิป นิทสช์เก (Philip Nitschke) แนะนำตัวเองว่าเป็น “นักเคลื่อนไหวเพื่อการทำการุณยฆาตโดยสมัครใจและการฆ่าตัวตายอย่างมีเหตุผล” เขาสร้างสร้างซาร์โก (Sarco) เครื่องฆ่าตัวตายที่มีรูปร่างเหมือนฝักถั่ว ลักษณะเป็นแคปซูลที่มีขนาดเท่าตัวคน โดยให้เหตุผลว่า “ผมเชื่อว่าการเลือกว่าจะตายตอนไหนเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์จากการการป่วยหนักเท่านั้น ถ้าคุณมีของขวัญล้ำค่าในชีวิต คุณควรจะสามารถมอบของขวัญนั้นในเวลาที่คุณเลือกได้”

ซาร์โกสร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คนได้ตายในเวลาที่เขาปรารถนา มาพร้อมกับโลงศพที่ถอดออกได้ โดยมีกล่องใส่ไนโตรเจนติดอยู่บนแท่นวาง ลักษณะเครื่องที่เหมือนแคปซูลทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในยานอวกาศ เจตนาทำให้รู้สึกว่าผู้ใช้งานกำลังเดินทางไปยัง “ดินแดนที่เหนือขึ้นไป” เพียงกดปุ่มหนึ่งปุ่ม ไนโตรเจนก็จะถูกปล่อยเข้าไปในฝักถั่วเพื่อปลิดชีวิต

ก่อนจะใช้เครื่องนี้ ผู้ใช้ต้องทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อตรวจสอบว่าเขาปกติดี หากผ่านการทดสอบ ก็จะได้รับรหัสผ่านซึ่งมีอายุเพียง 24 ชั่วโมง จากนั้นก็เข้าไปอยู่ในแคปซูล ปิดฝา แล้วกดปุ่ม

“คนที่อยากตาย เพียงกดปุ่มนี้ ไนโตรเจนก็จะเข้าไปอยู่ในแคปซูล จะรู้สึกเวียนหัวนิดหน่อย แต่ไม่นานก็จะหมดสติแล้วก็ตาย” เขาบอกสำนักข่าวเอเอฟพี โดยคำว่า ‘ไม่นาน’ ที่ว่านี้ คือไม่เกินหนึ่งนาทีหลังจากกดปุ่ม

นิทสช์เกพัฒนาซาร์โกร่วมกับอเล็กซานเดอร์ บานนิงค์ (Alexander Bannin)  นักออกแบบชาวดัตช์ ในงานแสดง ผู้เข้าชมจะมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์นี้ผ่านแว่นตาจำลองด้วยเทคโนโลยี VR ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่าการนั่งอยู่ในแคปซูลให้ความรู้สึกอย่างไร

ผู้ประดิษฐ์หวังว่าแคปซูลจะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ และวางแผนจะเผยแพร่ข้อมูลการออกแบบทั้งหมดผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้

“ใครก็ตามที่อยากจะสร้างเครื่องนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบ แล้วใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์มันออกมาได้เลย”

ทางด้านแดเนียล ซัลมาซี (Daniel Sulmasy) ศาสตราจารย์ด้านจริยธรรมทางชีวแพทย์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารนิวส์วีคว่า “นี่เป็นวิธีการทางการแพทย์ที่เลวร้าย ผิดจริยธรรม และเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่ดี”

“มันเปลี่ยนการฆ่าให้อยู่ในรูปแบบของการเยียวยา และไม่ได้ตระหนักเลยว่าตอนนี้เรามีวิธีดูแลอาการของโรคต่างๆ ผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา”

นิทสช์เกอายุ 70 ปี เป็นนักรณรงค์ด้านการุณยกฆาตมานานหลายทศวรรษ ตอนที่เขาเป็นนักศึกษาแพทย์ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากนักพยาธิวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ แจ็ค เควอร์เคียน (Jack Kevorkian) ที่ช่วยให้คนไข้ 130 คนฆ่าตัวตาย ตอนที่ยังหนุ่ม เขาสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ ‘Deliverance’ ให้ทำงานร่วมกับการฉีดยากดประสาท (ยาบาร์บิทูเรต) เข้าไปผ่านทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะออกฤทธิ์ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต หลังจากที่คนไข้ยืนยันว่าเขาต้องการตาย ในเวลาต่อมา เขายังได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “Exit Bag” หน้ากากหายใจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ออกมา

ส่วนใหญ่แล้ว การุณยฆาตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีเพียงบางประเทศในยุโรปและบางรัฐของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่กำหนดให้การกระทำนี้ถูกกฎหมาย

“หลายประเทศ การฆ่าตัวตายไม่ได้ละเมิดกฎหมาย แค่การช่วยให้คนอื่นตายเท่านั้นจึงจะผิดกฎหมาย นี่เป็นสถานการณ์ที่คนเลือกกดปุ่มเอง แทนที่จะไปยืนหน้ารถไฟ” นิทสช์เกกล่าว

 

ที่มาภาพ: Philip Nitschke

ที่มา:

Tags: , , , ,