การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในซูดาน เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ วัย 75 ปี ซึ่งครองอำนาจมานาน 30 ปี ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2018 จนกลางเดือนเมษายนที่เขาถูกรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อาวัด อิบิน อุฟ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจมาปกครองแทน กลุ่มของ อาวัด อิบิน อุฟ ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘สภาทหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ (Transitional Military Council) หรือ TMC ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือน และขอเวลา 2 ปีเพื่อเปลี่ยนผ่าน นำประเทศคืนสู่ประชาธิปไตย

สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องการให้ทหารขึ้นมาปกครองประเทศอีกต่อไป จึงยังคงปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต่อมากลุ่มกองทัพที่ยึดอำนาจมายอมลดระยะเวลาเลือกตั้งจาก 3 ปี เป็น 9 เดือน แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมรับข้อเสนอนี้

จนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ทหารได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ราย ที่บริเวณด้านหน้าของกองบัญชาการทหารสูงสุด ในกรุงคาทวม นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารยังได้ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จนถึงสัปดาห์นี้ชาวซูดานยังใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้

ใันวันที่ 9 มิถุนายน ผู้ชุมนุมแสดงการอารยะขัดขืนต่อต้านการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของกองทัพและเรียกร้องให้มีรัฐบาลพลเรือน ผู้นำการชุมนุมและกลุ่มผู้คัดค้านคณะรัฐประหารขอให้ประชาชนอยู่ในบ้าน หลังจากที่ทหารปราบปรามผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย ร้านค้า ธนาคาร บริษัทต่างๆ หยุดทำการเพื่อสนับสนุนผู้ชุมนุม

ต่อมาอาบีย์ อาห์เม็ด นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปียเดินทางไปยังซูดานเพื่อเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างสองฝ่าย หลังจากพูดคุยกัน ก็มีการประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ว่า ผู้นำการชุมนุมยินยอมที่จะยุติการหยุดงานประท้วงชั่วคราว และกลับไปยังโต๊ะเจรจา ส่วนฝ่ายทหารตกลงที่จะปล่อยนักโทษการเมือง แต่ก็ไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าจะมีการเจรจาตอนไหน ขณะที่สื่อเอกชนของซูดานรายงานว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมยืนกรานว่าจะต้องมีการสอบสวนโดยอิสระต่อการปราบปรามประชาชนก่อนที่จะมีการพูดคุยกัน

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียพากันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตัวเองเป็นสีฟ้า เพื่อทำให้ทั่วโลกรับรู้ถึงวิกฤตในซูดาน พร้อมด้วยแฮชแท็ก #BlueForSudan สำหรับระลึกถึงประชาชนที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมของคณะรัฐประหาร

ด้านปฏิกิริยาจากชาติต่างๆ ในแอฟริกาและชาติตะวันตกส่วนใหญ่สนับสนุนการประท้วง ซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน แต่ไม่ได้ประณามการใช้ความรุนแรงของทหาร  มีรายงานว่าซูดานเรียกตัวเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในสวีเดนเข้าพบ หลังจากที่เขาทวีตข้อความแสดงความกังวลต่อการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม

ที่มา:

https://www.middleeasteye.net/news/blue-sudan-social-media-campaign

https://www.thedailyvox.co.za/sudan-the-people-want-civilian-government/

https://www.euronews.com/2019/06/07/why-is-sudan-still-mired-in-political-chaos-euronews-answers

https://www.bbc.com/news/topics/c1yy8q1re0kt/sudan-crisis

 

ภาพ: REUTERS/ Stringer

Tags: , , ,