พิธีลงนามข้อตกลงแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายกองทัพของซูดานกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร กำหนดมีขึ้นในวันจันทร์หลังจากคู่เจรจาเห็นพ้องที่จะ ‘พบกันครึ่งทาง’ ในเรื่องการจัดตั้งคณะรัฏฐาธิปัตย์ ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งภายในเวลา 3 ปีเศษ
ประชาชนคนซูดานออกมาไชโยโห่ร้องตามท้องถนน หลังทราบข่าวเมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ว่า การเจรจาของฝ่ายทหารกับฝ่ายผู้แทนประชาชน บรรลุข้อตกลง 4 ข้อ ไฮไลต์อยู่ที่ 2 ข้อแรก
ฝ่ายทหารตกลงแบ่งอำนาจให้พลเรือนผลัดเข้ามาเป็นผู้นำ ในช่วงครึ่งหลังของระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ฝ่ายทหารตกลงให้คณะปกครองเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ มีองค์ประกอบเป็นพลเรือนมากกว่าทหาร
ความสำเร็จในการเจรจาครั้งนี้ ควรยกเครดิตให้แก่องค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค คือ สหภาพแอฟริกา กับเอธิโอเปีย เพื่อนบ้านของซูดาน ที่ช่วยกดดันและไกล่เกลี่ยให้ทหารยอมโอนอ่อนผ่อนปรน
ขณะเดียวกัน ชาวซูดานควรค่าแก่คำยกย่องในการยืนหยัดเรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจโดยเร็ว แม้ว่าถูกปราบปรามด้วยอาวุธสงคราม ทว่าผู้คนยังร่วมกันรณรงค์ จนก่อเกิดเป็นพลังกดดันให้ฝ่ายกองทัพยอมกลับขึ้นโต๊ะเจรจาในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ต้องจับตากันต่อไป ว่า ทหารซูดาน ซึ่ง “ขอเวลาอีกไม่นาน” จะทำตามคำสัญญาหรือไม่ พลเรือนจะได้กุมบังเหียนคณะรัฏฐาธิปัตย์เป็นเวลา 18 เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งจริงหรือเปล่า
เปิด ‘ข้อตกลงแบ่งปันอำนาจ’
การเจรจาระหว่างฝ่ายคณะรัฐประหารกับฝ่ายผู้แทนประชาชนในนาม ‘พันธมิตรเพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลง’ เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันพุธ (3 ก.ค.) ทั้งสองฝ่ายเจรจามาราธอนจนล่วงเข้าวันใหม่ของวันศุกร์ จึงบรรลุข้อตกลง
นายโมฮัมเหม็ด เอล ฮาเซน เลบัต ผู้ไกล่เกลี่ยของสหภาพแอฟริกา หรือเอยู (African Union) ออกมาประกาศผลสรุปของการเจรจาเป็นเวลา 2 วัน ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้มีการจัดตั้งคณะรัฏฐาธิปัตย์ ที่ทหารกับพลเรือนจะผลัดกันครองอำนาจในช่วงเวลา 3 ปีกับ 3 เดือน
สมาคมนักวิชาชีพซูดาน ซึ่งเป็นองค์กรแกนนำของพันธมิตรฯ ออกถ้อยแถลงประกาศชัยชนะ พร้อมกับขยายความข้อตกลงว่า ในช่วงเวลาครึ่งแรก ทหารจะเป็นผู้นำของคณะปกครองนาน 21 เดือน ต่อจากนั้น พลเรือนจะรับไม้ต่อในช่วง 18 เดือนหลัง
พล.อ.โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล รองประธานคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาฝ่ายทหาร แถลงว่า ขอให้มั่นใจว่า กลุ่มพลังการเมืองและขบวนการติดอาวุธทุกกลุ่ม จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเปิดรับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่มีใครถูกกีดกันออกไป
นอกจากไม่มีใครถูกไล่ไปอยู่ที่อื่น ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องด้วยว่า องค์ประกอบของคณะรัฏฐาธิปัตย์จะมีพลเรือนมากกว่าทหาร คือ กรรมการจะเป็นทหาร 5 นาย พลเรือน 5 คน อีก 1 คนจะเป็นพลเรือนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน
ไม่เพียงเปิดกว้างรับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทหารซูดานยังตกลงที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระระดับชาติ สอบสวนเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่ปักหลักหน้ากองบัญชาการทหารในกรุงคาร์ทูมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนด้วย ซึ่งกลุ่มแพทย์อาสาของฝ่ายผู้ประท้วงบอกว่า ในวันนั้นมีคนตายกว่า 100 คน และยังเสียชีวิตต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่แล้ว รวมอย่างน้อย 136 คน
ข้อสุดท้าย วงเจรจาตกลงให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ข้อนี้ปฏิบัติทันทีเมื่อวันพฤหัสฯ ผู้ได้รับการปล่อยตัวเป็นนักรบของกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งจากกลุ่มกบฏในแคว้นดาร์ฟูร์ จำนวน 235 คน
แกนนำของพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นองค์กรร่มของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร บอกว่า ข้อตกลงเหล่านี้จะลงนามในวันจันทร์ (8 ก.ค.) โดยมีหัวหน้ารัฐบาลของประเทศแอฟริกาหลายคนร่วมเป็นสักขีพยาน
สำเร็จเพราะแรงกดดัน
เหตุที่ทหารซูดานยอมถอย มาจากแรงกดดัน ทั้งภายในและภายนอก
แรงกดดันภายในเป็นผลจากการยืนหยัดต่อต้านอย่างไม่ลดละของประชาชน นับแต่ทหารเข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ เมื่อเดือนเมษายน แม้ว่าชาวซูดานไม่เอาบาชีร์ เริ่มรวมตัวขับไล่ผู้นำที่ครองเก้าอี้มานาน 30 ปีรายนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่พอกองทัพก่อรัฐประหาร ชาวซูดานก็หันมาชูป้ายไล่ทหาร
กระแสไม่เอาทหารแพร่ไปทั่วประเทศ ฝ่ายผู้ประท้วงพากันสร้างป้อมค่ายปักหลักชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการทหาร ทำให้ทหารต้องเปิดเจรจากับแกนนำประท้วงเมื่อวันที่ 20 เมษายน จนกระทั่งตกลงกันในหลักการได้เมื่อ 27 เม.ย. ว่า คณะปกครองชั่วคราวจะประกอบด้วยทหารกับพลเรือน
อย่างไรก็ตาม การเจรจาเจอทางตัน ในประเด็นที่ว่า ผู้นำของคณะปกครองควรเป็นพลเรือนหรือทหาร จึงเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในเมืองหลวงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ทหารล้มโต๊ะเจรจา แล้วต่อมาเปิดเจรจาอีกครั้งแต่ก็ล่มอีก ทำให้ภาคเอกชนและประชาชนนัดหยุดงานเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม
พอถึงวันที่ 3 มิถุนายน ชายแต่งเครื่องแบบทหารได้เข้า “ขอคืนพื้นที่” เคลียร์ประชาชนนับพันออกไปจากหน้ากองบัญชาการทหาร แล้วยังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่องอีกหลายวัน ทหารบอกปัดว่า ไม่ได้สั่งสลายการชุมนุม แต่ฝ่ายผู้ประท้วงบอกว่า กำลังเหล่านั้นเป็นลูกน้องของรองประธานคณะปกครอง พล.อ.ดากาโล คนที่เป็นตัวแทนเจรจาฝ่ายทหาร
แม้ถูกสลายการชุมนุม แกนนำผู้ประท้วงได้เริ่มรณรงค์อารยะขัดขืนในวันที่ 9 มิถุนายน ทำให้ประเทศเป็นอัมพาต ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน สหภาพแอฟริกา ซึ่งมีสมาชิก 54 ประเทศ ประกาศระงับสมาชิกภาพของซูดาน พร้อมกับประณามการเข่นฆ่าประชาชน เรียกร้องให้ทหารซูดานคุ้มครองพลเรือน และเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษชน (The Guardian, 6 June 2019)
ชาวซูดานนับแสนยังชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย. ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การสลายการชุมนุม การประท้วงครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 7 คน โดยแกนนำนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 13-14 กรกฎาคม
เมื่อเหตุการณ์ทำท่าไม่ยุติ ผู้ไกล่เกลี่ยของเอยูกับเอธิโอเปียจึงหว่านล้อมให้ทั้งสองฝ่ายกลับขึ้นโต๊ะเจรจาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ก็คือ ข้อตกลงแบ่งปันอำนาจ.
อ้างอิง:
AFP via The Globe Post, 5 July 2019
ภาพปก: ASHRAF SHAZLY / AFP
Tags: รัฐประหาร, ซูดาน