ตั้งชื่อให้ดูอลังไปอย่างนั้นเองแหละครับ จริงๆ ไม่มีอะไรมาก ด้วยเห็นว่าเป็นช่วงส่งท้ายปลายปีแบบนี้ ก็เอาอีกแล้ว เอากันทุกปี (ความหมายดูไม่ดีเนอะ) เวลามีตั้งเยอะไม่ซื้อ ไม่วางแผน พอปลายปีปุ๊บ ประเด็นการเงินที่ฮิตเป็นอันดับหนึ่ง ก็คงจะหนีไม่พ้น การหาซื้อหรือจับจ่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลดหย่อนภาษี

ที่จริงก่อนเข้าเนื้อหา ต้องบอกก่อนเลยว่า การวางแผนภาษีที่ดีนั้นควรทำกันตั้งแต่ต้นปีภาษี นั่นคือ ตั้งแต่ช่วงมกราคมของทุกปีนะครับ โดยอาจทำแบบประมาณการไปก่อน ประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย และประมาณการค่าลดหย่อนที่พึงได้รับสิทธิในปัจจุบัน จากนั้นก็อาจลองเข้าไปคำนวณภาษีในเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ดูก่อน

หรือหากอยากฮิปขึ้นอีกนิด ก็แนะนำแอปพลิเคชัน iTax Pro อันนี้ของเขาก็ดี และใช้งานง่ายดีครับ แค่กรอก กรอก แล้วก็กรอกข้อมูลของเราลงไป แอปฯ นี้ก็จะบอกเลยว่า ด้วยรายได้และค่าลดหย่อนปัจจุบัน ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ และจะลดหย่อนได้จากอะไรอีกบ้าง

ที่แนะนำให้ประเมินกันตั้งแต่ต้นปี ก็เพื่อจะได้รู้ว่า ณ สถานะปัจจุบัน คุณเสียภาษีอยู่เท่าไหร่ พอไหวไหม คุ้มหรือเปล่าที่จะซื้ออะไรต่อมิอะไรเพิ่มเติมอีกมากมาย เพื่อลดหย่อนภาษี

หนักที่สุดและพบกันอยู่เป็นประจำก็คือ คนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเขาเลย รายได้ตัวเองไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ก็ยังอยากร่วมสนุกพลอยฟ้าพลอยฝนไปกับเขาด้วยนี่สิ

ในปัจจุบัน สำหรับท่านที่ทำงานประจำ หรือทำงานรับจ้างทั่วๆ ไป หากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึง 20,000 บาท (อันนี้หมายถึงรายได้รวมเฉลี่ย ทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง คอมมิชชัน โบนัส และอื่น ๆ) ก็ยังไม่ต้องกังวลนะครับ รายได้ของท่านยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

เพราะด้วยค่าใช้จ่ายที่หักตามการคิดคำนวณภาษี 60,000 บาทต่อปี รวมกับค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 30,000 บาท และเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกยังไม่ต้องเสียภาษี (รวมแล้ว 240,000 บาทต่อปี หาร 12 ก็ 20,000 บาทต่อเดือนไง) จึงทำให้ท่านไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาซื้อของลดหย่อนภาษีให้เหนื่อยแต่อย่างใด

[หมายเหตุ: ปีหน้ารัฐบาลมีนโยบายจะให้หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเป็น 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวสำหรับผู้มีเงินได้เป็น 60,000 บาท ซึ่งจะทำให้คนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 25,800 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่เริ่มใช้ 1 มกราคม 2560 นะครับ]

 

สำหรับแนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่พิเศษ) อย่างเราๆ ท่านๆ นั้น พอสรุปเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ตามลำดับขั้นความคิด ดังนี้

1. พิจารณาก่อนว่า รายได้ปัจจุบันของเรานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีแล้วหรือยัง

ลองตั้งคำถามว่ารายได้ประมาณการทั้งปีของเราถึง 240,000 บาทหรือไม่ ถ้าไม่ถึงก็จบกันไป ถ้าถึงหรือเกิน ก็ไปข้อ 2)

2. ด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่มี โดยยังไม่ต้องพยายามเพิ่มนั้น ทำให้เราจ่ายภาษีในระดับใด

ลองกรอกข้อมูลรายได้ และค่าลดหย่อนที่มีในปัจจุบัน (แบบที่ยังไม่ต้องซื้อเพิ่ม) ลงในแบบฟอร์มประเมินภาษี ในเว็บไซต์สรรพากร หรือแอปพลิเคชัน iTax Pro แล้วดูซิว่า ปัจจุบันท่านต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน

3. คุณพอใจกับรายจ่ายภาษีในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร ถ้าพอใจก็จบลงตรงนี้ แต่ถ้าไม่พอใจ ก็ไปข้อ 4)

แนวคิดหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ก็คือ แนวคิดที่ไม่อยากจ่ายภาษีเลย และพยายามทำทุกวิถีทางให้ไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งบางครั้งกลายเป็นว่า พยายามจะประหยัดภาษี แต่ไปฟุ่มเฟือยกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแทน อันนี้ผมว่าก็ไม่เวิร์กครับ

ส่วนเรื่องที่ว่าจ่ายภาษีแค่ไหนถึงจะพอใจ อันนี้คงเป็นคำตอบของแต่ละบุคคลครับ

4. พิจารณาความจำเป็นและความพร้อมทางการเงินว่า ควรซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด เพื่อลดหย่อนภาษี

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทมีคุณลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วควรพิจารณาจากความจำเป็นส่วนตัวของเราก่อน เช่น หากเรามีความเสี่ยงกรณีเสียชีวิตแล้วส่งผลกระทบทางการเงินกับคนในครอบครัว แบบนี้การเลือกซื้อประกันแล้วมีสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีด้วย ก็น่าจะช่วยปิดรูรั่วของแผนการเงินได้ดีและสมบูรณ์กว่าเอาเงินไปลงทุนใน RMF หรือ LTF แต่ถ้าหากเราปลอดภาระทางการเงิน และกำลังมุ่งมั่นวางแผนเกษียณอายุ เครื่องมือก็อาจเปลี่ยนหน้าตาไป เป็นต้น

อีกเรื่องคือ เงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซี่งก็แตกต่างกันไปอีกเช่นกัน ผลิตภัณฑ์การเงินบางตัวเราลงทุนเป็นก้อน และลงทุนระยะสั้นแค่ 7 ปีปฏิทินได้ (LTF) แต่ในขณะที่บางตัวต้องลงทุนยาวถึงอายุ 55 ปี (RMF) อย่างนี้ก็ต้องพิจารณาแผนการเงินของตัวเองให้ดี

หลักคิดก็คือ ซื้อและลงทุนตามความจำเป็นหรือตามเป้าหมายทางการเงินของเราเป็นอันดับแรก โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นของแถมหรือผลพลอยได้ ไม่ใช่โฟกัสที่การลดหย่อนภาษีเป็นอันดับแรก

นอกเหนือไปจากคุณลักษณะผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขทางภาษีแล้ว อีกเงื่อนไขที่ต้องไม่มองข้ามก็คือ การไม่สร้างภาระทางการเงินให้กับตัวเองในปีต่อๆ ไป เกินพอดี เช่น ปีนี้มีรายได้เยอะ เลยตัดสินใจซื้อประกัน หรือซื้อบ้านเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ย โดยลืมไปว่าเป็นภาระในระยะยาว และทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายทุกเดือน เป็นต้น

5. ศึกษาหาความรู้ในเครื่องมือทางการเงินที่คุณเลือกให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

ความรู้ในผลิตภัณฑ์เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยนะครับ จริงอยู่ว่าซื้อประกันที่กรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ก็สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด แต่ประกันแต่ละแบบ แต่ละประเภท แต่ละตัว ก็มีเงื่อนไขความคุ้มครอง ระยะเวลา เบี้ยที่ต้องส่ง และทุนประกันที่ต่างกันไป

กองทุนรวมก็เช่นเดียวกัน เงินที่นำไปลงทุนทั้ง RMF และ LTF สามารถหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่กองทุนประเภทเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงต่างกันไป ตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง ใช่ว่าสักแต่จะซื้อลดหย่อนแล้วจะซื้ออะไรก็ได้ผลลัพธ์เหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดีทุกครั้ง ก่อนตัดสินใจซื้อหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินนะครับ

สำหรับความรู้เบื้องต้นสำหรับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในภาคแรก ขอเล่าไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ตอนหน้าเราจะบีบ เค้น รีด สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คุณอาจมองข้ามไป ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ

ภาพประกอบ: NOLA NOLEE

Tags: ,