คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งสวัสดีปีใหม่หลังไมค์มาหาผมพร้อมกับเรื่องร้อนใจ เธอเล่าว่าเธอเพิ่งสูญเงิน 3 ล้านบาทไปกับการลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Venture Capital
เธอบอกว่าเพื่อนของเธอมาชวนให้เธอลงทุน โดยบอกว่ากองทุนดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนข้ามชาติ เมื่อรวมเงินกันแล้วก็จะมองหาธุรกิจเริ่มต้นใหม่ หรือสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มดีๆ ใส่เงินเข้าไปเพื่อร่วมลงทุน
รวยเร็วเป็นไปได้ รวยง่ายๆ ไม่มี
เมื่อเริ่มลงทุน เธอใส่เงินไป 1 ล้านบาท ด้วยคาดหวังผลตอบแทน 10% ต่อเดือนตามที่กองทุนกล่าวอ้าง แล้วก็ได้อย่างนั้นจริงๆ เธอเล่าว่า ตัวเลขบนเว็บไซต์ แสดงให้เห็นว่า account ของเธอมีเงินเข้าเดือนละ 100,000 บาท หลังผ่านไปสองเดือน เธอเริ่มมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น และเพิ่มเงินเข้าไปอีก 1 ล้านบาท ซึ่งก็ทำให้เธอได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่งขึ้น
ผ่านไป 3 เดือน เธอคิดว่าน่าจะดึงกำไรที่ได้มาใช้บ้าง เพราะหากการลงทุนทำเงินได้ดีขนาดนี้ ดึงผลกำไร เก็บเงินต้นไว้ ยังไงก็ยังมีเหลือเก็บกินสบายๆ
แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะกองทุนที่ว่านี้มีข้อกำหนดว่าต้องลงทุนครบ 6 เดือนก่อน จึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้ และแทนที่จะบอกให้เธอรออย่างเดียว เจ้าหน้าที่ยังแนะนำให้เธอชวนเพื่อนมาลงทุน (เหมือนที่เพื่อนเธอชวนเธอ) โดยอธิบายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมว่า หากมีคนได้รับการแนะนำให้มาลงทุนภายใต้ account ของเธอ เธอจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก 2% ทุกๆ เงินก้อนที่เข้ามาลงทุนเพิ่ม
ด้วยความเป็นคนหวังดี มีอะไรดีๆ ก็แนะนำและบอกต่อเพื่อนเสมอ เธอจึงชักชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักมาร่วมลงทุนอีก 4-5 คน ซึ่งกองทุนดังกล่าวก็ตอบแทนเธอตามที่เคยบอกไว้จริงๆ ตัวเลขทางบัญชีบนเว็บไซต์ของเธอเติบโต จนเธออดใจไม่ไหวที่จะใส่เงินเพิ่มเข้าไปอีก 1 ล้าน
เมื่อครบ 6 เดือน เธอติดต่อขอถอนเงินกำไรออกมาใช้ตามที่เคยตั้งใจไว้อีกครั้ง แต่คราวนี้ก็ยังถูกปฏิเสธอีกแม้ว่าบัญชีจะครบ 6 เดือนแล้วก็ตาม เธอพยายามติดต่อหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ
หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน (ก่อนปีใหม่ 2560) เล็กน้อย หน้าเว็บดังกล่าวก็ปิดตัวลงไป โดเมนที่เคยกรอกเคยใช้ ไม่พบหน้าเว็บไซต์ที่แสดงบัญชีเงินล้านของเธอ คำถามที่เธอถามผมก็คือ เธอจะเอาเงิน 3 ล้านคืนมาได้หรือเปล่า และที่สำคัญ เธอจะช่วยเพื่อนๆ ที่เธอชวนมาได้อย่างไร เพราะตอนนี้เธอกำลังถูกติดตามจากเพื่อนเธออย่างหนัก โทรมาต่อว่าและทวงถามทุกวัน จนเธอจะประสาทตายอยู่แล้ว
ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงรู้คำตอบของผมใช่ไหมครับ …ถูกต้องครับ! ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยเธอได้อย่างไร
รูปแบบเครื่องตกเงินของมิจฉาชีพนั้นมักมาในรูปแบบเดิมๆ
นั่นคือ เป็น ‘การลงทุนสำเร็จรูป’ ที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
แค่ใส่เงิน หรือวางเงิน แล้วรอรับผลตอบแทน
เล่ามาถึงตรงนี้ ต้องบอกก่อนนะครับว่าการลงทุนกลุ่มที่เรียกว่า Venture Capital หรือ VC นั้นมีอยู่จริง และ VC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพก็มีอยู่จริงด้วยเช่นกัน แต่ค่อนข้างรู้กันในวงการเงินว่า เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง เพราะลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ ซึ่งมีโอกาสเจ๊ง หรือไปไม่รอดสูงมาก (‘ก’ หลายตัว) ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มนี้จึงมักเปิดให้นักลงทุนที่มีความชำนาญและมีความเชี่ยวชาญสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเหมือนกันที่เปิดให้นักลงทุนทั่วไปลงทุนได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การลงทุนกลุ่มนี้ยากที่จะรับประกันผลตอบแทน เพราะมีความเสี่ยงสูงอย่างที่ได้กล่าวไว้นั่นเอง
ตราบใดก็ตามที่ ‘ความโลภ’ ยังอยู่คู่กับมนุษย์ เมื่อนั้นมิจฉาชีพก็ยังคงหาเครื่องตกเงินมาหลอกลวงคนโลภ คนมักง่าย ที่อยากออกแรงน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูงเกินแรงกายแรงปัญญาอยู่เสมอ
ทั้งนี้รูปแบบเครื่องตกเงินของมิจฉาชีพนั้นมักมาในรูปแบบเดิมๆ นั่นคือ เป็น ‘การลงทุนสำเร็จรูป’ ที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ใส่เงิน หรือวางเงิน แล้วรอรับผลตอบแทน เพียงเท่านี้ก็ได้รับผลตอบแทนชนิดหาที่ใดในโลกไม่ได้อีกแล้ว ชื่อของมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยม
ผลตอบแทน 8-10% ต่อเดือนที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ล่อใจ หากคิดแบบง่ายๆ ก็จะประมาณ 96-120% ต่อปี หรือเงินที่เราใส่วันนี้จะกลายเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี
เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆ แล้ว ต้องถือว่าโฆษณาชวนเชื่อนี้น่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะหากเทียบกับการลงทุนในหุ้นที่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ยังทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยเพียง 10-15% ต่อปีเท่านั้น (สำหรับมนุษย์ธรรมดาทั่วไปนะ)
ที่สำคัญ! ยิ่งถ้าชวนเพื่อนมาร่วมลงทุน ผลตอบแทนก็จะยิ่งสูงขึ้น เพราะจะได้กินหัวคิวจากการเสียรู้ของเพื่อนอีกต่อหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่งชวนเพื่อนมาเจ็บตัวได้มาก ยิ่งรวย ว่ากันอย่างนั้น
แล้วคนส่วนใหญ่หลงไปติดกับดักพวกมันได้อย่างไร?
เจ้ามิจฉาชีพพวกนี้เก่งครับ พวกมันจะสร้างระบบออนไลน์ของมันให้ดูดี มีเว็บไซต์สวยงาม โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่ระดมทุนไปลงทุนกองทุนในต่างประเทศ หรือบ้างก็อ้างว่าไปสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือการลงทุนค่าเงิน เพื่อแบ่งกำไรกับผู้ลงทุน (ใช้ชื่อการลงทุนที่มีอยู่จริง แต่พวกเขาไม่ได้เอาเงินของเราไปลงทุนจริง)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า
“มีอยู่สองสิ่งที่ไม่สิ้นสุด
นั่นคือจักรวาลและความโง่เขลาของมนุษย์
แต่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจเท่าใดนักว่าจักรวาลเป็นเช่นนั้น”
วิธีหลอกเราง่ายๆ ที่ทำให้เราตื่นเต้นก็คือ เมื่อเราวางเงินลงทุน สมมุติ 50,000 บาท เว็บเหล่านี้ก็จะทำระบบบัญชีที่ตกแต่งขึ้นเองโชว์ตัวเลขในบัญชี (account บนอินเทอร์เน็ต) ของเราว่า แต่ละเดือนมีเงินเพิ่มขึ้น 5,000 บาท ทุกเดือนๆ (หรือเท่ากับผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน)
มนุษย์เรานี่ก็แปลก แค่ตัวเลขทางบัญชี เงินยังไม่ได้รับจริง แต่ก็ตื่นเต้น เก็บความมั่งคั่งไว้คนเดียวไม่ได้ ต้องบอก ต้องชวนเพื่อน ด้วยความหวังดีอยากเห็นเพื่อนรวยด้วย แต่บ้างก็เลวร้าย ชวนเพื่อน เพราะอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
เมื่อคนมาร่วมลงทุนกันได้มากพอสมควร เว็บเหล่านี้ก็จะปิดตัวลง แล้วหอบเอาเงินหลายสิบหลายร้อยล้านไป อำพรางตัวสักพัก ก่อนที่จะกลับมาในมุกใหม่ ในแบบที่คนซึ่งไม่รู้จักหลาบจำ ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สรุปตัวเลขกำไรที่เห็นว่าได้เยอะๆ คอมมิชชันที่โชว์ในบัญชีว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อันตรธานหายไปพร้อมเงินต้นทั้งหมดของเราและผองเพื่อน แล้วเมื่อถึงวันนั้นคนที่รู้ว่าถูกหลอกก็จะร้องโวยวายออกสื่อกันอีกครั้ง อย่างกรณีที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่าง ‘แชร์เฟซบุ๊ก’ ก็เป็นหนึ่งของกรณีต้มตุ๋นที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน
ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าวแชร์ดังกล่าว ผมรู้สึกประหลาดใจกับคนที่กล้าเล่นแชร์กับคนที่เราไม่รู้จัก และไม่มีตัวตนให้จับต้องได้อย่างทางเฟซบุ๊กอยู่เหมือนกัน เพราะขนาดคนสนิทและไว้ใจกัน ยังเบี้ยวแชร์กันออกถมเถ แล้วนี่คนที่แม้แต่หน้าก็ไม่เคยเห็น ชื่อจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่เรากลับกล้าโอนเงินก้อนใหญ่ของเราให้เขาไปหน้าตาเฉยได้ยังไง
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “มีอยู่สองสิ่งที่ไม่สิ้นสุด นั่นคือจักรวาลและความโง่เขลาของมนุษย์ แต่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจเท่าใดนักว่าจักรวาลเป็นเช่นนั้น”
ตราบใดก็ตามที่ความโลภยังคงอยู่ในใจนักลงทุนผู้มักง่าย ตราบนั้นมิจฉาชีพผู้ฉ้อฉลก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป เป็นวัฏสงสารแบบนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
บอกอีกครั้งเป็นครั้งที่ร้อย “รวยเร็วเป็นไปได้ รวยง่ายๆ ไม่มี” นะครับ
ภาพประกอบ: NOLA NOLEE
Tags: MONEY FITNESS by THE MONEY COACH, VentureCapital