อีกไม่นานเราก็จะผ่านปี 2016 บทความนี้ของผมจึงอยากให้เป็นข้อคิดสำหรับการทำธุรกิจเพื่อเติมพลังให้ธุรกิจของคุณในปี 2017 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ
ผมเชื่อว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือการลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วให้เก่งมากยิ่งขึ้นไปอีก
ไม่ใช่การลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เก่งให้ดีขึ้นมา
1. โฟกัสไปกับการพัฒนาในสิ่งที่คุณเก่งให้เป็นเลิศ
เพราะเวลาและทรัพยากรในโลกของคุณมีจำกัด การลงทุนทำอะไรอย่างหนึ่งหมายถึงการเสียโอกาสในการทำอะไรอีกอย่างหนึ่งด้วย
การใช้ทรัพยากรอย่างมีค่าที่สุดคือการลงทุนในสิ่งที่จะได้ผลตอบแทนมากที่สุด และผมเชื่อว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือการลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วให้เก่งมากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่การลงทุนพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เก่งให้ดีขึ้นมา
เรื่องที่เราไม่เก่ง หรือเก่งไม่มาก หรือให้คนอื่นทำแทนได้และได้ผลเท่ากัน เราควรยกให้คนอื่นทำให้หมดครับ แล้วเอาเวลาอันแสนมีค่าของเรามาทำเรื่องที่เราถนัดดีกว่า
ฟังดูทะแม่งๆ ยังไงชอบกลใช่ไหมครับ
ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ประกอบดูครับ
ในปี 2008 มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโอบามาได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพซึ่งเป็นที่คุ้นหูกันในชื่อ Obamacare ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกออกเป็นสองฝ่ายคือไม่ชอบก็เกลียดกันไปเลย
แดน โรม (Dan Roam) นักเขียนหนังสือเรื่อง The Back of the Napkin ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสุขภาพใดๆ ทั้งสิ้น แต่โรมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้การวาดภาพเพื่ออธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องทางธุรกิจ และได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้กับคนอเมริกันหลายล้านคน
คนจำนวนมากเสียเวลากับการพยายามทำทุกอย่างให้ดี
ในที่สุดก็กลายเป็น jack of all trades หรือแปลเป็นไทยว่า
คนที่รู้ทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง แต่เก่งไม่จริงสักอย่าง
ทำไมคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้กลายมาเป็นคนที่สร้างความกระจ่างในเรื่องที่ดูเหมือนจะค่อนข้างวุ่นวายนี้ให้กับเหล่าอเมริกันชนได้
เรื่องมันเป็นแบบนี้ครับ
อย่างที่กล่าวไว้ว่า แดน โรม เองยอมรับว่าไม่มีความรู้พอที่จะแม้แต่ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพใดๆ ที่เป็นอยู่หรือที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เขาเห็นในภาพข่าวคือความขัดแย้งที่ลุกลามใหญ่โต และเขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในเรื่องนี้ ในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ จึงเคยร่วมงานกับคนมากมาย โรมนึกถึงคุณหมอคนหนึ่งชื่อ โทนี ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องนโยบายสุขภาพเป็นอย่างดี โดยไม่รอช้าโรมติดต่อโทนีให้มาช่วยกันในโครงการนี้
ทั้งสองอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยไวต์บอร์ดพร้อมเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายด้านสุขภาพเต็มห้อง โดยปฏิญาณว่าจะไม่เลิกจนกว่าจะสามารถวาดรูปไดอะแกรมแบบง่าย เพื่ออธิบายวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพเหล่านั้นได้
สองวันต่อมา ทั้งสองได้ภาพวาดมาทั้งหมด 43 ภาพ มันเป็นภาพวาดที่ดูเหมือนภาพที่วาดโดยเด็กมัธยมต้น (หรือเด็กประถมแล้วแต่คุณจะมอง) ทั้งสองเอาภาพเหล่านั้นใส่ PowerPoint แล้วใส่ห้วเรื่องพร้อมคำอธิบายสั้นๆ หลัง
จากนั้นก็เอาไปโพสต์ออนไลน์ แล้วตั้งชื่อมันว่า ‘American Health Care: A 4-Napkin Explanation’
ภายในสัปดาห์เดียวมีคนดาวน์โหลดไปหลักพันคน
ภายในหนึ่งเดือนมีคนดาวน์โหลดไป 50,000 คน
ถึงวันนี้มีคนดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 2,000,000 คน
มีสำนักข่าวต่างๆ ทำข่าวเรื่องนี้นับไม่ถ้วน
ในปี 2009 SlideShare มอบรางวัล World’s Best Presentation ให้
หนึ่งเดือนหลังจากที่โรมโพสต์พรีเซนเทชันของเขา Fox News เชิญเขาไปออกรายการสด 7 นาที เพื่ออธิบายพรีเซนเทชันของเขา หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์เขาได้รับโทรศัพท์สายหนึ่ง เสียงปลายสายบอกว่า
“นี่คือคุณโรมที่พูดถึงเรื่องสไลด์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายสุขภาพใน Fox News ใช่ไหม”
“ใช่ครับ”
“เราติดต่อมาจากทำเนียบขาว เราอยากเรียนเชิญคุณมาวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพ เพื่อมาเล่าเรื่องราวที่คุณทำให้กับทีมงานของประธานาธิบดีหน่อยครับ”
โรมกับรูปภาพที่ดูเหมือนการ์ตูนของเขา แต่ด้วยความสามารถที่ไม่ธรรมดาในการอธิบายเรื่องผ่านการวาดภาพ ทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางและหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับคนอเมริกันไปได้
ปัจจุบันโรมเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์อีกเล่มออกมาชื่อ Draw to Win: A Crash Course on How to Lead, Sell, and Innovate with Your Visual Mind ทั้งเล่มพูดถึงแต่เรื่องการสื่อสารด้วยการวาดภาพแบบง่ายๆ
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างครับว่า ถ้าเราเก่งอะไร จงโฟกัสกับเรื่องนั้นและทำให้เราเก่งแบบสุดๆ ไปเลยครับ
ผมเองเคยลองทำมาทั้งสองแบบแล้วครับ
ทั้งแบบที่พยายามพัฒนาทุกๆ ด้าน
กับทำเฉพาะสิ่งที่เราถนัด
พบว่าแบบหลังดีกว่าเยอะเลยครับ
ตอนแรกๆ ที่มาทำศรีจันทร์ใหม่ๆ ผมพยายามจะทำทุกอย่างเองทุกเรื่อง ตั้งแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ ยันหนังโฆษณาทีวีก็เคยทำเองมาแล้ว (อันนี้เป็นเรื่องที่บ้ามาก ไม่ควรเลียนแบบอย่างยิ่ง) ผลปรากฏว่าออกมาไม่ดีสักอย่าง
ผมได้ข้อสรุปว่าทำแต่เฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วทำให้เป็นเลิศ ส่วนเรื่องอื่นให้คนอื่นทำดีกว่า
ยกตัวอย่างเช่น งานด้านการผลิต เดี๋ยวนี้หลังๆ เราก็ให้พาร์ตเนอร์ทั้งที่ญี่ปุ่นและในไทยเป็นคนผลิตแทนเรา เพราะเขามีความชำนาญมากกว่า ส่วนเรามาโฟกัสในงานหลักของเราคืองานมาร์เก็ตติ้ง นอกเสียจากว่าบางส่วนถ้าผลิตเองแล้วจะมี Competitive Advantage เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการของสดใหม่ตลอดเวลา อย่างในกรณีที่เครื่องสำอางบางตัวมีอายุสั้น การผลิตเองเป็นรอบเล็กๆ แล้วผลิตบ่อยๆ จึงได้เปรียบกว่าการจ้าง OEM เป็นรอบใหญ่ๆ แต่นานๆ ทำที แบบนี้ก็ควรพิจารณาผลิตเอง เป็นต้น
คนจำนวนมาก (รวมถึงผมก่อนหน้านี้ด้วย) เสียเวลากับการพยายามทำทุกอย่างให้ดี ในที่สุดก็กลายเป็น jack of all trades หรือแปลเป็นไทยว่า คนที่รู้ทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง แต่เก่งไม่จริงสักอย่าง
ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น เอาเวลามาโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองเก่ง แล้วทำให้สุดๆ ไปเลยดีกว่านะครับ
สิ่งที่เราควรทำ
- ถามตัวเองว่าเราเก่งมากๆ เรื่องอะไร
- พิจารณาว่าเรื่องอะไรที่เราทำอยู่แล้วสามารถส่งให้คนอื่นทำได้ ที่จะได้ผลพอๆ กับที่เราทำเอง แล้วส่งต่องานนั้นให้คนอื่น
- เข้มงวดและมีวินัยกับตัวเองมากๆ ในการใช้เวลาในการพัฒนาสิ่งที่ตัวเองเก่งอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีกอย่างไม่ย่อท้อ
ถ้าเราสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายบนโลกนี้ ตั้งแต่นักกีฬาอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) นักกีฬาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ไปจนถึงเชฟที่รวยที่สุดของโลกอย่าง เจมี โอลิเวอร์ (Jamie Oliver) เราจะเห็นว่าเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีจุดด้อย อย่าง ไมเคิล เฟลป์ส ซึ่งเป็น ADHD หรือเจมี โอลิเวอร์ ซึ่งเป็นดิสเล็กเซีย (Dyslexia) แต่จุดเด่นที่พวกเขาเหล่านั้นฝึกฝนอย่างหนักมาก กลับลบจุดด้อยได้มิดชนิดไม่เคยมีใครมาสนใจจุดด้อยของพวกเขาอีกเลย
เหมือนดังที่ จิม คอลลินส์ (Jim Collins) เคยพูดไว้ครับ
“Good is the enemy of great.”
ถ้าคิดว่าตัวเองเก่งอะไรแล้ว ต้องทำให้สุดๆ ครับ
ถ้าคุณขออะไร โอกาสที่คุณจะได้คือ 0-100
แต่ถ้าคุณไม่ขอ โอกาสที่คุณจะได้คือ 0
2. ถ้าอยากได้อะไรต้องกล้าขอ
มันมีความจริงอยู่ข้อหนึ่งนะครับที่คนชอบลืม
ถ้าคุณขออะไร โอกาสที่คุณจะได้คือ 0-100
แต่ถ้าคุณไม่ขอ โอกาสที่คุณจะได้คือ 0
แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากที่มีคนจำนวนมากลังเลเมื่อถึงเวลาที่จะเอ่ยปากขออะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่หลายครั้งมันเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการทำธุรกิจ เหตุผลของการไม่กล้าขอ อาจจะเป็นเพราะกลัวการโดนปฏิเสธ กลัวหน้าแตก กลัวเสียหน้า กลัวดูงี่เง่าในสายตาคนอื่น ฯลฯ
ผมไม่ได้แนะนำให้คุณขอโน่นนี่พร่ำเพรื่อนะครับ แต่เมื่อถึงเวลาที่ถูกที่ควรขอก็ต้องขอครับ ผมมีแง่คิดในการขออะไรสักอย่างเพื่อโอกาสในการได้สิ่งที่ขอด้วยครับ
อยากได้อะไร ระบุให้ชัดเจน: อย่าอ้อมค้อม บอกไปเลยทั้ง 100% ครับว่าสิ่งที่ต้องการมีอะไรบ้าง และถ้าเรามีของแลกเปลี่ยน เราสามารถให้อะไรตอบแทนได้บ้าง ข้อเสนอคืออะไร
ขอด้วยความจริงใจและให้เกียรติ: ถ้าเป็นไปได้ควรทำให้สถานการณ์สุดท้ายแล้วเป็น win- win สำหรับทุกฝ่ายด้วย
ขอด้วยความมั่นใจ: ทุกครั้งที่ขออะไรสักอย่าง ขอให้เชื่อมั่นในใจไว้ก่อนเลยว่าคำตอบจะเป็น ‘ตกลง’ และถ้ามันยังไม่ใช่ในครั้งแรกก็ยังคงมีความมุ่งมั่นจะทำให้มันใช่ให้ได้
ตอบแทนเมื่อมีโอกาส: คนกตัญญูยากที่จะพบกับความลำบากครับ วิธีนี้ใช้ได้เสมอกับการขอกู้ธนาคาร การขอการอ้างอิง การขอการสนับสนุน ฯลฯ ตราบใดที่เรามีความจริงใจและพยายามจะหาทางออกที่ win-win ให้กับทั้งสองฝ่าย คุณจะแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะตอบ ‘ตกลง’ กับคุณเกือบทุกครั้ง
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำไว้เสมอคือ การที่ผมได้มีโอกาสขายของที่ 7-11
วันนั้นถ้าไม่กล้าขอ ศรีจันทร์คงไม่มีวันนี้แน่นอนครับ
ยุคนี้แบรนด์ยิ่งโปร่งใสเท่าไหร่ ลูกค้ายิ่งชอบครับ เพราะนี่คือยุคแห่งความจริงใจในการค้าขาย
3. ถ้าทำ Personal Branding ได้ ให้ทำ
ลูกค้าทุกวันนี้อยากซื้อของที่เขาสามารถนึกได้ว่าเป็นของใคร หน้าตาเป็นยังไง ผมไม่ได้หมายความว่าต้องนึกออกว่าเจ้าของคือใครเสมอไปนะครับ แต่ผมหมายถึงว่าลูกค้าชอบซื้อของกับแบรนด์ที่มีความเป็นมนุษย์ครับ
อย่างรถ MINI อยู่ภายใต้ร่มเงาของ BMW เราไม่รู้หรอกครับว่าใครเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของ แต่ MINI สำหรับลูกค้ามีความเป็นมนุษย์มาก เพราะ MINI สร้างแบรนด์โดยเข้าใจถึงเรื่องนี้ได้ดีครับ
แต่สิ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นมนุษย์ได้ง่ายที่สุด คือการเอาตัวเจ้าของนี่แหละเป็น Personal Branding เมื่อลูกค้ารู้สึกได้ว่าตัวเขาและเจ้าของแบรนด์ไม่ได้อยู่ไกลกันมากพอจะเชื่อมกันถึง ลูกค้าจะมีความสบายใจมากขึ้นที่จะซื้อของครับ
พูดให้ง่ายกว่านั้นคือลูกค้าจะรู้สึกได้ว่าแบรนด์นั้นมี transpareny หรือความโปร่งใส น่าคบหาด้วย
และยุคนี้แบรนด์ยิ่งโปร่งใสเท่าไหร่ ลูกค้ายิ่งชอบครับ เพราะนี่คือยุคแห่งความจริงใจในการค้าขายครับ
เดี๋ยวนี้ทำ Personal Branding ไม่ยากเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป เครื่องมือมีเพียบ เพราะฉะนั้นสละเวลาสักนิดมาทำเสียหน่อย แล้วท่านจะพบว่าประโยชน์ที่ได้มันมีมหาศาลครับ
แต่อดทนหน่อยนะครับ เพราะมันใช้เวลาทำนานนิดหนึ่ง
อ่านทุกข้อความ ทุกคอมเมนต์ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เชื่อไหมครับว่าคุณจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยอะมาก
4. Monitor & Learn
ฟีดแบ็กมีอยู่มากมายสุดๆ รอบๆ ตัวคุณครับ แต่มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณเอามันมาใช้เท่านั้น โชคดีจริงๆ ที่ในโลกของโซเชียลมีเดีย มีคนเอาฟีดแบ็กมารวมให้คุณหาได้ง่ายๆ
ในหน้าเฟซบุ๊กของคุณ ในกูเกิล ที่เสิร์ชคีย์เวิร์ดของคุณ ใน Pantip มีกระทู้เกี่ยวกับคุณ ฯลฯ เข้าไปอ่านทุกข้อความ ทุกคอมเมนต์ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เชื่อไหมครับว่าคุณจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยอะมาก
สินค้าใหม่ๆ ที่จะออกในปีหน้าของเราหลายตัวก็มาจากฟีดแบ็กที่เราเก็บมาจากหน้าวอลล์ของเราเองนี่แหละครับ
แม้ว่าปี 2017 ที่จะมาถึงนี้ หลายคนจะยังเกรงๆ อยู่ว่าจะคุ้มดีคุ้มร้าย แต่ผมเชื่อว่า คนที่วางแผนดี คิดดี ทำดี และขยันขันแข็ง จะสามารถผ่านปี 2017 ไปได้อย่างแข็งแรง
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ภาพประกอบ: Thomthongc
Tags: themomentumguide2017, Business, Personal Branding