ในวาระของวันขึ้นปีใหม่ ผมอยากส่งมากกว่าความสุขให้กับคุณผู้อ่าน The Momentum ทุกท่าน ด้วยการเสนอ 5 วิธีง่ายๆ ในการเปลี่ยนพฤติกรรม (หรือเปลี่ยนความคิด) เพื่อเพิ่มความสุขให้ตลอดทั้งปีนะครับ โดยเริ่มจาก

ผลผลิตที่เราจะได้มาจากการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งชั่วโมงนั้นจะเริ่มปรับตัวลดลงไปเรื่อยๆ
เมื่อเราใช้เวลาทำงานมากจนเกินไป

1. เปลี่ยนจากตั้งเป้า input มาเป็น output เล็กๆ ของการทำงานในแต่ละวัน

คำแนะนำข้อแรกนี้เป็นคำแนะนำพิเศษสำหรับคนที่ตกอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้นะครับ ได้แก่ คนที่เป็นเจ้านายของตัวเอง ลูกจ้างที่สามารถควบคุมและกำหนดเวลาการทำงานของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย เจ้านายของคนอื่นที่ต้องเป็นคนกำหนดการทำงานของลูกน้อง นักเรียน นักศึกษา (โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอก) และทุกๆ คนที่แสวงหาความหมายของคำว่า ‘work-life balance’

คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าความเครียดของคนเราส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนการทำงานที่ผิดพลาด นั่นก็คือการที่เราใช้เวลาในการทำงานเยอะมากในแต่ละวัน แต่ผลผลิตกลับไม่ออกมาเท่าๆ กับจำนวนชั่วโมงที่เราลงไปเลย สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือพวกเราหลายๆ คนมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่ายิ่งใช้เวลาทำงานมาก (input) ยิ่งจะได้ผลลัพธ์ (output) ออกมามาก พวกเราก็เลยฟิกซ์จำนวนชั่วโมงของ input เอาไว้แล้วหวังเอาไว้ว่าถ้าเราทำอย่างนี้ทุกๆ วันเป็นเวลาจำนวนหนึ่ง พอถึงวันที่เราจะต้องส่งงานเราก็จะมี output ที่ใหญ่ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น The marginal productivity of labour หรือผลผลิตที่เราจะได้มาจากการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งชั่วโมงนั้นจะเริ่มปรับตัวลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเราใช้เวลาทำงานมากจนเกินไป เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะสามารถผลิต output ออกมาได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ แต่เวลาที่เราต้องเสียไปในที่ทำงาน กลับไม่ได้ผลผลิตเทียบเท่าที่ต้องการในแต่ละวันนั้นก็ช่างเยอะเสียเหลือเกิน

แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากการตั้งเป้าว่า ‘วันนี้จะต้องทำงานให้ครบแปดชั่วโมง’ มาเป็นเป้าหมายของการทำงานเล็กๆ ในแต่ละวัน อย่างเช่น

วันนี้จะต้องตอบอีเมลลูกค้าให้ครบ 20 คน, ทำโปรเจกต์ที่จะต้องส่งในอีก 20 วันข้างหน้าให้เสร็จ 10% ของโปรเจกต์, เขียนคอลัมน์ที่จะส่งให้กับ The Momentum ก่อนสิ้นปีให้เสร็จ 5 บรรทัด ฯลฯ

เราก็จะสามารถหาจุดของการหยุดทำงานได้ในแต่ละวัน แล้วใช้เวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นให้คลายเครียดได้ แถมกลยุทธ์นี้ยังช่วยการันตีได้ด้วยว่าพอถึงเดดไลน์แล้วเราจะมี output ที่รวมๆ กันใหญ่พอที่จะส่งได้

ตัวแปรที่สำคัญเกือบที่สุดของความสุขของคนเราก็คือการที่เราได้ใช้เวลาอย่างมีค่ากับเพื่อน แฟน และครอบครัว

 

2. เปลี่ยนพฤติกรรมของการเล่นโทรศัพท์ หรือ iPad ที่บ้านและในร้านอาหารโดยใช้หลักของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ทุกคนก็คงจะเคยทำ (หรือเคยรำคาญกับคนที่ทำ) กับการหยิบโทรศัพท์หรือ iPad ขึ้นมาเล่นระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารกับเพื่อน แฟน หรือครอบครัวของเรานะครับ ไม่ต้องห่วงครับ เพราะตัวผมเองก็เป็นเหมือนกัน

สาเหตุที่เราเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่มี information overload (คือมันมีข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงเยอะเสียเหลือเกิน) ซึ่งก็ทำให้เรามักจะชอบแสวงหาในสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของเราทันทีที่เราอาจจะรู้สึกเบื่อ หรือในขณะที่เรากำลังรอบางอย่างอยู่ (อย่างเช่นการรออาหาร เป็นต้น)

ปัญหาก็คือตัวแปรที่สำคัญเกือบที่สุดของความสุขของคนเราก็คือการที่เราได้ใช้เวลาอย่างมีค่ากับเพื่อน แฟน และครอบครัว แต่การใช้เวลากับคนอื่นๆ นั้นมันจำเป็นที่จะต้องมีช่วงที่เงียบอยู่บ้างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งในขณะนั้นก็เป็นช่วงที่ทำให้เราหลายๆ คนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น และทำให้การสื่อสัมพันธ์ระหว่างเราและคนอื่นๆ ในขณะนั้นขาดตอน

และด้วยสาเหตุที่คนเรามักจะไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ เราจึงต้องหากลวิธีที่สามารถผลักดันให้เราเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดีต่อตัวเราเองและคนอื่นรอบข้างมาใช้ ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะเพิ่มความสุขของตัวคุณเองให้มากที่สุดจากการใช้เวลาอยู่กับคนที่คุณรัก ผมจึงขอแนะนำวิธีนี้ครับ

เวลาที่คุณออกไปกินข้าวกับเพื่อนๆ ให้คุณและเพื่อนๆ เอาโทรศัพท์มาวางกองกันอยู่บนโต๊ะ (หรือถ้ากลัวคนมาฉกเอาไประหว่างที่กำลังรับประทานอาหารกันอยู่ ก็ให้เอาใส่กระเป๋าของเพื่อนคนหนึ่งไว้ก็ได้) แล้วตั้งกฎเอาไว้ว่าถ้ามีใครหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นเป็นคนแรกระหว่างกินข้าวอยู่ละก็ ให้คนนั้นเป็นคนเลี้ยงเพื่อนๆ ทุกคน คนที่เล่นเป็นคนที่สองก็ต้องแชร์กับคนที่เล่นเป็นคนแรก และก็เหมือนเดิมสำหรับคนต่อๆ ไป

สำหรับคนที่กินข้าวกับแฟนหรือคนในครอบครัวผมก็แนะให้ใช้วิธีคล้ายๆ กัน แต่ให้เปลี่ยนจากการเลี้ยงข้าวมาเป็นทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราไม่อยากจะทำ แต่เป็นสิ่งที่แฟนหรือครอบครัวของเราอยากให้เราทำ อย่างเช่น ถูบ้าน ซักผ้า เป็นต้น

และด้วยเหตุผลที่ว่าคนเราเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ วิธีนี้ก็น่าจะทำให้เราหยุดนิสัยที่ไม่ดีของเราได้ครับ

3. ลืมเจ้าตัวต้นทุนจม (Sunk Cost) มันซะ!

ถ้าพูดกันในเชิงจิตวิทยาแล้วละก็ คนเรามักจะไม่ค่อยชอบตัดสินใจที่จะเลิกทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ

อย่างเช่นการตัดสินใจยังไม่เลิกกับแฟนที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเองบ่อยๆ การตัดสินใจยังไม่เลิกเป็นสมาชิกของฟิตเนสที่เราแทบจะไม่เคยไปใช้เลย ทั้งๆ ที่ยังต้องจ่ายค่าสมาชิกอยู่ทุกๆ เดือน การตัดสินใจยังไม่เลิกทำงานที่ไม่ได้ทำให้เราและคนรอบข้างมีความสุข เป็นต้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเราส่วนใหญ่รู้สึกเสียดายต้นทุนที่เราได้ลงไปในตอนแรก ซึ่งต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ลงไปแล้วลงไปเลย ยังไงๆ ก็จะไม่ได้กลับคืนมา (อย่างเช่นความรู้สึกที่ว่า ‘อยากเลิกแต่เสียดายเวลาที่เคยให้ไป’  เป็นต้น)

เราเรียกพวกต้นทุนเหล่านี้ว่าต้นทุนจม หรือ sunk cost และเราเรียกพฤติกรรมความเสียดายต้นทุนจมเหล่านี้ว่า sunk cost fallacy ซึ่งเป็น cognitive bias อย่างหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายได้ว่า ทำไมคนเราถึงชอบขว้างเงินดีๆ ทิ้งไปฟรีๆ หรือเพียงเพื่อแลกให้ได้ของที่คุณภาพไม่ดีกลับคืนมา

ถ้าเราสามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ว่าต้นทุนจมนั้นยังไงๆ เราก็ไม่สามารถถอนมันคืนกลับมาได้ เพราะฉะนั้นก็อย่านำมันมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเลิกทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือสิ่งที่ไม่มีผลดีตอบแทนให้กับตัวเราเลย

และถ้าเราสามารถตัดเจ้าตัวต้นทุนจมนี้ออกจากชีวิตของเราไปเสีย โอกาสที่เราจะมีความสุขขึ้นก็จะเพิ่มขึ้นไปโดยธรรมชาตินะครับ

4. ยอมรับกับตัวเองว่าผลของการตัดสินใจในขณะที่ตัวเองอยู่ใน Cold State และ Hot State นั้นไม่เหมือนกัน

เป็นสิ่งที่รู้ๆ กันในวงการจิตวิทยาว่าคนเรามักตกเป็นเหยื่อของ hot-cold empathy gap บ่อยๆ ซึ่ง hot-cold empathy gap ก็คือการที่คนเรามักจะประเมินค่าของการมีอิทธิพล (influences) จากการเปลี่ยนแปลงภายในของเรา (visceral drives) ที่มีต่อพฤติกรรมภายนอกของเราต่ำจนเกินไป

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ขั้นตอนในการตัดสินใจของคนเรานั้นมักจะขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นเรากำลังรู้สึกยังไง (state dependent)

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราอิ่ม (cold state) เราจะจินตนาการไม่ค่อยออกว่าความรู้สึกหิวนั้นเป็นยังไง และถ้าเราต้องออกไปซื้อกับข้าวเพื่อที่จะนำมาทำกินตอนเย็นในขณะที่เรากำลังอิ่มอยู่นั้น เราก็อาจจะซื้อไม่ได้เยอะ (เพราะว่ายังอิ่มอยู่) ถึงแม้ว่าตอนเย็นอาจจะหิวอีกก็ได้ (hot state)

และเพราะ hot-cold empathy gap นี้นี่เองอาจจะทำให้เรามักที่จะคิดตอนที่อยู่ใน cold state ว่า ‘ไม่มีทางหรอกที่เราจะทำอย่างนั้นในอนาคต’ (ซึ่ง ‘อย่างนั้น’ อาจจะรวมไปถึงการรับประทานอาหารเยอะกว่าที่ควรเมื่อตอนที่กำลังหิวจัด หรือการใช้เงินพนันจนหมดตัวในขณะที่กำลังเสียพนันอยู่ หรือแม้แต่กระทั่งการนอกใจคนรักในขณะที่อยู่ในสถานที่และภาวะที่เสี่ยง เป็นต้น)

แต่เมื่อเรามาตกอยู่ใน hot-state แล้วนั้น อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้

เพราะฉะนั้นคำแนะนำข้อที่ 4 ของผมก็คือการอย่าด่วนตัดสินใจในขณะที่กำลังอยู่ใน hot state (ซึ่งก็คือความรู้สึกที่พีกของ รัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง) รอให้ตัวเองกลับมาอยู่ใน cold state ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเราใช้เวลากับสิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้วใน cold state ในแต่ละวันมากกว่า hot state เยอะ และก็พยายามอย่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดของ hot-state ขึ้น (อย่างเช่นถ้าไม่อยากนอกใจแฟน ถึงแม้ว่าเราอาจจะคิดในขณะที่กำลังอยู่ใน cold-state ว่ายังไงๆ ก็ไม่มีทางนอกใจหรอก ก็อย่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถทำให้ hot-state เกิดขึ้น จนทำให้เราสามารถนอกใจแฟนของเราได้)

ปัญหาของการใช้เงินซื้อของที่มี status symbol
อย่างนี้ก็คือความสุขที่เราได้มาจากสิ่งของพวกนี้มักจะหายสาบสูญไปอย่างรวดเร็ว
ถ้าคนอื่นๆ รอบข้างของเราก็มีเหมือนๆ กันกับเรา

5. ใช้เงินซื้อประสบการณ์มากกว่าซื้อสิ่งของให้ตัวเอง

สาเหตุสำคัญที่งานวิจัยหลายๆ ชิ้นพบว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้มากอย่างที่เราคิดกัน ก็เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ถึงกับจน มักจะใช้เงินซื้อแต่สิ่งของที่ต้องการบอกให้คนอื่นๆ รู้ว่า ‘ผม/ฉันไม่ได้จนนะ’ อย่างเช่น iPhone รุ่นใหม่ นาฬิการุ่นใหม่ หรือรถรุ่นใหม่ล่าสุด เป็นต้น

ปัญหาของการใช้เงินซื้อของที่มี status symbol อย่างนี้ก็คือความสุขที่เราได้มาจากสิ่งของพวกนี้มักจะหายสาบสูญไปอย่างรวดเร็ว ถ้าคนอื่นๆ รอบข้างของเราก็มีเหมือนๆ กันกับเรา (ถ้าไม่เชื่อก็ลองจินตนาการดูสิครับว่าความสุขที่คุณจะได้มาจากการมี iPhone รุ่นใหม่อยู่คนเดียวกับการมี iPhone รุ่นใหม่ แต่ทุกๆ คนที่คุณรู้จักก็มี iPhone รุ่นใหม่เหมือนกัน แถมทุกคนมีสีของ iPhone ที่สวยกว่าและหายากกว่าสีของ iPhone ที่คุณมีด้วย)

แต่ถ้าเรานำเงินไปใช้ซื้อประสบการณ์แล้วละก็ เราก็จะพบว่าประสบการณ์นั้นมีผลกับความสุขของเรามากกว่าการซื้อสิ่งของให้กับตัวเองเยอะ นั่นก็เป็นเพราะว่าความสุขที่เราจะได้มาจากประสบการณ์นั้นจะเป็นความสุขที่ไม่ใช่ relative เพราะไม่ได้มาจากการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของคนอื่น

และคำแนะนำโบนัสเกี่ยวกับความสุขข้อสุดท้ายก็คือ…

ถ้าคุณกำลังจะต้องเลือกระหว่าง

1) การพักโรงแรมที่หรูก่อน แล้วตามด้วยโรงแรมที่ถูกทีหลัง ตอนใกล้ที่จะจบทริปไปเที่ยว

2) กินลูกชิ้นที่คุณชอบก่อนกินเส้นหมี่ทีหลัง

3) ดูหนังดีๆ ก่อนแล้วตามด้วยดูหนังที่ไม่ค่อยดี เป็นต้น

ให้คุณจำเอาไว้ตลอดว่าตัวแปรตัวสำคัญของความสามารถของคนเราในการจำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น (Our ability to remember our past experiences) ไม่ใช่ระยะเวลา (duration) ของประสบการณ์นั้นๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่า

 จุดสูงสุดของความรู้สึกของประสบการณ์นั้นๆ อยู่ตรงไหน (How good/bad the peak of the experience is?) และประสบการณ์นั้นจบลงด้วยความรู้สึกยังไง (How quickly the feeling diminishes?)

เพราะฉะนั้น เพื่อความทรงจำที่ดีของคุณในอนาคต คุณควร

1) พักโรงแรมหรูๆ สุดท้ายของทริป

2) กินลูกชิ้นหลังกินเส้นให้หมดก่อน

3) ดูหนังดีๆ ท้ายสุดหลังจากหนังที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เป็นต้น

 

Happy Ending
สวัสดีปีใหม่ครับ 🙂

ภาพประกอบ: LoveSyrup

Tags: ,