ผมเคยร่วมสัมภาษณ์ ดีเตอร์ แรมส์ (Dieter Rams) มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือที่ฮ่องกง และครั้งต่อมาที่กรุงเทพฯ ทั้งสองครั้งเป็นการสัมภาษณ์รวมที่ต้องถามพร้อมตัวแทนจากสื่ออื่น
“คุณออกแบบของมาหลายอย่างแล้วในชีวิตนี้ ถ้ามีโอกาสได้กลับไปทำงานออกแบบอีกครั้ง คุณอยากจะออกแบบอะไรมากที่สุด?”
ผมถามแรมส์ครั้งสัมภาษณ์ที่ฮ่องกงในงาน Business of Design Week 2011
แรมส์ตอบกลับมาว่า เขาอยากออกแบบปั๊มน้ำมัน
ดีเตอร์ แรมส์ เริ่มเรียนสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ที่ Wiesbaden School of Art ประเทศเยอรมนี ช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี หลังเรียนจบเมื่อปี 1953 เขาเริ่มประกอบวิชาชีพครั้งแรกกับสถาปนิกที่ชื่อ คาร์ล-อ็อตโต อาเปล (Karl-Otto Apel) ที่แฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เยอรมนีกำลังสร้างเมืองกลับมาใหม่หลังจากแพ้สงคราม ทำให้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานสถาปนิกจากอเมริกันอย่าง Skidmore, Owings & Merrill (SOM)
หลังจากทำงานกับอาเปลไม่นาน เขาก็เปลี่ยนงานไปเป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายในให้กับบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Braun เมื่อปี 1955 พอทำงานได้สักพักใหญ่ๆ เขาก็ได้โปรโมตเป็น Chief Design Officer ดูแลงานออกแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1961 และก็อยู่ในตำแหน่งนี้มาจนถึงปี 1995
เขายอมรับว่างานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะงานของสถาปนิกเยอรมันที่ต้องหนีภัยผู้ให้การสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ (Fascist) ไปอยู่ที่อเมริกาอย่างเช่น Mies van der Rohe และ Walter Gropius ส่งอิทธิพลไปถึงการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นอย่างมาก การได้ทำงานกับสถาปนิกอย่าง SOM และอาเปล ก็ทำให้เขาเรียนรู้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดทุกๆ ขั้นตอนการออกแบบ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในขั้นตอนการทำโมเดล และโปรโตไทป์เป็นอย่างมาก
ผลงานออกแบบของแรมส์ มีตั้งแต่วิทยุ เครื่องอัดเสียง ที่โกนหนวด เครื่องทำกาแฟ นาฬิกาปลุก ที่เป่าผม เครื่องคิดเลข เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯลฯ ที่ทำให้กับ Braun รวมทั้งงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับ Vitsœ
และเป็นที่รู้กันดีว่า เพราะผลงานของแรมส์นี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ โจนาธาน ไอฟ์ (Jonathan Ive) ของ Apple ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาหน้าตาไม่ต่างจากสิ่งที่แรมส์ทำไว้ตั้งแต่ปี 1950 แม้ว่าคนส่วนมากมักจะชอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบให้ Braun กับสิ่งที่ Apple ออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์รุ่น 1955 หรือ 1965 แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยมองว่า Apple เลียนแบบงานของเขา แต่ถือว่านี่คือการยกย่องกันต่างหาก
ในภาพยนตร์สารคดี Objectified (2008) ของ แกรี ฮัสต์วิต (Gary Hustwit) เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทุกวันนี้เราทำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกสู่ท้องตลาดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่งานออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรม โฆษณาและอีกหลายต่อหลายอย่าง
งานออกแบบยุคนี้กลายเป็นสิ่งที่เอาไว้เชิดหน้าชูตาไลฟ์สไตล์ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่พวกเราควรใส่ใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ใหม่กันมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะบุคคล แต่มันควรเป็นความใส่ใจของเมืองทั้งเมือง เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าโลกนี้จะเป็นอย่างไร แต่นี่ควรเป็นความรับผิดชอบของคนที่เป็นนักออกแบบ
ช่วงท้ายๆ ของการให้สัมภาษณ์ เขาพูดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีกครั้ง เขาคงไม่อยากเป็นนักออกแบบอีกแล้ว เพราะเขาเชื่อว่า ในอนาคตเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีของหลายสิ่งเท่ากับการให้ความสำคัญในการใส่ใจว่า เราจะอยู่ที่ไหน และอยู่กันแบบใดมากกว่า และนี่คงเป็นแรงกระตุ้นบางอย่างให้ฮัสต์วิตคิดจะทำภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาที่ใช้ชื่อว่า Rams ที่ว่าด้วยชีวิตความเป็นมาและผลงานของดีเตอร์ แรมส์
ในวัย 84 ปี ดีเตอร์ แรมส์ จะแสดงเป็นตัวเขาเองในหนังสารคดีเรื่องนี้ และอย่างช้าที่สุด ในเดือนตุลาคมปี 2017 พวกเราจะได้ชมหนังสารคดีเรื่อง Rams พร้อมๆ กับตัวเขาในวัย 85 ปี หลังจากที่โปรเจกต์นี้ได้รับการระดมทุนผ่าน Kickstarter โดยใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น ก็ได้ยอดทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยอดเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้เอาไว้ใช้แค่การทำหนังเรื่องนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกแบ่งไปใช้ในการเก็บรักษาผลงานต่างๆ ของแรมส์อีกด้วย
ถ้าพูดถึง ดีเตอร์ แรมส์ ยังไงก็ต้องไม่ลืมที่จะพูดถึง ‘กฎ 10 ข้อของงานออกแบบที่ดี’ ที่เขาคิดขึ้นมาหลังจากที่ถามตัวเองอยู่เสมอว่า งานออกแบบของเขานั้นดีแล้วหรือยัง กฎทั้ง 10 ข้อถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค 70s และมันก็น่าสนใจไม่น้อยตรงที่เวลาผ่านไปหลายสิบปีขนาดนี้แล้ว ดูเหมือนว่านักออกแบบ โดยเฉพาะนักออกแบบอุตสาหกรรมก็ยังคงเชื่อถือและยึดมั่นในกฎทั้ง 10 ข้อนี้อยู่เสมอมา
‘Good design is as little design as possible’
คือกฎข้อที่ 10 ที่มักจะได้รับการกล่าวซ้ำอยู่บ่อยครั้งกว่าข้ออื่น มันเป็นประโยคที่ฟังดูดี ติดหู เหมาะจะเอามาพูดซ้ำ และดูจะไปได้ดีกับงานออกแบบของนักออกแบบหลายๆ คนในปัจจุบันนี้
สำหรับผมแล้ว ที่ชอบมากที่สุดจาก 10 ข้อนี้ ก็คือข้อที่ 6 ‘Good design is honest’
แรมส์ให้เหตุผลสนับสนุนข้อนี้เอาไว้ว่า งานออกแบบที่ดีคืองานออกแบบที่ซื่อสัตย์ ต้องไม่ทำให้มันดูเวอร์เกินความเป็นจริง ต้องไม่หลอกล่อหรือชี้นำให้ผู้ใช้งานคิดไปว่ามันมีดีมากกว่าสิ่งที่มันมีจริงๆ
และนี่คือสิ่งที่ผมสนใจจะเขียนถึงงานออกแบบ/นักออกแบบที่คิดว่ามีคุณสมบัติในกฎข้อที่ 6 ของงานออกแบบที่ดีของ ดีเตอร์ แรมส์ ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตามอ่านกันทุกเดือนที่นี่
Tags: Jonathan Ive, opinion, Successful, Good design is honest, Dieter Rams, Braun