ความหมายของ ‘ป่าคอนกรีต’ ใน 10-20 ปีก่อนอาจต่างไปจากวันนี้ เมื่อเทรนด์โลกของการออกแบบกำลังมุ่งสู่ทิศทางของความยั่งยืน

เราไม่ได้พูดถึงการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน หรือการปลูกป่า 5,000 ต้นใจกลางมหานคร

แต่เรากำลังหมายถึงโปรเจกต์การเนรมิตตึกระฟ้าทั้งเมืองให้เป็นสวนป่าแนวตั้ง ที่ สเตฟาโน โบเอรี (Stefano Boeri) สถาปนิกอิตาเลียนชื่อดังกำลังจะสร้างร่วมกับรัฐบาลจีน

The Forest City: โปรเจกต์ปลูกตึกป่าในหนานจิง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะประกาศสงครามกับถ่านหินตั้งแต่ปี 2014 แต่จีนก็ยังคงเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษอย่างรุนแรง เมืองอุตสาหกรรมที่เคยขับเคลื่อนการผลิตต่างได้รับผลกระทบและส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 104 โครงการ ซึ่งคาดว่ามีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดสูงถึง 120 กิกะวัตต์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 47 โครงการ

30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คือมูลค่าความเสียหายที่รัฐบาลยอมจ่าย ด้วยหวังว่าจะลดปริมาณการใช้ถ่านหินในประเทศ และแก้ปัญหาหมอกควันในระยะยาวด้วยการลงทุนกับโครงการพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ

แต่จะแก้ปัญหาและฟื้นฟูเมืองไปพร้อมกันได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่จีนต้องแก้ต่อ

คำตอบนั้นอาจอยู่ที่ ‘เมืองหนานจิง’

กลุ่มบริษัททุนของรัฐ Nanjing Yang Zi State-wned National Investment Group ได้ชวน สเตฟาโน โบเอรี สถาปนิกชาวอิตาเลียนวัย 60 ปี เจ้าของบริษัทออกแบบ Stefano Boeri Architetti เข้ามาร่วมแก้ปัญหามลพิษของจีน ด้วยการออกแบบตึกคู่ Nanjing Green Towers ที่มีลักษณะเป็น ‘ป่าแนวตั้ง’ (Vertical Forest)’ โดยผสมผสานสิ่งก่อสร้างกับต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเข้าด้วยกัน

ถามว่ากรีนแค่ไหน? ทีมสถาปนิกวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่าตึกทั้งสองซึ่งมีความสูง 107 เมตร และ 199 เมตร จะมีต้นไม้ทั้งหมด 1,100 ต้น ประกอบด้วยต้นไม้สูง 600 ต้น และต้นไม้ขนาดกลางอีก 500 ต้น คาดว่าจะช่วยดูดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ถึง 25 ตัน/ปี และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น ‘ปอด’ ผลิตก๊าซออกซิเจนกลับคืนสู่เมืองได้ราวๆ 60 กิโลกรัม/ปี

แรงบันดาลใจของการออกแบบก็ไม่ได้มาจากที่อื่นไกล เพราะทีมสถาปนิกยึดตามโปรโตไทป์เดิมของตึกต้นไม้ฝาแฝด Bosco Verticale ที่โบเอรีเคยออกแบบในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี (คำว่า ‘Bosco’ ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า ‘ป่า’)

โปรเจกต์นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018 และถือเป็นตึกป่าแนวตั้งแห่งแรกในเอเชีย

และจะไม่ใช่ที่เดียว เพราะโบเอรียังถือโปรเจกต์ใหญ่อย่าง The Forest City การออกแบบอาคารที่พักอาศัยใหม่ 100 แห่ง ในเมืองฉือเจียจวง โดยใช้คอนเซ็ปต์เดียวกัน ทั้งยังมีแผนจะสร้างตึกป่าแนวตั้งในเมืองอื่นๆ อีกด้วย เช่น หลิ่วโจว, กุ้ยโจว, เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง

ถ้าหากสำเร็จ The Forest City จะเป็นเมืองต้นแบบของความยั่งยืนในยุคใหม่ และสามารถรองรับเกษตรกรที่อพยพย้ายเข้ามาอยู่อาศัยได้ 14 ล้านคน/ปี

โบเอรีกล่าวว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการ ‘ปลูก’ ตึกป่าแนวตั้งคือ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง ซึ่งเคยถูกทำลายไปกับความเจริญของเมือง

ครั้งหนึ่งโบเอรีได้กล่าวบนเวที TEDxTirana ว่าการออกแบบนี้คือการปฏิวัติความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างตึกกระจกทั้งหลังเหมือนที่อื่นๆ เขาจึงเลือกนำต้นไม้และไม้ประดับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบรูปทรงอาคาร

จะเรียกว่าเป็นการออกแบบที่หาทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็ไม่ผิด

อ้างอิง:    

www.stefanoboeriarchitetti.net/en/news/the-first-vertical-forest-in-china-is-raising-in-nanjing

www.stefanoboeriarchitetti.net/en/portfolios/forest-city   

www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/china-set-for-first-vertical-forest-buildings/3496064.html

Tags: , , , ,