การประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2017 ยังคงดำเนินไปอย่างคึกคัก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และไฮไลต์ของการประชุมในวันที่ 18 มกราคม 2560 ตกเป็นของ แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา ที่ได้พูดคุยและถกประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของการค้าออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามอง ณ ขณะนี้

The Momentum ได้สรุปประเด็นสำคัญจากการเสวนาระหว่าง แจ็ก หม่า กับ แอนดรูว์ ซอร์กิน นักข่าวและผู้ดำเนินการเสวนามาไว้ ดังนี้

1. เบื้องหลังการพบทรัมป์ ไขความสัมพันธ์จีน-อเมริกา

บนเวทีเสวนา แอนดรูว์ ซอร์กิน เปิดฉากยิงคำถามที่คนทั่วโลกต่างสงสัยใคร่รู้มาร่วมเกือบสัปดาห์ ซึ่งก็คือการเข้าประชุมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

แจ็ก หม่า กล่าวว่าเขาพอใจกับผลลัพธ์ของการประชุมที่ผ่านมา หลังจากได้หารือกับทรัมป์ว่าจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกันจำนวน 1 ล้านตำแหน่ง โดยมุ่งสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในแถบมิดเวสต์ ในการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรให้กับผู้บริโภคจีนผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา

พร้อมกับเสริมว่าทรัมป์นั้น ‘เปิดใจกว้าง’ และ ‘รับฟังสิ่งที่เขาพูด’ จริงๆ

“คุณไม่ได้กำลังจะจ้างคนมาทำงานที่อาลีบาบาถึง 1 ล้านตำแหน่งใช่ไหม?”

“ไม่ใช่ครับ อาลีบาบามีพนักงานกว่า 45,000 คน ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะจ้างคนตั้ง 1 ล้านคนได้ยังไง” แจ็ก หม่า กล่าว

ทั้งนี้ แจ็ก หม่า ยืนยันว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ไม่เคยทำสงครามการค้ากันมาก่อน และทั้งสองประเทศจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างสุดความสามารถ พร้อมแนะทุกฝ่ายว่าควร ‘ให้เวลา’ กับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ บ้าง

ประเทศอื่นไม่ได้แย่งงานไปจากชาวอเมริกันอย่างพวกคุณหรอก
แต่เป็นกลยุทธ์ของพวกคุณต่างหาก ที่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนอย่างเหมาะสม

 

2. โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ต้นเหตุ แต่อเมริกาล้มเหลวเพราะโฟกัสกับสงครามและตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมากเกินไป

แอนดรูว์ ซอร์กิน ได้ยิงคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาว่าเขาคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวโจมตีจีนว่าเป็นต้นเหตุของการแย่งงานชาวอเมริกันจำนวนมาก ทั้งยังแสดงท่าทีต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจน

“ผมคิดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางการพูด ดังนั้นเขามีสิทธิ์ที่จะพูดยังไงก็ได้ ผมเคารพและเข้าใจ”

แจ็ก หม่า มองต่างว่า “โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ดี” เขาได้ยกตัวอย่างหนังสือ The World Is Flat ของ โธมัส ฟรายด์แมน (Thomas Friedman) ซึ่งพูดถึงโลกาภิวัตน์ ว่าเป็น ‘กลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม’

“บริษัทข้ามชาติหลายแห่งของอเมริกาทำเงินได้เป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากกระแสโลกาภิวัตน์ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็ม ซิสโก้ ไมโครซอฟต์ ล้วนทำรายได้มหาศาล กำไรที่พวกเขาหามาได้นั้นมากกว่าเงินจาก 4 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในจีนรวมกันเสียอีก”

“แล้วเงินเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน?” เขาตั้งข้อสงสัยอย่างนักธุรกิจที่จำเป็นต้องรู้เสมอว่ามีเม็ดเงินเข้าออกจากทางไหนบ้าง

“30 ปีที่ผ่านมา อเมริกาทำสงครามมา 13 ครั้ง ซึ่งใช้งบประมาณราว 14.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นคือจุดที่เงินไหลไป จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากพวกเขานำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยเหลือแรงงานปกขาว (เช่น พนักงานตามบริษัทห้างร้าน) และแรงงานปกน้ำเงิน (ผู้ใช้แรงงานในโรงงาน)

“ไม่ว่าจะมีกลยุทธ์ยอดเยี่ยมแค่ไหน คุณก็ควรจะลงทุนกับคนของคุณ”

แจ็ก หม่า กล่าวว่าเราควรลงทุนงบประมาณกับคนที่เรียนไม่เก่ง ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และสหรัฐฯ ควรจะลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในมิดเวสต์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เขายังยกตัวอย่างวิกฤตทางการเงินซับไพรม์ในปี 2008 ที่สร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 19.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้คนทั่วโลกต้องตกงาน 32 ล้านตำแหน่ง

“ประเทศอื่นไม่ได้แย่งงานไปจากชาวอเมริกันอย่างพวกคุณหรอก แต่เป็นกลยุทธ์ของพวกคุณต่างหาก ที่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนอย่างเหมาะสม

“จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากเม็ดเงินไม่ได้ไหลไปยังวอลล์สตรีท หากเรานำมาลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมในมิดเวสต์แทน”

3. โลกาภิวัตน์จะต้องมีการพัฒนาและครอบคลุมอย่างทั่วถึง (Inclusive Globalization)

เมื่อ แอนดรูว์ ซอร์กิน ถามว่า แจ็ก หม่า คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นโลกาภิวัตน์ที่เริ่มเสื่อมความนิยมลง และจะทำงานร่วมกับทรัมป์ซึ่งมีทัศนะต่อต้านเรื่องนี้อย่างแข็งกร้าวอย่างไร

แจ็ก หม่า ยืนยันว่า โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและประเทศจีนได้เรียนรู้จากสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาอื่นๆ แม้ว่าก่อนหน้านี้จีนจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และเกรงว่าสินค้าต่างชาติจะทะลักเข้ามาในประเทศและทำลายอุตสาหกรรมการผลิตของจีนก็ตาม

“ผมเชื่อว่าโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการพัฒนา นี่คือปัญหาที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องแก้ไข และผมคิดว่าโลกาภิวัตน์จะต้องครอบคลุมอย่างทั่วถึง”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าเมื่อ 20 ปีก่อน กระแสโลกาภิวัตน์ถูกควบคุมโดยบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าถ้าหากธุรกิจรายอื่นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและการประกอบอาชีพอีกมาก

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหาก 30 ปีข้างหน้า เราสามารถสนับสนุนธุรกิจ 6 ล้านรายและธุรกิจขนาดเล็ก 20 ล้านรายให้สามารถทำธุรกิจข้ามชาติได้”

4. โลกออนไลน์จะเป็นเวทีการค้าเสรีใหม่ของธุรกิจขนาดเล็ก

แจ็ก หม่า ได้พูดถึงบทบาทขององค์การการค้าโลกว่าเป็นเวทีที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มประเทศพัฒนาและบริษัทใหญ่เท่านั้น หากไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก เขาจึงพยายามผลักดันไอเดียการสร้างเวทีการค้าเสรีใหม่ในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า eWTP (Electronic World Trade Platform) เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กให้มีพื้นที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เสรีและเป็นธรรมผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาเคยเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่ม G-20 เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ แจ็ก หม่า ยังกล่าวว่าเวทีการค้าควรเป็นพื้นที่สำหรับนักธุรกิจอย่างแท้จริงมากกว่าจะเป็นขององค์กร และควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐโดยตรง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในปัจจุบันให้แกร่งยิ่งขึ้น

30 ปีที่ผ่านมา อเมริกาทำสงครามมา 13 ครั้ง
ซึ่งใช้งบประมาณราว 14.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นคือจุดที่เงินไหลไป จะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าหากพวกเขานำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

 

5. ความก้าวหน้าของจีน

ในงานเสวนาครั้งนี้ แจ็ก หม่า ยังกล่าวชื่นชมการกล่าวปราศรัยของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จากการเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกเมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2560 โดยสีจิ้นผิงได้ประกาศหนุนการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์อย่างแข็งขัน

ซึ่ง แจ็ก หม่า มองว่านี่คือความก้าวหน้าครั้งใหม่ของจีนในเวทีโลก พร้อมกับให้ความเห็นว่าโลกจะต้องร่วมมือกันมากกว่าการพึ่งพาผู้นำคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ อาลีบาบาได้ประกาศต่อต้านและจะจัดการปัญหาสินค้าปลอมที่ทำให้บริษัทต้องติดแบล็กลิสต์ของสหรัฐฯ ให้ได้ แม้ว่าหม่าเองจะยอมรับว่า “เป็นปัญหาที่ไม่ง่ายเลยก็ตาม”

โลกเราไม่สามารถมีโมเดลธุรกิจเดียว
ถ้าหากโลกของเรามีธุรกิจที่ใช่อยู่แค่โมเดลเดียว โลกก็คงจะน่าเบื่อเกินไป

 

6. โลกธุรกิจไม่จำเป็นต้องเดินตาม Amazon หรือ Alibaba

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเจ้าพ่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซแห่งโลกตะวันออกมาร่วมถกประเด็นอนาคตการค้าออนไลน์ทั้งที หลายคนจึงอดเปรียบเทียบกลยุทธ์การบริหารธุรกิจระหว่างอาลีบาบากับ Amazon ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาไปไม่ได้

แอนดรูว์ ซอร์กิน ตั้งข้อสังเกตว่า Amazon จะนิยมเดินเกมเข้าซื้อขาย กินรวบกิจการตั้งแต่ต้นสายถึงปลายน้ำ ซึ่งนับว่าต่างจากอาลีบาบาโดยสิ้นเชิง

แจ็ก หม่า กล่าวว่า Amazon นั้นเหมือนกับอาณาจักรมากกว่า ในทางกลับกัน อาลีบาบานั้นตั้งเป้าว่าจะเป็นระบบนิเวศที่ช่วยเสริมอำนาจให้ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจทุกคนสามารถขายสินค้าและเติบโตได้เหมือนกับ Amazon ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของอาลีบาบา”

เมื่อซอร์กินถามว่า “แล้วกลยุทธ์ของใครถูกต้องกันแน่?”

แจ็ก หม่า จึงตอบว่า “โลกเราไม่สามารถมีโมเดลธุรกิจเดียว ถ้าหากโลกของเรามีธุรกิจที่ใช่อยู่แค่โมเดลเดียว โลกก็คงจะน่าเบื่อเกินไป”

ทั้งหมดนี้คืออนาคตของการค้าออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ ในสายตา แจ็ก หม่า ที่โลกต้องจับตา!

Photo: Ruben Sprich, Reuters/profile
อ้างอิง:
     – https://www.weforum.org/agenda/2017/01/jack-ma-america-has-wasted-its-wealth/
– https://www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting-2017/sessions/an-insight-an-idea-with-jack-ma

Tags: