เปิดฉากปี 2560 มีแต่เรื่องหนักๆ มาให้สหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปัจจุบันมีสมาชิกประเทศยุโรป 28 ประเทศ หาก UK ออกไปจะเหลือ 27 ประเทศ) ต้องกลุ้มใจอยู่ไม่น้อย เกี่ยวกับบทบาทของตนในวงการธุรกิจการค้าโลก โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกติก็เป็นทั้งคู่แข่งและเพื่อนมาแต่ไหนแต่ไร
แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าจะกลายเป็น ‘สงครามการค้า’ ระหว่างเพื่อนเก่า ในยุคประธานาธิบดีคนใหม่–โดนัลด์ ทรัมป์ แทนความสัมพันธ์ Transatlantic ที่ราบรื่นในยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามา สงครามการค้าอาจเกิดขึ้นได้จริง หนำซ้ำ EU ยังจะต้องเผชิญกับเรื่องยุ่งๆ ในการเจรจา Brexit หรือขอออกจากสหภาพยุโรป ของสหราชอาณาจักร ที่คาดว่ากระบวนการเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2560 และลากยาวไปอีกประมาณ 2 ปี ยิ่งสร้างกระแสความไม่ชัดเจน ไม่มั่นใจ และห่วงกังวลของนักลงทุนและภาคธุรกิจเกี่ยวกับระบบการค้าโลกเพิ่มมากขึ้น
หากมองย้อนไปสักปีสองปี จะเห็นว่ายุโรปเพิ่งผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติด้านการเงินที่โหมกระหน่ำยุโรปอย่างรุนแรงไปหมาดๆ อย่างวิกฤติหนี้กรีซ โดยในปี 2559-2560 เศรษฐกิจยุโรปเริ่มปรับตัวดีขึ้น ระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นนิดหน่อยจาก 1.6% ในปี 2558 เป็น 1.7% ในปี 2559 ซึ่งก็ยังต่ำกว่าที่คาดเดาเอาไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ในปี 2560 เศรษฐกิจยุโรปมีทิศทางปรับตัวในเชิงบวกไปด้วย โดยรายงาน European Economic Forecast คาดว่า GDP ของประเทศยูโรโซนในปีนี้น่าจะขยับไปที่ 1.9% แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีทรัมป์อาจทำให้ EU ต้องปวดหัวมากขึ้น
ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แทนพรรครีพับลิกัน นักการเมืองและนักธุรกิจ ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ตั้งแต่วันนี้ (20 ม.ค. 2560 ) อาจ ‘ช็อก’ (คนยุโรป) ไม่น้อยตอนได้ตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับแคมเปญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ซึ่งรวมถึงนโยบายและบทบาทใหม่ของสหรัฐอเมริกาในระบบการค้าโลก ที่แน่นอนว่าออกไปในทิศทาง ‘ปิดกั้น’ (Protectionist) มากกว่าการค้าเสรี ซึ่งเป็นนโยบายการค้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำมายาวนานเป็นสิบๆ ปี
โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะสร้างโอกาสและงานให้กับชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกา ผ่านการปรับแก้ความตกลงด้านการค้าและเขตการค้าเสรีหรือ FTA ต่างๆ ให้มี ‘ความเป็นธรรม’ กับชาวอเมริกันมากขึ้น นั่นหมายถึงคู่ค้าอื่นๆ ในโลกคงต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
สำหรับยุโรป แม้จะรู้ๆ อยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของทรัมป์คงเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว และส่งผลต่อภาคธุรกิจยุโรปแน่นอน ซึ่งถึงแม้จะได้เตรียมปรับตัวไว้แล้ว แต่ก็ยังอด ‘ช็อก’ ไม่ได้ เพราะล่าสุดทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อยุโรปว่า รถยุโรปที่จะเข้าไปขายในสหรัฐฯ แต่ผลิตในเม็กซิโกจะต้องเจอกับภาษีนำเข้าถึง 35%!
ทรัมป์กล่าวว่า “I would tell BMW that if you are building a factory in Mexico and plan to sell cars to the US without a 35% tax then you can forget that” พูดแค่นี้ ทำเอาหุ้น BMW ตก 1.5% หุ้น VW ตก 1.8% และหุ้น Mercedes Benz ตก 1.6% ได้เลยทีเดียว
นักวิเคราะห์มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทรัมป์ออกมาประกาศแบบนี้ เพราะเขากำลังจะทำสิ่งที่เขาได้สัญญาไว้กับชาวอเมริกัน ขณะที่ยุโรปมองว่านี่คือการเริ่มต้นสงครามการค้า ที่ฝั่งยุโรปกลัวว่าจะต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
นอกจากเรื่องนโยบายการค้าแล้ว เรื่องนโยบายต่างประเทศและกลาโหมของ สหรัฐอเมริกา ก็ดูจะเปลี่ยนไปมากเช่นเดียวกัน เพราะเขาเคยกล่าวว่าองค์กร NATO ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรปนั้นใช้การไม่ได้ หรือ NATO is ‘obsolete’ และบอกว่าสมาชิกฝั่งยุโรปจะต้องให้การสนับสนุนใน NATO มากกว่านี้ และมองการบูรณาการของยุโรปว่าคงไปไม่รอด และการออกจาก EU ของ UK นั้นเป็นเรื่องดี อีกทั้งยังต้องการสานต่อความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียและประธานาธิบดีปูติน เสมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะพยายามเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองและการต่างประเทศโลก และผลัก EU ให้ตกขอบ
บรรดาผู้นำ EU คาดว่าคงต้องหวาดหวั่นอยู่บ้าง เพราะเหมือนฝันร้ายกลายเป็นจริงตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากทรัมป์กับ EU นั้นมาคนละแนวกัน และเขาไม่เคยมองว่าการรวมตัวและบูรณาการของ EU 28 ประเทศนั้นจะมีประโยชน์อะไร
แต่ถึงอย่างไร EU คงต้องทำตัว ‘cool cool’ ไว้ก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งยุโรปในอเมริกาและอเมริกาในยุโรป ให้เดินหน้าทำธุรกิจและการค้าที่ลงทุนไปแล้วกันต่อไปในทิศทางที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบาย Populism ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้น้อยที่สุด
Tags: DonaldTrump, EU