นโยบาย America First ของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นสะท้อนออกมาให้เห็นแล้ว หลังจากเขาตัดสินใจถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่ บารัก โอบามา ได้ริเริ่มไว้เพื่อสานสัมพันธ์การค้ากับกลุ่มประเทศเอเชียในปี 2015 และเพื่อไว้คานอำนาจกับประเทศจีนในเอเชีย เพราะข้อตกลง TPP นั้นไม่มีจีนเป็นสมาชิก ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มธุรกิจสหรัฐฯ ในตอนนั้น เพราะพวกเขาจะได้ประโยชน์จากแรงงานที่มาจากเอเชีย

(ติดตามความสัมพันธ์ของทรัมป์กับเอเชียได้ที่ ทำไมคนไทยต้องสนใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ?)

การตัดสินใจนี้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะทรัมป์ หรือ ฮิลลารี คลินตัน ต่างก็มีทิศทางต่อ TPP ชัดเจนว่าพวกเขาจะถอนตัว เพราะมองว่าการร่วมมือทางการค้า TPP นั้นกลับส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงาน

Photo: Toru Hanai, Reuters/profile

ทรัมป์ต้องการทำข้อตกลงทางการค้าแบบ 1 ต่อ 1

ทันทีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าทำงานที่ทำเนียบขาว เขาได้ลงนามคำสั่งถอนตัวสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงทางการค้า TPP ที่มี 12 ประเทศเข้าร่วม

เขาประกาศว่า สหรัฐฯ ต้องการทำข้อตกลงทางการค้าในลักษณะ 1 ต่อ 1 (one-on-one trade deals) เพราะสามารถทำให้สหรัฐฯ สามารถยกเลิกข้อตกลงได้ทันทีภายใน 30 วัน หากประเทศนั้นๆ ดำเนินการทางการค้าไม่เหมาะสม

“เรากำลังจะยุติบรรดาข้อตกลงทางการค้าไร้สาระ ที่มาแย่งงานคนและบริษัทในประเทศของเรา”

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งจุดยืนของทรัมป์ต่อข้อตกลงทางการค้าได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย เพราะพวกเขามองว่า ข้อตกลงทางการค้าบางอย่างกลับมาแย่งงานไปจากตลาดงานของอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้พรรครีพับลิกันนับเป็นพรรคการเมืองของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการค้าเสรีมาโดยตลอด แต่ตั้งแต่อเมริกาเจอกับปัญหาการว่างงาน นโยบายทางการค้าของพรรครีพับลิกันเริ่มเปลี่ยนไป

ก่อนหน้านี้ แลนฮี เฉิน (Lanhee Chen) ที่ปรึกษานโยบายของพรรครีพับลิกันยอมรับว่า “นโยบายของทรัมป์สะท้อนความต้องการของประชาชนที่เริ่มเห็นชัดมาตลอดหลายปีก่อนหน้านี้”

Photo: Yuya Shino, Reuters/profile

ทรัมป์ถอนตัวออกจาก TPP แต่ไม่ได้เอาตัวออกห่างจากเอเชีย?

การที่ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงทางการค้ากับ TPP ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขามองว่า จะเป็นการทำให้สหรัฐฯ เสียอำนาจทางการค้า และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากทวีปเอเชีย ที่เป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่ยุโรปและสหรัฐฯ อาจขาดแคลน และที่สำคัญเอเชียแปซิฟิกยังนับว่าเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อเทียบกับตะวันออกกลางที่ประเทศส่วนใหญ่เผชิญกับสงคราม และเสี่ยงที่จะเป็นรัฐล่มสลาย

เพราะเป้าหมายหลักของโอบามาในการทำข้อตกลง TPP คือไว้คานอำนาจกับจีน เพราะจีนประสบความสำเร็จในเขตการค้าเสรีกับบรรดาประเทศเอเชีย ยังไม่นับว่าจีนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนอีกด้วย

แฮร์รี คาซิอานิส (Harry Kazianis) ผู้อำนวยการ The Center of National Interest ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จึงแนะทรัมป์ไว้ว่า ทรัมป์จำเป็นต้องหาทางอื่นๆ ในการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียไว้ “สิ่งนี้อาจจะเป็นการทำข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี แต่กับหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเวียดนามควรจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ทรัมป์ควรสานสัมพันธ์ เพราะประเทศเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อกลยุทธ์ทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อทวีปเอเชีย”

การที่ทรัมป์ถอนตัวออกจาก TPP เราจึงอาจจะได้เห็นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเอเชียกับสหรัฐฯ ในลักษณะข้อตกลงทวิภาคีมากกว่าจะเป็นข้อตกลงแบบพหุภาคี หรือข้อตกลงในลักษณะภูมิภาคต่อภูมิภาค เพราะถ้าดูจากทิศทางของทรัมป์ เขาเองยังต้องการสานสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชีย เพียงแต่ต้องการควบคุมเงื่อนไขให้สหรัฐฯ ไม่เสียผลประโยชน์


Photo: Reuters Staff, Reuters/profile

 

TPP สั่นคลอนจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัว และอาเซียนจะเสียประโยชน์?

สิ่งนี้สร้างความกังวลให้กับญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 เพราะนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติหลายครั้งว่า ถ้าสหรัฐฯ อเมริกาถอนตัว TPP จะขาดประเทศสนับสนุนหลัก และอาจส่งผลให้ประเทศอื่นๆ พากันถอนตัวออกจาก TPP ได้ และ TPP จะไม่มีความหมายอะไรเลย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียอย่างสำคัญ

และถ้าหากข้อตกลงทางการค้า TPP ไม่สามารถสานต่อได้ อาเซียนจะเป็นอีกภูมิภาคที่อาจเสียผลประโยชน์จากข้อตกลง TPP โดยงานวิเคราะห์นโยบายของ Asia Foundation ได้นำเสนอไว้ว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีเพียง 4 ประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วม TPP เพราะเงื่อนไขของ TPP ได้ตั้งมาตรฐานการเข้าร่วมเป็นสมาชิกไว้สูง (ความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ) ซึ่งถ้าข้อตกลง TPP ไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าร่วม TPP ได้ในอนาคตจะเสียโอกาสทางด้านแรงงานและการค้าไปด้วย

ประเทศในเอเชียที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่อย่างเช่น ญี่ปุ่น จีน หรือเวียดนาม อาจยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลของทรัมป์ในการทำข้อตกลงทางการค้า แต่เป็นในลักษณะรูปแบบใหม่ แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้นอาจจะถูกลดความสำคัญลงไปในสมัยของทรัมป์

และอาเซียนก็อาจจะต้องหันไปพึ่งจีนอย่างเต็มตัวมากขึ้น

(ติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเอเชียจากนโยบายของทรัมป์ได้ที่ ทรัมป์คือหายนะของเอเชีย? 10 นโยบายต่ออาเซียนที่ทรัมป์อาจไม่ทำ เพราะอเมริกาต้องมาก่อน)

ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
     – http://www.reuters.com/article/us-usa-trump-business-idUSKBN1571FD
– http://www.reuters.com/article/us-japan-tpp-abe-idUSKBN13G2IK

Tags: ,