การใช้ร่างกายเป็นสื่อกลางในงานศิลปะ ดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้ง่ายต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เมื่อเราทุกคนต่างก็ใช้ร่างกายในการรับรู้สิ่งต่างๆ
กระบวนการนำเสนอร่างกายเกี่ยวพันกับความเป็นเพศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ศิลปะสื่อการแสดงสด (performance) ที่ใช้ร่างกายเป็นหลักจึงเป็นรูปแบบที่ศิลปินที่ทำงานเชิงสตรีนิยมมักนำมาใช้วิพากษ์วิธีคิดแบบปิตาธิปไตย ที่มีโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันไม่เท่าเทียม โดยส่วนใหญ่จะแสดงข้อคิดเห็นที่มีต่อเพศแม่ ความเป็นหญิงที่ถูกกดขี่ และการเป็นวัตถุทางเพศของผู้หญิง [1]
เมื่อร่างกายของศิลปินไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดชิ้น งานศิลปะผ่านการกระทำของมันสมองและสองมือกลับกลายเป็นตัวศิลปะเสียเอง ร่างกายจึงมีสถานะเป็นเพียงวัตถุชนิดหนึ่งที่นำพาข้อความบางอย่างของศิลปินไปสู่คนดู
กวิตา วัฒนะชยังกูร นำเสนองานในรูปแบบวิดีโอศิลปะ ผลงานของเธอเน้นหนักไปยังการแสดงความคิดเห็นด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามถึงการทำงานของมนุษย์ เธอนำร่างกายตัวเองเข้าไปแสดงแทนและทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้วัตถุต่างๆ ภายใต้สถานการณ์สุดประหลาด และในบทบาทของผู้ถูกกระทำเพื่อทดสอบขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์
การสำนึกตนเป็นไม้กวาด ไม้ถูพื้น ผ้าที่แขวนตากบนราว ชั้นวางไข่ และตาชั่ง ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับภาระงานของมนุษย์ เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ แสดงให้เห็นถึงความอดทนทางกายภาพและความสามารถของจิตใจในการอดกลั้นต่อความรู้สึกเจ็บปวด ขณะเดียวกัน ก็เล่นกับปฏิกิริยาของคนดูต่อภาพเหตุการณ์เบื้องหน้าด้วยเช่นกัน
เธอนำร่างกายเข้าไปทำหน้าที่แทนอุปกรณ์ ‘งานบ้าน’ เพื่อแสดงภาพแทนอันเด่นชัดของโลกที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เมื่องานบ้านไม่ใช่เรื่องธรรมชาติหรือลักษณะของผู้หญิง หากแต่เกิดขึ้นจากการแบ่งงานกันทำกับผู้ชาย การแทนตัวเป็นเครื่องใช้ในงานบ้านของกวิตา จึงมีนัยของการเรียกร้องที่จะปฏิเสธงานบ้าน และปฏิเสธความเป็นหญิงที่อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ตีกรอบมอบให้
ศิลปะสื่อการแสดงสด (performance) ที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก เป็นรูปแบบที่ศิลปินที่ทำงานเชิงสตรีนิยมมักนำมาใช้วิพากษ์วิธีคิดแบบปิตาธิปไตย
แม้ผลงานศิลปะที่นำเสนอข้อความผ่านร่างกายของผู้หญิง จะมีผลทำให้ตีความไปได้ว่าศิลปินต้องการสื่อสารเรื่องทางสตรีเพศ ทว่าชิ้นงานของกวิตายังพูดถึงเนื้อหาสากลมากกว่านั้น นั่นคือเรื่องของสภาวะความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีตัวตนอยู่ในฐานะของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’ เราต่างถูกควบคุมด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขบางอย่างให้ต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิตรอดในสังคม [2] แสดงผ่านผลงานอีกชุดหนึ่งที่มีหัวข้อเป็นเรื่องของแรงงานในภาคโรงงานและท้องตลาด เธอสวมบทบาทเป็นเครื่องจักร เครื่องมือที่ชวนให้นึกถึงการทำงานของพ่อค้าแม่ขาย วัตถุดิบอาหารอย่างกล้วยหอม แตงโม ข้าวสาร พืชผัก ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในผลงาน เพื่อนำเสนอถึงบทบาทและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของแรงงาน พร้อมตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างกันของมนุษย์กับเครื่องจักร
หัวข้อเรื่องเล่าในงานของเธอ เคลื่อนสู่การเข้าไปพาดพิงวัฒนธรรมการบริโภค พร้อมกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านร่างกายที่แสดงท่าทางห้อยโหนแลดูผาดโผน ทั้งยังทับซ้อนแวดล้อมด้วยความหมายหลากหลายประเด็นยิ่งขึ้น
‘Splashed’ นิทรรศการเดี่ยวชุดล่าสุดของกวิตา พาเราเข้าไปสำรวจภาระงานและบทบาทของกลุ่มแรงงานบนเรือประมง แสดงผ่านกระบวนการทดลองทางกายภาพในผลงานวิดีโอศิลปะจำนวนสามชิ้น ที่เธอแปลงตัวและทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์และเครื่องมือซึ่งเชื่อมโยงกับ ‘ปลา’ ผลงานสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนตามพื้นที่ของห้องนิทรรศการที่มีสองชั้น ส่วนแรกเป็นผลงานบริเวณชั้นล่างที่ต่อยอดจากผลงานเก่าจำนวนสองชิ้น และอีกส่วนบริเวณชั้นลอย เป็นผลงานชุดใหม่ที่ครั้งนี้กวิตาไม่ได้แทนตัวเป็นสิ่งของเช่นดั่งเคย แต่แทนตนเป็นอย่างอื่น
ผลงานชิ้นแรก ‘Carrier (Fish)’ (ภาพที่ 1) แสดงภาพกวิตาแทนตัวเป็นอุปกรณ์ขนถ่ายปลา ห้อยตัวกับเชือกที่ผูกรัดมัดหย่อนลงมาจากด้านบน โหนตัวในท่าทางคล้ายกำลังโล้ชิงช้า ช่วงขาและลำตัวที่ทอดยาวของกวิตาแบกรับน้ำหนักจำนวนมากจากตะกร้าใส่ปลาที่ตั้งซ้อนเหนือขึ้นไปหลายชั้น การแขวนตัวบนเส้นเชือกที่แลดูสุ่มเสี่ยงต่อการร่วงหล่น คล้ายนำเสนอถึงการทำงานระหว่างแรงงานกับเครื่องจักรซึ่งมีความเสี่ยงสูง
เรารู้สึกถึงความหนักหนาของภาระงานตรงหน้าที่กวิตาแบกถือเอาไว้ จากจำนวนปลาที่ดูมากล้นเกินกว่าผิวบางอันนุ่มนวลของเนื้อหญิงจะรับไหว ทั้งยังแสดงถึงสภาวะไม่สามารถปกครองตนเองได้ จากการปล่อยให้สิ่งที่เรามองไม่เห็นเหนือจอภาพชักรอกเธอขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอ
วิดีโอชิ้นถัดมา ‘The Scale 3’ (ภาพที่ 2) แสดงภาพกวิตาสมมติตนเป็นตาชั่งมนุษย์ ห้อยโหนตัวด้วยเส้นเชือกที่โอบรัดมัดเกลียวช่วงลำตัวและข้อเท้าเอาไว้ เธอหงายหน้ามองตรงมายังผู้ชม แขนทั้งสองข้างกางออกจากลำตัว มือแต่ละข้างสวมถุงมือยาง พร้อมนำส่วนมือและแขนรองรับน้ำหนักของถาดเหล็กที่แทนจานตาชั่ง
วิดีโอเริ่มด้วยการปรากฏน้ำแข็งบดเทลงบนจานตาชั่งทั้งสองข้าง จากทีละน้อยไปคราวละมากอย่างไม่หยุดยั้ง ก้อนแข็งร่วงหล่นลงมาจากด้านบนพ้นเลยขอบกรอบภาพไป จนเราไม่อาจมองเห็นได้ว่า เหนือขึ้นไปนั้นคืออะไร หรือเป็นใครที่ปล่อยมันลงมา รับรู้เพียงว่าน้ำแข็งบดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากเกิดจากน้ำที่นำไปแช่แข็งเป็นก้อนใหญ่ แล้วจับใส่เครื่องจักรเพื่อบดให้แหลกออกเป็นเกล็ดขนาดเล็ก มันเกิดจากที่หนึ่ง ในอีกสถานะหนึ่งแล้วจึงถูกปล่อยลงสู่ตาชั่งนี้
หากจะมองเพื่อให้เข้ากันได้กับเรื่องบนเรือประมงที่ศิลปินพาเราเข้ามาสำรวจ น้ำแข็งบดที่เทลงบนถาดทั้งสองข้างนั้นแสดงนัยสัมพันธ์กับ ‘ปลา’ ซึ่งปรากฏในวิดีโอชิ้นอื่นของนิทรรศการ เราอาจอนุมานเล่นๆ ว่าน้ำแข็งคือปัจจัยหลักที่สำคัญข้อหนึ่งของระบบการผลิตในอุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่การ ‘ลงน้ำแข็ง’ บนเรือประมงไว้สำหรับแช่ปลาที่จับได้ กระทั่งขั้นตอนของการขนถ่ายจัดส่ง และวางจำหน่ายในท้องตลาด โดยมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาความสดของเนื้อปลาเอาไว้ก่อนเดินทางไปถึงมือ/มื้ออาหารของผู้บริโภค
เมื่อน้ำแข็งบดที่โถมห่าลงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากกระบวนการผลิตสร้างเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับปลาทั้งสิ้น น้ำแข็งที่กวิตาหยิบยกมาใส่ในงานของเธอจึงทำให้พานคิดไปได้ว่า คือการให้ความสนใจต่อส่วนชายขอบของกระบวนการผลิตที่มักถูกมองข้ามไป เฉกเช่นแรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมประมง
การมองในลักษณะนี้ทำให้เข้าใจได้ถึงเจตนาดีของศิลปินที่ต้องการให้เราเกิดความตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน ดังข้อความตอนหนึ่งในแผ่นพับสูจิบัตรนิทรรศการ ความว่า
“ผลงานวิดีโอของศิลปินถูกพัฒนาโดยมุ่งเน้นถึงเบื้องหลังที่แท้จริงของการใช้แรงงานที่ขับเคลื่อนลัทธิบริโภคนิยมในยุคปัจจุบัน”
แม้ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่า ‘เบื้องหลัง’ ที่กล่าวถึงนั้นคืออะไร และมันอาจไม่ใช่ความผิดของใครที่ไม่ปรากฏบริบทข้อมูลปัญหาแรงงานให้เราอ่านเพื่อทำความเข้าใจได้ ด้วยว่าประเด็นที่พาดพิงอยู่นี้ไกลตัวผู้ชมเกินกว่าเรื่องของงานบ้านหรือท้องตลาดจากผลงานก่อนหน้า แต่จากภาพที่ศิลปินสมมติตัวเป็นตาชั่ง โหนตัวแบกรับงานหนัก และถูกกระทำจากสิ่งที่เหนือขึ้นไปอย่างไม่อาจควบคุม ก็คิดไปได้ว่า เธอให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคของสิทธิแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงที่มีการบังคับใช้แรงงานหนักอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งยังเกี่ยวพันกับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรง และการค้ามนุษย์
น้ำแข็งที่กวิตาหยิบยกมาใส่ในงานของเธอจึงทำให้พานคิดไปได้ว่า คือการให้ความสนใจต่อส่วนชายขอบของกระบวนการผลิตที่มักถูกมองข้ามไป
สิ่งที่น่าฉงนสนเท่ห์ยิ่งกว่าในผลงานทั้งสองชิ้นนี้ของเธอนั่นคือ ภาพที่แสดงออกมานั้นเรียกว่าเป็นการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นภาพที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งในคอมพิวเตอร์ หากสังเกตใน The Scale 3 จะเห็นได้ว่ามือของเธอไม่ได้จับขอบจานชั่งเพียงรองรับเอาไว้ สร้างความเคลือบแคลงใจว่าจานรับน้ำหนักที่เราเห็นนั้นได้รับการตัดต่อเข้าไปด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (แม้เราจะรู้สึกได้ถึงความหนาวเย็นจากเศษน้ำแข็งที่ปกคลุมบริเวณศีรษะ ใบหน้า และร่างกายของเธอก็ตาม)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงานวิดีโอชิ้นสุดท้าย ‘Big Fish in a Small Pond’ (ภาพที่ 3) แสดงภาพกวิตาแทนตัวเป็นเหยื่อถูกเงี่ยงเบ็ดขนาดใหญ่เกี่ยวปากเอาไว้ มีเพียงเชือกเส้นเล็กที่คล้องมัดรับน้ำหนักข้อเท้าทั้งสองของเธอเอาไว้ มันเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกายของเธอจะถูกชักขึ้นดึงลงด้วยตะขอจำลองนี้ ประเด็นการทดสอบขีดจำกัดร่างกายของศิลปินจึงถูกปัดตกไป
เมื่อวิดีโอของกวิตาไม่ได้เป็นภาพบันทึกการแสดง แต่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ผ่านการแต่งเติมดัดแปลง อันสังเกตได้ถึงร่องรอยของการเพ้นต์สีเพิ่มเติมลงไปในบริเวณพื้นหลังภาพ ผลงานชุดนี้ของกวิตาจึงแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ชิ้นงานศิลปะของเธอนำเสนอเสมอมา ก็คือการใช้ร่างกายเป็นสื่อกลางในการสื่อสารข้อความกับคนดู จากการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ ได้เคลื่อนไปสู่การแสดงที่ใช้ร่างกายเป็นภาพแทน (representation) ของสิ่งอื่น
ในผลงาน Big Fish in a Small Pond การแทนตัวเป็นเหยื่อชวนให้เรานึกถึงการถูกละเมิดทางร่างกาย มันเข้ากันได้กับสิ่งที่ศิลปินจงใจให้เราเห็นเด่นชัดในชิ้นงาน ก็คือ ‘ปลาทับทิม’ จำนวนมากที่ตั้งวางเรียงรายอยู่บนพื้นของจอภาพ การถูกละเมิดร่างกายเกี่ยวข้องอย่างไรกับปลาทับทิม? เราอาจตั้งข้อสังเกตได้จากต้นกำเนิดที่มาของปลาสายพันธุ์นี้
เดิมที ปลาทับทิมคือ ‘ปลานิล’ ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ โดยการนำปลานิลต่างสายพันธุ์มาผสม จนเกิดเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีสีสันภายนอกสวยงาม และมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น เมื่อปลาที่หาได้จากการออกทะเลมีจำนวนลดน้อยลง ปลาทับทิมจึงถูกผลักดันให้เป็นปลาเศรษฐกิจของไทย เกิดการเพาะเลี้ยงในระบบฟาร์มสัตว์น้ำที่มีผลผลิตจำนวนมากพอต่อความต้องการของตลาด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเลี้ยงแบบรวมเพศคู่ผัวตัวเมียทำให้ปลาที่เลี้ยงเติบโตได้ไม่เต็มที่ ไม่ได้ขนาด เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องการลดความเสี่ยงด้านผลตอบแทน การใช้เทคโนโลยีประมงสมัยใหม่ในการกำหนดเพศปลาทับทิมจึงเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มรายได้ ปลาทับทิมส่วนใหญ่ที่เราบริโภคกันจึงล้วนแล้วแต่เป็นตัวผู้ โดยการใส่ฮอร์โมนเพศผู้ลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกปลาเพื่อเหนี่ยวนำลูกปลาที่ยังไม่ปรากฏเพศชัดเจนได้เติบโตมาเป็นปลาตัวผู้ เนื่องด้วยปลาทับทิมตัวผู้มีขนาดที่ใหญ่กว่า และกินอาหารน้อยกว่าตัวเมียซึ่งมีหน้าที่ตั้งท้องให้กำเนิดตลอดเวลา
ปลาทับทิมที่กวิตาหยิบนำมาใส่ในผลงานจึงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราบริโภคนั้นไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน หากแต่ถูกปรับให้รับกันกับวัฒนธรรมการบริโภคของเรา ทั้งรับกับชื่อของผลงาน เพราะปลาทับทิมตัวผู้มีขนาดใหญ่ ถูกเลี้ยงเอาไว้ในบ่อกระชังที่มีขนาดเล็ก และยังล้อกับพื้นที่จัดแสดงบนชั้นลอยนี้ที่เราต้องเดินผ่านทางเดินแคบๆ ขึ้นมายังห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกะทัดรัด จนพาลคิดว่าตัวเราเองคือปลาใหญ่ที่ถูกล่อให้เข้ามาติดบ่วงเบ็ดของความไม่รู้ต่อเนื้อความในชิ้นงานที่มองเพียงตาเห็น
อย่างไรก็ดี มันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการเล่าเรื่องโจทย์เชิงสตรีนิยมของศิลปิน การแปรพันธุ์ปลาวัยอ่อนให้มีเฉพาะตัวผู้ได้ขับให้ปลาตัวเมียมีหน้าที่เพียงให้กำเนิด การมีตัวตนเป็นปัจจัยการผลิตเผยให้เห็นถึงโครงสร้างของสังคมอันไม่เท่าเทียมในเรื่องเพศที่มนุษย์ไม่เพียงกระทำต่อกัน แต่ยังคุกคามลุกลามสัตว์
บนพื้นห้องจัดแสดงบริเวณด้านหน้าผลงานชิ้นนี้ มีกระจกเงาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้านอนวางสะท้อนภาพจากวิดีโอ เป็นครั้งแรกที่งานศิลปะของกวิตามีสิ่งแปลกปลอมอื่นใดได้รับการจัดแสดงควบคู่ไปกับจอสี่เหลี่ยมของภาพเคลื่อนไหว จากรูปทรงอาจคิดได้ว่าคือภาพแทนของบ่อน้ำ การตั้งวางอยู่บนพื้นเป็นทั้งการเชื้อเชิญให้เราเข้าใกล้เพื่อก้มมองดู ขณะเดียวกันก็เป็นตัวกั้นพื้นที่ระหว่างผู้ชมกับผลงานเอาไว้ จนเรารู้สึกได้ถึงความห่างไกล ไม่เพียงต่อผลงาน ยังหมายรวมถึงเนื้อหาที่เล่าในวิดีโออีกด้วย
กระจกเงามักถูกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายเชิงอุปลักษณ์ ในแง่ของภาพสะท้อนความหมายเชิงนามธรรม เช่น ความดี ความงาม อันมองไม่เห็นและไม่อาจจับต้อง โดยเชื่อกันว่าภาพที่สะท้อนกลับนั้นกำเนิดจากแสงสว่างอันมีความหมายในแง่ดี สาดส่องกระทบเกิดภาพสะท้อนของความจริงให้มองเห็น แต่ภาพในกระจกเงาเป็นภาพหักเหที่แสดงภาพกลับด้าน เงาสะท้อนของภาพจึงบิดเบือนไปจากความจริง เมื่อสิ่งที่จดจ้องคือเงาสะท้อน ใช่มองความเป็นจริง กระจกเงาที่วางไว้แนะให้เราเห็นถึงความจริงที่บิดเบือน การทดลองทางกายภาพชิ้นนี้ของกวิตาจึงมีลักษณะคล้ายกับงานศิลปะเชิงแนวคิดเสียมากกว่า คือคิดไปไกล กับคิดไม่ถึง
การมีตัวตนเป็นปัจจัยการผลิตเผยให้เห็นถึงโครงสร้างของสังคมอันไม่เท่าเทียมในเรื่องเพศที่มนุษย์ไม่เพียงกระทำต่อกัน แต่ยังคุกคามลุกลามสัตว์
ความสนุกในการรับชมผลงานชุดล่าสุดนี้ของกวิตา คือการคิดจากภาพที่เราเห็นต่อสิ่งที่ศิลปินหยิบยื่นมอบให้ ตัวบทข้อความในสูจิบัตรนิทรรศการแนะให้เราครุ่นคิดกับประเด็นนานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชนชั้น แรงงาน สตรีนิยม และการทดสอบขีดจำกัดของร่างกาย ปัญหาคือประเด็นข้างต้นแสดงออกมาอย่างฉาบฉวยด้วยผลจากกระบวนการทำงานและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่หลอกผู้ชมแต่แรก หากศิลปินไม่ย้ำบ่อยครั้งในประเด็นทดสอบขีดจำกัดร่างกายก็ย่อมไม่ขัดข้อง แต่เมื่อภาพไม่อาจแสดงให้เห็นถึงการทดสอบร่างกายตามที่กล่าวอ้าง (แม้ในกระบวนการถ่ายทำเธอจะทำการทดสอบจริงๆ ก็ตาม) มันฟ้องโดยนัยต่อความจำกัดของศิลปินต่อการทำความเข้าใจอย่างจริงจังในประเด็นที่ต้องการสื่อเสนอ แม้ว่าภาพที่แสดงจะผ่านกระบวนการคิดอย่างลึกซึ้งมาแล้วก็ตาม
ถึงขั้นว่า ผลงานพื้นหลังสีน้ำเงินทุกชิ้นในนิทรรศการนี้ของกวิตา มันทำให้เรารู้สึกถึงสีของท้องน้ำอันเข้ากันอย่างลงตัวกับชื่อและเนื้อหาของนิทรรศการ ทั้งยังสื่อความได้ถึง ‘คนงานคอปกน้ำเงิน’ อันเป็นศัพท์ในศาสตร์วิชาการแรงงานที่หมายถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ทำงานกับเครื่องจักร และยังสังเกตได้ว่า เส้นเชือกสีเหลืองที่มัดร่างกายกวิตาเอาไว้ในแต่ละผลงานนั้นคล้ายสื่อถึง ‘คนงานคอปกเหลือง’ ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และศิลปะ
สิ่งที่เราเห็นได้ชัดแจ้งที่สุดในผลงานของเธอคือความตั้งใจจริงที่ต้องการจะเปิดประเด็นการรับรู้แบบใหม่ ต่อเรื่องเดิมๆ ผ่านกรอบสายตาของ ‘ความสร้างสรรค์’ ให้แก่ผู้ชม ด้วยว่าผลงานของเธอมีลักษณะเชิงเคลื่อนไหว ดังเช่นชื่อนิทรรศการ ‘Splashed’ คำที่ประมวลความได้ถึงสิ่งที่เรียกร้องการมองเห็นและให้ความสนใจ
ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นแวดล้อมผลงานที่ศิลปินหยิบยื่นให้ต่างก็เป็นเพียงโลกทัศน์ของศิลปินที่มีต่อเรื่องราวหรือประเด็นนั้นๆ จะเลือกรับเอาไว้ ปัดทิ้งไป หรือล้มล้างเสีย ย่อมสุดแท้แต่ผู้ชมทั้งสิ้น
เพราะสิ่งที่มองเห็น อาจไม่อยู่ในสายตาของคนอื่น
ผู้เขียนขอขอบคุณ อาจารย์ ธนาวิ โชติประดิษฐ สำหรับข้อคิดเห็นจากการแลกเปลี่ยนกัน
ภาพ: สุธีร์ นครากรกุล, กานต์ธิดา บุษบา
ขอบคุณภาพประกอบ cover จาก novacontemporary.com
ภาพ: สุธีร์ นครากรกุล, กานต์ธิดา บุษบา
ขอบคุณภาพประกอบ cover จาก novacontemporary.com[1] ธนาวิ โชติประดิษฐ, ปรากฏการณ์นิทรรศการ (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2553). 146.
[2] Napat Charitbutra, (2016). “Kawita Vatanajyankur: This 29-years-old artist combines painting and performance in her work that questions social norms” Art4D, กุมภาพันธ์, 2016. 79.
FACT BOX:
นิทรรศการ Splashed โดยกวิตา วัฒนะชยังกูร จัดแสดงที่ Nova Contemporary ระหว่างวันที่ 20 ต.ค. – 24 ธ.ค. 2560 แกลเลอรี่เปิดทำการ วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น. บริเวณชั้นหนึ่ง อาคารบ้านสมถวิล ซอยมหาดเล็กหลวง 3 สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ ทางออกประตู 2 ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ info@novacontemporary.com หรือโทร. 090 910 6863
กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale โดยจะจัดขึ้นตามสถานที่สำคัญทั่วทั้งกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2561