ในบทความชิ้นที่แล้ว ผมเขียนถึงปัญหาของ ‘ฤดูกาลเกณฑ์ทหาร’ ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของโมเดล ‘สมัครใจ’ แบบสหรัฐอเมริกา จริงอยู่ที่ในทางกฎหมาย สหรัฐอเมริกาไม่มีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับอีกต่อไป แต่ก็ยังต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนสมัครเป็นทหาร และมันก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังใช้ประโยชน์จากระบบสวัสดิการสังคมที่อ่อนแอ โดยการกึ่งบังคับและข่มขู่ให้คนชายขอบและคนชั้นล่างในสังคมเป็นทหารอย่างไม่เต็มใจ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่าการนำโมเดลของชาติหนึ่งชาติใดมาเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศของตัวเองล้าหลังขนาดไหนนั้นยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แทนที่จะทำเช่นนั้น เราควรนำข้อดีข้อเสียของหลายๆ โมเดลมาพิจารณา เพื่อพัฒนาข้อเสนอที่จะใช้กับประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หากยกกรณีของสหรัฐอเมริกามาพิจารณา ผมเห็นว่าคนไทยควรจะเสนอระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจไปพร้อมกับแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เพื่อให้คนสมัครใจที่จะเป็นทหารจริงๆ ไม่ใช่เป็นทหารเพราะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการกึ่งบังคับอยู่ในตัว
อย่างไรก็ตาม โมเดล ‘สมัครใจ’ ของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ทางออกเดียวที่คนไทยควรนำมาขบคิด อีกโมเดลหนึ่งที่น่าอภิปรายกันในสังคมไทยคือโมเดล ‘รับใช้ชาติด้วยวิธีอื่น’ ซึ่งในบทความตอนนี้ จะขอหยิบยกกรณีของประเทศสเปนในช่วงปี 1985-2001 มาพิจารณา
อันที่จริง ‘การรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่น’ เป็นหัวข้อที่สังคมไทยถกเถียงกันมาระยะหนึ่งแล้ว เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน โดยนำเอกสารไปยื่นขอผ่อนผัน พร้อมกับถือป้ายเรียกร้องว่า “การรักชาติควรทำได้หลายอย่าง การบังคับเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งล้าสมัยและเกินจำเป็น” เขากล่าวเสริมว่า
“ตอนนี้ผมกำลังรับใช้ชาติอยู่ ก็เลยต้องผ่อนผัน เพราะว่าผมมีหน้าที่ที่จะต้องเรียนหนังสือ และผมก็ยังเห็นว่าการที่ผมมาเกณฑ์ทหารนี่มันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผมอยู่แล้ว คนสำหรับผมควรจะไปรับใช้ชาติในสิ่งที่มันเหมาะสมเหมือนกับคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีความสามารถหลากหลายแตกต่างกันไป”[1]
ข้อเสนอและการกระทำของเนติวิทย์นำมาซึ่งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แสดงความเห็นว่า “การเกณฑ์ทหารเป็นวิถีชีวิตของลูกผู้ชาย ได้ฝึกวินัยและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ส่วนการเรียนหนังสือไม่ใช่การรับใช้ชาติ แต่เป็นการรับใช้ตัวเองและครอบครัว”[2] ขณะที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ตอบโต้ว่าอยู่ที่ไหนก็ฝึกวินัยได้ ทั้งยังบอกด้วยว่าไม่ว่าจะประกอบวิชาชีพใดก็ถือเป็นการรับใช้ชาติด้วยกันทั้งสิ้น[3]
ความน่าสนใจของการถกเถียงรอบนี้คือความเห็นที่แตกเป็นสองขั้ว ได้แก่ ขั้วที่สนับสนุนให้บังคับเกณฑ์ทหาร (ชูวิทย์) และอีกขั้วหนึ่ง (เนติวิทย์ + ปวิน) ที่เห็นว่าการประกอบอาชีพของตัวเองให้ดี คือ ‘การรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่น’ อยู่แล้ว ซึ่งก็เท่ากับเป็นการสนับสนุน ‘ระบบสมัครใจ’ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศสเปนช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 จะเห็นว่า ‘การรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่น’ ไม่ได้เท่ากับ ‘ระบบสมัครใจ’ อย่างที่คนไทยเสนอเสียทีเดียว
ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 การเกณฑ์ทหารในประเทศสเปนไม่ใช่ทั้งระบบบังคับและระบบสมัครใจ แต่อยู่ตรงกลางระหว่างสองแนวทาง ระบบนี้เรียกว่า ‘การรับใช้สังคมทางเลือกโดยพลเรือน’ (alternative civilian service) จริงอยู่ที่ประเทศสเปนหันมาใช้ระบบสมัครใจเหมือนกับสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2001 แต่โมเดลที่ถูกยกเลิกไปแล้วก็ใช่ว่าจะเป็นโมเดลที่ไม่ดีเสมอไป
ระบบที่ว่านี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 หลังจาก ‘ท่านผู้นำ’ นายพลฟรันซิสโก ฟรังโกเสียชีวิต ในช่วงนั้น กลุ่มผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก (Conscientious Objector) ไม่ได้ออกมาประท้วงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมตัวกันไปทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในหลายพื้นที่ด้วย เพื่อทำให้เห็นว่าประชาชนสามารถรับใช้ชาติได้ด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร แม้จะทยอยถูกจับกุมในข้อหาหนีทหาร แต่พวกเขาก็พยายามต่อสู้ด้วยวิธีการดังกล่าวมาโดยตลอด[4]
กลุ่มผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐยอมรับว่าการรับใช้ชาติด้วยการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะทดแทนการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการต่อสู้ของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในที่สุด ตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา จากที่เคยต้องเข้าคุก ผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารจะต้องไปบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 1,100 ชั่วโมง ด้วยการทำงานช่วยเหลือคนชรา ผู้พิการ ผู้ติดยาเสพติด ผู้ลี้ภัย รวมถึงการทำงานป้องกันสาธารณภัย งานปฐมพยาบาล และงานให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย[5]
ระบบที่ว่านี้มีจุดแข็งตรงที่ช่วยให้คนตกงานมีงานทำ เพราะหลายคนที่ไม่มีงานทำก็ได้ตำแหน่งงานในองค์กรที่ตนไปเก็บชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์นั่นเอง นอกจากนี้ การบำเพ็ญประโยชน์ยังสอนให้รู้จักการเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานของตัวเองในระบบทุนนิยมเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ระบบที่ว่านี้ก็ไม่ได้ปราศจากเสียงคัดค้านเสียทีเดียว ในทศวรรษ 1980 กลุ่มคนที่สนับสนุนระบบนี้เห็นว่ารัฐบาลควรมีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เหล่านี้ และควรพัฒนาระบบการบำเพ็ญประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่คนอีกกลุ่มเห็นว่าเอ็นจีโอและหน่วยงานสาธารณประโยชน์ควรรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ และควรมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ยกเลิกระบบ ‘การรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่น’ แล้วเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจไปเสียเลย ซึ่งในที่สุด ระบบรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่นก็ถูกยกเลิก และประเทศสเปนเปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจในปี 2001
เมื่อพิจารณาในบริบทของประเทศไทย หลายคนอาจเห็นว่าโมเดลนี้เหมาะสม เพราะเป็นทางออกที่ไม่สุดโต่ง เป็นการรับใช้ชาติทางเลือกภาคบังคับที่ให้ประโยชน์กับสังคม และไม่ใช่ระบบสมัครใจที่ปล่อยให้คนทำอะไรตามอำเภอใจ นอกจากนี้ ระบบที่ว่านี้ยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น หนึ่ง ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น สอง ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสทำงานกับภาคประชาสังคมมากขึ้น สาม ช่วยให้ประชาชนมีทักษะในการบำเพ็ญประโยชน์มากขึ้น สี่ ช่วยลดไพร่พลที่ไม่ใช่ทหารอาชีพ และลดขนาดของกองทัพไปในตัว ห้า เนื่องจากกองทัพเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเวลาที่เกิดเหตุสาธารณภัย การใช้ระบบนี้จึงเป็นการผ่องถ่ายภาระของกองทัพไปสู่ภาคประชาสังคม
ถ้าโมเดลนี้จะนำมาใช้ได้จริง กองทัพจะต้องประสานงานกับหน่วยงานภาคประชาสังคมและกระทรวงต่างๆ แต่ก็อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศสเปน การใช้โมเดลรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่นก็นำไปสู่การถกเถียงใหม่ๆ เช่นกัน หากนำมาใช้ สังคมไทยจำเป็นต้องขบคิดร่วมกันว่ากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์รูปแบบใดที่ใช้ทดแทนการเกณฑ์ทหารได้ ต้องทำอย่างไรจึงจะพัฒนาระบบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ และใครที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการบังคับอยู่ดี ควรเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจไปเลยมากกว่า อย่างไรก็ตาม ระบบที่ว่านี้น่าจะดีกว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นก้าวหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการถกเถียงใหม่ๆ และอาจนำไปสู่การใช้ระบบสมัครใจในอนาคต ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศสเปน
เชิงอรรถ
[1] ‘‘เนติวิทย์’ ผ่อนผัน-ชูป้ายต้านบังคับเกณฑ์ทหาร ชี้ทำอย่างอื่นก็รับใช้ชาติได้,’ ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/04/70891 (accessed 8 April 2017).
[2] ‘ชูวิทย์สอนเนติวิทย์ปมเกณฑ์ทหาร บอกเสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย,’ ไทยรัฐ, http://www.thairath.co.th/content/904886http://www.thairath.co.th/content/904886 (accessed 8 April 2017).
[3] ‘ปวินจวกชูวิทย์ ถามเรียนหนังสือไม่รับใช้ชาติตรงไหน? ชี้ไม่เป็นทหารก็ฝึกวินัยได้,’ มติชน, http://www.matichon.co.th/news/519158 (accessed 8 April 2017).
[4] Cthuchi Zamarra, ‘Conscientious Objection in Spain: Disobedience,’ in ÖzgürHevalÇınar and CoşkunÜsterci, ed., Conscientious Objection: Resisting Militarized Society (London: Zed Books, 2009), pp. 149-155.
[5] Emma Daly, ‘Charitable army lost as Spain ends conscription,’ The Guardian, https://www.theguardian.com/world/2000/nov/12/theobserver2 (accessed 9 April 2017).