นอกจากฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุดแล้ว ประเทศไทยยังมีฤดูกาลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ฤดูเกณฑ์ทหาร ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ฤดูกาลเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นจาก พรบ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่ระบุว่า “ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน” โดย “ทหารกองเกิน ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์… จะต้องเข้ารับราชการทหารประจำการมีกำหนดสองปี” แน่นอนว่า หลายคนก็ชิงสมัครก่อนเพื่อลดระยะเวลาการเกณฑ์ทหารลง หลายคนก็ได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารภาคบังคับเพราะข้อยกเว้นที่ระบุไว้ในกฎหมาย (เช่น เรียนหลักสูตรรักษาดินแดน พิการหรือทุพลภาพ ฯลฯ) และที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย (เช่น การติดสินบน การใช้เส้นสาย ฯลฯ) แต่หลายคนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการจับใบดำใบแดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่มีให้เห็นกันทุกปี
ระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาในหลายแง่มุม บางคนอาจสมัครใจอยากเกณฑ์ทหารเพราะ ‘รักชาติ’ ด้วยใจจริง แต่หลายคนก็ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพและครอบครัว จึงไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร ทั้งที่เป็นเช่นนี้ หลายคนก็ยังสนับสนุนให้คนไทยไปเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น มองว่าเป็นการรับใช้ชาติ มองว่าเป็นการฝึกฝนระเบียบ และมองว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญของชายชาตรี ในคนจำนวนนี้ หลายคนก็เคยไปเกณฑ์ทหารมาจริงๆ แต่หลายคนก็อาศัยใช้ประโยชน์จาก ‘พื้นที่สีเทา’ เพื่อจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
นอกจากปัญหาเรื่องความสมัครใจแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันก็คือทรัพยากรหลายอย่างและชีวิตของหลายคนต้องถูกเอาไปทิ้งขว้างอย่างไม่จำเป็น ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้มีภัยคุกคามทางการทหารจากต่างชาติที่ชัดเจน แต่กองทัพกลับเรียกเกณฑ์ทหารกว่าหนึ่งแสนคนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ยิ่งกว่านั้น ยังมีข่าวหลุดออกมาด้วยว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงภายในค่ายทหารอยู่เสมอ เช่น กรณีของ นายวิเชียร เผือกสม นายทรงธรรม หมุดหมัด นายสมชาย ศรีเอื้องดอย และอาจยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้เปิดชื่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ฤดูกาลเกณฑ์ทหาร’ ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข และเป็นประเด็นที่สังคมไทยควรยกขึ้นมาถกเถียงอภิปรายและขบคิด
แม้หลายคนจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเกณฑ์ทหารของกองทัพในปัจจุบัน โดยเอาโมเดล ‘แบบสมัครใจ’ ของต่างชาติมาเทียบให้เห็นว่าประเทศไทยโดนทิ้งห่างไปถึงไหนแล้ว แต่การวิจารณ์ที่เน้นสร้างความอับอายแก่ชาติเช่นนี้ด้วยตัวมันเองก็ไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงต่อยอด หรือมีประโยชน์ในการนำเสนอทางออกในเชิงนโยบายมากนัก รังแต่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านด้วยความรู้สึกฮึกเหิมรักชาติอย่างล้นเกินขึ้นเสียมากกว่า ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าเราสามารถเรียนรู้โมเดลจากต่างชาติได้ว่าทางออกของต่างประเทศมีหน้าเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะสามารถรับมาทำได้หรือไม่ แต่ต้องตั้งคำถามด้วยว่าโมเดลที่จะใช้ประสบความสำเร็จหรือไม่และมากน้อยเพียงใด เพราะโมเดลของต่างประเทศก็ไม่ได้ปราศจากปัญหาเสียทีเดียว
นายแมทธิว ซี. กัตแมนน์ แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกองทัพของสหรัฐอเมริกา พบว่า แม้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนจากการ ‘บังคับเกณฑ์ทหาร (draft)’ มาเป็นระบบ ‘กองทัพอาสาสมัครล้วน (All Volunteer Force)’ ตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบ ‘อาสาสมัคร’ จะทำให้ปัญหาหมดไปโดยสิ้นเชิง ในช่วงสงครามอิรัก ทหารหลายคนถูกบังคับให้ประจำการต่อ ทั้งที่หมดอายุสัญญาแล้ว และไม่ประสงค์จะอยู่ต่อ เมื่อต้องการร้องขอสถานะผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก (Conscientious Objector) เพื่อไม่ขอมีส่วนร่วมในกองทัพอีก ทหารที่ยื่นคำร้องเหล่านี้ก็มักจะโดนขัดขวางให้กระบวนการล่าช้าออกไป มิเช่นนั้นก็ไม่ให้ได้รับอนุมัติ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ทหารผู้ยื่นคำร้องเหล่านี้โดนสั่งจำคุกด้วยข้อหาต่างๆ ด้วย
การจะเป็นทหารหรือไม่ในสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่อง ‘สมัครใจ’ ของคนรวย แต่เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ของคนจน
ที่จริงแล้ว ควรตั้งคำถามด้วยว่าอาสาสมัครที่เข้าไปอยู่ใน ‘กองทัพอาสาสมัครล้วน’ ของสหรัฐอเมริกา สมัครใจที่จะเข้าไปอยู่ในกองทัพจริง ๆ หรือไม่ จากการสัมภาษณ์ระบุว่าคนขาว 2 ใน 5 คนเข้ามาเป็นทหารเพราะต้องการรับใช้ชาติ ขณะที่คนแอฟริกันอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าเข้ามาเป็นทหารเพราะต้องการเข้ารับการศึกษา สวัสดิการ และเงินเดือน ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้สวัสดิการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาฟรีแก่ประชาชนอย่างเสมอภาค ด้วยเหตุนี้ การจะเป็นทหารหรือไม่ในสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่อง ‘สมัครใจ’ ของคนรวย แต่เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ของคนจน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าผู้รับสมัครทหารมักจะโกหก ข่มขู่ และคุกคามประชาชนชายขอบเพื่อให้มาสมัคร ทั้งด้วยวิธีการโทรศัพท์และการเข้าไปหากลุ่มคนเหล่านี้ตามสถานที่นัดพบต่างๆ
ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นอกจากนโยบายสวัสดิการของสหรัฐอเมริกาจะอ่อนแอลง จนทำให้หลายคนต้องเป็นทหารด้วยความจำเป็นแล้ว กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเองยังต้องใช้งบประมาณมหาศาลไปกับโฆษณาชวนเชื่อเพื่อดึงดูดคนเข้ามาในกองทัพให้ครบยอดที่กำหนดไว้ (16,000 ดอลลาร์ฯ ต่อคน หรือประมาณ 500,000 บาท ไม่รวมเงินเดือนและสวัสดิการอื่น ๆ) และทั้งที่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการดึงคนเข้ามาประจำการในกองทัพ จึงต้องอาศัยวิธีการบีบให้คนต่างด้าวและลักลอบเข้าเมืองมาเป็นทหารด้วย เพื่อหาคนไปต่อสู้ในสงครามต่างๆ ที่ตนเองก่อ ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังมีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับอยู่ในทางปฏิบัติ เพียงแต่ใช้วิธีการควบคุมที่แนบเนียนกว่าเท่านั้น ที่น่าสนใจ คือ ส.ส. ชาร์ลส์ แรนเกล เคยเสนอในปี 2006 ให้เอาระบบการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อสร้างความเท่าเทียมขึ้นด้วย
ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการกล่าวว่าปัญหาการเกณฑ์ทหารในสหรัฐอเมริกาหนักหนาสาหัสกว่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะระบบของสหรัฐอเมริกาก็มีจุดแข็งหลายข้อ เช่น มีการให้สิทธิ์ประชาชนในการเลือกในระดับหนึ่งแล้ว (อย่างน้อยก็ในทางนิตินัย) ทั้งยังให้สิทธิ์แก่ผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึกในทางกฎหมายแล้วด้วย (เพียงแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ) ผมเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ตัวอย่างการแก้ปัญหาจากต่างประเทศ จะต้องรับเอาทั้งข้อดีและข้อเสียมาพิจารณา เพื่อนำมาคิดพัฒนาต่อยอดด้วย เช่น ถ้าหากสหรัฐอเมริกาเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ คนไทยอาจจะต้องเสนอให้เกิดการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ ร่วมกับการจัดทำรัฐสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนเข้าเป็นทหารอย่างสมัครใจจริงๆ เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ก็อาจจะเห็นความหวังได้มากขึ้น เพราะเป็นการช่วยปลอบใจไปในตัวว่าโมเดลของต่างประเทศไม่ได้สมบูรณ์แบบจนตามไม่ทัน และประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับปัญหานี้
FACT BOX:
ผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก (Conscientious Objector) หมายถึง ผู้ที่ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเพราะขัดกับความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิอุดมการณ์ที่ตนยึดถือ บุคคลสำคัญที่เป็นผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก ตัวอย่างเช่น เบอร์ทรัน รัสเซล, มูฮัมหมัด อาลี, และ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน เป็นต้น
Tags: military, Report, conscription