วันที่ 18 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีของไทยเห็นชอบให้จัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีนจำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท จาก China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. (CSOC) ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยแบ่งผ่อนชำระเป็นเวลา 7 ปี รวม 17 งวด งวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-2566 จะชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ก็ลงนามกับ CSOC ในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 เป็นที่เรียบร้อย
Yuan Class S26T ยาว 79.5 เมตร กว้าง 8.6 เมตร สูง 9.2 เมตร ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตระบุว่ามันดำน้ำได้ลึกที่สุด 300 เมตร ความเร็วสูงสุด 18 น็อต (ราว 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ระดับความลึกปลอดภัยคือ 60 เมตร และมันอยู่ใต้น้ำได้นาน 21 วัน
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือเผยแพร่ข้อดีของ Yuan Class S26T โดยระบุว่าระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก (Air Independent Propulsion System) ทำให้ S26T อยู่ใต้น้ำได้นานกว่าเรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวถึง 5 เท่า ขณะที่ระบบอาวุธก็มีหลากหลาย โดยอาวุธหลักของเรือดำน้ำคือตอร์ปิโด นอกจากนี้ยังยิงอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้นหรือสู่เป้าหมายบนฝั่งได้อีกด้วย ส่วนในด้านความปลอดภัย ภายในตัวเรือของ S26T แบ่งเป็นห้องย่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์น้ำเข้าเรือห้องใดห้องหนึ่ง เรือก็ยังมีแรงลอยตัวสำรองมากพอที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องใดห้องหนึ่ง กำลังพลของเรือก็สามารถย้ายไปยังห้องอื่น เพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยานกู้ภัยเรือดำน้ำหรือจากหน่วยที่ให้ความช่วยเหลือได้
สำหรับการฝึกอบรม กองทัพเรือแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจะทำการฝึกและควบคุมการฝึกกำลังพลตลอดระยะเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยเรื่องการซื้อเรือดำน้ำจากจีนก็ยังคงอยู่ และคำตอบที่สื่อมวลชนได้รับจากทั้งฝั่งรัฐบาลและกองทัพเรือก็ยังไม่กระจ่างแจ้งเสียทีเดียว ทั้งในด้านความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อ คุณสมบัติของเรือดำน้ำ รวมไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
0 0 0
ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าสองในสามของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวของชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ทั้งสิ้น 3,148.23 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด ขณะที่เว็บไซต์ของกองทัพเรือไทยก็ระบุว่าทรัพยากรในท้องทะเลไทยมีมูลค่าถึง 24 ล้านล้านบาท
แต่การที่อ่าวไทยมีความลึกเฉลี่ย 44 เมตร และความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนมีเพียง 15 เมตร ระวางขับน้ำ 2,660 ตันของ S26T จึงทำให้เกิดคำถาม
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเรือดำน้ำชายฝั่ง (coastal submarine) ซึ่งมีระวางขับนํ้า 150-900 ตัน น่าจะเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกว่าเรือดำน้ำขนาดใหญ่อย่าง S26T และ Type 205 และ 206 ของเยอรมนีน่าจะเป็นคำตอบ
ต่อเรื่องนี้ กองทัพเรือไทยยืนยันว่าเรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ และในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง และในปัจจุบัน กองทัพเรือก็ฝึกกับเรือดำน้ำของสหรัฐฯ ขนาด 6,000 ตันอยู่เป็นประจำ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่า S26T จะปฏิบัติการในทะเลอันดามันซึ่งมีความลึกเฉลี่ย 1,000 เมตรด้วย
สำนักข่าวอิศราโต้แย้งข้อมูลของกองทัพเรือว่า “ความจริงเมื่อเข้าอ่าวไทย เรือดำนํ้าสหรัฐฯ จะแล่นบนผิวน้ำเพราะอ่าวไทยมีนํ้าลึกเฉลี่ย 44 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า ความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนเพียง 15 เมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) เมื่อสหรัฐฯ จะฝึกร่วมกับเราก็จะไปฝึกบริเวณตะวันออกของเกาะสมุยที่นํ้าลึกกว่า 50 เมตร และฝึกอย่างจำกัด แค่ฝึกให้เรือผิวนํ้าใช้โซนาร์ตรวจหาเรือดำนํ้าเท่านั้น เพราะนํ้าตื้นเกินไปสำหรับเรือดำนํ้าขนาดใหญ่ แม้การนำเรือเข้าใกล้กันยังห้าม เพราะเกรงว่าเรือผิวนํ้ากับเรือดำนํ้าจะชนกัน”
สำหรับการปฏิหน้าที่ในทะเลอันดามัน เนื่องจากกองบัญชาการกองเรือดำน้ำตั้งอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วยความเร็วใต้น้ำเฉลี่ย 4 น็อต S26T ต้องใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์สำหรับระยะทาง 1,200 ไมล์ทะเล จากอ่าวไทย อ้อมคาบสมุทรมลายู ผ่านช่องแคบมะละกา ก่อนจะไปถึงทะเลอันดามัน ยกเว้นว่ากองทัพเรือจะตั้งกองบัญชาการกองเรือดำน้ำอีกแห่งที่ฝั่งอันดามัน
0 0 0
วันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวาระสองและสาม วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 214,347.40 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 220 ล้านบาทจากงบประมาณของปี 2559 “เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยและการรักษาความมั่นคงภายในของประเทศในความรับผิดชอบของกองทัพบก”
งบประมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาล และคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
นับตั้งแต่ปี 2554 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 (192,949 ล้านบาท) ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2557 (183,820 ล้านบาท) ร้อยละ 5 และในปี 2559 (207,719 ล้านบาท) ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 7 ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับจีดีพีของประเทศที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 (2557) เป็นร้อยละ 2.9 (2558) และร้อยละ 3.2 (2559)
ในปี 2560 กองทัพเรือได้รับงบประมาณ 42,099 ล้านบาท และ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ก็ชี้แจงค่าใช้จ่ายจำนวน 13,500 ล้านบาทสำหรับเรือดำน้ำลำแรกว่า “กองทัพเรือใช้จากงบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับปกติในแต่ละปี ในส่วนที่กองทัพเรือใช้ในการลงทุนเพื่อจัดหาอาวุธประเภทต่างๆ มาใช้งาน ซึ่งกองทัพเรือได้ลงทุนเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธประเภทต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้เป็นปกติในแต่ละปีเป็นประจำอยู่แล้ว…โดยขอตั้งงบประมาณจากรัฐบาลตามกระบวนการปกติเหมือนส่วนราชการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือต่างๆ มาใช้ในการทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย”
อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่มากถึง 36,000 ล้านบาท กอปรกับประชาชนคนในประเทศจำนวนมากที่สัมผัสได้ถึงความฝืดเคืองของเงินกระเป๋า ความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำในครอบครองจึงยังคงเป็นคำถามค้างคาใจของผู้คนจำนวนหนึ่ง กระทั่งใครบางคนอาจอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าหรือนี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง
“ผมจำไม่ได้ ผ่านไปนานแล้ว เอาเป็นว่าผมอยู่ในที่ประชุมแล้วกัน พวกสื่อจะรู้ไปทำไม
หรือจะต้องถามด้วยว่าจะหายใจอย่างไร จะต้องถามกันอย่างไร จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศบ้าง
ในเมื่ออนุมัติแล้ว แล้วเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าอนุมัติแล้วก็จบ ไม่ต้องไปลงว่าอนุมัติวันที่เท่าไร
ในเมื่อเป็นเอกสารลับก็ต้องลับอย่างนี้ ดีก็แล้วกัน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย และยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการอนุมัติเงียบ
ครม. ทั้งคณะรู้ทั้งหมด ที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ชี้แจงให้ประชาชนทราบนั้น
เดี๋ยวมันก็ทราบกันเอง ถึงเวลามันก็ทราบ”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ,
มติชนออนไลน์,
25 เมษายน 2560