แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องน่าประหลาดใจ กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมาตั้งแต่ปี 2494 และความพยายามในการจัดซื้อก็มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 แต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที จนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจึงถูกนำขึ้นมาวางบนโต๊ะอีกครั้ง

วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร ‘กองบัญชาการกองเรือดำน้ำ’ มูลค่าหลายร้อยล้านบาทที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นี่คือขั้นตอนหนึ่งของแผนการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย อันเป็นการสานต่อแนวคิดเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

‘โครงการจัดสร้างกำลังรบทางเรือ’ ถือกำเนิดเมื่อปี 2453 มันถูกนำเสนอโดย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการกระทรวงทหารเรือ โดยกำหนดให้มี ‘เรือ ส.’ (สับมารีน – submarine) จำนวน 6 ลำ ต่อมารัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำขึ้นระวางประจำการในปี 2480 ซึ่งทำให้ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเรือดำน้ำในครอบครอง

เรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ปฏิบัติภารกิจตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะถูกปลดระวางประจำการหลังการพยายามทำรัฐประหารในปี 2494 โดยกลุ่มทหารเรือหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะกู้ชาติ’

เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ เพราะมันเกิดขึ้นในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกันชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ ที่ท่าราชวรดิฐ

ทหารของทั้งฝ่ายผู้ก่อการและฝ่ายรัฐบาลได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เรือหลวงศรีอยุธยาถูกทิ้งระเบิดจนกระทั่งอับปางกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และแม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่นายทหารระดับสูง ขณะที่ทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อัตรากำลังพล หน่วยงาน และงบประมาณของกองทัพเรือก็ถูกปรับลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากกบฏแมนฮัตตันเป็นความพยายามทำรัฐประการครั้งที่สองของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวงในปี 2492

0 0 0

ปี 2538 หนึ่งทศวรรษหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุด กองทัพเรือก็ริเริ่มความพยายามในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้กองทัพเรือมีเรือฟริเกตเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แทนที่จะเป็นเรือดำน้ำ Gotland Class จากสวีเดน

ปี 2553 พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น อนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 206A Class (เยอรมนี) พร้อมกับอนุมัติหลักการจัดตั้งกองเรือดำน้ำและขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อเตรียมการรองรับการมีเรือดำน้ำ รวมทั้งให้แก้ไขอัตราเฉพาะกิจกองเรือยุทธการ บรรจุกำลังพลกองเรือดำน้ำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554

ปี 2554 กองทัพเรือเกือบจะได้ครอบครองเรือดำน้ำ 206A Class ในยุคที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย ทำให้โครงการนี้เดินไปไม่ถึงจุดหมาย

ปี 2555 พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น อนุมัติแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดหาเรือดำน้ำ โดยแบ่งความพร้อมเป็นสามด้าน ได้แก่ การเตรียมการด้านองค์ความรู้ การเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมการด้านการเสริมสร้างสมรรถนะการปฏิบัติการใต้น้ำ โดยกองทัพเรือส่งกำลังพล 18 นายไปศึกษาอบรมหลักสูตรความรู้ด้านวิทยาการและเทคโนโลยีเรือดำน้ำที่เยอรมนี และส่งกำลังพล 10 นายไปศึกษาอบรมหลักสูตร International Diesel Submarine ที่เกาหลีใต้

ปี 2557 หลังจากรัฐบาลพลเรือนถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลทหาร อาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำก็ถือกำเนิด รวมทั้งอาคารฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ โดยมีเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำเป็นอุปกรณ์จำลองระบบศูนย์ยุทธการของเรือดำน้ำ

ในระหว่างนั้น กองทัพเรือก็พิจารณาเรือดำน้ำหลายรุ่น ทั้ง Type 041 Yuan Class (จีน) Project 363 Kilo Class (รัสเซีย) Type 209/1400 (เยอรมนี) A26 (สวีเดน) และ HDS-500 RTN (เกาหลีใต้)

ด้วยงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ในตอนแรก กองทัพเรือให้ความสนใจ Type 209 ของเยอรมนีจำนวน 2 ลำ แต่ข้อเสนอจากจีนที่ประกอบด้วย Yuan Class 3 ลำ บวกด้วยอาวุธ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมกำลังพล ก็ปาดหน้าแซงเข้าเส้นชัยในตอนท้าย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เขาแถมมั้ง ซื้อสองลำ ให้สามลำ มันประหยัดกว่า”

0 0 0

การชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่า “กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี ซึ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างก็มีการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ และพัฒนาขีดความสามารถในด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ด้วยทุกประเทศต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีศักยภาพที่เพียงพอในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางทะเลของตน”

เป็นความจริงที่ว่าเพื่อนบ้านของเราต่างก็มีเรือดำน้ำ อินโดนีเซียและมาเลเซียมี 2 ลำ ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนามมี 6 ลำ กระทั่งเมียนมาก็วางแผนจะมี 4 ลำในทศวรรษหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งก็ตั้งคำถามต่อวลี ‘หลักประกันด้านความมั่นคงทางทะเล’

ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลมีที่มาจากความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตและการทำประมงในทะเลจีนใต้ ดังนั้น เวียดนามและมาเลเซียจึงมีเรือดำน้ำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในการกระทบกระทั่งกับจีน

อินโดนีเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น แต่ในฐานะประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรือดำน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องทรัพยากรทางทะเล ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องปรามออสเตรเลียและมาเลเซียในเรื่องเกี่ยวกับอาณาเขต

ส่วนสิงคโปร์มีเรือดำน้ำเพื่อปกป้องเรือขนส่งสินค้าที่เล่นผ่านช่องแคบมะละกาจากบรรดาโจรสลัด

สำหรับประเทศไทย เดวิด แชมบอห์ (David Shambaugh) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ประเทศสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่าเรือดำน้ำของไทยไม่มีนัยสำคัญต่อความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เนื่องจากประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับไทย ขณะที่เรือดำน้ำหนึ่งจากสามลำที่ไทยจะซื้อจากจีนก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงของภูมิภาค

ขณะที่ พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ผมคิดว่ากองทัพไทยต้องการให้กองทัพของประเทศอื่นชื่นชมว่าประเทศไทยสามารถซื้อรถถังคันใหม่ อากาศยานลำใหม่ และเรือดำน้ำลำใหม่ได้ เรือดำน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘ขู่’ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แน่นอนว่า ‘การขู่’ เป็นสิ่งที่นายทหารระดับสูงชื่นชอบ พวกเขาชอบมีของเล่นอยู่ในมือ”

“สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน เช่น กรณีคาบสมุทรเกาหลี
เพียงแค่เปลี่ยนผู้นำคนเดียว การใช้กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่รู้
แต่ที่แน่ๆ เรือดำน้ำไม่ได้หาได้ภายใน 1-2 ปี
ถ้าเราไม่มีเลย หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอยู่ตรงไหน
ที่เรามีไม่ใช่เพื่อไปรบ แต่เพื่อไม่ต้องรบ ให้เขาเกรงใจ”
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์,
บีบีซีไทย,
1 พฤษภาคม 2560

Tags: , , , , , ,