คอร์รัปชัน การสูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องแบกรับในแต่ละปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยแก้ปัญหาโดยใช้ 2 วิธีหลัก คือสร้างแรงกดดันทางสังคม โดยประโคมผ่านสื่อโฆษณาและแคมเปญรณรงค์ เช่น โตไปไม่โกง สูบบุหรี่แล้วเปลืองเงินแถมตายเร็ว หรือเชิญชวนกันมาวิ่งมาราธอนเพื่อสุขภาพ และการปรับแก้กฎหมาย เช่น เพิ่มโทษของคอร์รัปชันให้รุนแรงขึ้น หรือกำหนดเขตปลอดบุหรี่จนสิงห์อมควันแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม

สองวิธีข้างต้นมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาขนาดไหน ตัวชี้วัดง่ายๆ คือผ่านไป 20 ปี เราก็ยังพูดวนไปเวียนมาในประเด็นเดิมๆ ด้วยวิธีแก้ปัญหาเดิมๆ เพิ่มเติมคือความรุนแรงที่มากขึ้นทุกที

หลายคนอาจสงสัย แล้วถ้าไม่ใช่สองทางเลือกนี้ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

ผมขอเสนออีกหนึ่งทางเลือก ‘กลางๆ’ ที่ประยุกต์แนวคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยการ ‘สะกิด’ (nudge) โดยใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างต้นทุนให้กับสังคม แบบไม่ต้องเพิ่มโทษ หรือโหมประโคมผลลัพธ์ที่น่าหวาดกลัวของพฤติกรรมดังกล่าว

 

ปราบคอร์รัปชันการเก็บภาษีที่ปากีสถาน

ปัญหาที่ประเทศปากีสถานเผชิญก็คล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ คือไม่สามารถจัดเก็บภาษีทางตรงได้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจปากีสถาน (Center for Economic Research in Pakistan) จึงจับมือกับนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันชั้นนำของโลกเพื่อทดสอบแนวทางแก้ปัญหา โดยใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อชักจูงให้พนักงานเก็บภาษีทรัพย์สิน (property tax หรือที่เรารู้จักในชื่อภาษีโรงเรือนและที่ดิน) ทำงานอย่างเต็มความสามารถ

แคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เผชิญปัญหาเรื้อรังมาเนิ่นนาน จากการเก็บภาษีทรัพย์สินได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หากเปรียบเทียบกับเมืองในขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมเลี่ยงภาษีและการติดสินบนเจ้าหน้าที่เก็บภาษีนั้นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่เก็บภาษีคือจัดประเภทสินทรัพย์ เช่น ให้เช่า หรืออยู่อาศัยโดยเจ้าของ และเป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม การเล่นแร่แปรธาตุย้ายประเภทสินทรัพย์นั้นเกิดขึ้นได้ง่ายเพียงปลายปากกา และส่งผลอย่างมากต่อมูลค่าภาษีที่จัดเก็บ ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้เลี่ยงภาษีได้ไม่ยาก ผ่านการตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและผู้จัดเก็บภาษี

เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีมีสองทางเลือกคือ ขยัน ซื่อสัตย์ แล้วรับเงินเดือนปกติ หรือรับค่าสินน้ำใจจากเจ้าของบ้าน ทำเป็นหลับหูหลับตาประเมินมูลค่าต่ำสักหน่อย เปลี่ยนประเภทสินทรัพย์อีกนิด แถมยังได้เงินเดือนปกติ แต่อาจจะมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะถูกลงโทษจนต้องออกจากงาน แต่การหางานใหม่ในระดับเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจไม่ใช่ปัญหา

คงตอบได้ไม่ยากนะครับว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางไหน

ทางออกสำหรับปัญหาข้างต้นก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือการนำระบบจ่ายเงินตามผลงานมาใช้ โดยนอกจากเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีจะได้เงินเดือนเท่าเดิมแล้ว ก็จะได้รับเงินพิเศษจากส่วนต่างของภาษีที่จัดเก็บได้ในปัจจุบันและภาษีที่เคยจัดเก็บในอดีต

การทดลองดังกล่าวใช้เวลาเก็บข้อมูล 2 ปี และได้ข้อสรุปว่ายอดภาษีที่เก็บได้นั้นเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 13 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินทรัพย์ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยถูกเก็บภาษี รวมทั้งการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ให้มีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม หลายคนอาจกังวลว่าแรงจูงใจในลักษณะนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีไปกดดันหรือขูดรีดเอาภาษีจากประชาชนหรือเปล่า ทีมนักวิจัยก็ไปทำการประเมินเปรียบเทียบระหว่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการและชุมชนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่าชุมชนมีความพึงพอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีไม่แตกต่างกัน

นี่สิครับ ถึงจะเรียกว่า ทำจริง ทำได้ ทำทันที (ถ้ามีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ)

 

ออมเงินเลิกบุหรี่ที่ฟิลิปปินส์

ผมเชื่อว่าคนสูบบุหรี่ทุกคนรับทราบถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในระยะยาว (แหม! ก็เล่นเขียนไว้ซะใหญ่โตบนหน้าซอง) แต่ด้วยพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตไม่อดทน ให้น้ำหนักกับความสุขเล็กๆ ในปัจจุบันมากกว่าค่าใช้จ่ายและความทุกข์ในอนาคต การเลิกบุหรี่ แม้แต่กับคนที่ตั้งใจจะเลิก จึงทำได้ยากเย็น

เมื่อปี 2552 ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่อายุเกิน 15 ปี ร้อยละ 28.3 สูบบุหรี่ โดยร้อยละ 22.5 สูบบุหรี่ทุกวัน ผู้สูบต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับบุหรี่ราวสัปดาห์ละ 70 บาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 15 ของรายได้ต่อเดือน สิ่งที่น่าประหลาดใจคือกว่าร้อยละ 45 ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

โครงการ CARES หรือ Committed Action to Reduce and End Smoking ได้ทดลองโครงการนำร่อง โดยเสนอให้ผู้สูบที่ต้องการเลิกบุหรี่เปิดบัญชีเงินฝาก โดยมีเงินขั้นต่ำอย่างน้อย 35 บาท และออมเงินเพิ่มเติมในจำนวนที่ต้องการ (แต่ต้องมากกว่าขั้นต่ำ) ทุกสัปดาห์ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันว่าไม่ได้สูบบุหรี่ หากผ่านการทดสอบก็จะได้รับเงินคืนไป แต่หากไม่ผ่านหรือปฏิเสธที่จะทำการตรวจ เงินที่เก็บออมไว้ก็จะถูกยึด

ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการออมเงินกับ CARES มีแนวโน้มที่จะเลิกบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมถึงร้อยละ 35 แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมโครงการล้มเหลวในการเลิกบุหรี่ถึงร้อยละ 66

อีกหนึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจก็คือ การให้การ์ดข้อมูลผลเสียจากบุหรี่เพื่อพกไว้ในกระเป๋าสตางค์นั้นไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแต่อย่างใด เกินกว่าครึ่งมักจะลืมว่าเก็บไว้ที่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ผลลัพธ์ดังกล่าวพอจะยืนยันได้ว่าการสร้างความตระหนัก (awareness) ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเสมอไป

 

ประกันสร้างสุขภาพดีที่แอฟริกาใต้

ปัญหาน่าหนักใจในแวดวงประกันสุขภาพคือคนส่วนใหญ่ยินดีใช้บริการโรงพยาบาลมากกว่าการดูแลสุขภาพของตัวเอง เช่น การบริโภคอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

บริษัท Discovery จากประเทศแอฟริกาใต้มองเห็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยริเริ่มโครงการ Vitality เมื่อ 25 ปีก่อน ที่เปลี่ยนมุมมองจากการประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียว สู่บริการสร้างสุขภาพดีแบบครบวงจร ผ่านการสร้างแรงจูงใจ โดยให้ส่วนลดกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ค่าสมาชิกฟิตเนส และแจกคะแนน Vitality Points ตามกิจกรรมสุขภาพดีที่เราปฏิบัติ เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ดี เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดขนมนมเนย ชากาแฟ หรือทริปท่องเที่ยวพักผ่อน

ผลของโครงการเปลี่ยนหน้าตาวงการประกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวสร้างประโยชน์ทั้งแก่สมาชิกจากการมีสุขภาพดีขึ้น บริษัทประกันก็ลดค่าใช้จ่ายจากการเคลมประกัน รวมไปถึงสังคมที่ได้ประชาชนที่มีผลิตภาพ โดยสมาชิก Vitality มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่ำกว่าราวร้อยละ 30 และมีอายุยืนกว่า 13 ถึง 21 ปี หากเปรียบเทียบกับผู้ทำประกันทั่วไป

ปัจจุบัน บริษัทประกันยักษ์ใหญ่หลายแห่งนำแนวคิดของโครงการ Vitality ไปปรับใช้ เช่น AIA ในภูมิภาคเอเชีย ManuLife ในแคนาดา และ Sumitomo Life ในประเทศญี่ปุ่น รวม 15 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 5.5 ล้านคน

ทั้งสามตัวอย่างสะท้อนว่าเรายังมีทางเลือก ‘กลางๆ’ ที่ไม่ใช่การพร่ำสอนเชิงศีลธรรมหรือออกกฎหมายลงโทษให้รุนแรงขึ้น ทั้งยังสะท้อนว่าทางเลือกเหล่านี้ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และสังคมได้ประโยชน์ โดยสร้างกลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม

อ่านกรณีศึกษาอย่างละเอียดได้ที่

‘Tax Farming Redux: Experimental Evidence on Performance Pay for Tax Collectors’
‘Property Tax Experiment in Punjab, Pakistan: Testing the Role of Wages, Incentives and Audit on Tax Inspectors’ Behavior’
‘CARES Commitment Savings for Smoking Cessation in the Philippines’
‘Vitality Shared-Value Insurance: a business model that rewards healthy living – changing insurance for good.’
‘Can Insurance Companies Incentivize Their Customers to Be Healthier?​’

 

Tags: , , , , , , , , , ,